×

นักวิทย์ฯ หวังการทดลองวัคซีน AstraZeneca ในสหรัฐฯ จะช่วยไขความกระจ่างด้านประสิทธิภาพ หลังผลการศึกษาเบื้องต้นให้ข้อมูลคลุมเครือ

08.12.2020
  • LOADING...
วัคซีน AstraZeneca

ดร.ลาร์รี โครีย์ หนึ่งในหัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ในเครือข่าย Coronavirus Vaccine Prevention Network ซึ่งช่วยออกแบบและดูแลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ในสหรัฐฯ ให้กับโครงการ Operation Warp Speed ของรัฐบาล แสดงความคาดหวังว่าการวิจัยวัคซีนกับกลุ่มทดลองขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ จะช่วยให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีน AstraZeneca หลังบริษัทยายักษ์ใหญ่ในสหราชอาณาจักรและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดเผยผลการทดลองวัคซีนในคนเบื้องต้น (เฟส 3) พบประสิทธิภาพไม่เท่ากันจากการให้ปริมาณวัคซีนที่ต่างกัน

 

ก่อนหน้านี้ AstraZeneca และมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ซึ่งร่วมพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ได้เผยแพร่ผลการทดลองเบื้องต้นเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพ 90% ในกลุ่มอาสาสมัครกลุ่มเล็กในอังกฤษและบราซิลที่ได้รับวัคซีนโดสแรกในปริมาณครึ่งหนึ่ง ตามด้วยโดสที่ 2 ที่ให้วัคซีนเต็มโดส ส่วนกลุ่มทดลองที่ใหญ่กว่า ซึ่งได้วัคซีนเต็มโดส 2 ครั้ง พบประสิทธิภาพอยู่ที่ 62% 

 

แม้ว่าประสิทธิภาพ 62% จะเป็นอัตราที่สูงกว่าระดับมาตรฐานที่กำหนดโดยหลายหน่วยงาน แต่ก็ถือว่าต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับแคนดิเดตวัคซีนของสองคู่แข่งอย่าง Pfizer และ Moderna ในสหรัฐฯ ที่มีประสิทธิภาพสูง 95% และ 94.1% ตามลำดับ

 

สำหรับการศึกษาวัคซีนของ AstraZeneca ในสหรัฐฯ นั้นจะมีอาสาสมัครเข้าร่วมประมาณ 30,000 คน และคาดว่าจะได้ผลสรุปการทดลองเบื้องต้นในช่วงปลายเดือนมกราคมปีหน้า

 

“เรารู้สึกสบายใจมากที่ได้ออกแบบการทดลองที่ดีในสหรัฐอเมริกา” ดร.โครีย์ กล่าว 

 

เขามองว่าการให้วัคซีนในระหว่างการทดลองที่อังกฤษ ไม่ได้ทำอย่างถูกต้อง และการให้วัคซีนในปริมาณที่ต่างกันไม่อาจอธิบายได้ชัดเจนถึงประสิทธิภาพที่แตกต่างที่พบในสหราชอาณาจักรและบราซิล

 

“ปัญหาอย่างหนึ่งของข้อมูลออกซ์ฟอร์ดคือตารางและปริมาณวัคซีนที่ไม่เป็นรูปแบบเดียวกัน ซึ่งทำให้ตีความผลลัพธ์ได้ยาก” ดร.โครีย์ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

 

นอกจากนี้ยังมีความแตกต่างระหว่างการให้วัคซีนในกลุ่มทดลองที่สหราชอาณาจักรและบราซิลด้วย รวมถึงปัจจัยด้านช่วงอายุของอาสาสมัครในการศึกษานี้ ยกตัวอย่างเช่น ผู้เช้ารับการทดลองทุกคนที่อยู่ในกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ 90% ล้วนมีอายุต่ำกว่า 55 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงของโควิด-19 น้อยกว่ากลุ่มผู้สูงอายุอยู่แล้ว

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X