เย็นวานนี้ (28 เมษายน) ที่โรงแรมพูลแมน กรุงเทพฯ โฮเทล จี สถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย จัดการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินมายาวนานกว่า 2 เดือน โดยมี โอเล็กซานเดอร์ ไลซัค อุปทูตยูเครนประจำประเทศไทย เป็นผู้แถลงร่วมกับบุคคลต่างๆ
ไลซัคเริ่มต้นแถลงด้วยการระบุถึงความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเด็กชาวยูเครนในสงคราม จากนั้นเขากล่าวขอบคุณต่อรัฐบาลไทยและประชาชนไทยในการสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการโหวตสนับสนุนมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าด้วยการรุกรานยูเครน และมติว่าด้วยผลเชิงมนุษยธรรมที่ตามมาจากการรุกรานดังกล่าว เขายังอ้างถึงการจัดกำลังทหารใหม่ของฝั่งรัสเซียไปยังฝั่งตะวันออกของยูเครน โดยระบุว่า รัสเซียมีเป้าหมายเพื่อครอบครองทั้งแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ และทำให้ได้มาซึ่งเส้นทางที่เชื่อมต่อไปยังไครเมียผ่านเมืองมาริอูโปล
ไลซัคยังระบุด้วยว่า รัสเซียเริ่มหาข้ออ้างอันเป็นเท็จ เพื่อเป็นคำอธิบายแก่สงคราม เช่น เขาปฏิเสธว่าแม้จะมีการกล่าวหาอย่างผิดๆ จากรัสเซีย แต่ยูเครนไม่มีเจตนาหรือขั้นตอนใดๆ ที่มุ่งเป้าไปสู่การสร้างอาวุธนิวเคลียร์ และอ้างถึงการยืนยันโดยผู้อำนวยการ IAEA เมื่อวันที่ 4 มีนาคมที่ผ่านมา หรือกรณีที่เจ้าหน้าที่รัสเซียหลายคนกล่าวหายูเครนเกี่ยวกับอาวุธชีวภาพหรือเคมีที่เขาระบุว่าไม่มีอยู่จริง เป็นต้น
ไลซัคยังชี้ว่า ยูเครนกำลังพยายามอย่างดีที่สุดในการหยุดสงครามนี้ แต่ “ความโหดร้ายและอาชญากรรมสงครามที่ก่อขึ้นโดยกองทหารรัสเซียในยูเครนนั้นได้จำกัดพื้นที่สำหรับการเจรจา” เขายังระบุด้วยว่า การสังหารผู้ที่ปกป้องยูเครนในเมืองมาริอูโปล หรือการจัด ‘ประชามติปลอม’ ในดินแดนที่ถูกยึดครองอาจทำให้กระบวนการเจรจาสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ไลซัคยังกล่าวถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสงคราม เช่น การที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในยูเครนหยุดชะงัก การหยุดการทำงานของโรงงานหลายแห่งที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของยูเครน การปิดล้อมท่าเรือในทะเลดำและทะเลอาซอฟ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของยูเครน เป็นต้น และยังย้ำถึงความสำคัญของมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ตลอดจนการที่สงครามครั้งนี้เป็นภัยต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก
ไลซัคยังกล่าวถึงปัญหาด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์ในเมืองมาริอูโปลที่มีพลเรือนหลายพันคนติดอยู่โดยไม่มีน้ำ ความร้อน ไฟฟ้า และขาดการสื่อสาร รวมถึงในโรงงานเหล็กอาซอฟสตาล และกล่าวหาฝ่ายรัสเซียว่า ปฏิเสธคำร้องขอทั้งหมดจากฝ่ายยูเครน ผู้นำโลก และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหประชาชาติ (UN) ในเรื่องเขตฉนวน เพื่อการอพยพสำหรับพลเรือน โดยรัสเซียยังคงโจมตีอาซอฟสตาลและทั่วทั้งเมืองด้วยระเบิดทางอากาศ จรวด และปืนใหญ่หนัก เป็นต้น รวมถึงการไม่หยุดโจมตีในช่วงเทศกาลออร์โธด็อกซ์อีสเตอร์
ไลซัคระบุว่า เขาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยสนับสนุนความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศในการเปิดเขตฉนวน เพื่อมนุษยธรรมและช่วยชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์ของเมืองมาริอูโปล ตลอดจนเมืองอื่นๆ ทางตะวันออก และรัฐบาลยูเครนจะขอบคุณอย่างสูงต่อการให้ความสนใจต่อความต้องการของชาวยูเครนที่ยังติดค้างอยู่ในไทย และหวังว่าความช่วยเหลือดังกล่าวของประเทศไทยจะยังคงดำเนินต่อไปและเข้มข้นยิ่งขึ้น เขายังย้ำว่า ยูเครนยินดีต่อทุกขั้นตอนของสถาบันระหว่างประเทศที่จะนำรัสเซียเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเนื่องจากขนาดของสงคราม เขาจึงเรียกร้องให้มีการขยายการตอบสนองด้านมนุษยธรรมของประเทศไทย และเพิ่มปริมาณความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการส่งมอบให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
ในการแถลงข่าวครั้งนี้ยังมีการวิดีโอคอลพูดคุยกับบุคคลต่างๆ อาทิ ทาราส วีซอตสกี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงนโยบายเกษตรกรรมและอาหารของยูเครน และมีการกล่าวถึงผลกระทบที่เกิดจากสงครามต่อประเด็นความมั่นคงทางอาหาร โดยการผลิตและการส่งออกอาหารจากยูเครนได้รับผลกระทบ ตัวอย่างสินค้าส่งออกที่สำคัญจากยูเครน อาทิ ข้าวสาลี นอกจากนี้ยังย้ำว่า ยูเครนใช้ความพยายามอย่างดีที่สุดในการส่งออกไปยังประเทศในยุโรป และยูเครนพร้อมที่จะใช้ท่าเรือของยุโรปในการส่งสินค้ามายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ขณะที่สถานการณ์ในยูเครนนั้น แม้จะมีความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากองค์กรระหว่างประเทศ แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน จึงขอให้มีการให้ความช่วยเหลือต่อไป โดยเฉพาะสินค้าด้านมนุษยธรรม
ขณะที่ สวาโตสลาฟ ปาลามาร์ รองผู้บัญชาการกองพันอาซอฟในเมืองมาริอูโปล ระบุถึงการโจมตีที่ยังคงเกิดขึ้นในอาซอฟสตาล และข้อเรียกร้องให้มีการอพยพพลเรือนและผู้บาดเจ็บ โดยเขาบอกว่า พยายามจะส่งข้อความถึงทั้งโลกว่าควรจะมีหนทางสำหรับผู้คนในอาซอฟสตาลในการอพยพไปยังที่ที่ปลอดภัย เขายังระบุว่า จำนวนทหารรัสเซียนั้นมีมากกว่าฝั่งยูเครนถึง 10 เท่า รวมถึงมีการโจมตีโรงพยาบาลเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยกับรองประธานหน่วยบริการของรัฐด้านการสื่อสารพิเศษและการปกป้องข้อมูล ด้านการพัฒนาดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการทำให้เป็นดิจิทัลของยูเครน ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ยูเครนประสบด้วย
ทั้งนี้ ในการแถลงข่าวครั้งนี้ไลซัคย้ำว่า ขณะนี้ไม่มีอาสาสมัครทางทหารซึ่งเป็นคนไทยปฏิบัติหน้าที่อยู่ในยูเครนแต่อย่างใด