ก่อนหน้านี้ผู้นำหลายประเทศพยายามทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส หรือนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ของเยอรมนี ที่ต่างเดินทางเข้าพบประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครน ด้วยตนเอง เพื่อหาทางออกให้กับปมปัญหาดังกล่าว
หรือแม้แต่ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโกของเบลารุส หนึ่งในพันธมิตรที่ใกล้ชิดกับรัสเซีย ก็มีความพยายามจะเข้ามาช่วยเหลือในการประชุมช่วงแรกๆ ภายหลังจากที่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครนได้เพียงไม่นาน แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
ก่อนที่ตุรกีจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมหารือครั้งสำคัญให้กับผู้แทนระดับสูงของทั้งสองรัฐบาล โดย เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย และ ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน หารือกันที่เมืองอันตัลยาของตุรกี เมื่อวันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอันของตุรกี จะได้เป็นตัวกลางในการเจรจาครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา ที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี
เหตุผลสำคัญที่ทำให้ตุรกีได้เป็นผู้ประสานรอยร้าวในความสัมพันธ์รัสเซีย-ยูเครนคือ ตุรกีพยายามรักษาสมดุลในการแสดงจุดยืนต่างๆ ต่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ถึงแม้ว่าตุรกีจะเป็นสมาชิก NATO รวมถึงส่งอาวุธและความช่วยเหลือให้แก่ยูเครน แต่ในขณะเดียวกันตุรกีก็ปฏิเสธที่จะดำเนินมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย จึงทำให้รัฐบาลทั้งสองประเทศเห็นพ้องให้ตุรกีเป็นตัวกลางในการประสานรอยร้าว
นอกจากนี้ ตุรกียังดำเนินนโยบายต่างประเทศตามแนวทาง ‘zero Problems with Neighbours’ พยายามสะสางปมความขัดแย้งของตุรกีที่มีต่อหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอาร์เมเนีย อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และซาอุดีอาระเบีย ซึ่งสถานการณ์ในภาพรวมมีสัญญาณเชิงบวกมากยิ่งขึ้น เช่น ความขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างตุรกี ก็มีการพูดคุยหารือกันและกลับมาเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างกันอีกครั้ง ขณะที่ความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียที่ตึงเครียดขึ้นจากคดีลอบสังหาร จามาล คาช็อกกี นักข่าวสายวิพากษ์ชาวซาอุดีอาระเบีย ที่สถานกงสุลตุรกีในเมืองริยาด เมื่อปี 2018 แต่ทั้งสองประเทศก็พยายามกลับมาฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างกันอีกครั้ง
ทางด้าน ยูซุฟ อีริม บรรณาธิการของสถานีโทรทัศน์ TRT World ของตุรกี ภาคภาษาอังกฤษ ระบุว่า “ผู้นำตุรกีเหมือนจะถูกทอดทิ้งในเวทีระหว่างประเทศ ผู้นำสหรัฐฯ อย่าง โจ ไบเดน ปฎิเสธที่จะพูดคุยกับเขาในเวทีการประชุมใหญ่ๆ (ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการใกล้ชิดกับรัสเซีย โดยเฉพาะด้านการจัดหากำลังอาวุธ) เขาเหมือนถูกโดดเดี่ยว แต่สิ่งต่างๆ เหล่านี้เหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากรุกรานยูเครน
ตุรกีอาจเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่จะได้รับผลกระทบต่อความไม่มั่นคงนี้ ตุรกีไม่ได้เข้าร่วมวงคว่ำบาตรรัสเซีย ส่วนหนึ่งอาจะเป็นเพราะตุรกีเข้าใจว่ามาตรการดังกล่าวจะทำร้ายรัสเซียอย่างไร ดังนั้นตุรกีจึงยังจะอยู่ในจุดที่รักษาสมดุลในความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ตราบเท่าที่รัสเซียไม่ข้ามเส้นสีแดงที่ขีดไว้ในสายตารัฐบาลตุรกี”
แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกเกิดขึ้นในที่ประชุมหารือระหว่างผู้แทนรัสเซียและยูเครนครั้งล่าสุดนี้ แต่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครนก็ย้ำชัดว่า ชาวยูเครนไม่ไร้เดียงสา เราเชื่อมั่นในผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น เราเรียนรู้จากสงครามรุกรานตลอดกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา หลังรัสเซียประกาศปรับลดสเกลการสู้รบในกรุงเคียฟ เพื่อปูทางไปสู่การเจรจาสันติภาพระหว่างผู้นำรัสเซียและยูเครนในอนาคต
ภาพ: Turkish Presidency / Murat Cetinmuhurdar / Handout / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.aljazeera.com/news/2022/3/30/turkey-a-mediator-in-ukraine-mends-its-own-ties-with-neighbours
- https://apnews.com/article/joe-biden-g-20-summit-syria-europe-recep-tayyip-erdogan-790feb4da666e7e7ff1081dab986abc0
- https://www.al-monitor.com/originals/2022/03/erdogan-gets-no-meeting-biden-nato-ukraine-summit