×

เตือนชาติเอเชียรับมือวิกฤตยูเครน ชี้ ‘อินเดีย’ ส่อโดนผลกระทบใหญ่จากราคาน้ำมันพุ่ง

23.02.2022
  • LOADING...
ราคาน้ำมัน

กูรูเตือนชาติเอเชียรับมือราคาน้ำมันพุ่งจากวิกฤตยูเครน ราคาเบรนต์จ่อทะลุ 100 ดอลลาร์ ขณะที่อินเดียเสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ เนื่องจากเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก ส่วนจีนส่อได้อานิสงส์จากการยกระดับการค้ากับรัสเซีย

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเริ่มทยอยออกมาให้คำแนะนำบรรดาผู้นำชาติต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียในการเตรียมความพร้อมรับมือกับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น กระนั้นกูรูส่วนใหญ่ต่างมองว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ไม่มากนัก ซึ่งเอเชียถือเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับต้นๆ ของรัสเซีย

 

ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ชาติเอเชียทำใจเตรียมพร้อมตั้งรับให้ดีก็คือ ราคาน้ำมันที่จะปรับตัวแพงขึ้น โดยรัสเซียถือเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก ซึ่งมาตรการคว่ำบาตรจะทำให้ยุโรปเสี่ยงเผชิญกับภาวะน้ำมันขาดตลาด เพราะน้ำมันส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาใช้งาน โดยเฉพาะในพื้นฝั่งยุโรปตะวันออก ล้วนซื้อมาจากรัสเซียเกือบทั้งหมด

 

เจฟฟรีย์ ฮัลลีย์ นักวิเคราะห์ตลาดอาวุโสประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ OANDA กล่าวว่า สถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ นี้ทำให้ราคาน้ำมันดิบเบรนต์มีสิทธิ์พุ่งขยับแตะ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในระยะเวลาอันใกล้นี้

 

ด้าน เอียน ฮอลล์ รองผู้อำนวยการสถาบันกริฟฟิธเอเชียในเมืองบริสเบน ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า อินเดียซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก จะเป็นหนึ่งในประเทศที่อ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ โดยตัวแทนอินเดียในสหประชาชาติ (UN) ยอมรับว่า วิกฤตความขัดแย้งดังกล่าวเป็นเรื่องที่ซับซ้อน ดังนั้นจึงต้องใช้ความพยายามบากบั่นอย่างมากในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

 

ด้าน ประธานาธิบดีมุนแจอิน ของเกาหลีใต้ ได้ออกมาแสดงความกังวลว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจอาจมีจำนวนมาก และกล่าวว่า รัฐบาลของตนจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้แน่ใจว่าการหยุดชะงักของพลังงาน ธัญพืช และวัตถุดิบ เป็นไปในวงจำกัด รวมถึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพอธิปไตยของยูเครน

 

ส่วนรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกมาประณามการกระทำของรัฐบาลรัสเซียที่เป็นการก้าวก่ายกิจการภายในและละเมิดอธิปไตยของยูเครนอย่างร้ายกาจ ก่อนระบุว่า ญี่ปุ่นจะเข้าร่วมกับสหรัฐฯ หากมีการคว่ำบาตร บวกกับเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นก็ช่วยเป็นปราการป้องกันชั้นดีสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกด้วย โดยหลายฝ่ายมองว่า สกุลเงินเยนของญี่ปุ่นถือเป็นที่หลบภัยสำหรับนักลงทุนที่ไม่ชอบความเสี่ยง

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของ เอลิเซีย การ์เซีย-เฮอร์เรโร หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ Natixis ในเกาะฮ่องกง พบว่า การคว่ำบาตรรัสเซียโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ส่งผลให้จีนในฐานะผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลกและผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ในส่วนของภูมิภาคเอเชีย ได้ประโยชน์อย่างชัดเจน โดยหลายฝ่ายคาดว่าเมื่อต้องเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก รัสเซียย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหันมากระชับความสัมพันธ์กับจีนและชาติอื่นๆ ในเอเชีย

 

ขณะเดียวกันสำนักข่าว Reuters ได้เผยผลโพลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์ตลาดและบรรดาโบรกเกอร์ชั้นนำทั่วโลกราว 120 คน เกี่ยวกับสถานการณ์โดยรวมของตลาดหุ้นทั่วโลก พบว่า แต่เดิมตลาดหุ้นทั่วโลกปีนี้มีแนวโน้มตกอยู่ในภาวะผันผวนที่จะมีการเติบโตแบบไม่หวือหวามาตั้งแต่ก่อนที่จะเกิดวิกฤตขัดแย้งเกี่ยวกับยูเครนอยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากปัจจัยกังวลด้านเงินเฟ้อกดดันให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยและยกระดับนโยบายการเงินให้รัดกุมมากขึ้น

 

แนวโน้มดังกล่าวจึงส่งผลให้ความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในปีนี้ไม่เติบโตอย่างหวือหวาเหมือนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพียงแต่ความตึงเครียดในยูเครนเข้ามาฉุดความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำอยู่แล้วให้ลดลงไปอีก ดังนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะวิ่งเข้าหาสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อรอดูสถานการณ์กันก่อน

 

ทั้งนี้ ผลโพลคาดการณ์ว่า ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.5% ในช่วงสิ้นปี 2022 นี้ ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์เมื่อช่วง 3 เดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่น จะเพิ่มขึ้น 11.9% มาอยู่ที่ 30,100 จุดในช่วงสิ้นปีนี้ ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อนซึ่งอยู่ที่ 31,000 จุด

 

ในส่วนของสถานการณ์ราคาน้ำมัน สำนักวิจัย หรือ Global Research ของ Bank of America ระบุว่า ราคาขายน้ำมันดิบเบรนต์มีแววปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 5-20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากว่าสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนย่ำแย่ลง แต่ราคาก็อาจจะลดลงเฉลี่ย 2-4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลหากว่าสถานการณ์สามารถคลายความตึงเครียดได้  

 

การคาดการณ์ดังกล่าวหมายความว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนต์มีสิทธิ์ขยับขึ้น 120 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงกลางปี ท่ามกลางดีมานด์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นถึง 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม หากอิหร่านสามารถบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์กับชาติตะวันตกก็จะสามารถปรับราคาน้ำมันให้ลดลงได้ โดยในมุมมองของ Bank of America มองว่า ราคาเฉลี่ยของน้ำมันดิบเบรนต์ควรอยู่ที่ 60-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพื่อรักษาตลาดน้ำมันให้สมดุลไปจนถึงปี 2027

 

อ้างอิง:

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X