×

Twitter กระจายรายได้เข้าพอร์ตธุรกิจ เตรียมเก็บค่าธรรมเนียม ‘ขายตั๋ว’ ผู้ใช้งาน Spaces ที่ 20%

22.05.2021
  • LOADING...
Twitter

ตอนนี้กระแสความนิยม Clubhouse เริ่มถูกปลุกให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง หลังจากที่แพลตฟอร์มเพิ่งเปิดให้ผู้ใช้งานในระบบปฏิบัติการ Android สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันมาใช้งานได้แล้วเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ส่งผลให้แพลตฟอร์มสนทนาสดผ่านเสียงดูจะกลับเข้ามาอยู่ในลูปความสนใจของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียอีกคำรบ

 

ฟาก Twitter ที่เพิ่งเปิดตัวฟีเจอร์การสนทนาสดแบบเรียลไทม์หรือ Spaces ไปหมาดๆ ก็ได้ออกมาเปิดเผยความคืบหน้าเพิ่มเติมแล้ว โดยเฉพาะโมเดลการทำเงิน Monetize ที่พวกเขาเตรียมจะ ‘เก็บค่าธรรมเนียม’ การขายตั๋วเข้าฟังในห้อง Spaces ต่างๆ (Ticketed Spaces) กับผู้ใช้งานที่สัดส่วน 20%

 

อธิบายง่ายๆ ก็คือ สมมติว่า เราจัดห้องใน Spaces แล้วคิดค่าตั๋วเข้าฟังใบละ 100 บาท เราจะต้องเสียค่าธรรมเนียมให้กับแพลตฟอร์มอย่าง App Store (Apple) และ Android (Google) ที่ 30% หรือ 30 บาท เท่ากับว่าเราจะต้องแบ่งเงินที่เหลือ 70 บาท ให้กับ Twitter ในสัดส่วน 20% หรือคิดเป็นเงินราว 14 บาทนั่นเอง เพราะฉะนั้นแล้วเงินจะเข้ากระเป๋าเราจริงๆ ก็คือ 56 บาท 

 

โดยที่ทาง Twitter จะรับหน้าที่ประสานการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์อย่างผู้ให้บริการการจ่ายเงินอย่าง Stripe เพื่อทำให้เราไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ ที่จะเกิดขึ้นก็ตามจากการทำธุรกรรมขายตั๋วบน Spaces (ผู้จัดรายการใน Spaces จะต้องมีบัญชี Stripe)

 

อย่างไรก็ดี ฟีเจอร์ขายตั๋ว Ticketed Spaces จะเริ่มต้นให้บริการที่สหรัฐฯ เป็นที่แรกในช่วงอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ โดยผู้ที่จะสามารถจัดห้องของตัวเองได้จะต้องมียอดผู้ติดตามมากกว่า 1,000 รายขึ้นไป มีอายุมากกว่า 18 ปี และต้องจัด Spaces มาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งในรอบ 30 วันที่ผ่านมา

 

สิ่งหนึ่งที่เราสามารถสังเกตได้จากโมเดลการทำเงินในครั้งนี้ของ Twitter คือความตั้งใจที่พวกเขาอยาก ‘เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้’ ให้กับพอร์ตธุรกิจของบริษัท ประสานคู่กับความพยายามดันให้ Spaces ได้รับความนิยมจากผู้ใช้งาน โดยจูงใจด้วยการเพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ให้กับผู้ใช้ Twitter เป็นของตอบแทน ซึ่งก็ต้องมาดูกันว่า ระหว่าง Clubhouse ที่ตอนนี้ยังเน้นแค่การให้เงินกับครีเอเตอร์โดยตรงแบบ Tips (อนาคตจะเปิดขายตั๋วเหมือนกัน) กับ Twitter ที่เน้นโมเดลขายตั๋วตั้งแต่แรกๆ โมเดลไหนจะเวิร์กและโดนใจผู้ใช้งาน ส่งผลกระทบเชิงบวกกับแพลตฟอร์มในระยะยาวมากกว่ากัน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising