×

มธ. เร่งทดลอง ‘หน้ากากผ้ากันน้ำ THAMMASK’ ป้อนให้บุคลากรทางการแพทย์ในภาวะขาดแคลน

10.03.2020
  • LOADING...

วันนี้ (10 มีนาคม) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคไวรัสโคโรนา 2019 ออกมาแนะนำให้ใช้ ‘ผ้าฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์’ เป็นทางเลือกผลิตหน้ากากอนามัยป้อนบุคลากรทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ในภาวะขาดแคลน โดยมีแนวคิดในการใช้ผ้าที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ ไม่ดูดซับความชื้น ป้องกันการแพร่เชื้อ พร้อมเตรียมทดสอบความสามารถในการสะท้อนน้ำและความคงทนของเส้นใย 

 

โดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าจากสถานการณ์การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักในช่วงนี้ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนและมีองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และสาธารณสุข จึงได้จัดตั้ง ‘คณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019’ (COVID-19) ขึ้นภายใต้ความร่วมมือของประชาคมธรรมศาสตร์และหน่วยงานภายนอก 

 

ขณะเดียวกัน ศ.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล รองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา และ ประธานคณะทำงานป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) กล่าวเพิ่มเติมว่าปัจจุบันการบริหารห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) ในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะ ‘หน้ากากอนามัย’ กลับขาดแคลนจำนวนมากจากความต้องการใช้หน้ากากอนามัยทั่วประเทศที่สูงกว่า 30-40 ล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งสวนทางกับกำลังการผลิตของภาคโรงงานรวม 11 โรงที่สามารถผลิตได้ประมาณ 36 ล้านชิ้นต่อเดือน 

 

ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายหรือติดเชื้อไวรัส ตลอดจนลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และภาคประชาชน ทางคณะทำงานจึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยคุณสมบัติผ้าที่เหมาะสมในการพัฒนา ‘หน้ากากผ้ากันน้ำ THAMMASK เพื่อใช้ในทางการแพทย์’ หน้ากากผ้าทางเลือกที่ผลิตจากวัสดุผ้าสะท้อนน้ำ ไม่ดูดซับความชื้น และช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อ  

 

ทางด้าน ธนิกา หุตะกมล อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อธิบายเสริมเกี่ยวกับคุณสมบัติและวัตถุดิบที่ใช้ผลิตว่าหน้ากากผ้ากันน้ำหรือ THAMMASK เพื่อใช้ในทางการแพทย์นั้นเป็นการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างผ้าที่มีคุณสมบัติในการกันน้ำ และเหมาะสมแก่การพัฒนาเป็นหน้ากากผ้าป้องกันสารคัดหลั่งเบื้องต้นเพื่อใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนในขณะนี้ 

 

โดย ‘ผ้าฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์’ (Cotton-Silk) มีโครงสร้างของเส้นใยที่เหมาะสม ประกอบด้วย คอตตอนผสมไมโครไฟเบอร์ จำนวนเส้นด้าย 500 เส้นต่อ 10 ตารางเซนติเมตร โดยมีเส้นด้ายยืนโพลีเอสเตอร์ไฟเบอร์ เบอร์ 75 (Polyester Microfiber) เส้นด้ายพุ่งโครงสร้างเส้นใยฝ้าย คอมแพ็ค โคมบ์ เบอร์ 40 (Cotton Compact Combed)

 

นอกจากนี้บริษัทผู้ผลิตผ้ายังมีการใช้เทคโนโลยีสะท้อนน้ำอย่างสาร NUVA-1811 ซึ่งมีอนุภาคเป็นระดับไมครอน สามารถแทรกเข้าไปเนื้อผ้าเพื่อต้านไม่ให้โมเลกุลของน้ำแทรกเข้าไปในเนื้อผ้าได้ NUVA-1811 ได้รับการรับรองจาก Oekotex Standard 100 – 2019 ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งมีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังโดยตรง 

 

ซึ่งขณะนี้หน้ากากผ้ากันน้ำหรือ THAMMASK กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานและความคงทนของเส้นใยว่ายังคงประสิทธิภาพเดิมหรือไม่เมื่อนำไปซักด้วยเครื่องซักผ้ามาตรฐานทั่วไป 

 

ดังนั้น ‘ผ้าฝ้ายผสมโพลีเอสเตอร์’ จึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งวัสดุทางเลือกในการผลิตเป็นหน้ากากผ้าเพื่อใช้ป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ทั้งในบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนทั่วไป

 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของภาคประชาชน ธนิกาย้ำว่ายังสามารถประดิษฐ์หน้ากากผ้าด้วยผ้านิตเจอร์ซีย์ (Jersey Knit) ได้ เพื่อใช้ในการป้องกันสารคัดหลั่งจากการไอหรือจามทดแทนหน้ากากอนามัยในภาวะขาดแคลน เนื่องจากโครงสร้างผ้านิตเจอร์ซีย์จะมีลักษณะคล้องกันเป็นห่วงตลอดทั้งผืน โดยที่ผ้าด้านหน้าจะมีลักษณะเป็นแนวตั้ง ส่วนผ้าด้านหลังมีลักษณะเป็นห่วงแนวนอน อีกทั้งยังเป็นผ้าถักที่มีความยืดหยุ่น สวมใส่สบาย น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี สามารถซักและใส่ซ้ำได้

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising