วันนี้ (26 กรกฎาคม) ที่ลานสัญญา ธรรมศักดิ์ ด้านหน้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะกรรมการนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเครือข่ายนักศึกษา จัดกิจกรรมแฟลชม็อบให้ประชาชนและนักศึกษาร่วมแสดงจุดยืนต่อการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตย
โดยกำหนดการกิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 17.00 น. มีการอ่านกลอนโดยชุมนุมวรรณศิลป์ การปราศรัยของผู้แทนภาคส่วนต่างๆ อาทิ เบนจา อะปัญ นักศึกษาและนักเคลื่อนไหว หนึ่งในแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม การแสดงดนตรีจากวงดนตรีสามัญชน และกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ตอกฝาโลง-สาปแช่ง เป็นกิจกรรมสุดท้ายที่สิ้นสุดเวลา 20.20 น.
นอกจากกิจกรรมที่เวทีหลัก ได้มีการเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นในหลากหลายหัวข้อ เช่น ส.ว. เคารพเสียงของประชาชนหรือไม่, กฎหมายยังมีความศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ และ ท่านคิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์การเมืองไทยในปัจจุบัน และให้ผู้ที่สนใจร่วมเขียนป้ายผ้าแสดงความคิดเห็น ข้อความถึงสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รวมถึงพรรคการเมืองต่างๆ
เวลา 17.20 น. นักศึกษาบางส่วนแขวนป้ายผ้าที่เขียนข้อความ ระบุว่า กฎหมา(ย)ชายแก่เขียน และนิติปัญญาชนคนเท่ากัน บนอาคารนิติศาสตร์
สำหรับหัวข้อปราศรัยของผู้ร่วมปราศรัยแต่ละคนจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของ ส.ว. การจัดตั้งรัฐบาล และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล การดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อีกทั้งมีการร่วมร้องเพลงสุขสันต์วันเกิดและเป่าเค้กให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโอกาสวันคล้ายวันเกิด
ต่อมาเวลา 19.40 น. เบญจากล่าวปราศรัยช่วงหนึ่งระบุว่า ทุกเช้าที่ตื่นมาหลังจบการเลือกตั้ง เราต่างคาดหวังว่าจะได้รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย บรรยากาศการเมืองทุกวันนี้ทำให้เรารู้สึกท้อ เพราะสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ ทำไมประเทศที่ขึ้นชื่อว่าประชาธิปไตยแต่เกิดรัฐประหารไปไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง
ทำไมเราเลือกตั้งไปแล้วถึงยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลจากเสียงข้างมาก ทำไมประชาธิปไตยนี้ถึงให้ ส.ว. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีแทนประชาชน เปรียบเหมือนเราตื่นลืมตาขึ้นมาในประเทศที่ตรรกะวิบัติไปหมดแล้ว
เบญจากล่าวต่อว่า ในฐานะที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ ก็ยังคงยืนยันที่จะต่อสู้ในกระบวนการอยุติธรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะต้องถูกคดีอีกกี่ครั้ง วันนี้ตนอยากจะใช้คำว่ายินดีต้อนรับทุกคนเข้าสู่สนามรบ เราจะทำทุกวิถีทางให้ดีที่สุด
จากนั้นกลุ่มแนวร่วมผู้จัดงานได้ร่วมอ่านแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องผู้มีอำนาจและพรรคการเมือง ให้จัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชน ระบุว่า
จงพึงระลึกถึงอนาคตของประเทศชาติ และความสง่างามในวิถีทางประชาธิปไตย นับเป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วตั้งแต่การชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 เพดานทางการเมืองของประเทศไทย ณ ช่วงเวลานั้นได้ถูกท้าทายอย่างที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ท้องถนนเนืองแน่นไปด้วยนักศึกษา ประชาชน รวมถึงผู้คนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมือง และ เศรษฐกิจที่มีปัญหาในประเทศของเรา
แม้การต่อสู้ในห้วงเวลาดังกล่าวจะไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมได้ แต่การกระทำดังกล่าวได้ปลุกจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ขึ้นอีกครั้ง และจะไม่มีวันดับสูญไป
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 นับเป็นความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบ แต่กลับเป็นอีกครั้งที่ความต้องการของประชาชนได้ถูกบดขยี้ เพราะแม้ฉันทมติของประชาชนจะเด่นชัดสะท้อนผ่านคูหาเลือกตั้งอย่างไร แต่ก็เหมือนกับไม่มีความหมายใดๆ ที่จะทำให้ผู้มีอำนาจที่แท้จริงในประเทศแห่งนี้รู้สึกรู้สาเลยแม้แต่น้อย
กระบวนการตุลาการภิวัตน์ทำให้อำนาจของศาลและองค์กรอิสระมีสิทธิเด็ดขาดในการชี้นำความเป็นไปของการเมืองสู่หนทางที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ เช่นเดียวกับการทำหน้าที่ของวุฒิสภาในการเดินหน้าขัดขวางการก้าวเดินของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยทำตามหน้าที่ได้อย่างขยันขันแข็ง ไม่มียางอาย นับตั้งแต่ถูกแต่งตั้งขึ้น
โดยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทั้งหมดนับว่าเป็นความรู้สึกที่ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความคับแค้นใจพร้อมกับตั้งคำถามว่า ประเทศไทยเป็นของใครกัน
วิกฤตการณ์ภายหลังการเลือกตั้งที่ทำให้ประชาชนไม่สามารถมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากความเห็นชอบของประชาชนส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น นับเป็นผลลัพธ์อันเป็นรูปธรรมที่เกิดจากการรัฐประหาร และการเข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองของเหล่าขุนศึก ศักดินาเหนือการเมืองไทย
ในวันนี้พวกเราประชาชน ขอเรียกร้องไปถึงผู้มีอำนาจ และพรรคการเมืองที่กำลังมุ่งหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลในนามของประชาชน ให้พึงระลึกถึงอนาคตของประเทศชาติ และความสง่างามในวิถีทางประชาธิปไตย ไม่มีประโยชน์ใดๆ ที่จะเหนี่ยวรั้งเข็มนาฬิกาไม่ให้หมุนเดินต่อไปข้างหน้า
วันนี้พวกเราขอประกาศจุดยืนว่า ไม่ว่าอย่างไรพวกเราก็จะไม่ยอมแพ้ พวกเราจะต่อสู้ในทุกวิถีทางเพื่อโค่นล้มความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นภายใต้โครงสร้างทางการเมืองอันบิดเบี้ยวในสังคมไทย พวกเราจะต่อสู้ผ่านคูหาเลือกตั้ง พวกเราจะต่อสู้บนท้องถนน พวกเราจะต่อสู้ด้วยวาจาและความคิด ตามสิทธิและเสรีภาพที่มนุษย์ทุกคนพึงมี ภายใต้กฎกติกาอันเป็นธรรม
ทั้งหมดนี้คือจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ กับการต่อสู้ที่ไม่มีวันสูญสลายลงได้ เพราะความอดทนของผู้คนนั้นมีขีดจำกัด ธรรมศาสตร์เราจึงขอยืนตรงและไม่อดทนอีกต่อไป #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน