Raymond Gui หัวหน้าฝ่ายบริหารพอร์ตตราสารหนี้เอเชียของ UBS Asset Management Ltd. กล่าวว่า “เขามองตลาดในแง่บวกอย่างมาก” และพร้อมเข้าซื้อพันธบัตรราคาถูก หากนักลงทุนรายอื่นเทขายเพื่อความตื่นตระหนก
แม้ว่าความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทั่วโลก แต่ Gui เชื่อว่าผู้ออกตราสารหนี้ประเภท High-Yield หรือ Junk Bond ในเอเชียได้รับผลกระทบโดยตรงเพียงเล็กน้อย
“ภาษีจะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดพันธบัตร High-Yield ของเอเชียมากกว่าปัจจัยพื้นฐานด้านเครดิต” Gui กล่าว พร้อมเสริมว่าการวิเคราะห์ของ UBS พบว่าผู้ออกพันธบัตร High-Yield ในเอเชียมีธุรกิจส่งออกไปยังสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่น้อยมาก
“หากภาษีทำให้ราคาตราสารหนี้กลุ่มที่มีความผันผวนสูงลดลงเกินจริง สำหรับเราแล้ว นั่นเป็นโอกาสในการซื้อ” Gui กล่าว
แนวทางของ Gui อาจดูขัดแย้งกับทิศทางของนักลงทุนทั่วโลกที่กำลังลดความเสี่ยงก่อนการประกาศมาตรการภาษีรอบใหม่ของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน (ตามเวลาสหรัฐฯ) ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่ราคาทองคำซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์
อย่างไรก็ตาม Gui ไม่ใช่นักลงทุนเพียงรายเดียวที่มองตลาดพันธบัตรประเภท Junk Bond ในแง่บวก นักลงทุนสหรัฐฯ บางส่วนเริ่มหันมาถือครองพันธบัตรกลุ่มนี้เพื่อป้องกันความผันผวน
กองทุนพันธบัตร High-Yield สกุลดอลลาร์เอเชียของ UBS ซึ่งบริหารโดย Gui ให้ผลตอบแทนประมาณ 16% ในปีที่ผ่านมา เทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ย 9% ของกองทุน High-Yield อื่นๆ ตามข้อมูลของ Bloomberg
Gui มีมุมมองเชิงบวกส่วนหนึ่งจากความเชื่อว่าวิกฤตการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนกำลังสิ้นสุดลง โดยปัจจุบันภาคอสังหาฯ ของจีนคิดเป็นสัดส่วนเพียง 7% ของตลาดพันธบัตร High-Yield เอเชีย ลดลงจาก 38% ในช่วงต้นปี 2020
“จากการศึกษาของเรา พบว่ามีบริษัทจำนวนน้อยมากที่มีแนวโน้มจะผิดนัดชำระหนี้ในเอเชียปี 2025 อัตราการผิดนัดที่ลดลงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Spread) แคบลง” Gui กล่าว
นอกจากนี้ ตลาดยังมีโอกาสในการฟื้นตัวเพิ่มเติม เนื่องจากราคาพันธบัตรยังไม่กลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาดของ โควิด-19 โดยปัจจุบัน Junk Bond เอเชียให้ผลตอบแทนสูงกว่าตะกร้าพันธบัตร High-Yield ทั่วโลก 1.63% เทียบกับค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าประมาณ 0.45% ในช่วงทศวรรษก่อนหน้า
ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า Junk Bond เอเชียให้ผลตอบแทน 2.8% ตั้งแต่ต้นปีนี้ สูงกว่าพันธบัตร High-Yield สหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทน 1.2% และพันธบัตรเกรดลงทุนของเอเชียที่ให้ผลตอบแทน 2.7%
ด้าน Henry Loh หัวหน้าฝ่ายเครดิตเอเชียของ Aberdeen มองว่าบริษัท High-Yield ในเอเชียที่พึ่งพาตลาดภายในประเทศเป็นหลักจะช่วยลดความกังวลของนักลงทุนท่ามกลางความไม่แน่นอนของตลาดโลก แต่ก็เตือนว่านักลงทุนยังคงต้อง “ปรับกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว” เนื่องจากตลาดยังเผชิญกับความผันผวนจากหลายปัจจัย
“ด้วยส่วนต่างอัตราผลตอบแทนที่ตึงตัวขึ้น ระยะปลอดภัยจึงลดลง และบรรยากาศการลงทุนอาจพลิกกลับอย่างรวดเร็ว” Loh กล่าว
ภาพ: Vitalii Vodolazskyi / Shutterstock
อ้างอิง: