×

‘ทีทีบี’ ตั้งเป้าขึ้น Top 3 Digital Banking Platform ใน 3-5 ปี เตรียมส่ง ttb touch เวอร์ชันใหม่ เจาะกลุ่มพนักงานเงินเดือน คนมีรถ คนมีบ้าน

14.02.2023
  • LOADING...
TTB

ทีเอ็มบีธนชาต ตั้งเป้าขึ้น Top 3 Digital Banking Platform ภายใน 3-5 ปี เล็งใช้ ttb touch เวอร์ชันใหม่ เจาะลูกค้ากลุ่มพนักงานเงินเดือน คนมีรถ คนมีบ้าน มั่นใจแอปมีความเสถียรสามารถรองรับการเติบโตได้ หลังเรียนรู้จากความผิดพลาด พร้อมเดินหน้าลดต้นทุนเพื่อรองรับการแข่งขันจาก Virtual Bank ในอนาคต

 

ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (TTB) เปิดเผยว่า หนึ่งในเป้าหมายหลักทางธุรกิจของธนาคารในปีนี้คือ การยกระดับประสบการณ์ทางการเงินและพัฒนาประสิทธิภาพของธนาคารผ่านแอปพลิเคชัน ttb touch เวอร์ชันใหม่ (Digitalization) เพื่อมอบประสบการณ์ทางการเงินที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า และขับเคลื่อนองค์กรให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดต้นทุนของธนาคาร เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเป้าหมายก้าวสู่การเป็น Top 3 Digital Banking Platform ภายใน 3-5 ปี

 

ปิติระบุว่า ธนาคารมุ่งยกระดับและขยายขีดความสามารถของ ttb touch ให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละรายได้อย่างรอบด้าน ซึ่ง ttb touch เวอร์ชันใหม่ได้เปิดตัวไปเมื่อไตรมาส 2/65 และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างมาก จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นถึง 46% และจำนวนรายการธุรกรรมบนแอปเติบโตขึ้น 25% ถึงแม้ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ttb touch เกิดปัญหาขัดข้องทำให้ทีมงานได้เร่งปรับปรุงแก้ไข และวางแผนพัฒนาความสามารถในการรองรับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง 

 

“ปัจจุบันแอปมีความเสถียรและสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปีนี้เรามีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน ttb touch จาก 4 ล้านรายเป็น 4.5-5 ล้านราย การก้าวสู่ Top 3 หมายความว่าเราจะต้องขึ้นไปหายใจรดต้นคอธนาคารที่เป็น Top 3 ให้ได้ก่อน ซึ่งเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ของเรามีดีพอที่จะดึงดูดให้คนหันมาใช้งาน ttb touch เพิ่มขึ้น เพราะคนหนึ่งคนไม่จำเป็นต้องใช้แอปของธนาคารเดียว” ซีอีโอทีทีบีกล่าว

 

ปิติระบุอีกว่า ศักยภาพของ ttb touch เวอร์ชันใหม่จะทำให้ธนาคารสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงโปรโมชันต่างๆ ให้กับลูกค้าแบบ 1 ต่อ 1 หรือ Segment-of-One ยกระดับการให้บริการลูกค้าได้ โดยธนาคารจะเดินหน้าพัฒนาองค์กรให้เป็น Digital-First Experience เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมส่วนใหญ่ได้เองผ่าน ttb touch เพื่อความสะดวก รวดเร็ว ในขณะที่พนักงานสาขาจะมีบทบาทสำคัญในการเป็น Trusted Advisor ให้คำปรึกษา แนะนำและให้บริการลูกค้าบนผลิตภัณฑ์และบริการที่ซับซ้อน

 

ซีอีโอทีทีบีกล่าวว่า นอกจากกลุยุทธ์ด้าน Digitalization แล้ว อีก 2 กลยุทธ์หลักที่ธนาคารจะใช้ขยายการเติบโตในปีนี้ คือ Synergy Realization หรือการนำจุดแข็งและความแข็งแกร่งจากการรวมกิจการมาต่อยอดพัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้า และ Ecosystem Play หรือการสร้างชีวิตทางการเงินของลูกค้าบัญชีเงินเดือน มีรถ มีบ้านให้ดีขึ้นรอบด้าน 

 

โดยในส่วนของ Synergy Realization จากเดิมที่ธนาคารมีสินเชื่อรถ สินเชื่อบ้าน บัญชีเพื่อใช้ เพื่อออม และบัญชีเงินเดือน เป็นผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นและเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้าในตลาด ในปีนี้ธนาคารจะต่อยอดจุดแข็งของกลุ่มผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปสู่สินเชื่อรถแลกเงิน (ttb Cash Your Car) สินเชื่อบ้านแลกเงิน (ttb Cash Your Home) สินเชื่อ ttb Payday Loan และกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถ ซึ่งโซลูชันเหล่านี้นอกจากจะมีฟีเจอร์ที่โดดเด่นแล้ว ยังจะสามารถช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องภายใต้เศรษฐกิจผันผวนของปีนี้ได้ด้วย

 

ขณะที่ในส่วนของ Ecosystem Play ธนาคารจะเดินหน้าสร้างการเติบโตด้วย New Business Model มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้ามนุษย์เงินเดือน กลุ่มคนมีรถ และกลุ่มคนมีบ้าน ซึ่งเป็น 3 กลุ่มหลักที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญและมีฐานลูกค้าเป็นแต้มต่อ โดยธนาคารจะต้องเข้าไปอยู่ในชีวิตของลูกค้าตลอด Journey และช่วยให้ชีวิตของลูกค้าสามารถบริหารจัดการเรื่องสำคัญได้อย่างรอบด้าน เน้นการทำงานจากทีมภายใน และร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำภายนอก (Partnership) โดยมี ttb touch เป็นตัวขับเคลื่อนให้ลูกค้าบริหารจัดการชีวิตได้อย่างครบวงจร

 

“ตัวอย่างสำหรับ Ecosystem Play คือคนมีรถจะสามารถบริหารจัดการทุกเรื่องเกี่ยวกับรถ เช่น จ่าย-เช็กยอดสินเชื่อรถ, ต่อประกันภัยรถและ พ.ร.บ., เติมเงิน-เช็กยอดบัตรทางด่วน Easy Pass, ค้นหาโปรโมชันเกี่ยวกับการดูแลรถ, สมัครสินเชื่อรถแลกเงิน แม้กระทั่งการขายรถแบบ E-Auction ทุกอย่างสามารถทำบนฟีเจอร์ ‘My Car’ บนแอป ttb touch ได้อย่างสะดวก” ปิติกล่าว

 

นอกจากนี้ อีกสิ่งที่ธนาคารให้ความสำคัญและเร่งทำคือการเตรียมความพร้อมบุคลากร เพื่อให้สามารถร่วมกันทรานส์ฟอร์มองค์กรได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการเพิ่มศักยภาพและจำนวนทีมงานด้าน Tech & Data ให้มากขึ้น ที่ผ่านมาธนาคารได้จัดตั้งทีมดิจิทัล ttb spark และ ttb spark academy เพื่อที่มุ่งเน้นเรื่องการสร้าง Talent รุ่นใหม่ที่มีความสามารถสอดรับกับโลกธุรกิจผ่านการขับเคลื่อนนวัตกรรมและดิจิทัลโซลูชัน 

 

โดยปัจจุบันธนาคารมีทีมงาน ttb spark มากกว่า 400 คน ดูแลทั้งในส่วนของฝั่ง Tech และ Beyond Banking Business พร้อมผลักดันและพัฒนาแอป ttb touch ให้มีฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากยิ่งขึ้น 

 

สำหรับเป้าหมายการเติบโตเชิงตัวเลขในปีนี้ ปิติระบุว่า ธนาคารได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ระดับ 3% ขณะที่สัดส่วนของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.9% จากสิ้นปีก่อนที่ 2.7% โดยการเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากมาตรการผ่อนปรนของ ธปท. ที่จะหมดลง ซึ่งอาจทำให้มีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

นอกจากนี้ ปิติยังพูดถึงกรณีที่ ธปท. จะอนุญาตให้มีการจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ว่า ทีทีบียังไม่มีแผนที่จะจัดตั้ง Virtual Bank เนื่องจากภายใต้กลยุทธ์ Digitalization ก็ถือเป็นการนำธนาคารไปสู่ Virtual Bank อยู่แล้ว เช่น การนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็น Digital Only และการทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมส่วนใหญ่ได้เองผ่าน ttb touch โดยในส่วนของธุรกรรมที่ซับซ้อนยังมองว่าการให้บริการด้วยมนุษย์ผ่านช่องทางสาขาก็ยังมีความจำเป็น

 

“ปัจจุบัน Virtual Bank มี Cost to Income อยู่ที่ประมาณ 30% กลางๆ ขณะที่ต้นทุนของเราอยู่ที่ 45% ซึ่งหมายความว่าการลดต้นทุนด้วย Cost Synergy ยังเป็นโจทย์ที่เราต้องเดินหน้าต่อเพื่อให้แข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม หากดูจากในประเทศที่มี Virtual Bank แล้ว ปัจจุบันยังมีน้อยรายที่อยู่รอดได้ เพราะต้องเริ่มจากจำนวนลูกค้าที่เป็นศูนย์หรือมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ในช่วงแรกจะต้องใช้ทุนเยอะ เรียกว่าเผาเงินเหมือนกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซเพื่อสร้างฐานลูกค้า ซึ่งถ้าสายป่านไม่ยาวก็ยากที่จะอยู่ไปถึงจุดนั้น” ปิติกล่าว

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising