ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยสรุปภาวะสิ้นเดือนมีนาคม 2567 SET Index ปิดที่ 1,377.94 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดหลักทรัพย์อื่นในภูมิภาค และปรับลดลง 2.7% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า
ในเดือนมีนาคม 2567 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai อยู่ที่ 42,782 ล้านบาท ลดลง 30.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 41,238 ล้านบาท ทำให้ใน 3 เดือนแรกของปีนี้ ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิรวม 68,862 ล้านบาท
ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า กรณีในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2567 กระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ขายสุทธิหุ้นไทยไปกว่า 6.8 หมื่นล้านบาทนั้น ประเมินว่าส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยกดดันความผันผวนของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ประกอบกับโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูง
ดังนั้นเศรษฐกิจต่างประเทศที่มีความผันผวนจะกระทบต่อการส่งออกของไทย และกระทบต่อเนื่องมายังเศรษฐกิจของไทยด้วย จึงส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทย โดยการที่ Fund Flow ไหลจากตลาดหุ้น ยังมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังค่าเงินบาทให้อ่อนค่า
อีกทั้งมาจากการที่ประเทศไทยที่มีการนำเข้าและบริโภคน้ำมันเป็นจำนวนมากถึงระดับประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มีผลให้ใช้เงินนำเข้าน้ำมันมาเป็นจำนวนมาก และในช่วงนี้ที่ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ต้องใช้เงินบาทในการนำเข้าน้ำมันมากขึ้น เป็นปัจจัยเสริมส่วนหนึ่งที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่า
อย่างไรก็ดี หาก Fund Flow จะไหลกลับมาซื้อหุ้นสุทธิได้ ประเมินว่าขึ้นกับ 3 ปัจจัยสำคัญหลัก 1. สภาวะเศรษฐกิจของไทย 2. อัตราดอกเบี้ย 3. ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) รวมถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ เปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของไทย
นอกจากนี้ มองว่ามีโอกาสที่ช่วงที่เหลือปีนี้ Fund Flow จะกลับมาซื้อหุ้นไทยได้เพิ่มขึ้นด้วยปัจจัยสนับสนุน หลังสภาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งจะส่งผลให้รัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ โดยเชื่อว่าจะเป็น Turning Point ของตลาดหุ้นไทย เพราะเม็ดเงินที่ออกมาจะสนับสนุนการบริโภคในประเทศ รวมถึงกระตุ้นการลงทุนใหม่ อีกทั้งงบประมาณที่จะนำมาใช้จะเป็นเม็ดเงินที่มากกว่าปีปกติที่ผ่านมาด้วย
ขณะเดียวกัน จากข้อมูลกับสถานการณ์ต่างๆ ของเศรษฐกิจที่ออกมาเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น จะเป็นปัจจัยให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันนี้ (10 เมษายน) มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะเริ่มเห็นการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ประกอบกับในการประชุมครั้งที่ผ่านมาเริ่มมีจำนวนเสียงของกรรมการ กนง. ออกเสียงให้ลดดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวกลับมาของตลาดหุ้นไทย
ส่วนกรณีสถานการณ์สู้รบในเมียนมานั้น มองว่าบริษัทไทยที่ทำธุรกิจในเมียนมาน่าจะมีผลกระทบบ้าง แต่มองว่าผลกระทบการค้าระหว่างไทยกับเมียนมาจะมีไม่มาก เมื่อเปรียบเทียบตลาดกลุ่มประเทศเอเชียกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่เป็นตลาดการค้าหลักที่มีสัดส่วนสูงกว่าเมื่อเทียบกับเมียนมา
“เราต้องติดตามดูผลกระทบในระยะยาวว่าจะเป็นอย่างไร เพราะเศรษฐกิจเมียนมากับเศรษฐกิจไทยจะปิดการซื้อขายไปนานๆ คงทำไม่ได้ คงขึ้นกับว่าสถานการณ์จะกลับมาปกติได้เมื่อไร และที่สำคัญกว่านั้นคือ จะมีความชัดเจนอย่างไรต่อไป”
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ ต่อเนื่อง
กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 มีนาคม 2567 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.91 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า โดยยังคงอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’
นักลงทุนมองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและคาดหวังเงินทุนไหลเข้า ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การไหลออกของเงินทุน รองลงมาคือนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน สำรวจในเดือนมีนาคม 2567 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มิถุนายน 2567) อยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ (ช่วงค่าดัชนี 80-119) ที่ระดับ 106.91 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า
- ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’
- หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP)
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ การไหลออกของเงินทุน
“ผลสำรวจ ณ เดือนมีนาคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับลด 6.5% อยู่ที่ระดับ 107.58 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 14.3% มาอยู่ที่ระดับ 114.29 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 16.1% อยู่ที่ระดับ 141.67 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทรงตัว อยู่ที่ระดับ 100.00”