×

นักวิชาการ มธ. มองท่าที หลิวจงอี้ แนะรัฐบาลไทยเพิ่มความจริงจัง ให้มั่นใจว่าจัดการปัญหาในภูมิภาคตนเองได้ ป้องกันจีนชี้นำ

โดย THE STANDARD TEAM
17.02.2025
  • LOADING...

วันนี้ (17 กุมภาพันธ์) รศ. ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช อาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายกสมาคมภูมิภาคศึกษา เปิดเผยว่า จากที่ หลิวจงอี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะ สาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ เดินทางไปยังจังหวัดเมียวดี เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และพบกับ พ.อ. ซอ ชิต ตู่ หรือ หม่อง ชิต ตู่ เลขาธิการกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ในพื้นที่เมียวดีนั้น สามารถมองได้ 2 มิติ 

 

โดยมิติแรกเป็นผลพวงมาจากการที่ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปเยือนและพบปะกับผู้นำรัฐบาลของจีน จนก่อให้เกิดความร่วมมือในการจัดการและปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์

 

ทว่าในอีกมิติหนึ่งถือเป็นความน่ากังวล เพราะการเดินทางของ หลิวจงอี้ ถือเป็นการเดินทางมาเยือนในลักษณะที่ถี่เกินไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทางการจีนเริ่มจะเข้ามาชี้นำ ควบคุมสั่งการ และมีบทบาทอย่างแข็งแรงมากขึ้น ทั้งบริบทของประเทศไทยและเมียนมา เห็นได้จากสามารถเข้านอกออกในทั้งสองประเทศได้อย่างง่ายดาย ถึงแม้อาจมีการประสานในระดับกระทรวงหรือระดับหน่วยตำรวจมา แต่ก็ทำให้ผู้ติดตามข่าวเกิดคำถามว่า หลิวจงอี้ เข้ามามีบทบาทมากจนเกินไปหรือไม่

 

“นี่เป็นการเริ่มส่งสัญญาณว่าการเข้ามาของจีนนั้นอาจหมิ่นเหม่ต่อการทำให้ไทยขาดอิสระในการบริหารจัดการชายแดนและความมั่นคงภายใน เพราะมีตัวอย่างของประเทศที่เคยมีปัญหาระหว่างชายแดนขึ้น (เมียนมาและปากีสถาน) และรัฐบาลจีนไม่มีความเชื่อมั่นในการจัดการ จนเสนอแนวคิดจัดส่งหน่วยงานรักษาความปลอดภัยของจีนเข้าไปในพื้นที่ ทำให้หมิ่นเหม่ต่อหลักอธิปไตยของหลายประเทศ ดังนั้นหากประเทศไทยให้ทางจีนควบคุม สั่งการ เราก็อาจจะสูญเสียอิสระในการบริหารจัดการกับปัญหา เราอาจจะดึงจีนเข้ามาช่วยได้ แต่ต้องช่วยในสัดส่วนที่เหมาะสม” รศ. ดร.ดุลยภาค กล่าว

 

▪️ไทยควรชูบทบาทนำก่อนถูกครอบงำโดยจีน

 

รศ. ดร.ดุลยภาค กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยควรจะต้องชูบทบาทนำให้โดดเด่นในภูมิภาคอาเซียน หรือแม้กระทั่งในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงว่าเป็นประเทศแรกในการเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามกลุ่มจีนเทา รวมถึงการมีจังหวะที่ดีในการขอความร่วมมือจากทางการจีนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และประเทศไทยยังคงเป็นแกนหลัก เป็นเบอร์หนึ่งในการจัดการชายแดนของตนเอง การแสดงท่าทีและบทบาทที่ชัดเจนเช่นนี้จะทำให้เกิดการยืดระยะเวลาออกไป ไม่ให้จีนเข้ามาชี้นำหรือควบคุมในลักษณะที่รวดเร็วเกินไป 

 

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการผลักดันชาวต่างชาติซึ่งทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ที่เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา จำนวน 260 คน กลับเข้ามาในประเทศไทย และผลปรากฏว่าประเทศปลายทางบางแห่งไม่ยอมรับการส่งตัว ทั้งที่หลังจากนี้จะมีการส่งชาวต่างชาติเข้ามาเพิ่มเติมอีกเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยควรจะรับมืออย่างไร รศ. ดร.ดุลยภาค ตอบว่า คงจะต้องเร่งการประสานงานทางการทูตกับประเทศต้นทางโดยเร็ว 

 

ทั้งนี้ ในระหว่างนี้ควรจะต้องดูแลเรื่องแหล่งกักกันให้มีประสิทธิภาพ และกันพื้นที่เอาไว้ให้อยู่เฉพาะพื้นที่ชายแดนหรืออำเภอแม่สอด โดยไม่ควรจะเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ชั้นในของจังหวัดตากหรือพื้นที่อื่นๆ จนกว่าจะเกิดความแน่ชัดในการประสานงานจากประเทศต้นทางว่าสามารถรับบุคคลกลับสู่ประเทศต้นสังกัดของตนเองได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่างบประมาณในการจัดการเหล่านี้ส่วนหนึ่งคงมาจากประเทศไทย ร่วมกับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านมนุษยธรรมเข้ามาเสริมอีกทางหนึ่ง

 

▪️หากสมัครใจไปทำจริงก็ควรเตรียมคาดโทษ

 

เมื่อถามต่อถึงกรณีที่พบจากการช่วยเหลือชาวต่างชาติ 260 คน ว่ามีผู้เดินทางมาทำงานด้วยความสมัครใจ 2-3 คน รศ. ดร.ดุลยภาค กล่าวว่า กรณีผู้ที่มีความสมัครใจอาจจะดูรายละเอียดเรื่องของหลักจริยธรรมระหว่างประเทศ ว่ามีหลักการข้อใดให้ประเทศไทยสามารถนำมาปรับประยุกต์ใช้ในการควบคุมพฤติกรรมหรือส่งตัวบุคคลเหล่านี้ได้

 

“ถ้าเขายอมรับแล้วว่าเขาเต็มใจ และไม่ได้ถูกหลอกในการไปประกอบอาชญากรรมร่วมกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ให้ยืนพื้นเอาไว้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีเจตนาที่ไม่ดี ก็ต้องมีการเตรียมคาดโทษเอาไว้ว่าเป็นเจตนาที่ขัดต่อหลักจริยธรรมหรือมนุษยธรรมพื้นฐาน และไม่ได้เป็นคนที่ต้องดูแลอย่างเต็มที่หรือฟื้นฟูเยียวยาอะไร เพราะเขาไม่ใช่เหยื่อที่ถูกหลอก แต่เต็มใจจะเข้าไปทำสิ่งผิดกฎหมาย” รศ. ดร.ดุลยภาค กล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising