การทำประชามติผนวกดินแดนที่จัดขึ้นใน 4 แคว้นของยูเครน ซึ่งถูกรัสเซียยึดครองไว้ ได้แก่ แคว้นลูฮันสก์ (Luhansk) และโดเนตสก์ (Donetsk) ในภูมิภาคดอนบาส ทางภาคตะวันตก แคว้นซาปอริซเซีย (Zaporizhia) ทางตะวันออกเฉียงใต้ และเคอร์ซอน (Kherson) ทางตอนใต้ เสร็จสิ้นลงเมื่อวานนี้ (27 กันยายน) หลังเปิดให้ลงคะแนนต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 23-27 กันยายน
ผลนับคะแนนจากคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 4 แคว้น ที่ ‘มอสโก’ แต่งตั้งมา รายงานตรงกันว่า ประชาชนส่วนใหญ่โหวตเห็นชอบหรือสนับสนุนการผนวกดินแดนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ชนิดที่เรียกได้ว่า ‘ถล่มทลาย’
โดยผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการจากทั้ง 4 แคว้น มีดังนี้
- ลูฮันสก์ 98.4%
- โดเนตสก์ 99.2%
- ซาปอริซเซีย 93.1%
- เคอร์ซอน 87%
รัฐบาลเครมลินยืนยันว่า การจัดทำประชามติดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใส และเป็นไปตามบรรทัดฐานในการทำประชามติ โดย ดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดี ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานสภาความมั่นคงของรัสเซีย ได้โพสต์ข้อความทาง Telegram ว่า “ผลการทำประชามตินั้นชัดเจน ยินดีต้อนรับ (ทั้ง 4 แคว้น) กลับบ้าน กลับสู่รัสเซีย”
สำนักข่าว TASS ของทางการรัสเซีย รายงานข้อมูลจากกระทรวงต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ ว่ามีเจ้าหน้าที่ 130 คน จาก 28 ประเทศ เข้าร่วมสังเกตการณ์การทำประชามติในโดเนตสก์
เช่นเดียวกับในเคอร์ซอน ซึ่ง TASS รายงานว่า ทาปิวา มาเซนดา เจ้าหน้าที่สังเกตการณ์จากพรรค ZANU-PF ของซิมบับเว ซึ่งลงพื้นที่สังเกตการณ์หน่วยเลือกตั้ง ยืนยันว่ามีการดำเนินการตามเงื่อนไขที่จำเป็นทั้งหมดสำหรับการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้แสดงเจตจำนงของตนเอง
TASS ยังรายงานว่า ส.ส. รัสเซีย พร้อมที่จะประชุมเพื่อประกาศรับรองผลการทำประชามติดังกล่าว ในขณะที่รายงานจากกระทรวงกลาโหมอังกฤษก่อนหน้านี้ ระบุว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน อาจประกาศผนวกดินแดนได้ในวันศุกร์ (30 กันยายน)
อย่างไรก็ตาม ยูเครนและชาติตะวันตกรวมถึงสหรัฐฯ ต่างประกาศไม่ยอมรับและประณามการทำประชามติดังกล่าวว่า เป็นประชามติที่ ‘ลวงโลก’ และ ‘ผิดกฎหมาย’ และเป็นข้ออ้างของมอสโกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดดินแดนยูเครน โดยวอชิงตันเตรียมประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ต่อรัสเซีย เพื่อตอบโต้การผนวกดินแดนยูเครนด้วย ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (UN) ยังคงรับรองให้ทั้ง 4 แคว้นเป็นดินแดนของยูเครน
สำหรับการทำประชามติดังกล่าว จัดขึ้นอย่างเร่งรีบท่ามกลางสถานการณ์สงคราม ที่กองทัพรัสเซียตกเป็นฝ่ายถดถอยในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และเป็นการเปิดทางให้ทั้ง 4 แคว้น ซึ่งมีพื้นที่คิดเป็น 15% ของดินแดนยูเครน ผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในอธิปไตยของรัสเซีย เช่นเดียวกับไครเมีย ที่ทำประชามติผนวกเข้ากับรัสเซียเมื่อปี 2014
นักวิเคราะห์ต่างมองว่า แผนทำประชามติที่รีบเร่งนี้ เป็นการแก้เกมของรัสเซียเพื่อป้องกันการโต้กลับ และยึดคืนดินแดนจากยูเครน ที่ระดมโจมตีโต้กลับอย่างหนัก
ที่ผ่านมารัฐบาลเครมลินประกาศชัดเจนว่า ดินแดนที่ผนวกเข้ากับรัสเซียจะได้รับการคุ้มครองอย่างเต็มที่ภายใต้อธิปไตยของรัสเซีย และการที่ยูเครนพยายามรุกรานหรือยึดคืนดินแดนนั้น จะเปรียบเสมือนการโจมตีรัสเซียเช่นกัน ซึ่งปูตินขู่ว่าจะใช้ทุกวิถีทางรวมถึงอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดนของรัสเซีย ทำให้ยูเครนและชาติตะวันตกต้องคิดหนัก เพราะอาจส่งผลให้สงครามนั้น ‘ยกระดับ’
ทางด้าน นาวาเอก อ.ดร.หัสไชยญ์ มั่งคั่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นในระหว่างการเสวนาหัวข้อ Ukraine, Taiwan: Strait & Stress เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมาว่า ประชามติที่รัสเซียจัดทำครั้งนี้ไม่ได้มีการเชิญเจ้าหน้าที่ UN ร่วมสังเกตการณ์ด้วย จึงแน่นอนว่าทำให้ขาดความชอบธรรมในสายตาของนานาชาติ และมองว่าการลงประชามติครั้งนี้ มีเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศซ้อนอยู่ข้างหลังอีกชั้นหนึ่ง คือการต่อสู้กันของโลกเสรี (Liberal Democracy) และเผด็จการรัสเซีย (Autocratic Russia)
ซึ่งโดยหลักการแล้วการลงประชามติเป็นเรื่องที่ดี แต่การที่รัสเซียใช้อาวุธมาบีบบังคับให้คนลงประชามติ แล้วอ้างเรื่องของการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง (Self-Determination) นั้นไม่ถูกต้อง ด้วยเหตุนี้ ในสายตาของประชาคมโลกจึงไม่น่าจะมีผู้ที่เห็นด้วยหรือยอมรับผลการทำประชามติ หรืออาจจะมีเพียงไม่กี่ประเทศที่เห็นด้วย อาทิ เกาหลีเหนือ หรือคิวบา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตากันต่อนั้นคือประเด็นที่ว่า เมื่อไม่เกิดการยอมรับ แล้วสิ่งที่ตามมาต่อจากนี้คืออะไร ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับนโยบายกิจการต่างประเทศของชาติต่างๆ และสหรัฐฯ ก็คงจะ ‘กัดไม่ปล่อย’ ในกรณีนี้
ขณะที่ ผศ.ดร.ธีวินท์ สุพุทธิกุล หัวหน้าภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีนี้มีความน่าสนใจตรงที่ว่า ท้ายที่สุดแล้วรัสเซียก็พยายามแสวงหาความชอบธรรมจากบรรทัดฐาน (Norm) ที่เป็นประชาธิปไตย ถึงแม้จะเป็นฉากหน้าก็ตาม การลงประชามติครั้งนี้ได้สะท้อนพลังของโลกเสรีนิยม ซึ่งถ้ารัสเซียเข้ามาเล่นเกมนี้แล้ว ก็จะถูกต่อต้านจากชาติต่างๆ ได้ไม่ยาก เพราะรัสเซียใช้การข่มขู่ ไปเคาะประตูตามบ้านบังคับให้คนออกเสียง แล้วในยุคนี้เป็นยุคที่มีสื่อหลายช่องทางที่จะฉายภาพให้เห็นว่าคุณทำอะไร อย่างไร ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงถึงความชอบธรรมได้ เพราะนี่คือเกมในแบบเสรีนิยม
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/europe/moscows-proxies-occupied-ukraine-regions-report-big-votes-join-russia-2022-09-27/
- https://www.reuters.com/world/ukraine-annexation-votes-end-amid-russian-mobilisation-exodus-2022-09-26/
- https://tass.com/politics/1514297
- https://tass.com/politics/1514217
- https://tass.com/politics/1514257