ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 Rachel Botsman นักวิจัยและผู้สอนจาก Saïd Business School มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เริ่มการบรรยายบนเวที Ted Talks โดยการสำรวจผู้ฟังว่า ใครบ้างที่เคยเช่าหรือให้เช่าที่พักผ่าน Airbnb ใครบ้างที่ถือ Bitcoin ซึ่งคนส่วนใหญ่ในห้องบรรยายยกมือขึ้น เธอตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า
‘These are all examples of how technology is creating new mechanisms that are enabling us to trust unknown people, companies and ideas. And yet at the same time, trust in institutions — banks, governments and even churches — is collapsing.’
นี่เป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายภายใต้หัวข้อ ‘We’ve stopped trusting institutions and started trusting strangers’ Rachel ตั้งคำถามว่าทำไมทุกวันนี้เราโดยสารรถส่วนตัวของคนที่เราไม่รู้จักกันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ แต่กลับสูญเสียความมั่นใจที่มีต่อสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคม ในวันนี้ ‘ธรรมชาติ’ ของความไว้เนื้อเชื่อใจกำลังเปลี่ยนจาก ‘การให้ความเชื่อมั่นกับสถาบันทางเศรษฐกิจและสังคม’ ไปเป็น ‘การให้ความเชื่อมั่นกับระบบกลไกที่ช่วยแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร’
‘Trust’ หรือ ‘ความไว้เนื้อเชื่อใจ’ เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เราต้อง ‘เชื่อใจ’ จึงจะ ‘มั่นใจ’ ที่จะทำธุรกรรมระหว่างกัน ไม่ว่าจะเชื่อใจเพราะรู้จักกัน เพราะมีบุคคลที่สามรับรอง หรือเพราะระบบกลไกที่สร้างความมั่นใจให้เราโดยไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน อาจกล่าวได้ว่าระบบเศรษฐกิจไม่อาจเดินไปข้างหน้าหากปราศจากความไว้เนื้อเชื่อใจ หรือปราศจากกลไกที่รักษาความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างคนในระบบเศรษฐกิจเอาไว้
ความไว้เนื้อเชื่อใจมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการทรัพยากรสาธารณะเช่นกัน คนในระบบเศรษฐกิจวางใจมอบเงินภาษีให้ผู้ดำเนินนโยบายเป็นตัวแทนในการบริหารทรัพยากรสาธารณะ นอกจากนี้ความไว้เนื้อเชื่อใจยังเป็นเงื่อนไขที่คนจะปฏิบัติตามมาตรการของผู้ดำเนินนโยบาย ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะพาประเทศฝ่าวิกฤต ดังเช่นวิกฤตการระบาดของโควิด
ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจมีนัยต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินนโยบายสาธารณะอย่างไร และผู้ดำเนินนโยบายจะรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจของคนในระบบเศรษฐกิจไว้ได้อย่างไร เรามาหาคำตอบร่วมกันในบทความฉบับนี้ครับ
ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อการดำเนินนโยบายสำคัญต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของนโยบายสาธารณะ
ความไว้เนื้อเชื่อใจเป็นเงื่อนไขพื้นฐานของการดำเนินนโยบายสาธารณะที่สามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีงานวิจัยจำนวนมากที่สนับสนุนความสำคัญของความไว้เนื้อเชื่อใจในผู้ดำเนินนโยบาย เช่น Knack and Keefer (1997) พบหลักฐานเชิงประจักษ์ที่บ่งชี้ว่าระบบเศรษฐกิจที่คนให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในผู้ดำเนินนโยบายสูงมีแนวโน้มที่จะเติบโตดีและมีเสถียรภาพ ขณะที่ Uslaner (2002) และ Halpern (2001) พบว่าความไว้เนื้อเชื่อใจในผู้ดำเนินนโยบายมีความสัมพันธ์เชิงลบกับการคอร์รัปชันและอัตราการก่ออาชญากรรม
ความไว้เนื้อเชื่อใจมีผลต่อการดำเนินงานสาธารณะอย่างไร? หากประชาชนมีความไว้เนื้อเชื่อใจในผู้ดำเนินนโยบาย จะส่งผลให้งานสาธารณะสัมฤทธิ์ผลด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ความสัมพันธ์ระหว่างความไว้เนื้อเชื่อใจกับการดำเนินงานสาธารณะมีความสัมพันธ์แบบวงจรสะท้อนกลับ (Feedback Loop) หากคนสูญเสียความเชื่อใจที่มีต่อผู้ดำเนินนโยบาย ก็จะไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ดำเนินนโยบาย ส่งผลให้คุณภาพของบริการสาธารณะลดลง และจะส่งผลย้อนกลับมาบั่นทอนความเชื่อใจของคนอีกที
ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อการดำเนินนโยบายมีความสำคัญมากต่อการแก้วิกฤต โดยเฉพาะวิกฤตด้านสาธารณสุข ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจเพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการทางด้านสาธารณะสุขอย่างเคร่งครัด โดยข้อมูลการสำรวจระหว่างประเทศโดย Wellcome ในปี 2020 พบว่าความไว้เนื้อเชื่อใจต่อการดำเนินนโยบายจากส่วนกลางมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ดำเนินนโยบายในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส (รูปที่ 1) สอดคล้องกับ Bargain and Aminijonov (2020) ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อนักการเมืองก่อนโควิดระบาด กับพฤติกรรมการเดินทางออกจากบ้านในช่วงการระบาด โดยใช้ข้อมูลจาก 17 ประเทศในยุโรป ผู้วิจัยพบว่าคนในพื้นที่ที่มีความเชื่อใจต่อนักการเมืองสูงมีแนวโน้มที่จะหลีกเลี่ยงการออกจากบ้านมากกว่าพื้นที่ที่มีความเชื่อใจต่ำ
รูปที่ 1 ความสัมพันธ์ระหว่างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อผู้ดำเนินนโยบาย และการให้ความร่วมมือกับมาตรการสาธารณสุขในช่วงการระบาดของโควิด
อ้างอิง: Wellcome Global Monitor (2020)
นอกจากการแก้วิกฤตแล้ว ความไว้เนื้อเชื่อใจยังมีความจำเป็นต่อการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ เพราะผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องจูงใจให้คนในระบบเศรษฐกิจยอมสละผลประโยชน์ระยะสั้นเพื่อผลประโยชน์ระยะยาว และประสานประโยชน์ระหว่างภาคส่วนที่ได้รับผลจากการปฏิรูปแตกต่างกัน นอกจากนี้การปฏิรูปต้องใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล ผู้ดำเนินนโยบายจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นให้คนในระบบเศรษฐกิจปฏิบัติตามข้อตกลงร่วมกันได้ในระยะยาว โดย Gyorffy (2013) อธิบายถึงกรณีตัวอย่างของประเทศในสหภาพยุโรป โดยชี้ว่าในระบบเศรษฐกิจที่คนขาดความไว้เนื้อเชื่อใจต่อการดำเนินนโยบาย คนมีแนวโน้มที่จะคำนึงถึงประโยชน์ส่วนตนในระยะสั้นมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมในระยะยาว ขณะที่ผู้ดำเนินนโยบายก็มีแนวโน้มที่จะทำนโยบายประชานิยมในระยะสั้นมากกว่าการปฏิรูป
คนไทยให้ความเชื่อใจกับผู้ดำเนินนโยบายในระดับปานกลาง แต่หากสร้างเพิ่มได้อาจส่งผลดีต่อการดำเนินนโยบายสาธารณะอย่างคาดไม่ถึง
คนไทยให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกับผู้ดำเนินนโยบายมากแค่ไหน? ผลการสำรวจส่วนใหญ่พบว่าคนไทยให้ความเชื่อใจกับผู้ดำเนินนโยบายในระดับปานกลาง เช่น ผลสำรวจจาก Wellcome Global Monitor (2020) ในรูปที่ 1 พบว่า 46% ของคนไทยที่สำรวจ เชื่อใจผู้ดำเนินนโยบายในระดับปานกลาง (Some) ขณะที่ 10% ให้ความเชื่อใจอย่างมาก (A lot) โดยค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 32% และ 26% ตามลำดับ
ขณะที่ผลการสำรวจจาก 2022 Edelman Trust Barometer บ่งชี้ว่าไทยมีระดับความไว้เนื้อเชื่อใจในผู้ดำเนินนโยบายอยู่ที่เส้นแบ่งระหว่าง ‘ไว้ใจ’ กับ ‘ไม่ได้รู้สึกไว้ใจหรือไม่ไว้ใจมากกว่ากัน’ พอดี คะแนนความไว้เนื้อเชื่อใจของไทยอยู่ที่ 60 ใกล้เคียงกับมาเลเซียที่ 62 ในขณะที่สิงคโปร์ซึ่งสามารถจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดได้ดีมีคะแนนอยู่ที่ 74
หากศึกษาต่อไปว่าความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อผู้ดำเนินนโยบายส่งผลต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนไทยอย่างไร เราพบว่าคนไทยตอบสนองอย่างมากต่อความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อผู้ดำเนินนโยบาย จากการวิเคราะห์ข้อมูลความไว้เนื้อเชื่อใจจาก World Value Survey ในช่วงปี 2017-2020 เพื่อตอบคำถามที่ว่า ‘หากคนในระบบเศรษฐกิจให้ความไว้วางใจกับผู้ดำเนินนโยบายมากขึ้น จะยินดีเสียภาษีเพิ่มขึ้นมากเพียงใด’* เราพบว่าในกรณีของไทยหากสามารถสร้างความเชื่อใจจาก ‘ไม่เชื่อใจเลย’ มาเป็น ‘เชื่อใจพอสมควร’ จะช่วยลดทัศนคติที่เห็นสมควรที่จะเลี่ยงภาษีลงได้ 16.3% ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างทั้งโลกอยู่ที่ 7.8%
ผลการศึกษาสะท้อนว่าการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจที่คนไทยมีต่อผู้ดำเนินนโยบายจะเป็นผลดีต่อการเก็บภาษี และศักยภาพในการบริหารทรัพยากรสาธารณะที่ได้ตามมาอย่างมาก ในทางกลับกัน หากคนไทยสูญเสียความเชื่อมั่นต่อผู้ดำเนินนโยบายก็อาจเพิ่มแรงจูงใจในการเลี่ยงภาษีได้มากกว่าประเทศอื่นเช่นกัน ดังนั้นการรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจของคนไทยที่มีต่อผู้ดำเนินนโยบายจึงสำคัญต่อการดำเนินงานสาธารณะอย่างยิ่ง
เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเปลี่ยน ‘ธรรมชาติ’ ของความไว้เนื้อเชื่อใจ
ในการสร้างและรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อผู้ดำเนินนโยบาย จำเป็นต้องเข้าใจ ‘ธรรมชาติ’ ของความไว้เนื้อเชื่อใจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป Rachel Botsman แบ่งประวัติศาสตร์ของความไว้เนื้อเชื่อใจออกเป็น 3 ช่วง ในช่วงก่อนศตวรรษ 18 คือช่วง ‘วางใจกับคนรู้จัก’ ในช่วงเวลานี้ มนุษย์ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจและร่วมทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจกับคนที่รู้จักกันดีเท่านั้น ความไว้เนื้อเชื่อใจในช่วงนี้จึงจะจำกัดอยู่ในวงสังคมใกล้ตัว
ต่อมาเมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมส่งผลให้ความต้องการสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่คนในระบบเศรษฐกิจเริ่มทำธุรกรรมกับคนที่ไม่รู้จัก สถาบันทางเศรษฐกิจได้ก้าวเข้ามามีบทบาทในฐานะตัวกลางเชื่อมต่อระหว่างคนที่ไม่รู้จักกัน ในช่วงเวลานี้คนในระบบเศรษฐกิจจึงเริ่มเปลี่ยนมา ‘วางใจกับสถาบันทางเศรษฐกิจ’ เช่น วางใจให้ผู้ดำเนินนโยบายบริหารเงินภาษีหรือวางใจให้สถาบันการเงินนำเงินฝากของตนไปให้สินเชื่อกับคนที่ไม่รู้จัก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลข่าวสารและความซับซ้อนของสถาบันทางเศรษฐกิจทำให้คนในระบบเศรษฐกิจติดตามการทำงานของสถาบันทางเศรษฐกิจได้ยาก จึงเปิดโอกาสให้คนภายในสถาบันทางเศรษฐกิจผูกขาดข้อมูลข่าวสารและสามารถบริหารทรัพยากรเพื่อประโยชน์ส่วนตน ส่งผลให้การจัดการทรัพยากรด้อยคุณภาพลดลง จนลดทอนความไว้เนื้อเชื่อใจที่คนมีให้กับสถาบันทางเศรษฐกิจ
จนกระทั่งปัจจุบัน อินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มดิจิทัลเอื้อให้เกิดระบบนิเวศของข้อมูลข่าวสารที่สมบูรณ์ขึ้น คนจึงเริ่มหันมา ‘ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกับข้อมูลข่าวสารและกลไกที่เอื้อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่โปร่งใสและเชื่อถือได้’ ความเชื่อใจรูปแบบใหม่ส่งผลให้เกิดธุรกรรมทางเศรษฐกิจการเงินบนข้อมูลข่าวสาร เช่น E-Commerce และ Sharing Economy เป็นต้น
ธรรมชาติของความไว้เนื้อเชื่อใจที่เปลี่ยนไปมีนัยสำคัญต่อความไว้เนื้อเชื่อใจของคนที่มีต่อผู้ดำเนินนโยบาย โดยในปัจจุบันคนจะให้ความไว้เนื้อเชื่อใจกับข้อมูลข่าวสารและกลไกในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับผู้ดำเนินนโยบาย คนจะต้องการติดตามการดำเนินนโยบายสาธารณะอย่างใกล้ชิด และจะพัฒนาความไว้เนื้อเชื่อใจที่มีต่อผู้ดำเนินนโยบายผ่านผลการดำเนินงานที่เป็นที่ประจักษ์และการเปิดรับฟังความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ กล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ‘คนในปัจจุบันจะวางใจกับผู้ดำเนินนโยบายที่สื่อสารและรับฟังคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจ’
รูปที่ 2 พัฒนาการของความไว้เนื้อเชื่อใจ
อ้างอิง: สไลด์ประกอบการนำเสนอ เรื่อง We’ve stopped trusting institutions and started trusting strangers โดย Rachel Botsman
สร้างความเชื่อใจจากการมีส่วนร่วมของพลเมือง
ภายใต้บริบททางเทคโนโลยีและธรรมชาติของความไว้เนื้อเชื่อใจที่เปลี่ยนแปลงไป กุญแจสำคัญในการรักษาความไว้เนื้อเชื่อใจคือ ‘ธรรมาภิบาลสาธารณะ (Public Governance)’ OECD อธิบายว่าธรรมาภิบาลสาธารณะประกอบไปด้วยคุณลักษณะสำคัญ 5 ประการ ได้แก่
- Responsiveness นั่นคือผู้ดำเนินนโยบายตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
- Reliability นั่นคือผู้ดำเนินนโยบายมีความน่าเชื่อถือ สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนได้จริง
- Integrity นั่นคือผู้ดำเนินนโยบายใช้ทรัพยากรสาธารณะอย่างคุ้มค่าและใช้อำนาจอย่างชอบธรรม
- Openness นั่นคือผู้ดำเนินนโยบายเปิดกว้าง รับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน
- Fairness นั่นคือผู้ดำเนินนโยบายดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม
จะเห็นได้ว่าคุณลักษณะทั้ง 5 ข้อล้วน ‘มีคนส่วนใหญ่ในระบบเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลาง’
เครื่องมือสำคัญในการพัฒนาและรักษาธรรมาภิบาลสาธารณะคือ ‘การมีส่วนร่วมของพลเมือง’ (Civic Engagement) งานศึกษาเรื่อง Building Trust in Government through Citizen Engagement อธิบายว่าการมีส่วนร่วมของพลเมืองครอบคลุมถึงการมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมในการกำหนดแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการดำเนินนโยบายสาธารณะ เช่น การมีส่วนร่วมผ่านการเลือกตั้ง องค์กรทางการเมือง หรือองค์กรทางสังคม เป็นต้น การมีส่วนร่วมจะช่วยกำหนดเป้าหมายและวิธีการดำเนินนโยบายสาธารณะที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณะ
บันไดขั้นแรกของการมีส่วนร่วมของพลเมืองคือ การสื่อสารระหว่างผู้ดำเนินนโยบายกับคนในระบบเศรษฐกิจ การสื่อสารที่ดีจะเกิดขึ้นหากสามารถออกแบบระบบนิเวศของข้อมูลข่าวสารที่สร้างแรงจูงใจและสภาพแวดล้อมให้ผู้ดำเนินนโยบายและคนในระบบเศรษฐกิจแลกเปลี่ยนความเห็นและมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายสาธารณะ ตลอดจนสามารถติดตามความคืบหน้าในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะอย่างรวดเร็วและโปร่งใส
ปัจจุบันผู้ดำเนินนโยบายในประเทศพัฒนาแล้วได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลและแพลตฟอร์มมาใช้เป็นตัวกลางในการสื่อสารกับคนในระบบเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มสภาประชาชน (People’s Assemply) ของประเทศเอสโตเนีย ซึ่งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดและข้อเสนอเชิงนโยบายจากประชาชนในการแก้ไขกฎหมายสำคัญของประเทศ หรือโครงการ Participatory Budget บนแพลตฟอร์ม e-Estonia ซึ่งเปิดเวทีให้ประชาชนร่วมกันวางแผนงบประมาณในระดับท้องถิ่น เป็นต้น
ฟังกันมากขึ้น มองเห็นกันมากขึ้น เคารพกันมากขึ้น
ในวันนี้เราอยู่ในยุคสมัยที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารมีความสมบูรณ์ขึ้น ความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างผู้ดำเนินนโยบายและคนในระบบเศรษฐกิจจะตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ‘การเชื่อใจเพราะมีส่วนร่วม’ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอย่างเปิดเผย และการมีส่วนร่วมในการออกแบบและการดำเนินนโยบายสาธารณะของประเทศ เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันเปิดโอกาสให้เราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้ดำเนินนโยบายหรือคนในระบบเศรษฐกิจมีโอกาสฟังกันมากขึ้น พูดคุยกันมากขึ้น แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเปิดกว้าง และเคารพกันและกันมากขึ้น
บันไดขั้นแรกสู่การ ‘ได้รับ’ ความไว้เนื้อเชื่อใจ อาจเริ่มจากการ ‘ให้’ ความไว้เนื้อเชื่อใจกับสังคม โดย ‘เปิดใจรับ’ การมีส่วนร่วมของสังคมในการดำเนินนโยบายสาธารณะเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น
As contagion of sickness makes sickness, contagion of trust can make trust. — Marianne Craig Moore (American poet, 1887-1972)
หมายเหตุ: *วิเคราะห์สมการถดถอยเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างแนวโน้มที่จะจ่ายภาษี (แนวโน้มที่จะไม่เลี่ยงภาษี วัดจากการสอบถามทัศนคติว่าการเลี่ยงภาษีเป็นสิ่งที่สมควรทำหรือไม่) กับความเชื่อมั่นในภาครัฐ โดยควบคุมทัศนคติต่อความเชื่อทางศาสนา ระดับรายได้ และปัจจัยเฉพาะในแต่ละประเทศและแต่ละปีที่ทำการสำรวจ โดยในกรณีของประเทศไทยใช้กลุ่มตัวอย่างที่ถ่วงน้ำหนักแล้ว 1,349 ราย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างรวมทั้งโลกอยู่ที่ 72,960 ราย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP