×

ปิดดีล Grab ซื้อ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ควบบริการเรียกรถและส่งอาหาร

โดย THE STANDARD TEAM
26.03.2018
  • LOADING...

หลังจากมีกระแสข่าวการควบรวมกิจการระหว่างคู่แข่งด้านบริการขนส่งอย่าง Grab และ Uber ล่าสุดทั้งสองบริษัทบรรลุข้อตกลงการซื้อขายแล้ว ภายใต้ดีลประวัติศาสตร์การซื้อธุรกิจออนไลน์ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในภูมิภาค

 

โดย Grab จะควบรวมกิจการเรียกรถโดยสารผ่านแอปพลิเคชันและรับส่งอาหารของ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ กัมพูชา, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เมียนมา, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม และไทย ซึ่ง Uber จะถือหุ้น 27.5% ใน Grab และภายหลังการควบรวมธุรกิจ Grab จะพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการแบบ O2O (Online to Offline) พร้อมผลักดัน GrabPay บริการชำระเงินผ่านมือถือ

 

ดารา คอสราวซาฮี ผู้ร่วมก่อตั้ง Grab กล่าวว่า ข้อตกลงครั้งนี้ถือเป็นเครื่องแสดงถึงการเติบโตอย่างเยี่ยมยอดของธุรกิจ Uber ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยจะช่วยให้เราสามารถเติบโตมากยิ่งขึ้น ในระหว่างที่เราลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดในโลกให้แก่ลูกค้า”

 

โดยหลังจากนี้ Grab และ Uber จะทำงานร่วมกันในการย้ายฐานข้อมูลรายชื่อคนขับ และผู้โดยสารออกจากแอปพลิเคชัน Uber รวมถึงลูกค้าที่สั่งอาหาร ผู้จัดส่ง และพันธมิตรร้านอาหารจากแอปฯ Uber Eats ไปยังแพลตฟอร์มของ Grab โดยแอปฯ Uber จะให้บริการต่อไปอีก 2 สัปดาห์ ส่วน Uber Eats จะให้บริการถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 และหลังจากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกย้ายไปยังแอปฯ ของ Grab

 

สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ดีลนี้สะท้อนถึงการถอยทัพครั้งใหญ่ของ Uber ในตลาดโลก เพราะก่อนหน้านี้ในปี 2016 อดีตซีอีโอ ทราวิส คาลานิก ก็เคยขายหุ้นบริษัทให้กับยักษ์ใหญ่ด้านบริการขนส่งของจีนอย่าง Didi Chuxing ไป 17.5% และยังตกลงที่จะควบรวมกิจการในรัสเซียกับ Yandex บริษัทอินเทอร์เน็ตของรัสเซีย

 

Bloomberg ยังรายงานอีกว่า ดารา คอสราวซาฮี ซีอีโอคนปัจจุบันของ Uber เคยกล่าวไว้ตั้งแต่ปลายปี 2017 ว่า ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นไม่ทำกำไรให้พวกเขาอีกต่อไป และต้องการที่จะรักษาสภาพคล่องทางการเงินเพื่อเตรียมพาบริษัทเปิดตัว IPO เข้าตลาดหุ้นในปีหน้า การถอนตัวออกจากตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงน่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแล้วไปโฟกัสกับตลาดอื่นที่ทำเงินกว่า เช่น สหรัฐฯ ยุโรป หรือลาตินอเมริกา ถึงแม้ว่า Uber จะขาดทุนมาตลอดในช่วง 2 ปีหลัง (ปี 2016 ขาดทุน 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2017 ขาดทุน 2.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ)

 

อย่างไรก็ดี สำนักข่าว Asian Nikkei Review และ BBC รายงานตรงกันว่า SoftBank Group คือตัวละครหลักที่คุมดีลนี้ เพราะ SoftBank คือผู้ถือหุ้นใหญ่ Uber ประมาณ 15% นอกจากนี้ SoftBank ยังมีหุ้นใน Didi ของจีน, Ola ของอินเดีย, 99 ในบราซิล และ Grab อีกด้วย ดีลยักษ์ใหญ่ดังกล่าวจึงส่งผลให้ SoftBank มีอิทธิพลมากขึ้นในวงการ Ride-Sharing

 

สำหรับ Grab คือแพลตฟอร์มการให้บริการแบบ O2O (Online to Offline) ที่ได้รับการเรียกใช้งานสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันแอปพลิเคชันของ Grab มียอดดาวน์โหลดกว่า 90 ล้านครั้ง และมีลูกค้าเข้าถึงเครือข่ายกว่า 5 ล้านคน ให้บริการใน 195 เมืองใน 8 ประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising