×

สรุปประชุมสมัชชาใหญ่ UN วันที่ 3 จีนเตือนไต้หวันไม่อาจแบ่งแยก – EU จี้ UN ต้องปฏิรูป

22.09.2023
  • LOADING...
ประชุมสมัชชา

การประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 78 (UNGA 78) ณ นครนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกา วานนี้ (21 กันยายน) ยังเดินหน้าอย่างเข้มข้น โดยจีน ในฐานะ 1 ใน 5 ชาติสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ส่งรองประธานาธิบดี หานเจิ้ง ทำหน้าที่ร่วมการประชุมแทนประธานาธิบดี สีจิ้นผิง โดยได้ขึ้นแถลงย้ำจุดยืนของจีนในด้านต่างๆ รวมถึงสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์และกรณีไต้หวันที่เป็นประเด็นใหญ่ของจีน

 

ขณะที่ ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป ในฐานะเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของสหภาพยุโรป (EU) ก็ขึ้นกล่าวถึงหลายประเด็นร้อนของโลก ทั้งกรณีสงครามยูเครน และชี้ความจำเป็นที่ UN จะต้องปฏิรูป

 

จีนแสดงตัวในฐานะ ‘สมาชิกโลกใต้’ ย้ำไต้หวันไม่อาจแบ่งแยก

 

รองประธานาธิบดี หานเจิ้ง ของจีน กล่าวถ้อยแถลงต่อผู้นำโลกที่ร่วมในเวที UNGA 78 โดยให้คำนิยามประเทศจีนว่าเป็นส่วนหนึ่งของโลกใต้ (Global South) ซึ่งมีลมหายใจและอนาคตแบบเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ 

 

“ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุด จีนเป็นสมาชิกโดยธรรมชาติของโลกใต้ เราสูดลมหายใจแบบเดียวกันกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ และแบ่งปันอนาคตเดียวกันกับพวกเขา” หานกล่าว และยืนยันว่าจีนสนับสนุนเส้นทางการพัฒนาของประเทศเหล่านั้น

 

สำหรับคำว่า ‘โลกใต้’ เป็นคำนิยามอย่างหลวมๆ ซึ่งหมายถึงประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีการพัฒนาน้อยกว่าและร่ำรวยน้อยกว่า ‘ประเทศโลกที่หนึ่ง’

 

โดยผู้นำของประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่หลายประเทศ รวมถึงบราซิลและอินเดีย ต่างแสดงตนว่าเป็นผู้นำของโลกใต้ ขณะที่หานย้ำว่า “จีนจะยังคงเป็นสมาชิกครอบครัวใหญ่ของประเทศกำลังพัฒนา” ต่อไป

 

หานยังได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญอื่นๆ อาทิ กรณีไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งยืนยันว่าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนมาตั้งแต่อดีต และจะยังเป็นต่อไป โดยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และเตือนว่า อย่าประมาทในความเด็ดเดี่ยว ความตั้งใจอันแรงกล้าของประชาชนจีนในการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของตน ขณะที่ยืนยันว่าจีนมีความมุ่งมั่นที่จะรวมชาติอย่างสันติ และจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่

 

นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า จีนคัดค้านลัทธิความเป็นเจ้าโลกและแนวคิดสงครามเย็น โดยชี้ว่า มีเพียงไม่กี่ประเทศที่บังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรฝ่ายเดียวอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งบ่อนทำลายทั้งความสามัคคีและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จีนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก หานยืนยันว่า จีนนั้นสนับสนุนการเคารพสิทธิมนุษยชนที่เหมาะสมต่อสภาวะของประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน และควรขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนผ่านการพูดคุยและความร่วมมือ และต่อต้านการเล่นการเมืองและความสองมาตรฐาน

 

“เนื่องจากประเทศต่างๆ มีประวัติศาสตร์ ประเพณี และเงื่อนไขที่แตกต่างกัน เราต้องสำรวจเส้นทางการพัฒนาสิทธิมนุษยชนที่เหมาะสมกับสภาวะของประเทศของเรา และเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนของเรา เราควรขับเคลื่อนประเด็นสิทธิมนุษยชนผ่านการเสวนาและความร่วมมือ และต่อต้านการเล่นการเมืองและการปฏิบัติสองมาตรฐาน โดยเฉพาะการใช้สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อแทรกแซงกิจการของประเทศอื่น”

 

สำหรับประเด็นสงครามในยูเครน หานกล่าวย้ำท่าทีของจีนว่า การเจรจาสันติภาพและการหยุดยิงเป็นเพียงหนทางเดียวที่จะสามารถยุติสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนได้ และชี้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายต้องยุติการเป็นศัตรูและฟื้นการเจรจาขึ้นอีกครั้ง

 

“จีนสนับสนุนความพยายามทั้งหมดที่เอื้อต่อการแก้ไขวิกฤตยูเครนอย่างสันติ และพร้อมที่จะมีบทบาทที่สร้างสรรค์ต่อไปเพื่อการบรรลุสันติภาพโดยเร็ว” เขากล่าว

 

EU เรียกร้องปฏิรูป UNSC

 

ทางด้าน ชาร์ลส์ มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป กล่าวถึงกรณีการรุกรานยูเครนของรัสเซียว่า เผยให้เห็นถึงข้อบกพร่องในการดำเนินงานของ UN ซึ่งรวมถึงการใช้อำนาจวีโต้ในคณะมนตรีความมั่นคง (United Nations Security Council: UNSC) และชี้ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการปฏิรูป

 

“สหประชาชาติก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องเราจากปีศาจของเรา” มิเชลกล่าว 

 

เขายังชี้ว่า “สิทธิในการวีโต้ยับยั้งกำลังถูกละเมิด” และสนับสนุนการเรียกร้องให้จำกัดอำนาจวีโต้ในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติภายใต้สภาวะฉุกเฉิน และขยายขอบเขตขององค์กรในการเป็นตัวแทนของทั่วโลก

 

“ในช่วง 19 เดือนที่ผ่านมา รัสเซีย สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง ได้ทำสงครามเพื่อยึดครองประเทศเพื่อนบ้านโดยปราศจากความละอาย” เขากล่าว และชี้ว่ารัสเซีย “สามารถใช้สิทธิวีโต้ในทางที่ผิดเพื่อป้องกันการลงโทษต่อตนเอง และอาจถึงขั้นใช้คณะมนตรีความมั่นคงเพื่อเผยแพร่โฆษณาชวนเชื่อ ข้อมูลที่บิดเบือน และการโกหก”

 

เขายังกล่าวอย่างรุนแรงว่า “ระบบของ UN ในปัจจุบันนั้นเสื่อมทรามโดยอำนาจของศัตรู” และ UN ต้องกลับมามีความรับผิดชอบ

 

ขณะที่มิเชลชี้ว่า การขาดการเป็นตัวแทนระดับโลกอย่างเหมาะสมของคณะมนตรีความมั่นคงสะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างอำนาจที่ล้าสมัย ในขณะที่บางประเทศยังคงเป็นมหาอำนาจยุคล่าอาณานิคม และทำให้ความสามารถในการดำเนินงานขององค์กรนั้นถดถอยลง

 

“โลกกำลังถูกฉีกออกเป็นชิ้นๆ ด้วยความยากจนและความอยุติธรรม พื้นที่ทั้งหมดของโลก แอฟริกา อเมริกาใต้ แคริบเบียน เอเชีย นั้นอยู่ภายใต้หรือไม่มีตัวแทน เราสนับสนุนการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงครั้งใหญ่อย่างครอบคลุม เพื่อขยายเสียงของภูมิภาคเหล่านี้” เขากล่าว

 

ภาพ: Kena Betancur / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising