×

จับตาไช่อิงเหวินพบประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ หวั่นจีนยกระดับมาตรการตอบโต้

05.04.2023
  • LOADING...
ไช่อิงเหวิน แมคคาร์ธี

ประธานาธิบดีไช่อิงเหวินของไต้หวันมีกำหนดการพบกับ เควิน แมคคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาจากพรรครีพับลิกัน ที่งานประชุมสองพรรคการเมืองใหญ่ ณ หอสมุดประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ในวันนี้ (5 เมษายน) ตามเวลาท้องถิ่น ส่งผลให้หลายฝ่ายเฝ้าจับตาการพบกันระหว่างผู้แทนระดับสูงของไต้หวันและสหรัฐฯ ในครั้งนี้ รวมถึงท่าทีและมาตรการตอบโต้ของจีนต่อกรณีดังกล่าว

  • ทำไมไช่อิงเหวินจึงเดินทางไปยังทวีปอเมริกา

 

เดิมทีไช่อิงเหวินมีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศพันธมิตรในแถบอเมริกากลางอย่างกัวเตมาลาและเบลีซ ภายหลังจากที่ทางการฮอนดูรัสประกาศจุดยืนใหม่เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ฮอนดูรัสจะหันไปสานสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแผ่นดินใหญ่ พร้อมกับยอมรับแนวคิดนโยบายจีนเดียวที่มองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน

 

โดยผู้นำไต้หวันจะพบกับประธานสภาล่างสหรัฐฯ ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไต้หวันและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่สำคัญที่สุดของไต้หวันในช่วงเวลานี้ 

 

นับตั้งแต่ที่ไช่อิงเหวินชนะการเลือกตั้งและขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวันสมัยแรกเมื่อปี 2016 ไต้หวันมีเพื่อนน้อยลงอย่างต่อเนื่อง โดยหลายประเทศตัดสินใจหันไปพัฒนาความสัมพันธ์กับจีนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเธอมองว่ารัฐบาลจีนมีส่วนสำคัญในการดำเนิน ‘นโยบายการทูตดอลลาร์’ (Dollar Diplomacy) โดยยื่นข้อเสนอด้านเงินลงทุนในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานให้กับบรรดาประเทศพันธมิตรของไต้หวัน แลกกับการที่ประเทศเหล่านั้นจะต้องยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน

 

ไช่อิงเหวินระบุว่า “ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทางการจีนใช้ประโยชน์จากแรงกดดันทางการเงินและทางการเมือง เพื่อจำกัดพื้นที่ของไต้หวันในประชาคมโลก” หลังจากที่หมู่เกาะโซโลมอนประกาศยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันไปก่อนหน้าฮอนดูรัสเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา 

 

ขณะนี้ประเทศที่ยังคงพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอย่างเป็นทางการเหลือเพียง 13 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ เบลีซ, กัวเตมาลา, ปารากวัย, เฮติ, เซนต์คิตส์และเนวิส, เซนต์ลูเชีย, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, เอสวาตินี, หมู่เกาะมาร์แชลล์, นาอูรู, ปาเลา, ตูวาลู และนครรัฐวาติกัน

 

ทางด้าน เหวินตี่ซุง นักวิทยาศาสตร์การเมือง จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลียระบุว่า ‘การทูตทางผ่าน’ (Transit Diplomacy) มีความสำคัญกับไต้หวันอย่างมากในขณะนี้ เนื่องจากการเดินทางเยือนประเทศเหล่านี้ล้วนตอบสนองกับความต้องการของสังคมไต้หวันที่ต้องการการยอมรับในระดับสากล เมื่อพื้นที่ในการยอมรับไต้หวันหายไป (บางส่วน) ตัวชี้วัดอื่นๆ (อย่างการเดินทางเยือนบรรดาประเทศพันธมิตรเพื่อยืนยันว่าไต้หวันยังคงมีเพื่อนและได้รับการยอมรับในประชาคมโลก) จึงมีความสำคัญต่อชาวไต้หวันอย่างมาก

  • ทำไมจีนถึงไม่พอใจการพบกันระหว่างผู้แทนระดับสูงไต้หวันและสหรัฐฯ 

 

จีนแผ่นดินใหญ่มองว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของตน นับตั้งแต่สงครามกลางเมืองของจีนสิ้นสุดลงในปี 1949 เป็นเหตุให้กลุ่มชาตินิยมในขณะนั้นต้องร่นถอยไปยังเกาะไต้หวันในปัจจุบัน ขณะที่กลุ่มคอมมิวนิสต์จีนก็สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ขึ้นในปีเดียวกันนั้นภายใต้การนำของเหมาเจ๋อตุง 

 

ขณะนี้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน เพิ่งจะเริ่มต้นวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนสมัยที่ 3 อย่างเป็นทางการ เมื่อไม่นานที่ผ่านมา ส่งผลให้สีจิ้นผิงเป็นผู้นำจีนที่มีอำนาจและอิทธิพลมากที่สุด นับตั้งแต่เหมาเจ๋อตุง ผู้นำรุ่นที่ 1 โดยหลายฝ่ายมองว่า สีจิ้นผิงอาจให้ความสำคัญกับแนวทางการรวมจีนและไต้หวันให้เป็นปึกแผ่นและแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะถ้าหากทำสำเร็จนี่จะเป็นมรดกตกทอดที่สำคัญของจีนภายใต้ยุคสมัยของสีจิ้นผิง

 

ทางด้านโฆษกสถานกงสุลใหญ่ประเทศจีนประจำนครลอสแอนเจลิส สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมาว่า “ในโลกนี้มีเพียงจีนเดียว ไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีนที่แบ่งแยกไม่ได้ และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงแห่งเดียวที่เป็นตัวแทนของจีนทั้งหมด”

 

โดยทางการจีนเรียกร้องและเน้นย้ำให้รัฐบาลสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผู้แทนระดับสูงของประเทศต่างๆ ในประชาคมโลกก็ยังคงทยอยเดินทางเยือนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง แม้จะได้รับแรงกดดันอย่างหนักจากรัฐบาลจีน นอกจากสมาชิกสภานิติบัญญัติของสหรัฐฯ ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักรแล้ว รัฐมนตรีศึกษาธิการของเยอรมนีเองก็เพิ่งจะเดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับเป็นผู้แทนระดับสูงของเยอรมนีที่เยือนเกาะไต้หวันครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1997

  • ทางการจีนมีปฏิกิริยาอย่างไร

 

เบื้องต้นทางการจีนยังไม่เปิดเผยรายละเอียดว่า จะตอบโต้การพบปะกันระหว่างไช่อิงเหวินและแมคคาร์ธีอย่างไร แต่ภาพการเดินทางเยือนไต้หวันอย่างเป็นทางการของ แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ คนก่อนหน้า เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา ก็พอจะทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์มาตรการตอบโต้ของทางการจีนได้ไม่มากก็น้อย 

 

แม้ทางการจีนจะประกาศเตือนเพโลซีถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นตามมา หากเพโลซียังดึงดันที่จะเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนั้น จนเป็นเหตุให้กองทัพเรือจีนปิดล้อมเกาะไต้หวัน รวมถึงมีการซ้อมรบและบินลาดตระเวนในเขตป้องกันภัยทางอากาศของไต้หวัน เพิ่มความร้อนระอุและความตึงเครียดให้กับช่องแคบไต้หวันในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก

 

ทางด้าน ศาสตราจารย์วิลเลียม สแตนตัน อดีตผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันในไต้หวัน ระบุว่า “โดยส่วนตัวแล้วผมไม่เห็นด้วยกับการเดินทางเยือนไต้หวันของเพโลซีในครั้งนั้น เนื่องจากเป็นเพียงการยุแหย่ทางการจีน โดยไม่ได้รับผลตอบแทนมากนัก อีกทั้งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็ค่อนข้างน่ากลัว

 

ผมคิดว่าค่อนข้างชัดเจนที่แมคคาร์ธีต้องการเดินตามรอยเพโลซี แต่ไช่อิงเหวินมองว่านั่นอาจไม่ใช่ความคิดที่ดี เธอจึงตอบกลับว่า ไม่เป็นไร ขอบคุณมาก เราไปนั่งจิบชาคุยกันที่แคลิฟอร์เนียแทนดีกว่า” 

 

แม้ไช่อิงเหวินจะดูเหมือนไม่อยากให้การเดินทางเยือนไต้หวันของผู้แทนระดับสูงสหรัฐฯ กลายเป็นประเด็นร้อนอีก แต่เธอก็ยังจำเป็นต้องแสดงให้ทางการจีนเห็นว่าจีนจะไม่ประสบความสำเร็จ หากยังคงพยายามที่จะยุติความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไต้หวันที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยกับพันธมิตรที่มีอำนาจมากที่สุดอย่างสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนกล่าวว่า ทางการจีนมีแนวโน้มที่จะลดระดับมาตรการตอบโต้ต่อการพบปะกันครั้งนี้ลงเมื่อเทียบกับกรณีของเพโลซี เนื่องจากการพบกันเกิดขึ้นบนแผ่นดินสหรัฐฯ แต่ไต้หวันเองก็ยังคงต้องตื่นตัวกับกิจกรรมทางการทหารของจีนอย่างต่อเนื่อง แม้ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ทางการไต้หวันและสหรัฐฯ จะระบุว่ายังไม่พบความผิดปกติใดๆ จากกองทัพจีนในช่วงเวลานี้

  • ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ ไต้หวัน และจีนเป็นอย่างไร?

 

สหรัฐฯ ตัดความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับไต้หวันและรับรองสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการในปี 1979 โดยทั้งหมดอยู่ในความสัมพันธ์ 3 เส้า กล่าวคือ หลังจากที่สหรัฐฯ รับรองสถานะของจีนและตัดสินใจสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอย่างเป็นทางการ จึงจำเป็นต้องยึดถือ ‘นโยบายจีนเดียว’ (One China Policy) โดยสหรัฐฯ ต้องยอมรับว่าจีนมีเพียงหนึ่งเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ซึ่งความสัมพันธ์ของ 2 มหาอำนาจตกต่ำลงอย่างมากในช่วงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่กรณีของไต้หวัน แต่ยังรวมถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ในมณฑลซินเจียง การปราบปรามกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง รวมถึงการแข่งขันกันในสงครามการค้าและเทคโนโลยีอีกด้วย

 

ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไต้หวันนั้นอยู่บนพื้นฐานของ ‘ความคลุมเครือทางยุทธศาสตร์’ (Strategic Ambiguity) ภายใต้ ‘กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน’ (Taiwan Relations Act: TRA) ซึ่งมีส่วนช่วยให้สหรัฐฯ ยังคงรักษาระดับความสัมพันธ์แบบไม่เป็นทางการกับไต้หวันได้เสมอมา โดยเป้าหมายสำคัญของแนวนโยบายนี้ก็เป็นไปเพื่อรักษาสถานภาพเดิม (Status Quo) ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันเอาไว้ รวมถึงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ขึ้นในเอเชีย 

 

โดยความสัมพันธ์ระหว่างจีนและไต้หวันกลับมาตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง ภายหลังจากที่ไช่อิงเหวิน สังกัดพรรคหมินจิ้นตั่ง (DPP) ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไต้หวัน เมื่อปี 2016 ต่อจากประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่ว สังกัดพรรคก๊กมินตั๋งที่มีแนวทางโอนอ่อนและเป็นมิตรต่อทางการจีนมากกว่า 

 

ทางการจีนมองไช่อิงเหวินในฐานะ ‘ผู้แบ่งแยกดินแดน’ (Separatist) ที่ต้องการนำไต้หวันประกาศเอกราชจากประเทศจีน ในขณะที่ไช่อิงเหวินยังคงยืนยันว่า สิ่งที่เธอต้องการคือสันติภาพ พร้อมทั้งให้คำมั่นว่ารัฐบาลไต้หวันภายใต้การนำของเธอจะเดินหน้าปกป้องวิถีชีวิตประชาธิปไตยของไต้หวันอย่างสุดความสามารถ ขณะที่ผู้นำสหรัฐฯ อย่างประธานาธิบดีโจ ไบเดนเองก็เน้นย้ำอยู่บ่อยครั้งว่า สหรัฐฯ สนับสนุน Status Quo และไม่เคยสนับสนุนให้ไต้หวันประกาศเอกราชจากจีนแต่อย่างใด

 

เมื่อไม่นานมานี้ หม่าอิงจิ่ว อดีตประธานาธิบดีไต้หวันได้เดินทางไปเคารพสุสานบรรพบุรุษยังจีนแผ่นดินใหญ่ นับเป็นผู้นำหรืออดีตผู้นำไต้หวันคนแรกที่ตัดสินใจเดินทางเยือนจีน นับตั้งแต่ปี 1949 เป็นต้นมา โดยหม่าอิงจิ่วพยายามจะช่วยส่งเสริมบทบาทและจุดยืนของพรรคก๊กมินตั๋งที่วางตัวเป็นพรรคการเมืองที่จะเข้ามามีส่วนช่วยลดอุณหภูมิความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างไต้หวันและจีนในการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันครั้งใหม่ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13 มกราคม 2024 

 

ทางการจีนจะตอบโต้การพบกันระหว่างไช่อิงเหวินและแมคคาร์ธีอย่างไร ความสัมพันธ์ 3 เส้าระหว่างสหรัฐฯ ไต้หวัน และจีน จะเคลื่อนไปยังทิศทางไหน ต้องจับตา

 

ภาพ: Dilok Klaisataporn / Shutterstock

Sam Yeh / AFP

Saul Loeb / AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising