×

จับตาความเสี่ยงและผลกระทบ หลังรัสเซียเปิดฉากโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยูเครน

04.03.2022
  • LOADING...
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

รัสเซียสร้างความกังวลแก่ทั่วโลกอีกครั้ง หลังเปิดฉากยิงปืนใหญ่โจมตีพื้นที่รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในเมืองซาปอริซเซีย ทางตอนใต้ของยูเครน ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป จนก่อให้เกิดไฟไหม้ภายในโรงไฟฟ้า แม้ว่าล่าสุดการสู้รบจะหยุดลงและมีการยืนยันว่าไฟถูกดับได้แล้ว แต่หลายฝ่ายยังคงจับตามองความเคลื่อนไหวของกองทัพรัสเซีย ที่อาจกระทำการอย่าง ‘ไม่ยั้งคิด’ จนก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมและภัยพิบัติ เช่นเดียวกับกรณีการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ในปี 1986

 

ยูเครนนั้นถือเป็นประเทศที่พึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์มากเป็นอันดับ 3 ของโลก และมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากเป็นอันดับต้นๆ โดยปัจจุบันมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ยังใช้งานได้อยู่ทั้งหมด 15 เตา ภายใน 4 โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้แก่

 

  1. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย (Zaporizhzhia Nuclear Power Plant): เตาปฏิกรณ์ 6 เตา
  2. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยูเครนใต้ (South Ukraine Nuclear Power Plant): เตาปฏิกรณ์ 3 เตา
  3. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ริฟเน (Rivne Nuclear Power Plant): เตาปฏิกรณ์ 4 เตา
  4. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์คเมลนิตสกี (Khmelnytskyi Nuclear Power Plant): เตาปฏิกรณ์ 2 เตา

 

ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ที่สามารถก่อให้เกิดอันตรายและภัยพิบัติในระดับที่ ‘ใหญ่กว่า’ โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล โดยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียที่ถูกโจมตีนั้นมีเตาปฏิกรณ์มากที่สุด (มากกว่าโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลที่มี 4 เตาปฏิกรณ์) และมีที่ตั้งอยู่ใกล้ด่านหน้าของการสู้รบ โดยห่างจากแคว้นโดเนตสก์ในภูมิภาคดอนบาส ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งหลักทางตะวันออกของยูเครน ประมาณ 200 กิโลเมตร 

 

คำถามที่แทบทุกคนคงไม่ต้องการให้เกิดขึ้น คือ หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหล่านี้ได้รับความเสียหายจากการโจมตีของรัสเซียจนถึงขั้นเกิดระเบิด จะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงในระดับไหน และผลกระทบจะขยายวงกว้างแค่ในยูเครน หรือลุกลามไปทั่วยุโรป หรือทั่วโลก? แล้วความเสี่ยงจากสงครามที่มีต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นมีอะไรบ้าง

 

ความเสี่ยงที่รัสเซียจะโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

 

  • ที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญมองว่าการโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียและยูเครนใต้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้น เนื่องจากทั้ง 2 โรงไฟฟ้าอยู่ไม่ไกลจากภูมิภาคดอนบาสและพรมแดนรัสเซีย โดยการปนเปื้อนและการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีในชั้นบรรยากาศอาจส่งผลกระทบไม่เพียงแค่ชาวยูเครน แต่ยังรวมไปถึงดินแดนของกลุ่มกบฏฝักใฝ่รัสเซียและประเทศรัสเซียเอง

 

  • ความเป็นไปได้หลักๆ ที่อาจทำให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เกิดความเสียหายหรือภัยพิบัติรุนแรงนั้นอาจเกิดจากไม่กี่สาเหตุ เช่น อุบัติเหตุ การก่อการร้าย และการก่อวินาศกรรม ซึ่งสถานการณ์สงครามที่กำลังเดินหน้าอยู่นี้ก่อให้เกิดความกังวลที่อาจเกิดอุบัติเหตุไม่คาดคิด หรือการก่อวินาศกรรมอย่างตั้งใจจากฝ่ายรัสเซีย หากไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่ตามมา

 

  • ลาดา โรสลิคกี ผู้ก่อตั้งกลุ่มที่ปรึกษาด้านการป้องกันและความมั่นคง ชี้ว่า จากมุมมองทางทหารนั้น การโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซียและยูเครนใต้นั้นเป็นการกระทำที่ไร้ความคิดและไม่น่าเกิดขึ้น

 

  • โรสลิคกีมองว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนในดอนบาสที่ไม่มีอาวุธความแม่นยำสูงมากนัก อาจทำให้โอกาสที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้ง 2 แห่งถูกโจมตีโดยอุบัติเหตุนั้นมีสูงขึ้น

 

อันตรายต่อระบบหล่อเย็นและแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์

 

  • สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นั้นมีส่วนสำคัญอยู่ 3 ส่วนหลักๆ คือ ส่วนเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (Nuclear Reactor) ส่วนผลิตไฟฟ้า (Generator) และส่วนระบบหล่อเย็นระบายความร้อน (Cooling System) 

 

  • ส่วนสำคัญที่ต้องระมัดระวังและป้องกันอย่างดีคือแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของเตาปฏิกรณ์ที่มีส่วนประกอบของเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และเป็นส่วนที่เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ ซึ่งทำให้มีความร้อนสูงมาก และต้องใช้ระบบหล่อเย็นเพื่อระบายความร้อน ส่งผลให้ส่วนของระบบหล่อเย็นนั้นมีขนาดใหญ่ และต้องใช้พลังงานและน้ำในปริมาณมาก

 

  • ที่ผ่านมาหนึ่งในสาเหตุสำคัญของภัยพิบัติที่เกิดกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ การหลอมละลายของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ (Nuclear Meltdown) เนื่องจากระบบหล่อเย็นไม่ทำงาน หรือเกิดขัดข้องจากสาเหตุต่างๆ หรือเกิดไฟไหม้ภายนอกที่ทำความเสียหายต่อแกนปฏิกรณ์จนนำไปสู่การหลอมละลาย

 

  • เมื่อแกนปฏิกรณ์หลอมละลาย จะส่งผลให้เชื้อเพลิงนิวเคลียร์และสารกัมมันตรังสี เช่น ซีเซียม-137 (Caesium-137) คริปทอน-85 (Krypton-85) และไอโอดีน-131 (Iodine-131) รั่วไหลออกมา

 

  • ปัจจุบันยูเครนได้ปิดเตาปฏิกรณ์ไปแล้วหลายเครื่อง และไม่มีการส่งพลังงานไฟฟ้าให้แก่โครงข่ายไฟฟ้า ซึ่งการปิดเตาปฏิกรณ์ช่วยลดความร้อนที่เกิดขึ้น ทำให้ลดภาระของระบบหล่อเย็นลง 

 

  • แต่ถึงแม้จะปิดเตาปฏิกรณ์ไปแล้ว เชื้อเพลิงในแกนปฏิกรณ์ยังคงมีความร้อนสูงมาก ส่งผลให้ยังจำเป็นต้องใช้ระบบหล่อเย็น โดยใช้แหล่งพลังงานไฟฟ้าจากภายนอกเพื่อให้ทำงานได้ตามปกติ 

 

  • โดยสิ่งที่น่ากังวลและอาจเป็นอันตรายต่อเตาปฏิกรณ์ คือ หากผลกระทบจากสงครามหรือสาเหตุอื่นใดทำให้แหล่งพลังงานไฟฟ้าภายนอกหยุดทำงาน โรงไฟฟ้าอาจต้องเปลี่ยนไปใช้เครื่องปั่นไฟที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือแบตเตอรี่ เพื่อทำให้ระบบหล่อเย็นทำงานต่อไป แต่สิ่งที่ต้องระวังอย่างยิ่ง คือ ปริมาณน้ำมันดีเซลหรือแบตเตอรี่ที่มีจำกัด ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบหล่อเย็นหยุดทำงาน

 

  • กรณีที่แกนปฏิกรณ์หลอมละลาย เจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าอาจจำเป็นต้องกักเตาปฏิกรณ์ไว้ในอาคารกักเก็บที่ครอบเตาปฏิกรณ์อยู่ ซึ่งสามารถป้องกันการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีสู่โลกภายนอกได้ชั่วคราว ในขณะที่มีเวลาจำกัดเพื่อทำให้ระบบหล่อเย็นกลับมาทำงานได้

 

ผลกระทบอาจเลวร้ายกว่าเชอร์โนบิล-ฟุกุชิมะ

 

  • องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Greenpeace วิเคราะห์ผลกระทบกรณีเลวร้ายที่สุด หากเกิดระเบิดทำลายแกนปฏิกรณ์หรือระบบหล่อเย็นของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาปอริซเซีย ซึ่งผลิตไฟฟ้าคิดเป็น 19% ของทั้งประเทศยูเครน และมีเตาปฏิกรณ์มากถึง 6 เตา โดยอาจทำให้กัมมันตภาพรังสีจากทั้งเตาปฏิกรณ์และสระเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว ลอยสู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างอิสระ

 

  • ซึ่งการแผ่รังสีในระดับสูง จะส่งผลให้พื้นที่โรงงานทั้งหมดไม่สามารถเข้าไปได้ และจะยิ่งทำให้กัมมันตภาพรังสีจากเตาปฏิกรณ์และสระเชื้อเพลิงอื่นๆ แพร่กระจายไปตามทิศทางลมต่างๆ นานต่อเนื่องหลายสัปดาห์ และอาจส่งผลกระทบไปยังหลายพื้นที่ของยุโรปและรัสเซีย สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม

 

  • พื้นที่รอบโรงไฟฟ้าหลายร้อยกิโลเมตรจะไม่สามารถอยู่อาศัยได้อย่างน้อยหลายทศวรรษ และจะกลายเป็นภัยพิบัติที่เลวร้ายกว่ากรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในปี 1986 หรือกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2011 อย่างมาก

 

  • หากเทียบในกรณีของเชอร์โนบิลจนถึงปัจจุบัน มีบันทึกผู้เสียชีวิตจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสีสูงถึงราว 4,000 คน ขณะที่ควันและขี้เถ้าปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลอยสู่ชั้นบรรยากาศ ปกคลุมหลายพื้นที่ทางตะวันตกของสหภาพโซเวียต, ยุโรปตะวันออก, ยุโรปตะวันตก ไปจนถึงยุโรปเหนือ โดยทางการยูเครน เบลารุส และรัสเซีย ต้องอพยพประชากรกว่า 336,000 คนออกจากพื้นที่เสี่ยง

 

  • ดมิทริโอ กูเมนยัค หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ความปลอดภัยของศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคนิคแห่งรัฐเพื่อความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และรังสีของยูเครน เตือนว่า หากกองทัพรัสเซียโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จนเกิดความเสียหายต่อระบบหล่อเย็นหรือแกนปฏิกรณ์ ผลที่ตามมาจะก่อให้เกิดการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีทั้งในอากาศ ดิน และน้ำ และไม่เพียงส่งผลกระทบต่อยูเครน แต่ยังรวมไปถึงรัสเซียและประเทศยุโรปส่วนใหญ่ด้วย

 

  • สำหรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครนนั้นได้รับความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย โดยข้อมูลดัชนีความมั่นคงนิวเคลียร์ในปี 2020 พบว่า ยูเครนได้คะแนนค่อนข้างสูงในด้านความปลอดภัยของวัสดุนิวเคลียร์และการดำเนินการด้านนิวเคลียร์ตามข้อผูกพันระหว่างประเทศ ด้วยคะแนน 94 และ 78 คะแนนตามลำดับ จากทั้งหมด 100 คะแนนเต็ม

 

  • แต่กูเมนยัคเผยว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของยูเครนนั้นไม่ได้รับการออกแบบมาเพื่อป้องกันทางทหาร ซึ่งแน่นอนว่าไม่สามารถป้องกันการโจมตีจากรถถัง ระเบิด หรือขีปนาวุธ ตลอดจนอาวุธหนักอื่นๆ ได้

 

ภาพ: Photo by Dmytro Smolyenko / Future Publishing via Getty Images

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X