×

นักวิชาการ มธ. เห็นด้วย ‘หวยเกษียณ’ แนะเพิ่มเงินรางวัลจูงใจประชาชนเก็บออม หนุนเปิดให้ถอนเงินได้เมื่อจำเป็น

โดย THE STANDARD TEAM
14.03.2025
  • LOADING...

วันนี้ (14 มีนาคม) รศ. ดร.อัจฉรา ชลายนนาวิน คณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า โครงการหวยเกษียณ ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการถือเป็นเรื่องที่ดีในการจูงใจประชาชนให้เข้ามาเก็บออม ซึ่งโครงการนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโครงการพันธบัตรลอตเตอรี่ของประเทศอังกฤษ หรือ Premium Bonds

 

รศ. ดร.อัจฉรา กล่าวต่อไปว่า คำถามต่อโครงการนี้คือแรงจูงใจในการออมของประชาชนมีมากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินรางวัลที่หนึ่งจากสลากต่างๆ ที่มีอยู่เดิม อาทิ สลากออมทรัพย์ธนาคารออมสิน (สลากออมสิน) ซึ่งกำหนดรางวัลที่ 1 ไว้ที่ 10 ล้านบาท 

 

ขณะที่รางวัลที่ 1 ของโครงการหวยเกษียณอยู่ที่ 1 ล้านบาท นอกจากนี้หวยเกษียณยังไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ จำเป็นต้องรอให้อายุครบกำหนด 60 ปี หรือในผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีแล้วจะต้องซื้อสลากเกิน 5 ปีก่อน ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่านำเงินของตนเองไปซื้อสลากออมสินน่าจะเป็นการดีกว่าหรือไม่

 

รศ. ดร.อัจฉรา กล่าวอีกว่า รูปแบบและเงื่อนไขที่กำหนดไว้มีความเหมาะสมกับชนชั้นกลางที่มีเงินเย็นมากกว่า และสามารถหักเงินส่วนตัวออกมาได้เดือนละ 3,000 บาทเพื่อนำมาเก็บออม แล้วสามารถรอคอยได้จนถึงอายุ 60 ปีได้ ส่วนประชาชนทั่วไปที่ไม่มีเงินเย็นอาจจะเกิดความกังวลในเรื่องนี้ เพราะไม่อาจคาดเดาชีวิตในวันข้างหน้าได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินอะไรขึ้น บางคนอาจจะป่วยหนักด้วยโรคที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก ฯลฯ

 

“ส่วนตัวอยากจะเสนอให้มีการสร้างแรงจูงใจด้วยการเพิ่มเงินรางวัลที่มากขึ้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเมกะมิลเลียนส์ (Mega Millions) ของสหรัฐฯ ที่เขาจะให้รางวัลใหญ่และเงินรางวัลก็จะทบไปเรื่อยๆ แล้วผู้รับรางวัลสามารถเลือกได้ว่าอยากรับเป็นเงินก้อนหรือเป็นเงินบำนาญก็ได้ หรือกรณี Premium Bonds ที่สามารถขายเพื่อรับเงินคืนตามหน้าตั๋วที่จ่ายไปได้ตลอดเวลาหากจำเป็นต้องใช้เงิน จึงอยากจะให้มีการปรับวิธีการตรงนี้ให้สามารถถอนเงินออกมาใช้ในยามจำเป็น” นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

 

รศ. ดร.อัจฉรา กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องความยั่งยืนของโครงการว่า หากในอนาคตเกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำรัฐบาล คำถามคือโครงการจะยั่งยืนหรือไม่ หรือนโยบายดังกล่าวจะยังคงได้รับการให้ความสำคัญแบบเดียวกับรัฐบาลนี้หรือไม่ รวมไปถึงศักยภาพในการบริหารเม็ดเงินการลงทุนของกองทุนจะมีประสิทธิภาพ เกิดความงอกเงยเป็นผลกำไร ท่ามกลางความผันผวนทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบันเพื่อนำเงินเหล่านั้นมาจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้ประชาชนได้มากน้อยเพียงใดเมื่อครบกำหนดตามเงื่อนไขระยะเวลา รวมไปถึงประเด็นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ของผู้บริหารกองทุน

 

“จึงอยากจะเสนอให้มีการนำภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ กอช. เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน หรือหากกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วควรจะมากกว่าสัดส่วนของภาครัฐ โดยผ่านเข้ามาด้วยกระบวนการเลือกตั้งในลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ เพื่อจะช่วยในการบริหารการลงทุนเม็ดเงินที่มาจากโครงการและจะก่อให้เกิดความโปร่งใส เพราะจะเป็นการบริหารงานโดยตัวแทนของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับกองทุนโดยตรง โดยหากเกิดความผิดพลาด เช่น เกิดการทุจริต การนำเงินไปลงทุนอย่างไม่เหมาะสม ก็จะทำให้เงินทุนเหล่านี้พร่องไปและจะกระทบถึงผลตอบแทนของผู้ลงทุนในระยะยาวได้” รศ. ดร.อัจฉรา กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising