×

ttb analytics คาดเงินเฟ้อไทยพุ่งแตะระดับ 4% ในไตรมาสแรกจากปัจจัยกดดันในฝั่งอุปทาน ก่อนทยอยลดลงจนเหลือเฉลี่ยทั้งปีที่ 2%

04.02.2022
  • LOADING...
ttb analytics

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในปีนี้อยู่ที่ระดับ 2.7% ไปจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3 โดยเร่งตัวสูงสุดในไตรมาสแรกที่ระดับ 4% และจะทยอยลดลงตลอดไปจนถึงปลายปี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 2% จากปัจจัยกดดันในฝั่งอุปทาน (Cost-Push) ผ่านหมวดพลังงาน อาหารสด และปัญหาการตึงตัวในภาคการผลิต ประกอบกับเงินบาทที่อ่อนค่าลงจากปี 2564 

 

โดย ttb analytics ได้วิเคราะห์แรงกดดันเงินเฟ้อเป็นรายหมวดไว้ดังนี้

 

1. แรงกดดันจากหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง มองว่ายังเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยในช่วงปลายปี 2564 และต้นปี 2565 มีสภาพภูมิอากาศที่หนาวมากกว่าปกติ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ส่งผลให้ทั่วโลกมีปริมาณความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ขณะเดียวกันประเทศผู้ผลิตน้ำมันไม่สามารถปรับเพิ่มกำลังการผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ จึงสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อราคาน้ำมันโดยเฉพาะในช่วงต้นปีนี้ แม้ไทยจะได้รับผลดีจากการที่รัฐบาลเข้าตรึงราคาเชื้อเพลิงบางประเภท แต่ไม่เพียงพอที่จะช่วยลดแรงกดดันด้านราคาที่เพิ่มขึ้นเร็ว 

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าหลังเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ปี 2565 แรงกดดันด้านราคาพลังงานจะคลี่คลายลงบ้าง แต่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องไปจนกว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันจะสามารถบริหารจัดการทยอยเพิ่มกำลังการผลิตได้ตามเป้าหมายในช่วงไตรมาส 3 นี้

 

2. ต้นทุนหมวดอาหารสดจะมีการปรับเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกที่แพงขึ้น ประกอบกับการเกิดโรคระบาดของสุกรในประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้ต้องใช้มาตรการจำกัดจำนวนการเลี้ยงเพื่อลดความเสี่ยง ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตสุกรลดลงและราคาเนื้อสุกรในประเทศเพิ่มขึ้นสูง และมีผลกระทบทำให้ราคาเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ เช่น เนื้อไก่ เพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

 

เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเวียดนามซึ่งเคยเกิดปัญหาโรคระบาดเดียวกันในสุกร จึงประเมินได้ว่าไทยอาจยังต้องใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนในการเพิ่มปริมาณการเลี้ยงสุกรและทยอยเพิ่มผลผลิตเข้าสู่ท้องตลาด เป็นสาเหตุทำให้แรงกดดันต่อราคาในหมวดอาหารสดจะคงยังลากยาวไปถึงสิ้นปี 2565 

 

อย่างไรก็ดี แรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (เงินเฟ้อที่ไม่รวมหมวดอาหารสดและพลังงาน) จะแผ่วลงไปในช่วงต้นปี ตามการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่กำลังเร่งตัวทั้งในและต่างประเทศ แต่เนื่องจากเป็นเชื้อที่แพร่กระจายเร็วและไม่ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรง จึงประเมินว่าผลกระทบนี้จะอยู่เพียงในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 เท่านั้น ก่อนที่เศรษฐกิจภายในประเทศและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทยอยกลับมาเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงสิ้นปี 

 

3. ปัญหาการตึงตัวในภาคการผลิต (Supply Bottleneck) ในบางหมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่เชื่อมโยงกับผู้ผลิตในประเทศที่กำลังเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ โดยเฉพาะยุโรป สหรัฐฯ หรือปัญหาในการปรับเพิ่มอัตราการจ้างงาน อาทิ สินค้ากลุ่มที่ต้องพึ่งพาเซมิคอนดักเตอร์ ประกอบกับต้นทุนค่าขนส่งที่แพงจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้างตามท่าเรือ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาสินค้านำเข้าและต้นทุนของผู้ผลิตปรับเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยกรณีของไทย ความสัมพันธ์ระหว่างราคาสินค้านำเข้าและราคาผู้ผลิตมีระดับสูงมาก (ค่าความสัมพันธ์อยู่ที่ 0.9)  

 

เบื้องต้น ประเมินว่าปัญหาตึงตัวด้านกระบวนการผลิตในหลายสินค้าจะยังมีผลชัดเจนถึงช่วงไตรมาส 3 ขณะที่ปัญหาค่าขนส่งทางเรือที่แพงและได้ทยอยปรับลงมาแล้วนับตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่คาดว่าจะใช้เวลานานกว่าจะกลับสู่ระดับราคาปกติได้ราวปลายปี 2567 ดังนั้นปัญหาการตึงตัวในกระบวนการผลิตและต้นทุนขนส่งทางเรือจะสร้างแรงกดดันต่อราคาสินค้าของหมวดที่อยู่ทั้งในและนอกอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอย่างชัดเจนไปจนถึงไตรมาส 3 ก่อนจะเบาลงในช่วงปลายปี  

 

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าระดับการส่งผ่านต้นทุนของผู้ผลิตที่แพงขึ้นไปยังผู้บริโภคในประเทศจะทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น และเป็นลักษณะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องด้วยกำลังซื้อและการจ้างงานในไทยโดยรวมยังคงเปราะบาง 

 

นอกจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ttb analytics มองว่ายังมีปัจจัยเสี่ยงต่อเงินเฟ้ออื่นๆ ที่ยังต้องจับตาอีก เช่น 

 

  1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อาทิ ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจทำให้ราคาพลังงานเร่งขึ้นกว่าระดับปัจจุบัน 

 

  1. ปัจจัยด้านภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลต่อการลดลงของปริมาณผลผลิตการเกษตร 

 

  1. ความยืดเยื้อของปัญหาคอขวดในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะหากเกิดการแพร่ระบาดจากโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจรุนแรงจนทำให้กิจกรรมการผลิตต้องสะดุดลงและกระทบกับภาวะการจ้างงาน 

 

ttb analytics ระบุว่า ท่ามกลางภาวะที่เงินเฟ้อเร่งตัวเร็วโดยเฉพาะในช่วงแรกของปี 2565 นี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องปรับวิธีการใช้จ่ายให้เหมาะสม ในส่วนภาครัฐที่กำกับดูแลเศรษฐกิจ นอกจากการเร่งออกนโยบายลดต้นทุนค่าครองชีพทั้งการตรึงราคาเชื้อเพลิง และการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้แก่ประชาชนแล้ว อาจเข้าไปช่วยจัดการแก้ไขปัญหาด้านปริมาณผลผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในส่วนที่สามารถทำได้ภายในประเทศ เพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising