ระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ที่ช่องแคบไต้หวันมีความตึงเครียดเป็นอย่างยิ่ง บ้างก็ว่าเรื่องราวมันอาจเดินทางมาถึงจุดที่ไม่อาจหวนคืนได้หลังการเดินทางมาเยือนกรุงไทเปของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ที่เป็นเหมือนการ ‘ย้อนเกล็ดมังกร’ เข้ากลางใจรัฐบาลจีนอย่างจัง
เราได้เห็นการซ้อมรบครั้งใหญ่ในระดับที่โลกเองก็กังวลว่าจะเกิดสงครามขึ้นเหมือนที่รัสเซียบุกยูเครนหรือไม่ และมันอาจจะซ้ำเติมให้โลกต้องบอบช้ำมากยิ่งขึ้นไปอีกหรือเปล่า เพราะแค่สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนก็สร้างผลกระทบรุนแรงจนต่อระบบเศรษฐกิจโลกแล้ว
ระหว่างจีนกับไต้หวันเองก็เย็นชาต่อกันมาหลายปี ไม่มีการติดต่อใดๆ ระหว่างสองรัฐบาล และไม่มีการเยือนระหว่างกันมาตั้งแต่ปี 2016
แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางการจีนได้รับการติดต่ออย่างเป็นทางการจากไต้หวันเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี
การติดต่อครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อเจรจาว่าความกันในทางการเมืองหรือหารือเรื่องผลประโยชน์ใดๆ ของใครทั้งสิ้น
สิ่งที่ทำให้ไต้หวันและจีนยอมลืมความขัดแย้งทุกอย่างลงคือชีวิตที่เหลือเพียงน้อยนิดของ ‘ถวนถวน’ (团团 / Tuan Tuan)
แพนด้ายักษ์ที่กำลังเจ็บป่วยและทุกข์ทรมานในเวลานี้
ได้โปรด 请求帮忙
“ถวนถวนไม่สบายมาก ได้โปรดช่วยมาดูหน่อยได้ไหม”
นี่ไม่ใช่แค่คำร้องขอ หากแต่เป็นคำขอร้องของทางไต้หวันที่ส่งตรงถึงจีนเพื่อให้ช่วยส่งสัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการดูแลรักษาแพนด้ายักษ์โดยเฉพาะมาดูอาการของถวนถวน เจ้าแพนด้ายักษ์ที่เกิดล้มป่วยในช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และดูเหมือนอาการนั้นทรุดลงทุกที
คาดกันว่าถวนถวนจะป่วยเป็นโรคเนื้องอกในสมอง และเวลาของมันอาจเหลือไม่มากแล้ว
และเพราะเป็นถวนถวน คำร้องขอนั้นจึงได้รับการตอบรับอย่างดี โดยคณะสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านแพนด้ายักษ์ที่ทางการจีนส่งมานั้นจะเฝ้าติดตามอาการของถวนถวนอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 7 วันด้วยกัน เป็นการละลายน้ำแข็งของความสัมพันธ์ และดับความร้อนของอารมณ์ระหว่างสองชาติจากสองฟากฝั่งช่องแคบไต้หวันเป็นการชั่วคราว
อีฟ หวัง หัวหน้าเจ้าหน้าที่ดูแลสัตว์ประจำสวนสัตว์ไทเปเล่าว่า “วัตถุประสงค์ในการมาครั้งนี้คือการมาเยี่ยมถวนถวนและดูอาการล่าสุดของถวนถวน
“คณะสัตวแพทย์แสดงความปรารถนาที่จะเดินทางมาเป็นการส่วนตัวเพื่อเยี่ยมถวนถวน ฉันคิดว่ามันจะเป็นการเดินทางที่มีความหมายอย่างยิ่งแน่นอน”
โดยสัตวแพทย์ที่เดินทางมาคือ อู๋หงหลิน และเว่ยหมิง ซึ่งมีประสบการณ์ยาวนานในเรื่องการดูแลสุขภาพและการสืบพันธุ์ของแพนด้าจากศูนย์วิจัยในเมืองอู่หลง มณฑลเสฉวน (ซื่อชวน)
ด้าน เอริก เฉา โฆษกสวนสัตว์ไทเป ยืนยันว่าทั้งจีนและไต้หวันจะร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดที่มีเกี่ยวกับเรื่องของแพนด้ายักษ์เพื่อช่วยเหลือถวนถวน “ให้ได้รับการปฏิบัติและดูแลอย่างดีที่สุดในทุกวัน”
เพราะถวนถวนคือดวงใจ
นับจากสงครามกลางเมืองในปี 1949 ที่นำไปสู่การหนีไปตั้งรัฐบาลไต้หวันของก๊กมินตั๋ง (กั๋วหมินตั่ง) หลังพ่ายแพ้ให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนบนแผ่นดินใหญ่ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองแผ่นดินนั้นไม่ได้เป็นไปด้วยดีนัก
สำหรับจีน ไต้หวันคือส่วนหนึ่งของพวกเขา สำหรับไต้หวัน ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้คิดแบบนั้น
อย่างไรก็ดีในปี 2008 ในช่วงที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติยังพอสัมผัสได้ถึงความอบอุ่นในยุคของหม่าอิงจิ่ว ประธานาธิบดีไต้หวันในช่วงเวลานั้น ทางการจีนได้มอบ ‘ของขวัญ’ ล้ำค่าให้แก่ไต้หวันคือลูกแพนด้ายักษ์ 2 ตัวด้วยกัน ตามหลัก ‘การทูตแพนด้า’ เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างชาติ
แพนด้าทั้งสองมีชื่อว่า ‘ถวนถวน’ (团团 / Tuan Tuan) และ ‘หยวนหยวน’ (圆圆 / Yuan Yuan) ซึ่งชื่อของทั้งสองนั้นเมื่อนำมารวมกันแล้วมีความหมายถึงคำว่า ‘การกลับมาอยู่พร้อมหน้ากัน’ หรือ ‘เป็นหนึ่งเดียว’
ด้วยความน่ารักของถวนถวนและหยวนหยวน ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นที่รักของชาวไต้หวันอย่างรวดเร็ว
“ตอนที่ถวนถวนมาที่นี่เขาตัวเล็กมาเลยนะ” เหิงหลิงหลิน ชาวไต้หวันที่เคยพาลูกๆ มาเยี่ยมชมแพนด้าผู้น่ารักทั้งสองย้อนความหลัง “เขาเป็นเหมือนลูกๆ ของทุกคนเลย”
ถวนถวน และหยวนหยวนมีลูกด้วยกัน 2 ตัว
และเพราะแบบนี้อาการป่วยของถวนถวนจึงทำให้ชาวไต้หวันเจ็บปวดไปด้วย “การที่ต้องเห็นเขาเป็นแบบนี้ทำให้หัวใจของฉันสลาย”
การทูตแพนด้าและความหมายที่ซ่อนอยู่
ถวนถวนและหยวนหยวน ไม่ได้เป็นแพนด้าคู่แรกที่จีนส่งให้แก่ชาติอื่น
ความจริงแล้วจีนใช้แพนด้าเป็นเครื่องมือทางการทูตมาเป็นเวลายาวนานตั้งแต่สมัยบูเช็กเทียน (อู่เจ๋อเทียน) ฮ่องเต้หญิงหนึ่งเดียวของแดนมังกร (ค.ศ. 625-705) ซึ่งมีการบันทึกว่าบูเช็กเทียนได้ส่งแพนด้าคู่หนึ่งไปให้ประเทศญี่ปุ่น
โดยวิธีการส่งสัตว์นั้นเป็นวิธีการทางการทูตที่เก่าแก่ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีทางการทูตที่ทรงพลังที่สุดแต่ก็อ่อนโยนที่สุดด้วยเช่นกัน
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือการมาเยือนจีนของ ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 1972 เพื่อหวังให้ความสัมพันธ์กับเหล่าประเทศคอมมิวนิสต์เป็นไปอย่างราบรื่นขึ้น ซึ่งจีนได้ส่งแพนด้าคู่หนึ่งให้แก่สวนสัตว์ในเมืองวอชิงตัน ดี.ซี. ขณะที่สหรัฐอเมริกาส่งชะมดวัวที่หายากเป็นการตอบแทน
อย่างไรก็ดีหลังจำนวนประชากรแพนด้าลดลงอย่างมาก จีนได้ยกเลิกการส่งแพนด้าเพื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศในปี 1982 และเปลี่ยนมาให้เป็นการ ‘ยืม’ แทน ซึ่งจะต้องให้การดูแลเป็นอย่างดี และหากมีลูกเกิดจากแพนด้าคู่ที่ให้ยืม ลูกแพนด้านั้นถือเป็นสมบัติของจีนที่จะต้องส่งคืน
ความหมายที่น่าสนใจของการเลือกแพนด้าเป็นทูตของจีนนั้นไม่ได้มีแค่เรื่องของการเป็นสัตว์สงวนที่หาได้ยากยิ่ง เหลือในโลกนี้แค่ราว 1,800 ตัว หรือมองกันแค่ความน่ารักน่าเอ็นดูเท่านั้น
ในอดีตแพนด้าเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้ายเช่นเดียวกับสัตว์ตระกูลหมี แต่เมื่อเวลาผ่านไปสัญชาตญาณความดุร้ายของมันได้หายไป กลายเป็นสัตว์กินพืชที่อยู่ได้ด้วยการกินต้นไผ่ตามธรรมชาติ ซึ่งสำหรับจีนแล้วมันคือการบอกต่อนานาประเทศว่าพวกเขาต้องการ ‘สันติภาพ’
เป็นความหมายที่ซ่อนอยู่ใต้ขนหนาและตาสีดำคู่นั้น
ห้วงลมหายใจสุดท้าย
ไม่มีใครบอกได้ว่าถวนถวนเหลือเวลาอีกกี่วัน
ผลการตรวจด้วยเครื่อง MRI แสดงให้เห็นถึงบาดแผลที่สมองของถวนถวนว่ามีขนาดใหญ่ขึ้น และเป็นสัญญาณเตือนว่าอาการของโรคนั้นลุกลามอย่างรวดเร็ว
วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดไม่ใช่ทางออกในเวลานี้ เพราะมันอาจทำให้อาการของถวนถวนทรุดหนักลงได้อีก โดยเฉพาะไม่มีใครคาดเดาถึงปฏิกิริยาของร่างกายของมันเมื่อได้รับยาสลบ
สิ่งที่สัตวแพทย์จากจีนและเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ไทเปทำได้คือการพยายามเฝ้าดูอย่างอดทน และช่วยเหลือถวนถวนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หากเกิดปาฏิหาริย์ก็เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่หากปาฏิหาริย์ไม่มีจริง อย่างน้อยก็ขอดูแลกันจนถึงที่สุด
โดยที่ไม่ว่าถวนถวนจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ อย่างน้อยลมหายใจที่เหลือในช่วงสุดท้ายของแพนด้ายักษ์ตัวหนึ่งได้ช่วยทำให้สองชาติที่ฮึ่มฮั่มใส่กันมายาวนานหลายปีได้ลืมความขัดแย้งทุกอย่างลงจนสิ้น
ราวกับอยากจะบอกว่าเราต่างก็เหมือนกัน
จะดีกว่าไหมหากจะมองข้ามความขัดแย้งทั้งหมด แล้วหันมาจับมือช่วยเหลือกันและกันไปแบบนี้
ภาพ: Yang Chengchen / China News Service / VCG via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.abc.net.au/news/2022-11-03/china-panda-experts-visit-taiwan-in-rare-point-of-contact/101609900
- https://www.dailymail.co.uk/news/article-11366003/Taiwan-puts-aside-tensions-Beijing-asks-vets-China-help-treat-Tuan-Tuan-panda.html
- https://www.silpa-mag.com/history/article_38891
คำว่า ‘ย้อนเกล็ดมังกร’ นั้นเป็นสำนวนจีน โดยมีที่มาจากเรื่องเล่าว่าบนตัวมังกรจะมีเกล็ดเรียงกัน แต่จะมีเกล็ดหนึ่งที่เรียงตัวตรงข้ามกับเกล็ดอื่น ถ้าแตะเกล็ดตรงนี้มังกรจะโกรธมาก