กำลังจะเริ่มเปิดฉากฟาดแข้งกันในคืนนี้แล้วสำหรับศึกฟุตบอลยูฟ่าเนชันส์ลีก 2018 รายการทัวร์นาเมนต์ใหม่แกะกล่องของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือยูฟ่า ที่จะเปลี่ยนแมตช์ฟุตบอลกระชับมิตรระดับทีมชาติธรรมดาๆ ให้ดูน่าติดตามมากยิ่งขึ้น
สำหรับการแข่งขันนี้จะมีเพียงสมาชิกทีมชาติจากยุโรปที่เข้าร่วมเท่านั้น ประกอบไปด้วย 55 ทีมชาติ โดยแบ่งออกเป็น 4 ลีกคือ A, B, C และ D ซึ่งการลำดับทีมของแต่ละลีกจะถูกจัดโดยเรียงจากคะแนนของ FIFA Ranking ลีก A คือทีมอันดับ 1-12 ลีก B คือทีมอันดับ 13-24 ลีก C คือทีมอันดับ 25-39 และลีก D คือทีมอันดับ 40-55 และมีระบบการขึ้นชั้นและตกชั้นเหมือนฟุตบอลลีกปกติ ซึ่งจะเป็นการแยกระดับชั้นของทีมชาติอย่างชัดเจน
ผลจากการแบ่งกลุ่ม A
กลุ่ม 1: เยอรมนี, ฝรั่งเศส, เนเธอร์แลนด์
กลุ่ม 2: เบลเยียม, สวิตเซอร์แลนด์, ไอซ์แลนด์
กลุ่ม 3: โปรตุเกส, อิตาลี, โปแลนด์
กลุ่ม 4: สเปน, อังกฤษ, โครเอเชีย
ผลจากการแบ่งกลุ่ม B
กลุ่ม 1: สโลวาเกีย, ยูเครน, สาธารณรัฐเช็ก
กลุ่ม 2: รัสเซีย, สวีเดน, ตุรกี
กลุ่ม 3: ออสเตรีย, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา, ไอร์แลนด์เหนือ
กลุ่ม 4: เวลส์, ไอร์แลนด์, เดนมาร์ก
ผลจากการแบ่งกลุ่ม C
กลุ่ม 1: สกอตแลนด์, แอลเบเนีย, อิสราเอล
กลุ่ม 2: ฮังการี, กรีซ, ฟินแลนด์, เอสโตเนีย
กลุ่ม 3: สโลวีเนีย, นอร์เวย์, บัลแกเรีย, ไซปรัส
กลุ่ม 4: โรมาเนีย, เซอร์เบีย, มอนเตเนโกร, ลิทัวเนีย
ผลจากการแบ่งกลุ่ม D
กลุ่ม 1: จอร์เจีย, ลัตเวีย, คาซัคสถาน, อันดอร์รา
กลุ่ม 2: เบลารุส, ลักเซมเบิร์ก, มอลโดวา, ซานมารีโน
กลุ่ม 3: อาเซอร์ไบจาน, หมู่เกาะแฟโร, มอลตา, โคโซโว
กลุ่ม 4: มาซิโดเนีย, อาร์เมเนีย, ลิกเตนสไตน์, ยิบรอลตาร์
ทำไมต้องมียูฟ่าเนชันส์ลีก
การแข่งขันรายการนี้ถูกจัดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับฟีฟ่าเดย์ หรือโปรแกรมการอุ่นเครื่องระดับชาติ ซึ่งเดิมทีการที่ทีมชาติเรียกนักเตะกลับจากการเตะลีกอาชีพมายังแคมป์ทีมชาติและลงอุ่นเครื่อง ส่วนใหญ่จะทำไปเพียงเพื่อทดสอบประสิทธิภาพของตัวนักเตะ และเป็นช่วงที่ทีมโค้ชจะได้โอกาสปรับแผนการเล่น โดยความรู้สึกในฐานะผู้ชมอย่างเราสามารถรับรู้ได้เลยว่าการลงแข่งในฟีฟ่าเดย์ หลายๆ ทีมก็ไม่ได้เอาจริงเอาจังอะไรนักกับการแข่งช่วงนี้
แต่กับโปรแกรมยูฟ่าเนชันส์ลีกที่คิดค้นโดยสหพันธ์ฟุตบอลแห่งยุโรปกำลังจะทำให้การลงเตะตามปฏิทินของฟีฟ่าเดย์ดูมีความหมายมากยิ่งขึ้น เพราะกฎกติกาต่างๆ ที่เหมือนกับเกมฟุตบอลลีกอาชีพเป็นการยกระดับให้การแข่งขันที่ถูกมองว่าเป็นแค่การอุ่นเครื่องกลายเป็นเกมที่น่าตื่นตาตื่นใจมากยิ่งขึ้น
ถึงแม้ว่ารายการนี้จะเป็นรายการที่ทีมชาติในยุโรปได้ฟาดแข้งกันเอง ก็อาจมีคำถามตามมาว่าทีมชาติเหล่านี้จะมีโอกาสได้ไปแข่งกับทีมนอกทวีปหรือไม่ คำตอบคือมีโอกาสแน่นอน เพราะแม้จะตรงกับช่วงฟีฟ่าเดย์ แต่ทางยูฟ่าเองก็ได้จัดการโปรแกรมให้ทีมในทวีปมีการแข่งขันอุ่นเครื่องกับทีมต่างทวีปด้วย
อีกทั้งยังเป็นเหมือนยากระตุ้นชั้นดีให้ทีมเล็กในยุโรปได้ใช้ประโยชน์จากการแข่งขันนี้มาพัฒนาทีมให้ให้มีประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่ เพราะถ้าทีมชาติใดทำผลงานได้ดีก็จะได้รับสิทธิ์ในการเลื่อนชั้นเพื่อยกระดับทีมชาติของตัวเองให้ไปสู่หัวแถวของยุโรปในอนาคตได้
แรงจูงใจของยูฟ่าเนชันส์ลีกคืออะไร
แน่นอนว่าต้องมีคำถามมากมายกรูเข้ามาว่าแรงจูงใจหรือรางวัลของรายการนี้คืออะไร หลักๆ เลยก็คือโควตาพิเศษไปเล่นรอบสุดท้ายที่ยูโร 2020 นั่นเอง
เดิมทีทีมชาติที่จะผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายของฟุตบอลยูโรจะเป็นทีมเจ้าภาพและทีมที่ผ่านรอบคัดเลือก แต่ยูฟ่าเนชันส์ลีกจะมีรางวัลให้ทั้งหมด 4 ที่นั่งสำหรับทีมที่เป็นอันดับที่ 1 ในแต่ละลีก A, B, C, D แบบไม่ต้องแคร์การแข่งขันฟุตบอลยูโรรอบคัดเลือกเลย
นอกจากนี้ทุกทีมที่อยู่ในลีก A ยังมีโอกาสได้เป็นแชมป์รายการนี้ โดยหลังจากผ่านการเก็บคะแนน ทีมที่ทำคะแนนได้เป็นอันดับ 1 ของแต่ละกลุ่มจาก 4 กลุ่มจะได้รับสิทธิ์ไปแข่งรอบ 4 ทีมสุดท้ายที่จะแข่งกันกลางปี 2019 เพื่อหาผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว และคว้าแชมป์รายการยูฟ่าเนชันส์ลีกไปครองเป็นทีมแรกทันที
รูปแบบการแข่งขันแบบนี้น่าจะทำให้หลายทีมในยุโรป โดยเฉพาะทีมเล็กได้มีโอกาสมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์มากขึ้น เพราะอย่างที่รู้กันว่าทีมในลีก D ส่วนใหญ่จะเป็นทีมเล็กที่แทบไม่มีโอกาสได้ไปเล่นในรายการใหญ่อย่างฟุตบอลยูโรเลย แต่การแข่งขันนี้จะช่วยให้ทีมเล็กมีโอกาสงัดศักยภาพออกมาสู้เพื่อการเป็นที่ 1 ของลีก แล้วคว้าตั๋วไปเล่นรอบสุดท้ายของฟุตบอลยูโร 2020 แบบอัตโนมัติ
รูปแบบทัวร์นาเมนต์ที่ยกระดับและสร้างรายได้มากกว่าแมตช์กระชับมิตร
อีกสิ่งหนึ่งที่สมาคมฟุตบอลแต่ละชาติเข้าร่วมน่าจะชอบกันเป็นพิเศษก็คือเรื่องของเม็ดเงินการขายตั๋วที่คาดว่าจะมากกว่าการแข่งขันแบบอุ่นเครื่อง
เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าจำนวนคนดูในสนามของฟุตบอลนัดกระชับมิตรกับการแข่งขันระดับเมเจอร์ต่างกันอย่างไร ซึ่งการจัดทัวร์นาเมนต์แบบนี้เป็นเหมือนการยกระดับเกมทีมชาติที่ธรรมดาให้ดูมีความจริงจังไม่ต่างกับระบบฟุตบอลลีกเลย
อีกหนึ่งผลพวงจากรายการยูฟ่าเนชันส์ลีก 2018 คือการลากยาวไปจนถึงศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2020 ที่ปีนี้เป็นครั้งแรกที่การแข่งขันรอบสุดท้ายจะจัดขึ้น 13 สนามทั่วทวีปยุโรป
ซึ่งนี่อาจเป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่า ต่อไปนี้ไม่ว่าจะมีทัวร์นาเมนต์อะไรเกิดขึ้นก็จะไม่มีระบบเจ้าภาพอีกต่อไป
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนัก ถ้าหากมองกลับมาใกล้ๆ ตัวอย่างการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งอาเซียน หรือซูซูกิคัพ ที่กำลังจะจัดขึ้นปลายปีนี้
ก็จะเห็นว่าผู้จัดการแข่งขันได้ยกเลิกระบบเจ้าภาพแล้วให้ทุกทีมหันมาแข่งแบบเหย้า-เยือนคล้ายกับของฟุตบอลยูโร 2020 ซึ่งกลายเป็นเทรนด์ใหม่ในโลกฟุตบอล
ถ้าถามว่าทำไมจึงยกเลิกระบบเจ้าภาพก็คงเป็นเรื่องของผลประโยชน์ เพราะก่อนหน้านี้มีการเปิดเผยรายได้ของเจ้าภาพฟุตบอลโลกอย่างแอฟริกาใต้ (2010) และบราซิล (2014) ที่ต่างขาดทุนกันย่อยยับกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวๆ 1.6 แสนล้านบาท หลังทุ่มงบประมาณไปหลักหมื่นล้าน
รวมถึงฟุตบอลโลก 2018 ล่าสุดที่สื่อต่างมองว่ารัสเซียเองก็ดูจะขาดทุนไปไม่น้อย นี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลน่าสนใจที่ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลทั่วโลกคิดหนักกับเรื่องนี้มากขึ้น และอาจนำไปสู่ระบบการแข่งขันแบบใหม่ที่ทางยูฟ่ากำลังนำไปใช้ในตอนนี้
อย่างไรก็ตาม นี่อาจเป็นเพียงก้าวแรกสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวงการฟุตบอลระดับโลก แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น อย่าลืมว่าความสนุกของฟุตบอลยูฟ่าเนชันส์ลีก 2018 ที่จะเริ่มแข่งในคืนนี้น่าชมขนาดไหน
เพราะแค่คืนแรกของการแข่งขันก็มีบิ๊กแมตช์ให้เราได้ชมกันแล้ว นั่นก็คือการพบกันระหว่างทีมแชมป์โลกสองทีมล่าสุดอย่างทีมชาติเยอรมนี (แชมป์โลก 2014) จะเปิดอลิอันซ์ อารีนา รับการมาเยือนของทีมชาติฝรั่งเศส (แชมป์โลก 2018) ซึ่งจะเริ่มคิกออฟในเวลา 01.45 น. เป็นต้นไป
ภาพ: www.uefa.com
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์