ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวคำขอโทษต่อสาธารณชน กรณีที่ทำให้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศสั่นคลอน ก่อนให้คำมั่นที่จะปรับปรุง แก้ไข และเดินหน้านำพาเศรษฐกิจของอังกฤษให้ฟื้นกลับขึ้นมาได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
คำขอโทษจากปากทรัสส์มีขึ้นหลังจากที่ผู้นำอังกฤษเผชิญแรงกดดันจากหลายฝ่าย เนื่องจากการประกาศมาตรการปรับลดภาษีวงเงิน 4.5 หมื่นล้านปอนด์ ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดการเงินทั่วโลก แถมยังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน จนต้องตัดสินใจยกเลิกนโยบายดังกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รู้จัก ‘เจเรมี ฮันต์’ อดีตผู้ชิงเก้าอี้นายกฯ สู่ รมว.คลังอังกฤษคนล่าสุด ท่ามกลางความท้าทาย Perfect Storm
- ‘ลิซ ทรัสส์’ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไล่ ‘รมต.คลัง’ พ้นตำแหน่ง เซ่นแผนลดภาษี
- รมว.คลังอังกฤษคนล่าสุด ‘เจเรมี ฮันต์’ ยันเดินหน้าผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ระบุนโยบายภาษีของนายกฯ นั้น ‘ไกลและเร็วไป’
ทรัสส์กล่าวว่า ตนเองขอรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและขอโทษต่อความผิดพลาดที่ผ่านมา พร้อมยืนยันว่า แผนการปรับลดภาษีมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อจะช่วยเหลือประชาชนในเรื่องการใช้จ่ายด้านพลังงาน แต่ตนเองผลักดันในเรื่องดังกล่าวมากเกินไปและเร็วเกินไป
อย่างไรก็ตาม ผู้นำหญิงของอังกฤษยังคงยืนกรานที่จะอยู่ทำงานในตำแหน่งต่อไป โดยแสดงความเชื่อมั่นว่าตนเองจะนำพรรคอนุรักษ์สู้ศึกเลือกตั้งครั้งใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า รวมถึงย้ำว่า รัฐบาลจะมุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการหันไปลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มเติม
เมื่อวันจันทร์ที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ไม่นาน เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ของอังกฤษ ออกมาประกาศยกเลิกแผนภาษีของนายกรัฐมนตรีทรัสส์เกือบทั้งหมด ซึ่งรวมถึงนโยบายด้านพลังงานด้วย โดยฮันต์ย้ำชัดเจนว่าจะไม่มีการลดค่าใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มเติมอีก
จากนั้นทรัสส์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในภายหลังเกี่ยวกับการที่รัฐมนตรีคลังอังกฤษยกเลิกแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจของตนว่า เป็นเรื่องปกติ เพราะเป้าหมายของตนที่แต่งตั้งฮันต์ก็เพราะตนเองจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทาง และโดยส่วนตัวแล้วการไม่ดำเนินการใดๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติถือเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิง และเป็นเรื่องถูกต้องที่อังกฤษจะต้องเปลี่ยนนโยบาย
รายงานข่าวระบุว่า ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการยืดอกยอมรับผิด เอ่ยปากขอโทษ และเดินหน้าปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อฟื้นเศรษฐกิจอังฤษอย่างระมัดระวัง จะช่วยให้ทรัสส์รอดพ้นจากวิกฤตคะแนนตกต่ำและลดแรงกดดันจากบรรดาผู้ที่มีความเห็นต่างภายในพรรคอนุรักษนิยมได้หรือไม่ ซึ่งความเห็นของสมาชิกพรรคอาจส่งผลให้ทรัสส์พ่ายการเลือกตั้งสมัยหน้าได้
ขณะเดียวกันสถานการณ์ในตลาดยังคงอยู่ในสภาวะตึงเครียดและวิตกกังวล แม้จะมีข่าวยกเลิกมาตรการดังกล่าวแล้วก็ตาม ทำให้ยังคงมีกระแสกดดันให้ทรัสส์ลาออก แม้ว่าเพิ่งจะก้าวขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียง 6 สัปดาห์
ขณะเดียวกันผลสำรวจความเห็นล่าสุดจาก YouGov พบว่า สมาชิกพรรคอนุรักษนิยมมากกว่าครึ่งเห็นควรให้นายกรัฐมนตรีทรัสส์ประกาศลาออก และราว 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่า อดีตนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ควรกลับมารับตำแหน่งผู้นำประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ถูกบีบให้ลาออกเพราะข่าวลือ
ขณะที่สมาชิกพรรคบางส่วนมองว่า การที่ผู้นำออกมายอมรับความผิดพลาดและเอ่ยปากขอโทษต่อสภานั้น สะท้อนเจตจำนงของนายกรัฐมนตรีทรัสส์ที่ยังคงต้องการจะสู้ต่อไป
และวานนี้ (18 ตุลาคม) หนังสือพิมพ์ Financial Times รายงานว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) มีแนวโน้มจะชะลอการขายพันธบัตรรัฐบาลมูลค่าหลายพันล้านปอนด์ เพื่อส่งเสริมเสถียรภาพในตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษมากขึ้น หลังอังกฤษยกเลิกแผนลดภาษีครั้งใหญ่
ก่อนหน้านี้ BOE เพิ่งชะลอแผนการขายพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 8.38 แสนล้านปอนด์ (9.5490 แสนล้านดอลลาร์) จากเดิมที่มีกำหนดเริ่มต้นขายในวันที่ 6 ตุลาคม โดยพิจารณาถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษปรับตัวแข็งค่าขึ้นเพิ่มเติม 0.36% สู่ระดับ 1.1398 ดอลลาร์ โดยใกล้เคียงระดับสูงสุดของวันจันทร์ (17 ตุลาคม) ที่ 1.144 ดอลลาร์ ซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม
การตัดสินใจของฝ่ายบริหารธนาคารกลางอังกฤษมีขึ้นหลังจากที่เหล่าผู้บริหารคาดการณ์ว่า ตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษจะประสบปัญหาอย่างมากจากแผนลดภาษีในช่วงนี้
ไมเคิล โอ’เลียรี ผู้บริหาร Ryanair สายการบินสัญชาติอังกฤษ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของอังกฤษในขณะนี้ว่า เป็นอุบัติเหตุรุนแรง โดยมีต้นตอมาจากตัดสินใจของประเทศในการลงคะแนนเสียงให้ออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ในปี 2016
ด้าน ทอร์สเต็น เบลล์ หัวหน้า Resolution Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานด้าน Think Tank บอกกับ BBC Radio ว่า รัฐบาลนายกรัฐมนตรีทรัสส์อาจจำเป็นต้องหาทางลดการใช้จ่ายสาธารณะประมาณ 30 แห่ง ส่วนการที่ฮันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่กล่าวว่า การสนับสนุนครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ จะดำเนินต่อไปจนถึงเดือนเมษายนก่อนที่จะมีการพิจารณาอีกครั้ง กำลังบอกพวกเราว่า ครอบครัวอังกฤษอาจต้องเผชิญกับค่าพลังงานที่สูงถึง 5,000 ปอนด์ในปีหน้า และปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดในเวลานี้คือปัญหาเงินเฟ้อ
อ้างอิง: