มิคาอิโล โปโดลยัค ที่ปรึกษาประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวถึงการเจรจาสันติภาพรอบที่ 4 ในวันจันทร์ที่ผ่านมา (14 มีนาคม) ผ่านการประชุมวิดีโอออนไลน์ระหว่างผู้แทนระดับสูงของทั้งสองฝ่ายว่า การเจรจายังคงไม่มีความคืบหน้าใดๆ แม้จะพูดคุยกันนานร่วมหลายชั่วโมง และจำเป็นต้องหยุดชะงักชั่วคราวเพราะปัญหาทางเทคนิค
รายงานระบุว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงเห็นชอบที่จะเดินหน้าเจรจาสันติภาพ ซึ่งรวมถึงข้อตกลงการหยุดยิงอีกครั้งในวันนี้ (15 มีนาคม) โดยทวิตเตอร์ของโปโดลยัคระบุว่า การสื่อสารพูดคุยเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะทั้งสองฝ่ายต่างแสดงจุดยืนที่ต่างกันเนื่องจากระบอบการเมืองที่ต่างกัน กระนั้นทางผู้แทนรัสเซียก็รับฟังข้อเสนอของทางยูเครนอย่างระมัดระวัง
สำหรับการเจรจาสันติภาพและข้อตกลงหยุดยิงทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาระหว่างรัฐบาลรัสเซียกับยูเครนต่างประสบความล้มเหลวและไม่เกิดผลลัพธ์ใดๆ เห็นได้จากระหว่างที่การเจรจากำลังดำเนินต่อไป กองทัพรัสเซียก็ยังคงระดมโจมตีหลายเมืองในยูเครนอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ทีผ่านมากองทัพรัสเซียได้โจมตีฐานทัพในเมืองยาโวริฟ ทางตะวันตกของยูเครน ห่างจากชายแดนโปแลนด์ราว 20 กิโลเมตร ขณะที่มีรายงานเสียงเตือนภัยทางอากาศดังขึ้นในหลายเมืองทั่วประเทศ ตั้งแต่ทางภาคตะวันออกติดพรมแดนรัสเซียไปจนถึงภาคตะวันตกติดชายแดนโปแลนด์
รายงานระบุว่า ปัจจุบันกองทัพรัสเซียรุกคืบและอยู่ห่างจากใจกลางกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครนราว 15 กิโลเมตรเท่านั้น ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเบื้องต้นพบว่า จนถึงวันที่ 13 มีนาคม มีผู้เสียชีวิตจากสงครามครั้งนี้แล้ว 596 คน แต่คาดว่าตัวเลขความเสียหายจริงๆ น่าจะสูงขึ้นมากกว่านี้
ด้านประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมออนไลน์กับทางสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐฯ ในวันพุธนี้ (16 มีนาคม) ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่ทางศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเตรียมพิจารณาตัดสินคดีที่ยูเครนยื่นฟ้องรัสเซียในกรณีบุกรุกโจมตีด้วยเช่นกัน
โดยทางรัฐบาลยูเครนได้ฟ้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้มีคำสั่งส่งตรงถึงรัสเซียให้ยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดต่อยูเครน โดยให้เหตุผลว่า การรุกรานยูเครนเป็นการใช้ข้ออ้างที่มาจากการตีความอนุสัญญาว่าด้วยกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ (UN) แบบผิดๆ ซึ่งทางรัสเซียก็โต้ด้วยการประกาศคว่ำบาตรการไต่สวนดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 มีนาคมที่ผ่านมา
กำหนดการดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่ทางสภาคองเกรสเพิ่งจะอนุมัติงบประมาณฉุกเฉินด้านการทหารและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมูลค่า 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครน โดยมีรายงานว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เตรียมลงนามในร่างกฎหมายงบประมาณค่าใช้จ่ายที่รวมถึงงบช่วยเหลือยูเครนในวันนี้ (15 มีนาคม)
แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กล่าวถึงการขึ้นพูดต่อหน้าสภาคองเกรสของผู้นำยูเครนว่าเป็นสิ่งที่เจ้าตัวร้องขอระหว่างการหารือระหว่างสหรัฐฯ กับยูเครนเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว และสมาชิกสภาทั้งหลายต่างตั้งตารอที่จะรับฟังความคิดเห็นและจุดยืนของผู้นำยูเครนรายนี้
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญต่างอดใจเตือนไม่ได้ว่า สถานการณ์ความขัดแย้งที่ยิ่งรุนแรงยืดเยื้อจะมีแต่ผลกระทบทางลบต่อหลายฝ่าย โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกแถลงการณ์เตือนว่า แม้เศรษฐกิจการเงินของยูเครนในขณะนี้จะยังคงมีเสถียรภาพดีอยู่ รวมถึงมีสถานะที่ยังสามารถชำระหนี้ได้ แต่สถานะที่ว่านี้ก็เป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น และยิ่งสงครามยืดเยื้อออกไป ไม่สามารถหาข้อยุติได้ในเร็ววัน ก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจของยูเครนเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงได้
นอกจากผลกระทบที่มีต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจยูเครนแล้ว IMF ยังเตือนว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนอาจส่งผลกระทบในวงกว้าง ซึ่งหมายรวมถึงความเสี่ยงคุกคามความมั่นคงด้านอาหารโลก เนื่องจากสงครามขัดแย้งจะขัดขวางการเพาะปลูกเก็บเกี่ยว โดยเฉพาะข้าวสาลี ทำให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น
IMF ประเมินว่า ผลกระทบขั้นต่ำคือจะทำให้ผลผลิตของยูเครนในปีนี้ลดลงราว 10 เปอร์เซ็นต์ กระนั้นก็ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ อยู่อีกมาก ซึ่งล้วนส่งผลให้สถานการณ์ยืดเยื้อยากยุติ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน IMF ยังได้ยกตัวอย่างข้อมูลสงครามในอิรัก เลบานอน ซีเรีย และเยเมน ที่ความขัดแย้งส่งผลให้ผลผลิตภายในประเทศลดลงถึง 25-35 เปอร์เซ็นต์
สำหรับปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของยูเครนถือได้ว่ามีการเติบโตในทางบวกที่ 3.2 เปอร์เซ็นต์ โดยได้รับแรงหนุนจากยอดเก็บเกี่ยวธัญพืชที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์และการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่แข็งแกร่ง แต่ด้วยการบุกยูเครนของรัสเซียเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ IMF ประเมินว่าเศรษฐกิจของยูเครนในปีนี้จะเปลี่ยนแปลงในทางลบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
อ้างอิง: