×

ttb analytics มองไทยเสี่ยงเผชิญภาวะ ‘ขาดดุลแฝด’ ห่วงนโยบายแจกเงินดิจิทัลกระทบฐานะการคลัง ดันหนี้สาธารณะพุ่งแตะ 65% ของ GDP

15.09.2023
  • LOADING...
ภาวะขาดดุลแฝด

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ปรับลดประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจในปี 2566 ลงจาก 3.2% เป็น 2.8% และปี 2567 จาก 3.6% เป็น 3.2% ตามลำดับ หลังแรงสนับสนุนจากอุปสงค์ต่างประเทศมีความเปราะบางขึ้น โดยเฉพาะโมเมนตัมส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอ่อนแอ เช่นเดียวกับการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวที่แผ่วลงกว่าคาด 

 

นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนที่อาจแผ่วกว่าที่คาด แรงกดดันด้านลบต่ออุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญต่อผลผลิตการเกษตร ตลอดจนความไม่แน่นอนด้านนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจหลังจัดตั้งรัฐบาล ล้วนเป็นความเสี่ยงด้านต่ำที่อาจกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป

 

นริศ สถาผลเดชา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารหัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ttb analytics ระบุว่า แม้เศรษฐกิจไทยครึ่งหลังของปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต่ำรออยู่ข้างหน้า โดย ttb analytics ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาแผ่วลงอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนจากตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ที่ขยายตัวเพียง 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YoY) ซึ่งต่ำกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้มาก ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยตลอดครึ่งแรกของปี 2566 ขยายตัวได้ 2.2%YoY และมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า 

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก โดยประเมินว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังจะขยายตัว 3.4%YoY นำโดยแรงสนับสนุนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวไทยคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น หลังเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวและแรงกระตุ้นบางส่วนผ่านการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า (Free Visa) ให้แก่นักท่องเที่ยวจีน เช่นเดียวกับภาคการส่งออกที่จะทยอยปรับดีขึ้นจากแรงส่งด้านราคาของสินค้ากลุ่มพลังงานและอาหาร รวมถึงผลของฐานต่ำในปีก่อนหน้า

 

อย่างไรก็ดี มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำจากหลายปัจจัย ได้แก่ 

 

  1. แรงส่งจากเศรษฐกิจจีนที่แผ่วกว่าที่คาด ตลอดจนปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจทำให้ภาคส่งออกฟื้นตัวได้ล่าช้าและไม่ทั่วถึง รวมถึงการฟื้นตัวจากนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยอาจน้อยกว่าที่ประเมินไว้ 

 

  1. แรงกดดันด้านลบต่ออุปสงค์ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากการฟื้นตัวของการจ้างงานในภาคการผลิตและท่องเที่ยวที่แผ่วลง ท่ามกลางภาระหนี้สูง และแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจกลับมาเร่งตัว 

 

  1. ผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะเห็นสัญญาณชัดเจนในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งกระทบต่อผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ 

 

  1. ความไม่แน่นอนด้านนโยบายและมาตรการด้านเศรษฐกิจหลังการจัดตั้งรัฐบาล ที่อาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2567 ตลอดจนความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภาพรวมอีกด้วย

 

ด้านเสถียรภาพทางการเงิน แม้อัตราเงินเฟ้อในปัจจุบันกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายแล้ว แต่ยังมีความเสี่ยงที่เงินเฟ้อจะกลับมาเร่งขึ้นในระยะต่อไป จากราคาน้ำมันดิบที่เริ่มทยอยเพิ่มขึ้นตามการควบคุมกลไกด้านราคาในตลาดโลก สวนทางกับข้อจำกัดในการใช้นโยบายพยุงราคาพลังงานในประเทศ อีกทั้งแรงกดดันด้านราคาอาหารที่อาจกลับมาเร่งตัวอีกครั้งจากผลพวงของเอลนีโญ 

 

ttb analytics จึงประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นอีกครั้งในไตรมาส 3 สู่ระดับสูงสุดของวัฏจักร (Terminal Rate) ที่ 2.5% ก่อนจะคงที่ในระดับดังกล่าว ต่อเนื่องไปจนถึงกลางปี 2567 เป็นอย่างน้อย เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงเป็นบวก และรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) รองรับกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  

 

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศมีแนวโน้มเปราะบางขึ้น โดยในปี 2566 คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะมีแนวโน้มเกินดุลลดลงมาก หรืออยู่ที่ราว 0.1-0.6% ของ GDP จากการเกินดุลการค้าลดลงตามมูลค่าส่งออกสินค้าที่ลดลงเร็วกว่ามูลค่านำเข้า เช่นเดียวกับแรงกดดันจากดุลบริการตามรายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำกว่าก่อนช่วงสถานการณ์โควิด จากทั้งในมิติของจำนวนและกำลังซื้อ รวมถึงการนำเงินออกไปลงทุนยังต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นมากในระยะหลัง เหล่านี้จะเป็นแรงกดดันต่อค่าเงินบาทไม่ให้กลับไปแข็งค่าเร็วเหมือนในอดีต

 

“ตอนนี้ดุลบัญชีเดินสะพัดของเรายังเป็นบวกนิดๆ ขณะที่ดุลการคลังเราขาดดุลอยู่ 5-6 แสนล้านบาท หรือ 3-4% ของ GDP ต่อปี แต่มีความเสี่ยงที่เราจะเผชิญกับภาวะขาดดุลแฝดหรือ Twin Deficit ได้เช่นกัน หากการส่งออกแย่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดพลิกมาขาดดุล ซึ่งการขาดดุลแฝดจะทำให้ประเทศไทยถูกมองเป็นประเทศ EM ที่มีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน” นริศกล่าว

 

ส่วนค่าเงินบาทในระยะต่อไปมีแนวโน้มผันผวนสูงและอ่อนค่าได้ในระยะสั้น ตามการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐเป็นสำคัญ จากจังหวะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของประเทศเศรษฐกิจหลัก และภาวะการเงินโลกที่ยังคงตึงตัวต่อไป 

 

อย่างไรก็ดี เงินบาทยังมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้างหลังเศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น ความชัดเจนทางการเมือง รวมถึงแรงซื้อสุทธิที่จะกลับเข้ามาจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติในช่วงปลายปี โดยคาดว่าค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 2566

 

นริศกล่าวอีกว่า ขณะนี้ ttb analytics มีความกังวลในประเด็น ‘หนี้’ ทั้งสถานการณ์ของหนี้ครัวเรือนและหนี้สาธารณะของประเทศที่อาจกระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยมองว่า แม้ว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเริ่มขยายตัวชะลอลงอย่างช้าๆ (Deleveraging) แต่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากออสเตรเลียและเกาหลีใต้ ท่ามกลางรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่รายได้กลับทรงตัวในระดับต่ำยาวนาน 

 

“ในภาวะดังกล่าวครัวเรือนอาจจำเป็นต้องกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อรักษาระดับการบริโภค ทำให้หนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูงของไทยกลายเป็นปัญหาเรื้อรังและกำลังบั่นทอนการบริโภคของภาคประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ฉะนั้นแล้ว หากหนี้ครัวเรือนยังคงขยายตัวปีละ 3-4% เช่นนี้ต่อไป ก็อาจเป็นการยากที่จะปรับลดให้อยู่ในระดับเหมาะสมที่ไม่เกิน 80% ต่อ GDP ได้” นริศกล่าว

 

นอกจากปัญหาหนี้ครัวเรือนแล้ว บริบทหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลอดก็เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการคลังเช่นกัน โดยแม้หนี้สาธารณะคงค้างของไทยยังต่ำกว่ากรอบเพดานหนี้สาธารณะ หรืออยู่ที่ 61.7% ต่อ GDP ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่การขาดดุลการคลังต่อเนื่องมาตลอดหลายสิบปี จากโครงสร้างการจัดเก็บรายได้ที่ค่อนข้างต่ำ สวนทางกับภาระรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นมาโดยตลอด ส่งผลให้รัฐจะต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณเป็นประจำราว 3-5% ของ GDP และดันให้ยอดหนี้สาธารณะคงค้างเพิ่มขึ้นปีละ 6-8% 

 

ซึ่งหากไม่มีการปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างจริงจัง จะทำให้หนี้สาธารณะไทยเสี่ยงแตะกรอบเพดานหนี้ที่ 70% ต่อ GDP ภายในปี 2570 ซึ่งนั่นหมายความว่าภาระการคลังจะเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้มีข้อจำกัดในการออกมาตรการช่วยเหลือต่างๆ มากขึ้นในอนาคต

 

นริศยังให้ความเห็นถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลว่า อาจเป็นการกระตุ้นที่ไม่ตรงจุดนัก เพราะการบริโภคภายในประเทศของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์ดี หากมีการนำเม็ดเงินจำนวนมากถึง 5.6 แสนล้านบาทไปกระตุ้นอาจส่งผลให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้นจาก 61.7% ต่อ GDP เป็น 65% ต่อ GDP ได้ไม่ยาก และอาจพุ่งขึ้นจนทะลุเพดานที่ 70% ภายใน 3 ปี แลกกับการที่ GDP ในปีหน้าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจาก 3.2% เป็น 3.6-3.7%

 

“การแจกเงิน 5.6 แสนล้านบาท หากคนนำไปใช้ซื้อของที่เขาต้องซื้ออยู่แล้วตัวคูณทางเศรษฐกิจก็จะเท่ากับ 1 หรือในกรณีที่คนเอาไปซื้อไอโฟน เม็ดเงินก็จะออกไปนอกประเทศ โอกาสที่จะเกิดเงินหมุน 3-4 รอบคงมีไม่มาก เรามองว่าโจทย์ในตอนนี้ไม่ใช่การกระตุ้นให้ทุกคน แต่ควรเน้นให้ความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม และควรกำหนดประเภทสินค้าให้เน้นไปที่ภาคบริการจะช่วยให้ตัวคูณสูงขึ้น” นริศกล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X