ความขัดแย้งของ Elon Musk กับพนักงานของ Twitter ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเพียงเข้ามาถือหุ้นไม่กี่วัน พนักงานมากกว่า 3,000 คนก็ถูกไล่ออก มีการเปลี่ยนแปลงในด้านทิศทางของบริษัทอย่างมาก แถมยังมีแรงกดดันให้ทำงานเกินเวลาอีกด้วย
แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่ไม่ค่อยมีคนรู้กันก็คือ วัฒนธรรมองค์กรของบริษัทเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- อีลอน มัสก์ คุยกับพนักงาน Twitter เป็นครั้งแรกด้วยการบอกว่าบริษัทสามารถที่จะ ‘ล้มละลาย’ ได้ พร้อมกระตุ้นให้ทุกคนทำงานอย่างหนักหน่วง
- เข้ารับตำแหน่ง Twitter ได้ไม่กี่วัน ล่าสุด อีลอน มัสก์ จ่อเก็บค่าสมาชิกพรีเมียมเพิ่ม 300 บาทต่อเดือน เพื่อไม่ถูกปิดกั้น-โพสต์วิดีโอยาวขึ้นกว่าเดิม
- อีลอน มัสก์ ต้องเร่งปั๊มรายได้ให้ Twitter หลังนักลงทุนเริ่มไม่สบายใจกับฐานะทางการเงินที่ไตรมาสล่าสุด ‘ขาดทุน’ 1.3 หมื่นล้านบาท แถมผู้ใช้ยังลดลงเรื่อยๆ
Twitter ได้ถูกก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2006 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ในซานฟรานซิสโก ผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายช่วงเวลา และมีปัญหาในการทำกำไรเรื่อยมา โดยเคยทำกำไรเพียงแค่สองปี คือในปี 2018 และ 2019 ที่เหลือขาดทุนตลอดมา
บริษัทจึงมีการเปลี่ยนแปลงองค์กร เปลี่ยนแปลง CEO รวมถึงการเลิกจ้างพนักงานกันหลายรอบมาก
แต่ก็ทำให้องค์กรมีวัฒนธรรมองค์กรที่เหนียวแน่นเช่นกัน โดยบริษัทได้มีการนิยามคุณค่าหลักขององค์กร ไว้ดังนี้
Core Values
- Grow our business in a way that makes us proud.
- Recognize that passion and personality matter.
- Communicate fearlessly to build trust.
- Defend and respect the user’s voice.
- Reach every person on the planet.
- Innovate through experimentation.
- Seek diverse perspectives.
- Be rigorous. Get it right.
- Simplify.
- Ship it.
ถ้าลองอ่านดู จะเห็นคีย์เวิร์ดที่สำคัญอยู่ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความโปร่งใส การยอมรับความแตกต่าง การมีอิสระในการดำเนินงาน
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ค่อนข้างขัดกับนโยบายของ Elon Musk อย่างรุนแรง การเข้ามาของเขา จึงเหมือนเป็นการกระชากหัวใจของพนักงานกันเลยทีเดียว
การเป็นแพลตฟอร์มที่ให้คนมาแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ เป็นการเคารพในเรื่องของ Free Speech ทำให้วัฒนธรรมขององค์กรเป็นแบบนั้นเหมือนกัน ในองค์กรถึงคุยเรื่องต่างๆ กันอย่างเปิดเผยตลอดเวลา และมีอิสระในการทำงานสูงมาก
พนักงานจึงกล้าจะคุย กล้าที่จะวิจารณ์การทำงานต่างๆ อย่างเปิดเผย
ก่อนหน้านี้ Dantley Davis ที่เคยทำงานที่ Netflix และ Facebook มาก่อน ได้เข้ามารับตำแหน่ง Chief Design Officer และพยายามเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างมากๆ แต่ก็โดนต่อต้านจากพนักงานอย่างหนัก จนหลังจากที่ Parag Agrawal ขึ้นรับตำแหน่ง Dantley Davis ก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อสิ้นปีที่แล้ว
และในช่วงที่มีข่าวว่า Elon Musk จะมาซื้อนั้น ผลการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานใน 39 หัวข้อนั้น 32 รายการมีตัวเลขที่ลดลง โดยเฉพาะในเรื่องของการสื่อสาร ความตั้งใจที่จะทำงานต่อที่เดิม และที่แย่ที่สุดคือ ความมั่นใจต่อตัวบริษัท จนทำให้มีพนักงานส่วนหนึ่งตัดสินใจหางานใหม่ และลาออกจากบริษัทไปก่อนหน้านี้แล้ว
ส่วนเรื่องที่ Elon Musk บ่นว่า Twitter ช้านั้น พนักงานเองได้คุยในเรื่องนี้กันอย่างเปิดเผยใน Twitter มานานแล้ว และเคยมีความพยายามในการจำกัดขนาดของ App Twitter ให้มีขนาดเล็กและเร็ว แต่ก็แพ้ความพยายามในการเพิ่มฟีเจอร์ของทีมอื่น จนทำให้แอปมีขนาดใหญ่และเทอะทะ
ดังนั้น สิ่งที่ Elon Musk อยากทำไม่ใช่สิ่งที่ผิด พนักงานบางส่วนก็อยากให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเหมือนกัน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ Elon Musk กลับไม่ได้มารับฟังสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง กลับใช้สามัญสำนึกและข้อมูลของคนที่ไม่เกี่ยวข้องส่งให้ จนเป็นที่มาของดราม่าครั้งหนึ่งของ Twitter และอาจจะทำลายขวัญและกำลังใจของพนักงานที่เหลืออยู่ และต้องทำงานท่ามกลางความหวาดกลัวอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองอาจจะถูกไล่ออกเมื่อไรก็ได้