ตามรายงานของ Saxo Bank วาณิชธนกิจจากเดนมาร์ก ระบุว่า สหราชอาณาจักร กำลังกลายเป็น ‘ประเทศตลาดเกิดใหม่’ (Emerging Market Country) เนื่องจากการขาดเสถียรภาพทางการเมือง การหยุดชะงักทางการค้า วิกฤตพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพิ่งเตือนว่าเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ยาวนานที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลก ภายในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้ GDP ลดลง 2.1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะแตะระดับสูงสุด (Peak) เหนือ 13% ในเดือนตุลาคม และที่สำคัญกว่านั้นคือธนาคารกลางอังกฤษไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากภาวะถดถอย และคาดว่า GDP จะลดลง 1.75% จากระดับปัจจุบัน ในช่วงกลางปี 2025
ขณะที่ คริสโตเฟอร์ เดมบิก หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ระดับมหภาคของ Saxo Bank กล่าวว่า สหราชอาณาจักรดูเหมือนประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
ท่ามกลางมรสุมทางเมือง สหราชอาณาจักรคาดว่าจะประกาศชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันที่ 5 กันยายน หลังจากบอริส จอห์นสันลาออก โดยมี ลิซ ทรัสส์ และ ริชิ ซูแนค เป็นแคนดิเดต ขณะที่สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญกับวิกฤตค่าครองชีพ และการตกต่ำของมาตรฐานการครองชีพครั้งประวัติศาสตร์
โดยเพดานราคาพลังงานในสหราชอาณาจักรคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 70% ในเดือนตุลาคม และเพิ่มขึ้นอีกในต้นปีหน้า จะทำให้ครัวเรือนหลายล้านครัวเรือนเข้าสู่ความยากจน
สหราชอาณาจักรยังกำลังต่อสู้กับปัญหาการหยุดชะงักทางการค้า (Trade Disruptions) อันเนื่องมาจากการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) และปัญหาคอขวดที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด
เดมบิกกล่าวอีกว่า สหราชอาณาจักรขาดลักษณะของประเทศตลาดเกิดใหม่เพียงลักษณะเดียว คือ วิกฤตค่าเงิน โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปอนด์สเตอร์ลิงอ่อนค่าเพียง 0.70% เมื่อเทียบกับยูโร และอ่อนค่า 1.50% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าหลังจากสหราชอาณาจักรผ่านพ้นความไม่แน่นอนจากกรณี Brexit ไป ก็ไม่น่ามีสิ่งใดสามารถผลักดันเงินปอนด์ให้อ่อนค่าอย่างหนักได้
อย่างไรก็ตาม เดมบิกเสนอว่าตัวชี้วัดสำคัญทั้งหมดชี้ให้เห็นถึงความเจ็บปวดที่รออยู่ข้างหน้าสำหรับเศรษฐกิจอังกฤษ ตัวอย่างเช่น ยอดจดทะเบียนรถใหม่ ซึ่งมักถูกมองว่าเป็นตัวบ่งชี้ถึงสุขภาพของเศรษฐกิจอังกฤษ ได้ลดลงจาก 1.835 ล้านคันในเดือนกรกฎาคมปี 2021 เป็น 1.528 ล้านคันเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2022 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ดังนั้นภาวะถดถอย (Recession) จะยาวและลึก และจะไม่มีทางหนีง่ายๆ นี่เป็นเรื่องที่น่ากังวลที่สุดในมุมมองของเรา ตามที่ธนาคารกลางอังกฤษประเมินว่าการตกต่ำจะคงอยู่ต่อไป โดยที่ GDP จะยังคงต่ำกว่าระดับปัจจุบัน 1.75% ในช่วงกลางปี 2025
อย่างไรก็ตาม Saxo Bank คาดการณ์ว่าธนาคารกลางอังกฤษจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนกันยายน ซึ่งจะเป็นครั้งที่ 7 ติดต่อกันนั้น อาจเป็นครั้งสุดท้าย นอกเหนือจากนี้ยังมีสัญญาณบ่งชี้ว่าตัวขับเคลื่อนเงินเฟ้อที่สำคัญบางตัวอาจเริ่มผ่อนคลายลง
โดยจากคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรอาจเผชิญภาวะถดถอยที่ยาวนาน โดย GDP จะติดลบ 5 ไตรมาสติด เริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2022 ไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2023 จะผลักดันให้ธนาคารกลางอังกฤษอยู่ในสถานะ ‘รอดูสถานการณ์’ ก่อนจะตัดสินใจใดๆ
วิกฤตปัจจุบันจ่อส่งผลกระทบทางสังคมระยะยาว
เดมบิกกล่าวอีกว่า ลองนึกภาพบัณฑิตที่เข้าทำงานในปี 2009-2010 ซึ่งเคยเผชิญวิกฤตทางการเงินไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยตอนนี้พวกเขาเพิ่งอายุ 30 ต้นๆ และยังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในชีวิตอีกครั้ง
“พวกเขาต้องเผชิญกับการกดค่าแรง การไม่มีที่อยู่อาศัย สูญเสียการพบปะสังสรรค์ไป 2 ปีจากมาตรการล็อกดาวน์ ราคาพลังงานและค่าเช่าที่สูง รวมถึงภาวะถดถอยที่ยาวนาน สิ่งนี้จะนำไปสู่ความยากจนและความสิ้นหวังมากขึ้น” เดมบิกกล่าว
ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษคาดการณ์ว่ารายได้ที่จับจ่ายได้ที่แท้จริงหลังหักภาษีของครัวเรือนจะลดลง 3.7% ตั้งแต่ปี 2022 และ 2023 โดยครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำจะได้รับผลกระทบมากที่สุด นอกจากนี้เดมบิกยังเน้นย้ำถึงข้อค้นพบล่าสุดของ IMF ว่าครัวเรือนที่ยากจนที่สุดของสหราชอาณาจักรจะอยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในยุโรป เนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น
ลักษณะของประเทศตลาดเกิดใหม่
แม้ไม่มีคำจำกัดความอย่างเป็นทางการของตลาดเกิดใหม่ แต่ประเทศเหล่านี้มักมีลักษณะร่วมกัน ได้แก่
- รายได้ต่ำ
- เศรษฐกิจเติบโตเร็ว
- ตลาดมีความผันผวนสูง
- ค่าเงินผันผวน
- มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนสูง
ขณะที่ IMF World Economic Outlook ได้จำแนก 39 ประเทศเป็นเศรษฐกิจ ‘ขั้นสูง’ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น รายได้ต่อหัวที่สูง (High per Capita Income) การส่งออกสินค้าและบริการที่หลากหลาย (Exports of Diversified Goods and Services) และการบูรณาการที่มากขึ้นในระบบการเงินโลก (Greater Integration into the Global Financial System) ส่วนประเทศที่เหลือถูกจัดอยู่ในประเภท ‘ตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนา’ โดยในจำนวนนี้ รายงาน Fiscal Monitor ของ IMF ได้จัดให้ 40 ประเทศเป็นเศรษฐกิจ ‘ตลาดเกิดใหม่และรายได้ปานกลาง’
อย่างไรก็ตาม ‘รายได้’ ไม่ใช่เพียงลักษณะเดียวของตลาดเกิดใหม่เท่านั้น โดยประเทศตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ล้วนมีเศรษฐกิจที่มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ ที่สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้น และเป็นเหมือนเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า
โดย IMF จะพิจารณา ‘ประเทศตลาดเกิดใหม่’ จากตัวชี้วัดต่อไปนี้
- การมีอยู่เชิงระบบ ได้แก่ ขนาดเศรษฐกิจของประเทศ (GDP) ประชากร และส่วนแบ่งการส่งออกในการค้าโลก
- การเข้าถึงตลาด ได้แก่ สัดส่วนของหนี้ต่างประเทศ การเป็นส่วนหนึ่งของดัชนีระดับโลก ความถี่และจำนวนการออกพันธบัตรระหว่างประเทศ
- ระดับรายได้ ได้แก่ GDP ต่อหัวของประเทศเป็นดอลลาร์สหรัฐ
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2022/08/09/britain-is-becoming-an-emerging-market-country-analyst-says.html
- https://www.thebalance.com/what-are-emerging-markets-3305927
- https://www.imf.org/external/pubs/ft/fandd/2021/06/the-future-of-emerging-markets-duttagupta-and-pazarbasioglu.htm
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP