×

จากซีรีส์ Ultra Q สู่ Shin Ultraman การเดินทางของซูเปอร์ฮีโร่สุดไอคอนิกจากญี่ปุ่น

15.09.2022
  • LOADING...
Ultraman

ใกล้เข้ามาทุกทีแล้วที่แฟนๆ ของมนุษย์ยักษ์แห่งแสงนาม Ultraman จะได้ไปร่วมติดตามเรื่องราวการปกป้องโลกครั้งใหม่กับ Shin Ultraman ภาพยนตร์เทคนิคพิเศษเหนือจินตนาการ ผ่านวิสัยทัศน์ของผู้กำกับ ชินจิ ฮิงุจิ หนึ่งในผู้กำกับจาก Shin Godzilla (2016) ซึ่งมีกำหนดฉายในวันที่ 22 กันยายนนี้ THE STANDARD POP จึงถือโอกาสชวนทุกคนมาร่วมย้อนชมการเดินทางของ Ultraman หนึ่งในซูเปอร์ฮีโร่สุดไอคอนิกจากญี่ปุ่นกันอีกครั้ง 

 

 

1. Ultra Q ซีรีส์แนว Sci-Fi สืบสวน สารตั้งต้นสำคัญของซีรีส์ Ultraman

หากจะกล่าวถึงเรื่องราวต้นกำเนิดของซีรีส์ Ultraman เราเห็นจะต้องพาทุกคนย้อนเวลากลับไปทำความรู้จักกับ Ultra Q (1966) ซีรีส์โทคุซัทสึ (ภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ถ่ายทำด้วยเทคนิคสเปเชียลเอฟเฟกต์) ที่นับว่าเป็นสารตั้งต้นสำคัญของซีรีส์ Ultraman กันก่อน  

 

โดยหลังจากที่ เอจิ สึบุรายะ หัวหน้าฝ่ายงานสเปเชียลเอฟเฟกต์ของ TOHO Studios และหนึ่งในทีมงานคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังงานสร้างของภาพยนตร์ไคจูระดับตำนานอย่าง Godzilla (1954) ได้เริ่มต้นก่อตั้งบริษัทสเปเชียลเอฟเฟกต์ของตนเองในชื่อ Tsuburaya Special Effects Productions ขึ้นในปี 1963 (ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น Tsuburaya Productions) เอจิ สึบุรายะ ก็ได้เริ่มต้นโปรเจกต์ของตนเองโดยใช้ชื่อว่า Unbalance ซีรีส์ขาว-ดำแนว Sci-Fi สืบสวน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากซีรีส์อเมริกันชื่อดังอย่าง The Outer Limits (1963) และ The Twilight Zone (1959)  

 

โดยความตั้งใจแรกเริ่ม เอจิ สึบุรายะ ต้องการให้ซีรีส์ Unbalance เป็นซีรีส์แนวสืบสวน มีกลุ่มตัวละครหลักเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ และจะไม่มีไคจูปรากฏตัวมากนัก แต่เนื่องจากในช่วงยุค 60 เป็นช่วงเวลาที่ภาพยนตร์ไคจูกำลังได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ทั้ง Godzilla ของ TOHO หรือ Gamera เต่ายักษ์จากค่าย Daiei Film ทางสถานีโทรทัศน์ Tokyo Broadcasting System หรือ TBS จึงได้ขอให้ทาง เอจิ สึบุรายะ และมือเขียนบท เท็ตสึโอะ คินโจ เพิ่มตัวละครไคจูลงไปในซีรีส์ให้มากขึ้น 

 

เอจิ สึบุรายะ ที่เคยร่วมงานกับทาง TOHO Studios ในการสร้างสรรค์ชุดไคจูและพร็อพประกอบฉากของภาพยนตร์ไคจูหลายเรื่อง จึงได้หยิบนำชุดไคจูเก่าๆ และพร็อพประกอบฉากเหล่านั้นมาปรับใช้สำหรับการถ่ายทำ ยกตัวอย่างเช่น ชุดของ Godzilla จากภาพยนตร์เรื่อง Mothra vs. Godzilla (1964) ได้ถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นชุดของ Gomess หรือชุดของ King Kong จากภาพยนตร์เรื่อง King Kong vs. Godzilla (1962) ก็ถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นชุดของ Goroh ฯลฯ และด้วยงานสร้างที่ใหญ่ขึ้น มีการใช้สเปเชียลเอฟเฟกต์ระดับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ และมีความยาวถึง 28 ตอน จึงทำให้ซีรีส์เรื่องนี้กลายเป็นซีรีส์ขาว-ดำทางโทรทัศน์ที่ใช้ต้นทุนสูงที่สุดของญี่ปุ่น ณ เวลานั้น

 

ต่อมา เอจิ สึบุรายะ ได้เปลี่ยนชื่อซีรีส์จาก Unbalance มาเป็น Ultra Q โดยคำว่า Ultra มีที่มาจากคำศัพท์ที่ใช้ในการแบ่งระดับความยากของแข่งขันกีฬายิมนาสติก ได้แก่ A, B และ C ซึ่งในการแข่งขัน 1964 Summer Olympics ที่จัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ยูกิโอะ เอ็นโดะ หนึ่งในนักกีฬายิมนาสติกทีมชาติญี่ปุ่น สามารถทำคะแนนได้สูงถึงระดับ C และคว้ามาได้ 3 เหรียญทอง และ 1 เหรียญเงิน โดยในระหว่างการแข่งขัน บุนยะ ซุซูกิ ผู้ประกาศข่าวกีฬาช่อง NHK จะขานคำว่า Ultra ทุกครั้งที่เอ็นโดะทำคะแนนได้ จนในเวลาต่อมาคำว่า Ultra ก็ได้กลายเป็นคำฮิตติดหูของคนญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น

 

ส่วนคำว่า Q มีที่มาจากคำว่า Question และ Quest รวมถึงยังได้รับแรงบันดาลใจมาจากอนิเมะชื่อดัง ณ เวลานั้นอย่าง Obake no Q-Taro หรือที่รู้จักอย่างแพร่หลายในชื่อ Obake Q

 

ในที่สุด Ultra Q ก็ได้เริ่มฉายตอนแรกอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มกราคม 1966 โดยผู้ชมจะได้ติดตามเรื่องราวของ 3 ตัวละครหลักอย่าง จุน มันโจเมะ (เคนจิ ซาฮาระ) นักบินจากสายการบินโฮชิคาวะ และนักเขียนนิยายสมัครเล่นแนว Sci-Fi, ยูริโกะ เอโดคาวะ (ฮิโรโกะ ซาคุราอิ) นักข่าวหญิงจาก Daily News และ อิปเป โทกาวะ (ยาซูฮิโกะ ไซโจ) ผู้ช่วยนักบินของ จุน มันโจเมะ ที่ต้องเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์ประหลาด และสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติมากมาย ทั้งดอกไม้ดูดเลือด แมงมุมยักษ์ และมนุษย์ต่างดาว  

 

ด้วยเรื่องราวที่สนุกสนานและงานสร้างที่ยิ่งใหญ่เทียบเท่าภาพยนตร์ระดับบล็อกบัสเตอร์ จึงส่งให้ Ultra Q กลายเป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นอย่างล้นหลาม และความสำเร็จครั้งนี้เองที่จะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญของซูเปอร์ฮีโร่สุดไอคอนิกตลอดกาลของญี่ปุ่นอย่าง Ultraman 

 


 

 

2. กำเนิด Ultraman 

หลังจากที่ซีรีส์ Ultra Q ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ทางสถานีโทรทัศน์ TBS และ Tsuburaya Productions จึงเริ่มเดินหน้าสร้างซีรีส์เรื่องใหม่ทันที พร้อมปรับเปลี่ยนการถ่ายทำจากภาพขาว-ดำมาเป็นภาพสีทั้งหมด 

 

โดยในช่วงแรกเริ่ม เอจิ สึบุรายะ และมือเขียนบท เท็ตสึโอะ คินโจ เลือกหยิบโครงเรื่องของซีรีส์ Ultra Q กับเรื่องราวของกลุ่มตัวละครที่เข้าไปพัวพันกับไคจูและเหตุการณ์เหนือธรรมชาติมาต่อยอด พร้อมกับนำไอเดียของซีรีส์ Ultra Q ที่ไม่ได้ใช้มาปัดฝุ่นใหม่ ซึ่งเล่าถึงองค์กร Scientific Investigation Agency (SIA) ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเหตุการณ์เหนือธรรมชาติและต่อกรกับไคจูที่ปรากฏตัวขึ้น รวมถึงโปรเจกต์ที่ไม่ได้ใช้ชื่อ WoO ซึ่งบอกเล่าถึงสัตว์ประหลาดตาโตจากอวกาศที่กลายมาเป็นเพื่อนกับนักข่าวนาม โจจิ อากิตะ เข้ามาเสริม 

 

โครงเรื่องในช่วงแรกของซีรีส์เรื่องใหม่มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า Scientific Special Search Party: Bemular โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับ ซาโกมิสึ หนึ่งในเจ้าหน้าที่หน่วย Science Patrol ที่สามารถแปลงร่างเป็นไคจูยักษ์มีปีกนาม Bemular เพื่อต่อกรกับเหล่าไคจู แต่เนื่องจากดีไซน์และพล็อตเรื่องที่เขียนให้ตัวเอกอย่าง Bemular ต้องต่อสู้กับไคจูเหมือนกัน จึงอาจทำให้ผู้ชมสับสนได้ ทาง ทาคาชิ คาโคอิ โปรดิวเซอร์จากสถานีโทรทัศน์ TBS จึงมอบหมายให้ เอจิ สึบุรายะ และทีมงาน ออกแบบตัวละครตัวนี้ขึ้นมาใหม่ 

 

ทาง โทรุ นาริตะ ผู้ออกแบบตัวละคร Bemular จึงปรับเปลี่ยนดีไซต์ของ Bemular ขึ้นใหม่ให้มีรูปร่างคล้ายมนุษย์มากขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะยุคคลาสสิกของกรีก อียิปต์โบราณ ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการของยุโรป และซามูไรในตำนานอย่าง มิยาโมโตะ มุซาชิ จึงเกิดเป็นดีไซน์ตัวละครที่มีรูปร่างเป็นมิตร มีศีรษะคล้ายยักษ์ มีร่างกายสีเงินคล้ายจรวดอวกาศ ตัดสลับกับสีแดงที่สื่อถึงพื้นผิวของดาวอังคาร  

 

จากนั้น เอจิ สึบุรายะ จึงได้เปลี่ยนชื่อของซีรีส์เรื่องนี้เป็น Redman ซึ่งตั้งตามสีของตัวละครหลัก พร้อมปรับเนื้อหาของเรื่องเพิ่มเติม โดยบอกเล่าถึงมนุษย์ต่างดาวนาม Redman ที่เดินทางมายังโลกหลังจากดาวบ้านเกิดของตัวเองถูกทำลาย ก่อนที่ Redman จะได้รวมร่างกับเจ้าหน้าที่ซาโกมิสึเพื่อช่วยกันต่อสู้กับเหล่าไคจูและมนุษย์ต่างดาวที่ออกอาละวาด 

 

ในช่วงสุดท้ายของการพัฒนา ทาง โทรุ นาริตะ ได้ปรับเปลี่ยนดีไซน์หน้าตาของ Redman อีกครั้ง โดยร่วมมือกับผู้ช่วยของเขาอย่าง อากิระ ซาซากิ ในการนำดินเหนียวมาปั้นใบหน้าของ Redman ขึ้นมาใหม่ จนกลายเป็นรูปร่างที่เราคุ้นตากันในปัจจุบัน พร้อมเปลี่ยนชื่อของซีรีส์อีกครั้งเป็น Ultraman แต่ก่อนที่ตัวซีรีส์จะออกฉายได้ไม่นาน ทางทีมสร้างก็ได้เพิ่ม Color Timer หรือปุ่มสีน้ำเงินบนหน้าอกของ Ultraman เข้ามา และเพิ่มเนื้อหาให้ Ultraman จะมีเวลาอยู่บนดาวโลกได้เพียง 3 นาทีเท่านั้น เพื่อไม่ทำให้พลังของ Ultraman ดูแข็งแกร่งเกินไป และหวังว่าจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ชมอยากเอาใจช่วย Ultraman ในการต่อสู้มากขึ้น  

 

หลังจากที่มีการพัฒนาเนื้อเรื่องและปรับเปลี่ยนดีไซน์ตัวละครหลักอยู่หลายครั้ง ในที่สุดซีรีส์ Ultraman ก็ได้เริ่มต้นการถ่ายทำอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนมีนาคม 1966 โดยทางสถานีโทรทัศน์ TBS และ Tsuburaya Productions ได้วางกำหนดฉายของซีรีส์ไว้ในวันที่ 17 กรกฎาคม 1966 เพื่อให้ทันฉายต่อจากตอนสุดท้ายของซีรีส์ Ultra Q แต่เนื่องจากทีมสร้างไม่สามารถถ่ายทำซีรีส์ให้เสร็จทันกำหนดฉายที่ตั้งไว้ได้ ทาง TBS และ Tsuburaya Productions จึงตัดสินใจจัดรายการถ่ายทอดสดพิเศษในชื่อ The Birth of Ultraman ขึ้นในวันที่ 10 กรกฎาคม 1966 เพื่อเปิดตัวและแนะนำซีรีส์ Ultraman ก่อนที่ตอนแรกของซีรีส์จะออกอากาศ โดยในเวลาต่อมาวันที่ 10 กรกฎาคมของทุกปีได้ถูกกำหนดให้เป็นวัน Ultraman 

 

และในที่สุดซีรีส์ Ultraman ก็ได้ออกมาโลดแล่นสู่สายตาผู้ชมเป็นครั้งแรกในวันที่ 17 กรกฎาคม 1966 โดยบอกเล่าเรื่องราวของ ชิน ฮายาตะ (ซูซูมุ คุโรเบะ) หนึ่งในสมาชิกหน่วย Scientific Special Search Party (SSSP) ที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปสำรวจลูกบอลสีฟ้าปริศนาที่ตกลงมาแถวทะเลสาบ แต่แล้วก็เกิดเรื่องราวไม่คาดฝันขึ้น เมื่อจู่ๆ ก็มีลูกบอลสีแดงอีกหนึ่งลูกบินเข้ามาชนกับเครื่องบินของฮายาตะ จนเป็นเหตุให้ฮายาตะบาดเจ็บสาหัส

 

ณ เวลานั้นเอง มนุษย์ยักษ์นาม Ultraman ก็ปรากฏตัวขึ้นและได้รวมร่างเข้ากับฮายาตะเพื่อช่วยชีวิตของเขาเอาไว้ ฮายาตะจึงได้ฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง พร้อมกับใช้อุปกรณ์ที่ชื่อว่า เบตาแคปซูล ในการแปลงร่างเป็น Ultraman เพื่อเข้าต่อกรกับไคจูจากต่างดาวนาม Bemular จนสามารถเอาชนะมาได้สำเร็จ เรื่องราวของฮายาตะและ Ultraman ที่ต้องร่วมมือกันเพื่อปกป้องโลกจากเหล่าไคจูและมนุษย์ต่างดาวจึงเริ่มต้นขึ้น

 


 

 

3. แรงบันดาลใจและเรื่องราวของมนุษย์ยักษ์แห่งแสงที่ยังคงดำเนินมาถึงปัจจุบัน 

หลังจากที่ซีรีส์ Ultraman ออกฉายอย่างเป็นทางการ ก็ได้เสียงตอบรับจากผู้ชมอย่างล้นหลาม จนได้รับการต่อยอดเป็นซีรีส์ทางโทรทัศน์มาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ไล่เรียงตั้งแต่ซีรีส์จากยุคโชวะอย่าง Ultraseven (1967), Return of Ultraman (1971), Ultraman 80 (1980) ฯลฯ มาจนถึงซีรีส์ในยุคเฮเซ เช่น Ultraman Tiga (1996), Ultraman Cosmos (2001), Ultraman Mebius (2006) ฯลฯ รวมถึงยุคเรวะ เช่น Ultraman Taiga (2019), Ultraman Z (2020), Ultraman Decker (2022) ฯลฯ โดยในปี 2013 ซีรีส์ Ultraman ได้รับการบันทึกสถิติจาก Guinness World Records ให้เป็นซีรีส์ที่มีจำนวนภาค Spin-off มากที่สุดในโลก 

 

ขณะเดียวกัน ซีรีส์ Ultraman ยังได้ถูกขยับขยายออกไปในสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ มังงะ อนิเมะ ของเล่น และวิดีโอเกมอีกมากมาย เช่น The Ultraman (1979) อนิเมะซีรีส์เรื่องแรกของ Ultraman ที่ได้สตูดิโอ Sunrise มารับหน้าที่ดูแลการผลิต, ภาพยนตร์ Ultraman Zearth (1996), มังงะเรื่อง ULTRAMAN ของนักเขียน เออิจิ ชิมิซุ และ โทโมฮิโระ ชิโมกุจิ ที่ออกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2011 ก่อนที่จะได้รับการดัดแปลงเป็นฉบับอนิเมะโดย Netflix ในปี 2019

 

ซีรีส์ Ultraman ยังพยายามขยายตลาดออกไปในต่างประเทศให้มากยิ่งขึ้นผ่านการสร้างซีรีส์ Ultraman ภาษาต่างประเทศขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น Ultraman: The Adventure Begins (1987) ภาพยนตร์อนิเมะที่เป็นความร่วมมือระหว่าง Tsuburaya Productions และสตูดิโอ Hanna-Barbera Productions จากสหรัฐอเมริกา, Ultraman: Towards the Future หรือ Ultraman Great (1990) ซึ่งเป็นผลงานร่วมทุนสร้างระหว่าง Tsuburaya Productions และ The South Australian Film Corporation จากประเทศออสเตรเลีย, Ultraman: The Ultimate Hero หรือ Ultraman Powered (1993) ซึ่งเป็นการร่วมทุนสร้างระหว่าง Tsuburaya Productions และ Major Havoc Entertainment จากสหรัฐฯ ไปจนถึงการร่วมมือกันระหว่าง Tsuburaya Productions และ Marvel Comics ในการออกหนังสือคอมิก Ultraman ชื่อ The Rise of Ultraman ซึ่งเขียนโดย Kyle Higgins, Matthew Groom และ Francesco Manna ออกมาในปี 2020 

 

นอกจากเรื่องราวของมนุษย์ยักษ์แห่งแสงที่ได้รับความนิยมจากแฟนๆ มาอย่างยาวนานหลายทศวรรษ ซีรีส์ Ultraman ยังเป็นอีกหนึ่งตัวละครซูเปอร์ฮีโร่จากญี่ปุ่นที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้สร้างและสื่อบันเทิงอีกมากมาย 

 

เช่น อากิระ โทริยามะ นักวาดมังงะเจ้าของผลงานระดับตำนานอย่าง Dragon Ball ได้ออกแบบคาแรกเตอร์ของ จีจี้วัยเด็ก ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากซีรีส์เรื่อง Ultraseven หรือภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่จากจักรวาล MCU เรื่อง Ant-Man (2015) โดยผู้กำกับ Peyton Reed เคยออกมาเปิดเผยว่าชุดของตัวละคร Ant-Man นั้นได้รับแรงบันดาลใจจากซีรีส์ Ultraman และภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ของฮ่องกงอย่าง The Super Inframan (1975) รวมถึงแฟรนไชส์แอนิเมชันชื่อดังอย่าง Ben 10 กับการออกแบบคาแรกเตอร์ของเอเลี่ยนชื่อ Way Big ที่ได้รับแรงบันดาลมาจากตัวละคร Ultraman  

 

รวมถึงผู้กำกับมากฝีมือ Guillermo del Toro เจ้าของผลงานชั้นยอดอย่าง Pacific Rim (2013) และ The Shape of Water (2017) ก็เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าเขาคือหนึ่งในแฟนตัวยงของซีรีส์ Ultraman และซีรีส์โทคุซัทสึระดับตำนานอีกหลายเรื่อง และในช่วงที่ซีรีส์ Ultraman X ออกฉายในปี 2015 ทางทีมงาน Tsuburaya Productions ที่ทราบข่าวว่า Guillermo del Toro คือแฟนคลับของ Ultraman ทางทีมสร้างก็ได้ใส่ Easter Egg เล็กๆ เอาไว้ในตอนที่ 5 ด้วยการตั้งชื่อดาวดวงหนึ่งว่า Planet Guillermo ซึ่งมีที่มาจากชื่อของผู้กำกับ Guillermo del Toro นั่นเอง  

 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องราวส่วนหนึ่งที่เราหยิบยกมากล่าวถึง เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพว่า ซีรีส์ Ultraman ไม่ได้เป็นเพียงซีรีส์โทคุซัทสึจากญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในแง่ความนิยมอย่างเดียวเท่านั้น แต่เรื่องราวการปกป้องโลกของมนุษย์ยักษ์แห่งแสงเรื่องนี้ยังได้ส่งมอบความสนุกและแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ชมทั่วโลกอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย  

 


 

 

4. Shin Ultraman การหวนคืนสู่เรื่องราวสุดคลาสสิกอีกครั้งของมนุษย์ยักษ์แห่งแสง

Shin Ultraman คือภาพยนตร์ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง Tsuburaya Productions, TOHO และ Studio Khara ที่เริ่มประกาศสร้างอย่างเป็นทางการในปี 2019 โดยเป็นผลงานที่สร้างขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 55 ปีของซีรีส์ Ultraman อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผลงานจากโปรเจกต์ที่ชื่อว่า Shin Japan Heroes Universe ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง 4 สตูดิโอยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น ได้แก่ TOHO, Toei Company, Tsuburaya Productions และ Studio Khara โดยเป็นการหยิบนำซีรีส์ซูเปอร์ฮีโร่สุดคลาสสิกของญี่ปุ่นมารีบูต ได้แก่ Shin Godzilla ในปี 2016, Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time ในปี 2021, Shin Ultraman ในปี 2022 และ Shin Kamen Rider ที่มีกำหนดฉายในเดือนมีนาคม 2023 

 

ส่วน Shin Ultraman จะได้ ชินจิ ฮิงุจิ หนึ่งในผู้กำกับจาก Shin Godzilla มานั่งแท่นผู้กำกับ พร้อมด้วย ฮิเดอากิ อันโนะ ผู้กำกับอนิเมะระดับตำนานอย่าง Neon Genesis Evangelion รวมถึงแฟรนไชส์ Rebuild of Evangelion และผู้กำกับร่วมจาก Shin Godzilla มารับหน้าที่เขียนบทและดูแลในตำแหน่งโปรดิวเซอร์ 

 

ภาพยนตร์จะว่าด้วยเรื่องราวในประเทศญี่ปุ่น เมื่อมีสิ่งมีชีวิตปริศนาขนาดยักษ์ที่เกิดขึ้นเหนือธรรมชาติ หรือเรียกย่อๆ ว่า ไคจู (S-Class Species) ออกมาอาละวาดจนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทางรัฐบาลญี่ปุ่นจึงก่อตั้งหน่วย S-Class Species Suppression Protocol (SSSP) หรือหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามไคจู เพื่อต่อกรกับวิกฤตที่เกิดขึ้น แต่แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อจู่ๆ ก็มีมนุษย์ยักษ์สีเงินปรากฏตัวขึ้นและเข้าต่อสู้กับไคจู ทาง SSSP จึงต้องเตรียมแผนรับมือกับมนุษย์ยักษ์สีเงินที่ถูกตั้งชื่อว่า Ultraman

 

ภาพยนตร์ยังคับคั่งด้วยทีมนักแสดงมากฝีมือ นำโดย ทาคุมิ ไซโตะ ที่เคยร่วมงานกับ ชินจิ ฮิงุจิ มาแล้วใน Shin Godzilla มารับบทเป็น ชินจิ คามินากะ ผู้แปลงร่างเป็น Ultraman พร้อมด้วย มาซามิ นางาซาวะ จาก Our Little Sister (2015), ฮิเดโทชิ นิชิจิมะ จาก Drive My Car (2021), อาการิ ฮายามิ จาก Gintama Live Action the Movie (2017) และ ไดกิ อาริโอกะ จาก Code Blue Season 3 (2017) มารับบทเป็นสมาชิกหน่วย SSSP และ โคจิ ยามาโมโตะ จาก Kamen Rider Zero-One (2019) มารับบทเป็นเอเลี่ยนเมฟิลาส

 

โดยนอกจากบรรยากาศของเรื่องที่เข้มข้นจริงจัง การกลับมาอาละวาดอีกครั้งของเหล่าไคจูที่อยู่ในความทรงจำของแฟนๆ และงานสร้างสุดยิ่งใหญ่ อีกหนึ่งความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้คือการที่ผู้กำกับและทีมสร้างตัดสินใจนำดีไซน์ดั้งเดิมของ Ultraman ซึ่งออกแบบโดย โทรุ นาริตะ ที่ไม่มีปุ่ม Color Timer บนหน้าอกกลับมาใช้อีกครั้ง ก็ยิ่งชวนให้เราติดตามต่อว่าเรื่องราวของมนุษย์ยักษ์แห่งแสงที่จะพาผู้ชมหวนคืนสู่ความคลาสสิกครั้งนี้ จะถูกนำเสนอออกมาให้เราได้ชมกันในรูปแบบไหน 

 

Shin Ultraman มีกำหนดเข้าฉาย วันที่ 22 กันยายนนี้ ในโรงภาพยนตร์ 

 

รับชมตัวอย่างได้ที่นี่ 

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X