ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดของ Henley Private Wealth Migration Report ที่เปิดเผยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 มิถุนายน) พบว่า ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังคงเป็น ‘แม่เหล็กดึงดูดความมั่งคั่ง’ อันดับหนึ่งของโลก (World’s Leading Wealth Magnet) ซึ่งหมายถึงการที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้กลายเป็นจุดหมายปลายทางของการโยกย้ายถิ่นพำนักของบรรดามหาเศรษฐีทั่วโลก โดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( UAE ) ยังคงสามารถรักษาอันดับหนึ่งไว้เป็นปีที่ 3 ต่อเนื่องกันแล้ว
ผลการศึกษายังคาดว่า ประเทศอ่าวเล็กๆ แห่งนี้จะเห็นการหลั่งไหลเข้ามาของบรรดามหาเศรษฐีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีมหาเศรษฐีถึง 6,700 รายจากทั่วโลกเข้ามา UAE ภายในสิ้นปี 2024 นี้
ด้านจุดหมายปลายทางอันดับสองรองจาก UAE คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการศึกษาคาดว่าจะมีมหาเศรษฐีเดินทางเข้าสู่สหรัฐฯ ในปีนี้ที่ 3,800 ราย หรือประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนมหาเศรษฐีที่ไหลเข้าสู่ UAE
ขณะที่ในภาพรวม รายงานประเมินว่าจะมีมหาเศรษฐีทั่วโลกมากสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 128,000 ราย ที่จะโยกย้ายถิ่นพำนักของตนเอง ซึ่งเกณฑ์มหาเศรษฐีในการศึกษาครั้งนี้คือบุคคลซึ่งมีสภาพคล่องในการลงทุนตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป ซึ่งตัวเลขดังกล่าวมากกว่าของปี 2023 ก่อนหน้าที่มีมหาเศรษฐีโยกย้ายถิ่นพำนักที่ 120,000 ราย
รายงานของ Henley Private Wealth Migration Report ยังชี้ว่า ปี 2024 นี้จะเป็นปีแห่งการเริ่มต้นของคลื่นอพยพโยกย้ายของเหล่ามหาเศรษฐีกระเป๋าหนักแห่งนี้
สำหรับข้อมูลที่นำมาใช้ในการศึกษาครั้งนี้ได้มาจาก New World Wealth ซึ่งถือเป็นบริษัทข่าวกรองความมั่งคั่งระดับโลกที่มุ่งนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการไหลเข้าและออกของเศรษฐีและรูปแบบการย้ายถิ่นฐานของพวกเขาทั่วโลก
Dominic Volek หัวหน้ากลุ่มลูกค้าส่วนบุคคลของ Henley & Partners กล่าวในรายงานว่า ทิศทางการโยกย้ายของมหาเศรษฐีถือเป็นการส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งในภูมิทัศน์โลกด้านอำนาจและความมั่งคั่ง ซึ่งพร้อมจะส่งผลกระทบที่กว้างขวางต่อวิถีอนาคตของประเทศที่มหาเศรษฐีเหล่านี้จากมา และประเทศที่มหาเศรษฐีจะเข้าไปตั้งถิ่นฐานในฐานะบ้านหลังใหม่ของตนเอง
สำหรับ 10 ประเทศ ที่คาดว่าจะเป็นจุดหมายปลายทางของมหาเศรษฐีทั่วโลกในปี 2024 นี้ พร้อมตัวเลขจำนวนมหาเศรษฐีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ได้แก่
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE): +6,700 ราย
- สหรัฐอเมริกา: +3,800 ราย
- สิงคโปร์: +3,500 ราย
- แคนาดา: +3,200 ราย
- ออสเตรเลีย: +2,500 ราย
- อิตาลี: +2,200 ราย
- สวิตเซอร์แลนด์: +1,500 ราย
- กรีซ: +1,200 ราย
- โปรตุเกส: +800 ราย
- ญี่ปุ่น: +400 ราย
ทั้งนี้ Volek ระบุว่า ในขณะที่โลกกำลังต่อสู้ Perfect Storm ที่มีความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเกิดขึ้นพร้อมกัน บรรดามหาเศรษฐีทั่วโลกส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันมากสุดเป็นประวัติการณ์ในการมองหาประเทศที่เป็นมิตรและปลอดภัยต่อทรัพย์สินความมั่งคั่งและผลประโยชน์ของตระกูล
รายงานระบุว่า ขณะนี้สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังเสริมความแข็งแกร่งให้กับสถานะของตนในฐานะที่เป็นแหล่งหลบภัยที่ปลอดภัยสำหรับบุคคลที่มีรายได้สุทธิสูงทั่วโลก เนื่องมาจากนโยบายภาษี ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐานระดับโลก และส่วนประกอบอื่นๆ ที่ดีของประเทศ
นอกจากนี้ UAE ยังได้เสนอ ‘วีซ่าทองคำ’ หรือ ‘Golden Visa’ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดผู้มีความสามารถให้อาศัยอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วีซ่านี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ‘ให้ที่อยู่อาศัยระยะยาวแก่นักลงทุนต่างชาติ ผู้ประกอบการ และบุคคลที่มีความสามารถ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญ นักศึกษา และนักวิจัยที่ทำการลงทุนที่สำคัญให้กับประเทศ’ โดยมหาเศรษฐีที่โยกย้ายมาพำนักใน UAE ส่วนใหญ่มาจากภูมิภาคตะวันออกกลาง อินเดีย รัสเซีย แอฟริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป
สิงคโปร์รั้งเบอร์ 3 ในเอเชีย ขณะที่จีนเผชิญคลื่น เศรษฐีย้ายออก
ขณะที่ในส่วนของภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์รั้งอยู่ในอันดับที่ 3 โดยคาดว่าจะมีเศรษฐีไหลเข้าสุทธิ 3,500 รายในปี 2024 นี้ โดยสิงคโปร์ เกาะเล็กๆ ในอาเซียนยังเป็นผู้นำในฐานะจุดหมายปลายทางอันดับต้นๆ สำหรับบุคคลที่มีรายได้สูงที่ต้องการย้ายถิ่นฐานไปยังเอเชีย ด้านญี่ปุ่นยังติดอันดับ 10 อันดับแรก โดยได้แรงหนุนส่วนหนึ่งจากแนวโน้มการไหลเข้าของกลุ่มมหาเศรษฐีจีนหลังวิกฤตโควิด
สำหรับ10 ประเทศหรือดินแดนที่คาดว่าจะมีเศรษฐีไหลออกสูงสุดในปี 2024 พร้อมจำนวนที่คาดว่าจะโยกย้ายออกไป ได้แก่
- จีน: -15,200 ราย
- สหราชอาณาจักร: -9,500 ราย
- อินเดีย: -4,300 ราย
- เกาหลีใต้: -1,200 ราย
- สหพันธรัฐรัสเซีย: -1,000 ราย
- บราซิล: -800 ราย
- แอฟริกาใต้: -600 ราย
- ไต้หวัน: -400 ราย
- ไนจีเรีย: -300 ราย
- เวียดนาม: -300 ราย
รายงานระบุว่า ปีนี้จะเป็นปีที่จีนมีมหาเศรษฐีย้ายออกจากประเทศมากสุดเป็นประวัติการณ์คือราว 15,200 ราย ขณะที่สหราชอาณาจักรตามมาเป็นอันดับที่สองที่ 9,500 ราย สวนทางกับในอดีตที่เคยเป็นจุดหมายปลายทางลำดับต้นๆ ของมหาเศรษฐีทั่วโลก ส่วนอันดับที่สามคืออินเดีย 4,300 ราย
Hannah White ผู้อำนวยการและซีอีโอของ Institute for Government กล่าวว่า การไหลออกที่เกิดจากความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและการเมืองในสหราชอาณาจักรมีความเสี่ยงที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการตัดสินใจเชิงนโยบายที่ไม่พึงปรารถนาเพิ่มเติมก่อนการเลือกตั้ง
ในส่วนของจีนและอินเดีย White กล่าวว่า ทั้งสองประเทศต่างประสบกับการไหลออกของมหาเศรษฐีจำนวนมาก เนื่องจากความสำเร็จของเศรษฐกิจ (ขนาดใหญ่) ในการสร้างเศรษฐีใหม่ โดยในขณะที่จีนเป็นเรื่องของการแสวงหาความอิสระที่มากขึ้น เหล่ามหาเศรษฐีแดนภารตะพร้อมใจเดินทางออกจากชมพูทวีปเพื่อค้นหาวิถีชีวิตที่ดีขึ้น สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและสะอาดยิ่งขึ้น และเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษาระดับพรีเมียมมากขึ้น
อ้างอิง: