‘ไมเคิล’ ชายในเงามืดถามด้วยเสียงเย็นๆ “ตกลงแล้วนายนามสกุลโอลิเวอร์หรือโอลิเวอร์พูลกันแน่”
“โอลิเวอร์สิ” ผู้ตัดสินที่ได้ชื่อว่ามือดีที่สุดคนหนึ่งของวงการฟุตบอลอังกฤษตอบด้วยน้ำเสียงที่พยายามสะกดให้เรียบที่สุด
“แต่ในเกมสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานายให้จุดโทษกับลิเวอร์พูลง่ายเกินไปไหม มันเป็นการตัดสินที่ดูประหลาดนะว่าไหม” คำถามดังขึ้นอีกครั้ง
โอลิเวอร์พูลตอบกลับทันที “ไม่มีอะไร ก็ตัดสินตามจังหวะของเกม”
เข็มบนเครื่องกวาดจากซ้ายไปขวา จากขวาไปซ้าย พร้อมรอยยิ้มของ ฮาเวิร์ด เว็บบ์ ผู้นำแห่ง PGMOL คณะผู้ตัดสิน “งั้นเหรอโอลิเวอร์พูล”
ทั้งหมดที่เขียนข้างต้นเป็นเรื่องสมมติ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่มันกำลังจะเป็นเรื่องจริงในวงการฟุตบอลยูเครน เมื่อผู้นำของวงการลูกหนังคนใหม่มีความตั้งใจที่จะยกระดับมาตรฐานการตัดสินให้โปร่งใสขึ้นด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือพิเศษ
อุปกรณ์ที่เรียกว่า ‘เครื่องจับเท็จ’
หนึ่งในปัญหาคลาสสิกของวงการฟุตบอลไม่ว่าจะที่ใดก็ตามบนโลกคือ เรื่องการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินในสนาม ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษแก่ทีมที่แข่งขันได้
ถ้าเป็นการตัดสินไปตามเกมก็ไม่เป็นไร เข้าใจกันได้ แต่บ่อยครั้งที่การตัดสินนั้นคลุมเครือ มีความน่ากังขา และชวนให้คิดว่าผู้ตัดสินได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยใจที่เป็นกลาง เพื่อให้การตัดสินนั้นบริสุทธิ์และยุติธรรมโดยปราศจาก ‘อคติ’ หรือไม่
หรือหนักไปกว่านั้นคือ ผู้ตัดสินรับ ‘งานเสริม’ จากใครสักคน เพื่อกำหนดเกมการแข่งขันหรือไม่
เรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มี เพราะเป็นที่ประจักษ์ในหลายกรณีจากหลายประเทศ แม้แต่ในลีกฟุตบอลระดับสูงสุดของโลกอย่างเซเรียอา อิตาลี หรือแม้แต่ในลีกที่ไม่มีใครอยากเชื่อว่าชนชาติอย่างเยอรมนีจะมีการ ‘ล้มบอล’ กันในเกมบุนเดสลีกา
ไม่เห็นไม่ได้แปลว่าไม่มี และบางครั้งถึงเห็นคาตาว่าน่ากังขา แต่ถ้าไม่เป็นเรื่องเป็นราวถูกสอบสวนก็ไม่มีใครยอมรับในสิ่งเหล่านี้
ในวงการฟุตบอลยูเครนเองก็มีปัญหาทำนองนี้เหมือนกัน สำหรับประเทศที่อยู่ในภาวะสงคราม เกมฟุตบอลเป็นหนึ่งในความสุขไม่กี่อย่างที่กลับมาดำเนินต่อไปได้ แต่ดูเหมือนเรื่องของการตัดสินอย่างไม่ตรงไปตรงมายังคงเป็นปัญหาของวงการลูกหนังยูเครน
โดยที่รากเหง้านั้นฝังลึกย้อนกลับไปได้ถึงในยุคสมัยที่ยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตได้เลย
ปี 1995 ดินาโม เคียฟ ซึ่งเป็นทีมเบอร์หนึ่งของยูเครนในขณะนั้น (และ เชฟเชนโก ก็อยู่ในทีมชุดนั้นด้วย) เคยถูกปรับตกรอบแชมเปียนส์ลีก หลังถูกกล่าวหาว่าพยายามติดสินบนผู้ตัดสินชาวสเปนในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกนัดที่พบกับพานาธิไนกอส
ในปี 2013 เมตาลิสต์ คาร์คีฟ ถูกตัดสินว่ากระทำผิดในการจ้างผู้ตัดสินล้มบอลที่ย้อนหลังเมื่อปี 2008
ปี 2018 มีการสอบสวนครั้งใหญ่เกี่ยวกับการกระทำทุจริตล้มบอลที่มีสโมสรที่เกี่ยวข้องถึง 35 แห่งทั่วประเทศ โดยมี 5 แก๊งอาชญากรรายใหญ่อยู่เบื้องหลัง
คดีนี้มีผู้เกี่ยวข้องถึง 328 คน และมีการล้มบอลถึง 57 เกม มีเม็ดเงินเข้ามาเกี่ยวข้องถึง 4 ล้านยูโร โดยเม็ดเงินนี้มาจากกลุ่มรับพนันในเอเชีย เพียงแต่ผลของการสอบสวนเรื่องนี้ไม่มีออกมา เรื่องยังเงียบหายไปในสายลม
ด้วยเหตุนี้เองทำให้นายกสมาคมฟุตบอลยูเครนคนใหม่ ซึ่งก็ไม่ใช่คนอื่นคนไกล แต่เป็นกองหน้าระดับวีรบุรุษของชาติอย่าง อังเดรย์ เชฟเชนโก ที่เพิ่งได้ตำแหน่ง มาประกาศความตั้งใจของตัวเองในการที่จะ ‘ชำระ’ วงการฟุตบอลยูเครนด้วยการยกระดับมาตรฐานการตัดสิน และกำจัดการคอร์รัปชัน กินสินบาทคาดสินบนไปให้หมดจากวงการ
นอกเหนือจากเรื่องของการสุ่มเลือกผู้ตัดสินที่จะทำหน้าที่ในแต่ละคู่แต่ละสัปดาห์ด้วยระบบ ‘ลอตเตอรี่’ ที่มาแทนที่ระบบเดิมที่ให้คณะกรรมการเป็นผู้เลือกผู้ตัดสินในการทำหน้าที่แต่ละนัดแล้ว เชฟเชนโกยังมาพร้อมวิธีการแบบใหม่แต่คลาสสิก
‘เครื่องจับเท็จ’ (Polygraph) คือสิ่งที่เขาเชื่อว่าจะเปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้ได้
สำหรับเครื่องจับเท็จเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ถือกำเนิดขึ้นมานานแล้วบนโลกใบนี้ โดยมีหลักการง่ายๆ ด้วยการตรวจอัตราการเต้นของหัวใจ ชีพจร ความดันโลหิต และเหงื่อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลอกกันได้ เพราะเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมการทำงานได้โดยสมบูรณ์
ใครจะควบคุมการเต้นของหัวใจหรือการไหลออกของเหงื่อผ่านผิวหนังได้?
คนที่มีพิรุธอาการออก เครื่องก็จะจับสัญญาณได้ เข็มจะกวาดไปมา แต่ถ้าคนที่บริสุทธิ์ใจเข็มจะนิ่งไม่ไหวติง
เชฟเชนโกบอกด้วยความมั่นใจว่า “เรามองเครื่องจับเท็จว่าเป็นโอกาสที่จะได้ข้อมูล และเข้าใจได้ว่าผู้ตัดสินคนไหนที่ยังร่วมงานด้วยได้ และคนไหนที่ไม่ควรจะร่วมงานด้วย”
ในความหมายของ ‘เชวา’ คือ หากผู้ตัดสินคนไหนที่ไม่ผ่านการตรวจด้วยเครื่องจับเท็จ มีพิรุธ ก็จะถูกตัดสิทธิ์ในการเป็นผู้ตัดสินไปตลอดกาล
แต่แน่นอนว่าการนำเครื่องมือที่ใช้ในการสืบสวนสอบสวนมาใช้แบบนี้ไม่ได้ง่ายเหมือนสั่งอุปกรณ์มาจากแพลตฟอร์มออนไลน์ เครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือเฉพาะที่ต้องใช้โดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งการใช้เครื่องจับเท็จเองก็มีกระบวนการไม่น้อย เช่น การสอบปากคำเบื้องต้นโดยผู้เชี่ยวชาญ การสอบสวนที่เข้มข้น และการอ่านค่า
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของระยะเวลาด้วย เพราะช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการสอบสวนคือ หลังจบเหตุการณ์ไม่นาน เพราะผู้ที่เข้ารับการตรวจจะไม่มีโอกาสหรือเวลาให้เตรียมตัวมาก่อน
สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สมาคมฟุตบอลยูเครนต้องคิดอ่านก่อนจะนำมาใช้จริง เช่น จะตรวจเมื่อไร จะสุ่มตรวจอย่างไร จะตรวจทุกสนามหลังจบเกมทุกนัดไหม หรือสุ่มตรวจเป็นบางนัดที่พบสิ่งที่น่าสงสัย ซึ่งเชฟเชนโกยกให้เป็นหน้าที่ของ คาเทรินา มอนซุล อดีตผู้ตัดสินหญิงที่ดีที่สุดของยูเครน และเคยได้รับการโหวตว่าเป็นผู้ตัดสินที่ดีที่สุดในฟุตบอลโลกหญิง 2015 ที่จะรับเหมางานนี้ไป
ท่ามกลางกระแสข่าวในยูเครนว่า มีการตรวจผู้ตัดสินบางคนไปแล้ว และมีแผนจะจับบรรดาผู้ช่วยผู้ตัดสินเข้ารับการตรวจด้วย
วิธีการใช้เครื่องจับเท็จนี้อาจไม่ถึงกับเป็นวิธีที่ดีที่สุดหรือทันสมัยที่สุดในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน เพราะไม่มีใครการันตีผลได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายอย่าง เช่น ผู้เข้ารับการตรวจ ผู้สอบสวน หรือแม้แต่อุปกรณ์เอง
แต่ขั้นต่ำที่สุดของผลลัพธ์คือ การแสดงจุดยืนที่จริงจังของเชฟเชนโกและสมาคมฟุตบอลยูเครน ที่ต้องการกำจัดมะเร็งร้ายของวงการลูกหนังให้ออกไปได้มากที่สุดในเวลานี้
และหว่านเพาะเมล็ดพันธุ์ความหวาดกลัวต่อการกระทำผิดลงบนหัวใจของบรรดาผู้ตัดสินในอนาคต
เพราะขึ้นชื่อว่ากรรมการ งานนั้นไม่มีอะไรยากหรือซับซ้อนไปกว่าการตัดสินอย่างเที่ยงธรรม
ว่าแต่เมืองไทยคิดจะลองทำแบบนี้บ้างไหม? ไม่ใช่แค่ผู้ตัดสินหรือผู้ช่วยผู้ตัดสิน ตรวจไปยัน VAR เลย
จะได้สบายใจกัน
อ้างอิง:
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- การเลือก ผู้ตัดสิน ระดับพรีเมียร์ลีก เขาใช้วิธีการแบบไหนกัน?
- ‘Blue Card’ นวัตกรรมใหม่การตัดสินที่จะช่วยให้เกมฟุตบอลดีขึ้น?
- แบบไหนผิด…แบบไหนถูก? ในวันที่ผู้คนเริ่มไม่เข้าใจกฎฟุตบอลอีกต่อไป