×

วิกฤตยูเครน 101: หรือความขัดแย้งในศักราชใหม่จะมาถึงทางตัน?

18.01.2022
  • LOADING...
วิกฤตยูเครน

HIGHLIGHTS

14 Mins. Read
  • ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกา กับสมาชิกพันธมิตรทางทหาร NATO กรณีวิกฤตยูเครนเข้าใกล้จุดสุกงอม หลายฝ่ายหวั่นอาจเกิดสงครามระหว่างมหาอำนาจ 
  • การแยกตัวของไครเมีย เพื่อกลับไปรวมกับรัสเซีย เป็นจุดแตกหักในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่อยู่ในจุดที่ไม่อาจหวนกลับ (Point of no return)
  • รัสเซียต้องการ ‘ข้อรับประกันว่าด้วยความมั่นคง’ (Security Guarantee) ที่เป็นลายลักษณ์อักษรจากโลกตะวันตก เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับรัสเซีย โดยตะวันตกต้องไม่ตั้งฐานทัพทางทหารในพื้นที่กลุ่มอดีตประเทศสหภาพโซเวียต รวมไปถึงการไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่า นอกจากรัสเซียจะไม่มีหลังบ้านที่ไว้ใจได้หรือไม่มีหลังบ้านที่เป็นกันชนได้ ยังกลับกลายเป็นว่า รัสเซียมีปืนมาจ่ออยู่ที่หลังบ้านของตัวเอง ซึ่งรัสเซียยอมไม่ได้โดยเด็ดขาด

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและสหรัฐอเมริกา กับสมาชิกพันธมิตรทางทหาร NATO เข้าใกล้จุดสุกงอม เมื่อต่างฝ่ายต่างส่งกองกำลังเข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้ง โดยฝ่าย NATO ได้ส่งกองเรือเข้าไปในทะเลดำประชิดคาบสมุทรไครเมียของรัสเซีย ตามมาด้วยการส่งกองทหารนับแสนและยุทโธปกรณ์จำนวนมากประชิดชายแดนยูเครนโดยรัสเซีย เพื่อรักษาดุลแห่งอำนาจ ทำให้ชาวโลกหวั่นใจว่าจะเกิดสงครามโลกหรือไม่

 

เนื้อแท้ความขัดแย้งที่เกิดจากการให้คุณค่าและบรรทัดฐานไม่ตรงกันของทั้งจากฝ่ายรัสเซียและฝ่ายโลกตะวันตก ที่ฝ่ายแรกมุ่งให้ความสำคัญกับการรักษาอิทธิพลและรักษาสถานะเดิมในเขต ‘หลังบ้าน’ และมองว่าขั้วตรงข้ามไม่รักษาสัญญาที่เคยให้ไว้กับทางรัสเซียในยุคหลังสหภาพโซเวียตเพิ่งล่มสลายในทศวรรษที่ 1990 ว่าตะวันตกจะไม่ขยายอิทธิพลเข้ามาหาตน ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญกับการโปรโมต ‘คุณค่า’ ทั้งในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และอื่นๆ โดยไม่สนว่าจะเป็น ‘หลังบ้าน’ ของใคร เหมือนพูดกันคนละภาษา

 

ความไม่มั่นคงในยูเครนในหลายๆ มิติเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่กล้าเอาตัวเองลงมาเสี่ยง และมีการประกาศชัดเจนจากประธานาธิบดีโจ ไบเดนว่า จะไม่ส่งทหารอเมริกันเข้ามาที่ยูเครน ส่วน NATO เองก็ยังเลือกที่จะซื้อเวลา ยังไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก มีท่าทีสอดคล้องกับแนวทางของสหรัฐฯ

 

ทั้งสองฝ่ายพยายามใช้กรอบความร่วมมือในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมสุดยอดทวิภาคีระหว่างผู้นำรัสเซียและสหรัฐฯ ที่เจนีวาในเดือนมิถุนายน 2021, การประชุมรัสเซีย-NATO ที่บรัสเซลส์ และการประชุมรัสเซีย-OSCE ที่เวียนนาในช่วงต้นเดือนมกราคม 2022 ก็ต่างเป็นกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีการทูตในทางสันติวิธี 

 

‘ข้อรับประกันว่าด้วยความมั่นคง’ (Security Guarantee) ที่รัสเซียให้ความสำคัญถึงขั้นเป็น ‘ความเป็นความตายของประเทศ’ ที่มีใจความสำคัญว่าด้วยการรับประกันว่ายูเครนจะไม่ถูกรับเข้าเป็นสมาชิก NATO โดยถือเป็นคุณค่าและผลประโยชน์ของรัสเซียในการรักษาดุลแห่งอำนาจและอิทธิพลเหนือดินแดน ‘หลังบ้าน’ ของตัวเองนั้นถูกปฏิเสธอย่างไม่ไยดี เหตุนี้เปรียบเสมือนเป็นก้าวสุดท้ายของรัสเซียที่ไม่อาจก้าวถอยต่อไปได้อีก และอาจเปิดโอกาสให้รัสเซียตอบโต้ในแนวทางที่เหนือความคาดหมาย

 

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน, สหรัฐฯ และสมาชิก NATO กำลังจะก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ในปีนี้ และยังไม่มีท่าทีจะจบลงง่ายๆ มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาไปสู่สงครามเต็มรูปแบบ จากการที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ อีกทั้งยังได้เริ่มมีการเคลื่อนกองกำลังทางทหารของทั้งสองฝ่ายเข้าสู่พื้นที่ความขัดแย้งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา สร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายว่าสถานการณ์อาจสุกงอมและลุกลามกลายเป็นสงครามร้อน

 

ภาพ: Brendan Hoffman / Getty Images

 

  • ที่มาและที่ไป ‘วิกฤตยูเครน’

 

ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตก (สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศสมาชิก NATO) เริ่มนับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย แบ่งได้ออกเป็นสองช่วง ช่วงแรกคือช่วงที่ยังมีความเป็นมิตรด้วยดี และช่วงหลังคือช่วงแห่งความขัดแย้งและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน 

 

ในระยะที่ความสัมพันธ์ยังชื่นมื่น (1994-2014) นั้น เริ่มขึ้นในยุค 90 เมื่อสหภาพโซเวียตแตกสลาย เหลือผู้สืบสิทธิฯ คือ รัสเซียยุคใหม่ ต่างมุ่งหาการสนับสนุนจากเหล่าประเทศตะวันตกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำถึงขีดสุดจากผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่ต้องรับช่วงต่อมาจากอดีตสหภาพโซเวียต ทั้งในยุคของประธานาธิบดีบอริส เยลต์ซิน และในยุคของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินในระยะแรกต่างกระตือรือร้นที่จะให้ความร่วมมือกับฝ่ายตะวันตกในทุกๆ ด้าน เห็นได้จากการที่รัสเซียและกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปได้เห็นพ้องร่วมกันเป็นสมาชิกใน ‘ข้อตกลงหุ้นส่วนและความร่วมมือ’ (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ในปี 1994 ครอบคลุมมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ รัสเซียและสหภาพยุโรปได้ร่วมกันจัดตั้ง ‘สภาหุ้นส่วนถาวร’ (Permanent Partnership Council: PPC) เพื่อเป็นเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศในกรอบของแนวคิดพื้นที่ร่วมกันสี่ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ เสรีภาพ ความมั่นคง และความยุติธรรม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีปูตินเองในช่วงสมัยแรกก็ได้มีการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับผู้นำหลายคน เช่น ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี, แกร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เป็นต้น 

 

ถึงแม้จะกล่าวได้โดยรวมว่าช่วง 20 ปีนั้นเป็นยุคแห่งความชื่นมื่น แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นไปทั้งหมดร้อยเปอร์เซนต์เหมือนในบทละคร ในช่วงยุคนี้ได้มีบททดสอบความสัมพันธ์ เช่น สงครามยูโกสลาเวีย ที่ NATO ฝ่ายหนึ่งได้ใช้กำลังทหารโจมตียูโกสลาเวีย ผู้ที่รัสเซียสนับสนุน รวมไปถึงกระแสการปฏิวัติสีที่เกิดขึ้นในจอร์เจีย ยูเครน และคีร์กีซสถาน ในปี 2003, 2004, 2005 ตามลำดับ ที่โลกตะวันตกให้การสนับสนุนนั้น ท่าทีของรัสเซียในยุคนี้ ถึงแม้ไม่ได้สนับสนุนแต่ก็ไม่ได้ตอบโต้กลับ ‘พันธมิตรตะวันตก’ อย่างรุนแรงแต่อย่างใด 

 

ระยะความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นมิตรและเริ่มไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน (2014 ถึงปัจจุบัน) ถึงแม้รัสเซียจะไม่ได้ตอบโต้อย่างรุนแรงต่อความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ ‘หลังบ้าน’ ของรัสเซีย อันมีที่มาจากการสนับสนุนของโลกตะวันตกในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียตนั้น แต่รัสเซียก็เฝ้ามองเหตุการณ์เหล่านี้มาโดยตลอด ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจค่อยๆ ก่อตัวเพิ่มขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งแปรผันเป็นความหวาดระแวงที่จะระเบิดออกเป็นฟางเส้นสุดท้ายในเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางการเมืองในยูเครนปี 2014

 

วิกฤตการณ์ทางการเมืองยูเครนในปี 2014 เริ่มจากการที่อดีตผู้นำยูเครนอย่าง วิกเตอร์ ยานูโควิช ตัดสินใจเข้าร่วมข้อตกลงทางเศรษฐกิจกับฝ่ายรัสเซียแทนฝ่ายสหภาพยุโรป ได้ปลุกชนวนความไม่พอใจของฝ่ายนิยมยุโรป จนออกมาประท้วงและสถานการณ์ลุกลามบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ ‘ยูโรไมดาน (Euromaidan)’ และมีการใช้ความรุนแรงจากทั้งสองฝ่ายจนเกินที่จะควบคุม ในที่สุดอำนาจรัฐก็ตกสู่มือของพลพรรคฝ่ายขวาที่ต่อต้านการครอบงำของรัสเซีย และเริ่มออกนโยบายต่อต้านรัสเซียในทุกรูปแบบ เช่น การยกเลิกภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ และการยกเลิกการให้เช่าฐานทัพเรือที่เซวาสโตปอล ณ สาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียแห่งยูเครน รวมไปถึงมีการประกาศไม่รับรองความปลอดภัยชาวรัสเซียในยูเครน ยิ่งสร้างความแตกแยกในประเทศยูเครนเอง เนื่องจากพลเมืองยูเครนจำนวนมากคือชาวรัสเซียที่เริ่มรู้สึกเกิดความไม่ปลอดภัยจากนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียนั้นมีชนเชื้อสายรัสเซียเกินร้อยละ 80 รัสเซียจึงไม่อาจอยู่นิ่งเฉยได้อีกต่อไป

 

ภาพ: Sasha Mordovets / Getty Images

 

  • ‘การแยกตัวของไครเมีย เพื่อกลับไปรวมกับรัสเซีย’ เป็นจุดแตกหักในความสัมพันธ์ที่อยู่ในจุดที่ไม่อาจหวนกลับ (Point of no return)

 

รัสเซียเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านการเมืองเรื่องชนชาติ (Ethno-politics) กล่าวคือ รัสเซียทราบดีว่าหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ชนส่วนใหญ่อย่างชาวรัสเซียยังคงอาศัยอยู่ในประเทศต่างๆ ของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งบางประเทศ เช่น กลุ่มประเทศบอลติก ก็มีนโยบายที่กีดกันชนเชื้อสายรัสเซีย ดังนั้นรัฐบายรัสเซียจึงให้การสนับสนุนและมอบสิทธิพิเศษ เช่น มอบทุนการศึกษาและการสนับสนุนอื่นๆ รวมไปถึงรัฐบาลรัสเซียถือว่าภารกิจในการปกป้องและคุ้มครอง Russian Compatriot เหล่านี้เป็นหนึ่งในผลประโยชน์แห่งชาติของรัสเซียโดยรวมเช่นกัน อย่างกรณีของไครเมียก็เช่นกัน เมื่อมีกระแสข่าวถึงการไม่รับรองความปลอดภัยต่อชาวรัสเซียในแผ่นดินยูเครน ชาวไครเมียซึ่งส่วนใหญ่เป็นชนเชื้อสายรัสเซียเริ่มกังวลและพยายามหาทางออกด้วยการจัดทำประชามติสองครั้ง ครั้งแรกประชามติการแยกตัวออกจากยูเครน และครั้งที่สองประชามติเพื่อเข้ารวมกับรัสเซีย ซึ่งในขณะเดียวกันนั้นก็เกิดการสู้รบเป็นระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างกองกำลังรัฐบาลกลางยูเครนและฝ่ายนิยมรัสเซีย โดยในเวลาต่อมาฝ่ายรัฐบาลกลางยูเครนได้ร่นถอยไป 

 

ประชามติว่าด้วยการแยกตัวจากยูเครนและว่าด้วยการเข้ารวมกับรัสเซียได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเกินร้อยละ 90 ผู้นำของไครเมียจึงได้บินนำผลประชามติดังกล่าวไปยังกรุงมอสโก ขอนำดินแดนนี้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และฝ่ายนิติบัญญัติของรัสเซียก็ได้ให้สัตยาบันรับรองมติดังกล่าวในเวลาต่อมา ไครเมียจึงกลายเป็นสาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมียแห่งสหพันธรัฐรัสเซียในทางพฤตินัย และในทางนิตินัย (สำหรับรัสเซียและพันธมิตรบางประเทศ แต่ประชาคมโลกส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้การยอมรับ)

 

นอกจากนี้ยังมีแคว้นโดเนตสก์ (Donetsk) และลูฮันสก์ (Luhansk) ทางภาคตะวันออกของยูเครน ที่เป็นพื้นที่ความขัดแย้งและมีความประสงค์จะแยกดินแดนไปรวมกับรัสเซียเหมือนกับไครเมีย แต่เรื่องการผนวกดินแดนหนึ่งมาสู่ดินแดนหนึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนของทุกรัฐบนโลก ไม่เว้นแม้แต่กับรัสเซีย อีกทั้งไครเมียยังมีความสำคัญกว่ามากในฐานะที่เป็นที่ตั้งกองเรือทะเลดำ ตั้งแต่สมัยพระจักรพรรดินีเยกาเจรีนา (แคทเธอรีน) ที่ 2 มหาราช อันเป็นทางออกทะเลน้ำอุ่นเพียงแห่งเดียวที่รัสเซียมี จึงมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เป็นอย่างมาก ดังนั้นการสูญเสียบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน เมื่อมองจากฝ่ายยูเครนแล้วจึงเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และได้เป็นตัวกระตุ้นให้ยูเครนมุ่งหน้าหาการสนับสนุนจากประเทศโลกตะวันตกอย่างเต็มตัว

 

  • นโยบายการคว่ำบาตรของโลกตะวันตกต่อรัสเซีย ผลประโยชน์ที่ทับซ้อนและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของรัสเซียกับยุโรป 

 

เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อรัสเซีย ชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จึงได้ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย โดยพุ่งเป้าไปที่เป้าหมายสำคัญ 3 ประการคือ 1. การห้ามให้การสนับสนุนเทคโนโลยีในการสำรวจแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน 2. การห้ามให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อแก่ธนาคารของรัฐ บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัสเซีย รวมถึง 3. การขึ้นบัญชีดำบุคคลวงในของประธานาธิบดีปูตินและบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผนวกแคว้นไครเมีย ห้ามเดินทางเข้าสู่แผ่นดินของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งรัสเซียก็ตอบโต้ด้วยการห้ามนำสินค้าอุปโภคบริโภคเข้าจากหลายประเทศที่ร่วมคว่ำบาตรรัสเซีย เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป นอร์เวย์ แคนาดา และออสเตรเลีย

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาตรการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลโดยตรงอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจรัสเซีย จนเกิดเป็นภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะต่อค่าเงินรูเบิลรัสเซีย (RUB) ที่ด้อยค่าลงกว่าร้อยละ 50 ภายในระยะเวลาชั่วข้ามคืน ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ที่มีต้นทุนเป็นเงินตราต่างประเทศล้มละลายกันเป็นแถบๆ เนื่องจากต้นทุนหรือหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศพุ่งเกิน 2-3 เท่าตัว หลายๆ ธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจการบินจึงต้องล้มละลายเป็นวงกว้าง นอกจากนี้การที่ราคาน้ำมันโลกตกต่ำก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มาซ้ำเติมปัญหาค่าเงินรูเบิลตกต่ำ เนื่องจากค่าเงินรูเบิลก็อิงกับราคาน้ำมันด้วยเช่นกัน

 

รัสเซียรับรู้ถึงผลกระทบเมื่อต้องเอาตัวเองไปผูกมัดกับระบบต่างๆ ของตะวันตกมากเกินไป รัสเซียจึงพยายามปรับนโยบายให้พึ่งพาตัวเองในประเทศมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงการหันไปคบค้าสมาคมกับประเทศอื่นอย่างจีนมากขึ้น และคิดค้นระบบการชำระเงินระบบ ‘เมียร์’ (MIR) ขึ้นมาเป็นตัวเลือก ทดแทนการพึ่งพาระบบ Visa หรือ Mastercard 

 

ในส่วนของเครื่องมือในการต่อรองทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป รัสเซียใช้ก๊าซธรรมชาติอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการให้พลังงานความร้อนในฤดูหนาว และเป็นสิ่งจำเป็นต่อการอบขนมปังอันเป็นอาหารหลักของชาวยุโรปมาเป็นเครื่องมือต่อรอง อีกทั้งยังเป็นความจำเป็นของรัสเซียอีกทางหนึ่งในการหารายได้เข้าประเทศ เดิมทีเส้นทางท่อก๊าซหลักเดินผ่านดินแดนของประเทศยูเครน แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง รัสเซียจึงได้สร้างเส้นทางการส่งก๊าซใหม่นามว่า Nord Stream 1 และ 2 ผ่านทะเลบอลติกไปเข้าดินแดนเยอรมนี แกนนำของสหภาพยุโรป ประเด็นนี้สร้างความไม่พอใจกับยูเครนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากตนเองถูกด้อยค่าและเสียผลประโยชน์จากการที่ท่อก๊าซธรรมชาติเคยส่งผ่านประเทศของตน 

 

ขณะที่สหรัฐฯ เองก็รับลูกยูเครนด้วยการพยายามกดดันเหล่าประเทศสหภาพยุโรปไม่ให้ยอมรับโครงการ Nord Stream 1 และ 2 แต่ก็ไม่เป็นผล นอกจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป รัสเซียก็ใช้เครื่องมือทางพลังงานในการเล่นเกมการเมืองต่อประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ด้วย เช่น ยูเครนและมอลโดวา ถ้าเมื่อไรที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัสเซีย รัสเซียจะให้สิทธิพิเศษบางประการ เช่น ราคามิตรภาพกว่า ยืดระยะเวลารับชำระหนี้ออกไปได้นานกว่า แต่ถ้าหากช่วงใดที่ความสัมพันธ์กับรัสเซียแย่ลง รัสเซียจะเข้มงวดต่อประเทศเหล่านี้ขึ้นมาทันที จึงเห็นได้ว่ารัสเซียมีความได้เปรียบในแง่นี้อย่างชัดเจน และข้อได้เปรียบนี้ก็ได้สร้างความระส่ำระสายต่อเอกภาพของโลกตะวันตกได้มากพอสมควร 

 

ภาพ: Mikhail Metzel / TASS via Getty Images

 

  • คุณค่าและบรรทัดฐานที่ขัดแย้งกันระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกและยูเครน: เมื่อทั้งสองฝ่ายพูดกันคนละภาษา

 

รัสเซียถือว่าเป็น ‘ผู้ร้าย’ ในสายตาโลกตะวันตกมาโดยตลอด ตอกย้ำผ่านพล็อตภาพยนตร์ฮอลลีวูดทุกยุคทุกสมัย จนซึมซับไปจนถึงสำนึกคิดของพลเมืองเหล่านั้นที่ต่างมองรัสเซียในแง่ลบตั้งแต่แรก อีกทั้งตะวันตกยังคงมีนโยบายการปิดล้อม (Containment) ต่อรัสเซียมาโดยตลอด รวมไปถึงเหตุการณ์ที่ไม่เป็นปกติในสหรัฐฯ อย่างการก้าวเข้าสู่อำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ รัสเซียก็ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนพัวพันและอยู่เบื้องหลัง (อย่างไม่มีหลักฐาน) และมองว่าแม้สหภาพโซเวียตล่มสลายลงเหลือเพียงรัสเซีย รัสเซียก็สมควรอยู่แต่ในเขตที่ตนครอบครองเท่านั้น อีกทั้งพันธกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ คือ การส่งเสริมบรรทัดฐานเรื่องของประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนต่างๆ ให้ขยายขอบเขตเดิมของตนเข้าไปในกลุ่มประเทศที่สหภาพโซเวียตเคยมีอิทธิพลในอดีต โดยเฉพาะในยูเครน ซึ่งจะเป็นใบเบิกทางในการสร้างอิทธิพล ณ พื้นที่ดังกล่าว 

 

ส่วนรัสเซียก็มองตะวันตกในหลายแง่ แง่หนึ่งเป็นตัวอย่างของ การพัฒนาให้เป็นรูปแบบสมัยใหม่ (Modernization) และมีความชื่นชมอยู่ลึกๆ ในอีกแง่หนึ่งก็รู้สึกไม่ไว้วางใจโลกตะวันตก เนื่องจากรัสเซียถือว่าการขยายขอบเขตอิทธิพลเข้ามาประชิดพื้นที่ชายแดนตนนั้นเป็นการคุกคาม และเป็นการไม่รักษาคำพูดที่ NATO เคยให้คำมั่นสัญญากับรัสเซียช่วงยุค 90 ว่าจะไม่ขยายขอบเขตอิทธิพลของตน เนื่องจากรัสเซียที่ยังมีสำนึกของความเป็นมหาอำนาจ ถือว่าพื้นที่ ‘หลังบ้าน’ อย่างพื้นที่ในประเทศกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียตนั้นคือเขตอิทธิพลของตน ที่ผ่านมาที่ NATO ขยับขยายกลืนกินกลุ่มประเทศในยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นรัฐบริวารของโซเวียตรัสเซียก็พอทนแล้ว แต่การรุกคืบเข้ามาในบริเวณกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียตนี้ รัสเซียไม่อาจยอมรับได้ นอกจากนี้การที่สหรัฐฯ และโลกตะวันตกใช้ประเด็นเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการสนับสนุนผู้นำฝ่ายค้านบนถนนอย่าง อเล็กซี นาวัลนี รัสเซียถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในที่รัสเซียถือเป็นคุณค่าที่ตนยึดถือมาโดยตลอด

 

ในกรณีความขัดแย้งยูเครน ตะวันตกมองว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลังเองในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งกองกำลังกึ่งทหารเข้ามาแทรกแซงในพื้นที่ความขัดแย้ง ทั้งในไครเมียและในภูมิภาคยูเครนตะวันออกและดอนบาสส์ จึงเป็นหน้าที่ที่จะต้องยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือยูเครน เพื่อรับมือกับ ‘ภัยคุกคาม’ จากรัสเซีย ส่วนรัสเซียก็มองว่าเป็นพันธกิจของตนเช่นกันในการปกป้องคุ้มครองเพื่อนร่วมชาติชาวรัสเซียจากนโยบายกีดกันของรัฐบาลยูเครนที่มีที่มาจากการ ‘รัฐประหาร’ ยูโรไมดาน ซึ่งรัฐบาลรัสเซียถือว่าไม่ชอบธรรมและไม่บริสุทธิ์ เนื่องจากมีเบื้องหลังจากการแทรกแซงของโลกตะวันตก รัสเซียยังคงมองว่ายูเครนเองก็เป็นบ้านพี่เมืองน้องที่ใกล้ชิดกับรัสเซียเหมือนกับเบลารุส เนื่องจากทั้งสามชาติถือเป็นชนชาติสลาฟตะวันออกด้วยกัน มีขนบธรรมประเพณีและภาษาพูดใกล้เคียงกัน แต่ที่ยูเครนห่างเหินกับรัสเซีย เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกคือชาติตะวันตกที่เข้ามาแทรกแซง จึงก่อให้เกิดปัญหา ดังนั้นแล้วรัสเซียจึงเล่นบท ‘สั่งสอน’ บ้างตามสมควร

 

  • ‘Security Guarantee’ ข้อเสนอที่อยู่ในจุดที่ถอยกลับไม่ได้อีกต่อไปของรัสเซีย

 

ความขัดแย้งในวิกฤตการณ์ไครเมียกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาที่นานพอสมควรแล้ว ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินได้ส่งข้อเรียกร้องอย่างเปิดเผยไปยังสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศตะวันตก ผ่านการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนประจำปี 2021 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมาว่า ถึงเวลาที่ตะวันตกจะต้องให้คำมั่นสัญญาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรกับทางรัสเซียว่าจะไม่ขยายอิทธิพล โดยเฉพาะทางการทหารมายังทิศตะวันออกที่เข้าใกล้กับพรมแดนรัสเซีย เนื่องจากในอดีตฝ่ายตะวันตกเคยให้คำสัญญากับรัสเซียว่าจะไม่ขยายอิทธิพลเข้ามา (ในเขตที่รัสเซียถือว่ามีคุณค่าทางประวัติศาสตร์) ซึ่งฝ่ายตะวันตกก็ไม่เคยทำตามสัญญา 

 

ปูตินยังชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับโลกตะวันตก ที่ตะวันตกกล่าวหาว่ารัสเซียเป็นตัวการปัญหานั้น ถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น รัสเซียได้ก้าวเข้าไปหาเรื่องสหรัฐฯ ก่อนหรือไม่ รัสเซียได้ส่งทหารไปประชิดชายแดนสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักรหรือไม่ ฝ่ายตะวันตกต่างหากที่ได้ก้าวขาเข้ามาประชิดประตูบ้านรัสเซีย ในขณะที่รัสเซียก็อยู่ในที่ของตนเอง ดังนั้นฝ่ายตะวันตกจึงต้องเป็นฝ่ายให้ Security Guarantee ต่อรัสเซียอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเร็ว เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้กับรัสเซีย โดยใจความสำคัญของ Security Guarantee นั้นอยู่ในประเด็นที่ว่า ตะวันตกต้องให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่ตั้งฐานทัพทางทหารในพื้นที่กลุ่มอดีตประเทศสหภาพโซเวียต รวมไปถึงการไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO อันเป็นพันธมิตรทางทหาร หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่า นอกจากรัสเซียจะไม่มีหลังบ้านที่ไว้ใจได้หรือไม่มีหลังบ้านที่เป็นกันชนได้ ยังกลับกลายเป็นว่า รัสเซียมีปืนมาจ่ออยู่ที่หลังบ้านของตัวเอง ซึ่งรัสเซียยอมไม่ได้โดยเด็ดขาด 

 

  • ความพยายามในการใช้กรอบการเจรจาระดับต่างๆ บรรเทาความตึงเครียด

 

ในรอบปีที่ผ่านมาได้มีความพยายามจากผู้นำทั้งสองขั้วในการเจรจาหารือเพื่อผ่อนคลายความขัดแย้ง

 

ครั้งแรกคือ การประชุมสุดยอด ณ นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2021 เป็นการพบการครั้งแรกของผู้นำรัสเซียและสหรัฐฯ ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเข้ารับตำแหน่ง ทั้งคู่เคยพบกันมาแล้วในสมัยที่ปูตินเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนไบเดนเป็นรองประธานาธิบดี โดยมีหลายประเด็นที่ถูกคาดหวังว่าจะได้รับการถกและหารือกันได้ แต่ผลสรุปคือ ทั้งสองผู้นำมีความเห็นตรงกันเฉพาะในสองประเด็นหลักๆ คือ 1. การลงนามสนธิสัญญาการลดและการแพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ (New START) และ 2. การส่งเอกอัครราชทูตของประเทศแต่ละฝ่ายกลับไปประจำการตามเดิม หลังจากที่เกิดข้อขัดแย้งที่สหรัฐฯ กล่าวหาว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ ในปี 2020 จนกระทั่งต้องเรียกทูตกลับก่อนหน้านี้ ส่วนประเด็นวิกฤตการณ์ยูเครนและกระบวนการดำเนินคดีอเล็กซี นาวัลนี ผู้นำฝ่ายค้านนอกสภาของรัสเซีย รวมไปถึงประเด็นสิทธิมนุษยชนและสงครามไซเบอร์นั้นยังไม่ได้ข้อสรุป

 

ครั้งที่สองคือ การประชุมรัสเซีย-NATO ณ กรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2022 ถือว่าเป็นการประชุมครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่งระหว่างรัสเซียกับ NATO หลังทั้งสองฝ่ายขับผู้แทนของแต่ละฝ่ายออกจากดินแดนของกันและกัน การประชุมแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกคือการประชุมแยกระหว่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซียและสหรัฐฯ เซอร์เกย์ เรียบคอฟ (Sergey Ryabkov) และเวนดี้ เชอร์แมน (Wendy Sherman) ณ นครเจนีวา ช่วงหลักเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างรัสเซียกับ NATO โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียและสหรัฐฯ และ เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการ NATO ผลการประชุมคือการคว้าน้ำเหลว ทั้ง NATO และสหรัฐฯ ต่างปฏิเสธข้อเสนอของรัสเซียว่าด้วย ‘Security Guarantee’ ในขณะที่สหรัฐฯ ได้เพียงให้คำมั่นว่าจะไม่ส่งกองกำลังเข้าใกล้ชายแดนรัสเซีย

 

ครั้งที่สามคือ การประชุมสุดยอดขององค์การเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือยุโรป (Organization for Security and Co-operation of Europe: OSCE) ณ กรุงเวียนนา ออสเตรีย ซึ่งถือว่าเป็นเวทีที่สำคัญและเก่าแก่ นับตั้งแต่ยุคสงครามเย็น การประชุมสุดยอดจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2022 อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชวิช (Alexander Lukashevich) ผู้แทนรัสเซียประจำ OSCE พยายามนำข้อเสนอว่าด้วย Security Guarantee เสนอต่อที่ประชุม และได้กล่าวย้ำว่าข้อเสนอดังกล่าวนั้นสำคัญต่อความมั่นคงร่วมโดยรวมของยุโรปด้วย แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับเช่นเคย ในขณะเดียวกันเลขาธิการ OSCE ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งตามการหมุนเวียนคือ ซบิกนิว ราว (Zbigniew Rau) รัฐมนตรีต่างประเทศโปแลนด์ ก็กล่าวแสดงความกังวลว่ามีข้อติดขัดในกระบวนการประชุมและมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดสงครามครั้งใหญ่ในยุโรปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 30 ปี

 

ภาพ: Sean Gallup / Getty Images

 

  • ยูเครนกับ ‘ลักษณะพิเศษ’ ที่เป็นปัจจัยกำหนดทิศทางการเมืองภายในและระหว่างประเทศ

 

ยูเครนถือเป็นแหล่งกำเนิดประวัติศาสตร์ร่วมของทั้งรัสเซียและยูเครนในนามของ อาณาจักรคีฟเวนรุส (Kieven-Rus) ตั้งแต่ศตวรรษที่ 9 ก่อนที่จะล่มสลายลงและความสำคัญจะย้ายไปอยู่ที่มอสโก ก่อนที่จะพัฒนาเป็นอาณาจักรรัสเซียและส่วนที่เป็นประเทศยูเครนในปัจจุบันนั้นจะเรียกว่า ‘อูครายนา’ (Украина – Ukraina) หมายถึง ดินแดนที่อยู่ตรงชายขอบ และบางครั้งก็เรียกว่า ดินแดน ‘รัสเซียน้อย’ (Малая Россия – Little Russia) ที่มีรัสเซีย รัสเซียน้อย และรัสเซียขาว (Белорусь Belarus – White Russia) เป็นสามพี่น้องร่วมวงศ์ตระกูลสลาฟตะวันออก

 

ยูเครนในความรับรู้ของคนรัสเซียคือมณฑลหนึ่งของรัสเซียมาโดยตลอด จนกระทั่งในช่วงปลายศตวรรษที่ 19-20 เริ่มมีขบวนการชาตินิยมยูเครนเกิดขึ้นในช่วงจักรวรรดิรัสเซียกำลังระส่ำระสายและล่มสลายลง จึงมีการก่อตั้งประเทศยูเครนเป็นเอกราชสั้นๆ ก่อนที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ด้วยการพาเข้าร่วมของ ‘ขบวนการบอลเชวิกยูเครน’ เริ่มมีการกำหนดเขตแดนและกำหนดอัตลักษณ์ของยูเครนขึ้น

 

ในช่วงศตวรรษที่ 20 มีสงครามใหญ่และสงครามย่อยบนภาคพื้นทวีปยุโรป โดยเฉพาะในยุโรปตะวันออกหลายครั้ง จนเส้นเขตแดนมีการปรับเปลี่ยน จนกระทั่งในช่วงทศวรรษที่ 1940 สหภาพโซเวียตได้ผนวกกาลิเซีย โวลฮีเนีย และเบสซาราเบีย ฯลฯ จากพื้นที่บางส่วนของโปแลนด์ ฮังการี และโรมาเนีย มาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตและส่วนใหญ่เป็นของโซเวียตยูเครน จึงเป็นการเพิ่มสัดส่วนของชาวสลาฟยุโรปที่ไม่ได้มีสายสัมพันธ์กับชาวสลาฟตะวันออกอย่างรัสเซียและยูเครน จึงนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของปัจจัยทางการเมืองชาติพันธุ์ที่จะมามีอิทธิพลต่อทิศทางการเมืองสมัยใหม่ของยูเครนในเวลาต่อมา

 

เมื่อยูเครนแยกตัวจากสหภาพโซเวียตเป็นรัฐอิสระ พลวัตรทางการเมืองของยูเครนเป็นไปในลักษณะที่ฝ่ายนิยมรัสเซียกับฝ่ายนิยมยุโรปผลัดกันขึ้นมาเป็นรัฐบาล มีสัดส่วนที่ใกล้กันในระดับ 50 ต่อ 50 ฝ่ายนิยมรัสเซียส่วนใหญ่อยู่ในยูเครนฝั่งตะวันออก (ยูเครนเดิม) ส่วนฝ่ายนิยมยุโรปส่วนมากอยู่ในฝั่งยูเครนตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดลโวฟ (Lvov), เทียร์โนโปล (Ternopol), อิวานโน-ฟรังกอฟสก์ (Ivano-Frankovsk), โวลิน (Volyn), โรฟเน่ (Rovne), เชียร์โนฟท์ซึย ฆเมลนิทสกี้ (Khmelnitskiy) และซาการ์ปัทเทีย (Zakarpattia) ที่เป็นแคว้นที่มีที่มาจากการผนวกแคว้นกาลิเซีย โวลฮีเนีย และเบสซาราเบียในอดีต 

 

สำหรับพันธมิตรที่ใกล้ชิดในปัจจุบันของยูเครนอย่างสหรัฐฯ แม้จะออกโรงแทนยูเครนอยู่บ่อยครั้ง แต่ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่จะเอ่ยปากให้คำมั่นจะส่งทหารอเมริกันมาช่วยยูเครน ในกรณีที่ยูเครนเผชิญภัยคุกคามจากรัสเซีย พิสูจน์ให้เห็นว่ายูเครนไม่ได้เป็น First Priority ของสหรัฐฯ และส่วนหนึ่งสหรัฐฯ เองก็น่าจะตระหนักถึงธรรมชาติของการเมืองยูเครนที่กล่าวไปข้างต้นด้วยส่วนหนึ่ง

 

ภาพ: Brendan Hoffman / Getty Images

 

  • เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เมื่อการเจรจาทุกช่องทางมาถึงทางตัน?

 

จากคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดในรายการ Большая игра – The Big Game ทางช่อง 1 อันเป็นช่องรัฐบาลของรัสเซีย โดยเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย หลังการประชุมที่บรัสเซลส์สิ้นสุดลง สรุปคำให้สัมภาษณ์ได้ว่า ในยุค 90 รัสเซียได้ทำตามสัญญาทุกอย่างแล้ว เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกไม่ตึงเครียดมากจนเกินไป อย่างในกรณีที่ฝ่าย NATO ละเมิดคำมั่นเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังพลเข้ามาในยุโรปตะวันออก รัสเซียก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรรุนแรงกับการกระทำนั้น นับจากนี้ทางฝ่ายรัสเซียจะตอบโต้ออกไปอย่างไร ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายสหรัฐฯ และพันธมิตร NATO ว่าต้องการจะให้สถานการณ์เป็นอย่างไร 

 

จะเห็นได้ว่าลาฟรอฟได้เน้นย้ำใจความสำคัญของ Security Guarantee และการให้สัมภาษณ์ของผู้แทนระดับสูงของรัสเซียฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานาธิบดีปูตินเองที่คำให้สัมภาษณ์ในการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในรอบปี 2021 ที่เราได้เห็นนั้นมีความแข็งกร้าวและเร่งรัดฝ่ายตะวันตกมากพอสมควร ซึ่งถือว่าเป็นจุดที่รัสเซียไม่สามารถถอยให้กับจุดยืนนี้ได้ และเมื่อสหรัฐฯ และพันธมิตร NATO ไม่สามารถที่จะประกันความมั่นคงของรัสเซียได้ รัสเซียเองก็คงจะสงวนสิทธิตรงนี้ในการใช้ทรัพยากรทุกทางที่มีอยู่ในการสร้าง Security Guarantee ของตนเองขึ้นมา ในอีกแง่หนึ่งคือ รัสเซียก็พร้อมที่จะใช้กำลังทหารเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ของตน แต่ก็ด้วยเงื่อนไขที่ถ้าหากระหว่างนี้ยังไม่มีการเจรจานอกรอบ และ/หรือเกิดเหตุใดก็ตามที่จุดประกายไฟของการปะทะกันขึ้นมา 

 

ทั้งนี้ผู้เขียนมองว่า หากไปถึงขั้นการใช้กำลังทางทหาร การปะทะทางทหารก็คงจะเป็นไปในลักษณะที่มีการจำกัดขอบเขต อาจจะเป็นการใช้กำลังโจมตีและยึดครองบางพื้นที่เป็นระยะเวลาสั้นๆ ช่วงหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าประสงค์ที่ต้องการก็คือ การผลักดันอิทธิพลทางทหารของฝ่ายตะวันตกออกไป สังเกตได้จากสุนทรพจน์ของผู้นำรัสเซียนั้น ถ้ามีลักษณะการใช้การยื่นคำขาดเมื่อใดก็มักจะมีผลลัพธ์เชิงรูปธรรมในทางที่แข็งกร้าว ดังเช่นสงคราม 5 วันกับจอร์เจียในปี 2008 ที่รัสเซียส่งกองทัพปกติเต็มกำลังโจมตีจอร์เจียอย่างหนักและสามารถยึดเมืองหลักของจอร์เจียได้หลายเมือง ก่อนที่จะถอนกำลังกลับ ผลต่อเนื่องจากการปฏิบัติการทางทหารนี้ส่งผลให้มติมหาชน (Public Opinion) ของประชาชนจอร์เจียตีกลับไปโจมตีอดีตประธานาธิบดีมิเฆอิล ซากาชวิลี (Mikheil Saakashvili) ผู้ที่ฝักใฝ่ตะวันตกและพยายามนำจอร์เจียเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปและ NATO ว่าเป็นผู้ที่ชักศึกเข้าบ้าน เป็นผลทำให้เขาต้องออกจากตำแหน่งไปในที่สุด ยังไม่นับรวมรวมกองกำลังกึ่งทหารหรือกองกำลังที่ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นกองทหารประจำการของรัสเซียในปฏิบัติการต่างๆ ในความขัดแย้งบริเวณภาคตะวันออกของยูเครนจนถึงปัจจุบัน

 

นอกจากนี้สถานการณ์การจลาจลในคาซัคสถานที่รัสเซียมีบทบาทหลักในการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพไปควบคุมสถานการณ์ในฐานะสมาชิกร่วมขององค์การ CSTO ก็เป็นการสะท้อนเจตนารมณ์โดยนัยของรัสเซียที่ว่า รัสเซียเองก็มีศักยภาพทางทหารที่สูงและสามารถส่งกองกำลังของตนเพื่อฟื้นฟูระเบียบเมื่อใดก็ได้ ที่ใดก็ได้ในพื้นที่อิทธิพลของตนตามดินแดนของประเทศอดีตสหภาพโซเวียต ทั้งยังเป็นการแสดงแสนยานุภาพในฐานะมหาอำนาจผู้มีอิทธิพลในภูมิภาคดังกล่าวด้วย ที่สำคัญที่สุด มิตรประเทศที่ใกล้ชิดที่สุดของรัสเซียและยังอยู่ในภาคี CSTO นั้นคือ เบลารุส มีพรมแดนติดกับยูเครนทางตอนเหนือและพร้อมให้ความร่วมมือกับรัสเซียอย่างแน่นอน ยูเครนก็จะตกอยู่ในวงล้อมรูปคีมหนีบของรัสเซีย อีกทั้งเราอาจจะได้เห็นความร่วมมือในด้านต่างๆ ของรัสเซียกับประเทศในโลกตะวันออก เช่น จีน อิหร่าน ฯลฯ มากยิ่งขึ้น แต่ก็จะไม่ทิ้งบรรดามิตรประเทศในยุโรปบางประเทศ ที่แม้จะเป็นสมาชิกทั้งสหภาพยุโรปและ NATO แต่ก็มีความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ดีกับรัสเซีย เช่น อิตาลี น่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่รัสเซียจะใช้เป็นสะพานเชื่อมไปยังโลกตะวันตก เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยวิธีทางการทูตต่อไปในอนาคต

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X