×

ลับ ลวง พราง… ข้อตกลงนาฟตาคืนชีพ และกลยุทธ์ทรัมป์ในการต่อรองกับจีน

29.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) มีแววได้ไปต่อ หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ สามารถบรรลุข้อตกลงในหลักการเบื้องต้นกับเม็กซิโก เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาททางการค้า
  • แต่ชะตากรรมของดีล FTA 3 ฝ่าย ยังแขวนอยู่บนเส้นด้าย เพราะสหรัฐฯ จำเป็นต้องตกลงกับแคนาดาให้ได้ก่อน โดยกระบวนการนี้อาจต้องใช้เวลาอีกนับเดือน
  • นักวิเคราะห์มองว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกเกิดขึ้นในช่วงเวลาประจวบเหมาะกับที่สหรัฐฯ กำลังมีปัญหากับจีน ซึ่งอาจเป็นกุศโลบายของทรัมป์ เพื่อบีบให้จีนเร่งยุติข้อพิพาททางการค้า
  • ดีลกับเม็กซิโกยังถูกมองว่ามีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง เพราะทรัมป์หวังอ้างเป็นผลงานก่อนสู้ศึกเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายนนี้

หลังข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) ตกอยู่ในภาวะชะงักงันนับปี สืบเนื่องจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตัดสินใจขอถอนตัว เพราะเห็นว่าสหรัฐฯ สูญเสียผลประโยชน์จากการค้าที่ไม่เป็นธรรมอย่างมหาศาลนั้น ล่าสุดดีลการค้าระดับไตรภาคีระหว่างสหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก มีโอกาสฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หลังทรัมป์และรัฐบาลเม็กซิโกสามารถบรรลุเงื่อนไขในความตกลงการค้าสองฝ่ายหรือทวิภาคีได้สำเร็จ จนกลายเป็นข่าวครึกโครมในช่วงนี้

 

แต่ดีลนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่สหรัฐฯ กำลังเจรจาหน้าสิ่วหน้าขวานกับจีน เพื่อหาทางยุติข้อพิพาทต่างๆ จากปมขาดดุลการค้าและละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

 

หรือนี่อาจเป็นเพียงเหตุการณ์ที่ประจวบเหมาะหรือความบังเอิญเท่านั้น

 

ทว่า ผู้สันทัดกรณีไม่มองเช่นนั้น พวกเขาลงความเห็นว่า นี่อาจเป็นกุศโลบายของทรัมป์ เพื่อหวังเป็นแต้มต่อในการกดดันให้จีนรีบสะสางปัญหาที่ยังไม่ลงรอยกัน

 

แต่ก่อนจะว่ากันในประเด็นนี้ ขอย้อนกลับมาพูดถึงความหวังในการต่อลมหายใจของนาฟตาที่มีอายุ 24 ปีกันก่อน

 

สื่อชั้นนำในสหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ทรัมป์ย้ำชัดว่า สหรัฐฯ ได้หันหลังให้กับนาฟตาแล้ว เพราะได้จัดทำข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคีกับเม็กซิโกแทนที่นาฟตา พร้อมเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ‘US-Mexico Trade Agreement’ และจะผลักดันข้อตกลงลักษณะนี้กับแคนาดาในอนาคต เพื่อแทนข้อตกลง 3 ฝ่าย

 

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อตกลงการค้าเสรีอย่างเป็นทางการระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกยังไม่เกิดขึ้น เพราะข้อตกลงที่สองประเทศเพิ่งทำไปนั้น เป็นเพียงความตกลงในการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างสองฝ่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจานาฟตาเท่านั้น

 

คำยืนยันนี้มาจากสำนักงานผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ ซึ่งระบุว่า ข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกฉบับล่าสุด เป็นฉันทานุมัติในหลักการเบื้องต้น เพื่อปรับปรุงข้อกำหนดในความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือฉบับเดิมให้มีความทันสมัยมากขึ้น และสอดคล้องกับศตวรรษที่ 21

 

 

สหรัฐฯ-เม็กซิโก ตกลงอะไรกันบ้าง

หลังการเจรจาดำเนินไปอย่างกระท่อนกระแท่นตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ในที่สุดสองประเทศซึ่งมีปมปัญหาเรื่องผู้อพยพก็ตกลงกันได้ในประเด็นการค้าภาคยานยนต์และพลังงาน ซึ่งถือเป็นชัยชนะในทางการเมืองของทรัมป์ ผู้ต้องการล้มเลิกข้อตกลงฉบับก่อน เพื่อร่างเงื่อนไขที่เป็นผลดีต่อสหรัฐฯ มากกว่าเดิม  

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านาฟตาจะมีความหวังอยู่รอด แต่หนทางข้างหน้ายังมีขวากหนามรออยู่ เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ จะต้องตกลงกับแคนาดาให้ได้ด้วย

 

ขณะที่ฝั่งเม็กซิโกยืนยันว่า จะยังไม่ประกาศรับรองข้อตกลงนาฟตาฉบับใหม่ จนกว่าแคนาดาจะจรดปากกาลงนามเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร

 

ชัยชนะของแคนาดา

ทรัมป์ประกาศจากทำเนียบขาวว่า เขาสามารถทำข้อตกลงที่มีความพิเศษสำหรับบริษัทผู้ผลิตและเกษตรกรชาวอเมริกันในดีลการค้ากับเม็กซิโก พร้อมส่งสารเตือนแคนาดาว่า พวกเขาต้องดิ้นรนเจรจา เพื่อทำข้อตกลงใหม่กับสหรัฐฯ มิเช่นนั้นรถยนต์ส่งออกทุกคันของแคนาดาก็จะเจอกับกำแพงภาษีมหาโหดของสหรัฐฯ

 

แม้ถ้อยแถลงของประมุขแห่งทำเนียบขาวจะฟังดูเลวร้ายสำหรับแคนาดา แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า สิ่งที่สหรัฐฯ และเม็กซิโกเพิ่งตกลงกัน แท้จริงดูดีเพียงเปลือกนอก แต่เนื้อในแทบไม่มีอะไรใหม่ เพราะในอดีตจะเห็นได้ว่าทรัมป์มักข่มขู่ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง แต่พอเอาเข้าจริงกลับไม่ได้ทำอย่างที่พูด

 

และหากว่ากันตามหลักการหรือข้อกฎหมายแล้ว ทรัมป์ไม่สามารถฉีกข้อตกลงนาฟตาได้เพียงลำพังตามอำเภอใจ แม้จะทำในนามของประเทศชาติก็ตาม เพราะการจะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดตามที่มีการเจรจากันมาหลายเดือน จะต้องผ่านความเห็นชอบจากสภาคองเกรสก่อน

 

และในความเป็นจริงแล้ว การเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับเม็กซิโกก็ยังไม่บรรลุขั้นตอนสุดท้าย เพราะยังต้องรอ โรเบิร์ต ไลต์ทิเซอร์ ผู้แทนการค้าระดับสูงของสหรัฐฯ ยื่นเอกสารที่มีรายละเอียดลงลึกให้รัฐสภาพิจารณาในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ก่อน

 

จากนั้นสภาคองเกรสมีเวลา 90 วัน ในการอ่านและรับรองรายละเอียด ซึ่งกระบวนการนี้อาจกินเวลานานจนล่วงเลยสู่ช่วงเลือกตั้งกลางเทอม และเมื่อถึงเวลานั้น การรับรองข้อตกลงก็อาจไม่เกิดขึ้น หากพรรครีพับลิกันของทรัมป์สูญเสียที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจนไม่สามารถครองเสียงข้างมากได้อีกต่อไป

 

ดังนั้น สมาชิกรีพับลิกันจึงเห็นควรให้ทรัมป์เร่งผลักดันการเจรจาและรวมแคนาดาเข้าไปในข้อตกลงฉบับใหม่ด้วย โดย ออร์ริน แฮตช์ วุฒิสมาชิกรัฐยูทาห์ ซึ่งนั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมาธิการด้านการคลังของวุฒิสภา ย้ำว่าข้อตกลงขั้นสุดท้ายจำเป็นต้องรวมแคนาดาเข้าไปด้วย

 

ส่วนแคนาดาเองก็มีพาวเวอร์ในข้อตกลงนาฟตา การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใดๆ ในข้อตกลงฉบับนี้จะต้องผ่านความเห็นชอบจากแคนาดาก่อน ขณะที่ คริสเตีย ฟรีแลนด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดา ซึ่งบินไปเจรจากับคณะผู้แทนสหรัฐฯ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ยืนกรานว่าจะเซ็นข้อตกลงที่ดีสำหรับแคนาดาเท่านั้น พร้อมย้ำว่าลายเซ็นของแคนาดามีความสำคัญกับทุกขั้นตอนการเจรจา

 

และหากทรัมป์ขึ้นภาษีรถยนต์ส่งออกของแคนาดาจริง ก็เท่ากับเป็นการทำร้ายบริษัทของสหรัฐฯ เสียเองด้วย

 

รัฐบาลแคนาดาเตือนสหรัฐฯ ว่า หากแคนาดาไม่ยอมลดภาษีผลิตภัณฑ์จากนม และทรัมป์ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีรถยนต์นำเข้าจากแคนาดา ความพยายามของสหรัฐฯ อาจสูญเปล่า เนื่องจากแคนาดาไม่มีแบรนด์รถรายใหญ่ที่ผลิตในประเทศ แต่รถยนต์ส่งออกส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ เอง ไม่ว่าจะเป็น GM, Ford หรือ Chrysler

 

และการขึ้นภาษีรถยี่ห้อ Cadillac ของ GM ก็จะทำให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จ่ายแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งทำให้ผลกำไรของบริษัทสหรัฐฯ ลดลงด้วย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทรัมป์ ไม่ว่าจะมองมุมไหน

 

ข่าวร้ายของจีน?

ในขณะที่สหรัฐฯ และจีนงัดข้อกันด้วยกำแพงภาษีจนโหมกระพือไฟสงครามการค้ากันอยู่นั้น ข่าวที่สหรัฐฯ และเม็กซิโกจับเข่าคุยกันอาจเป็นข่าวร้ายสำหรับจีน

 

จอห์น วูดส์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายลงทุนประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ Credit Suisse แสดงความเห็นกับ CNBC ว่าเม็กซิโกเป็นคู่ค้าที่สำคัญของสหรัฐฯ ดังนั้นข้อตกลงที่เพิ่งทำกันจึงส่งผลบวกต่อผลงานของทรัมป์ ก่อนสู้ศึกเลือกตั้งกลางเทอมในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่ผลดีกับจีน

 

เขาอธิบายว่า ตอนนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกว่าจะสามารถสะสางประเด็นพิพาทกันได้หรือไม่ โดยสหรัฐฯ ต้องการให้จีนปฏิรูปโครงสร้างมากกว่าการลดการขาดดุลการค้าระหว่างกัน เพราะนั่นเป็นประเด็นที่น่าจะหาทางออกกันได้ง่ายกว่า ณ เวลานี้

 

“ผมสงสัยว่าทรัมป์อาจต้องการปกปิดการเจรจากับจีน ต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง หรือรอไปจนกระทั่งถึงช่วงเลือกตั้งกลางเทอมในเดือนพฤศจิกายน”

 

ความเห็นของวูดส์ได้รับการสนับสนุนจากนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคาร ING หลายคน ซึ่งต่างมองว่า ตราบใดที่จีนและเอเชียเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อตกลงกับเม็กซิโกฉบับใหม่ก็จะไม่คลี่คลายปัญหาอะไร

 

อย่างไรก็ดี ข้อตกลงการค้าฉบับดังกล่าวจะทำให้สหรัฐฯ อยู่ในตำแหน่งที่ได้เปรียบในการเล่นบทแข็งในระหว่างต่อรองกับจีน

 

“ณ เวลานี้ คณะบริหารของทรัมป์มองไม่เห็นประโยชน์จากการเป็นฝ่ายไล่ตามเจรจากับจีนในประเด็นการค้า หากจีนไม่ยอมแก้ปัญหาเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และการบังคับถ่ายทอดเทคโนโลยี” นักเศรษฐศาสตร์จาก ING ให้ความเห็น

 

หากแนวโน้มเป็นเช่นนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเดินหน้าขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกรวมมูลค่า 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในเดือนกันยายน ซึ่งจีนก็น่าจะตอบโต้ด้วยมาตรการเดียวกัน จนทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

 

แต่กระนั้นสิ่งที่สหรัฐฯ ต้องการให้จีนเห็นจากดีลกับเม็กซิโกก็คือ สหรัฐฯ พร้อมที่จะถอยทุกเมื่อ หากพวกเขาได้รับการตอบสนองในเงื่อนไขที่น่าพอใจ ซึ่งนั่นถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับประเทศต่างๆ ที่พยายามจะเจรจากับคณะบริหารของทรัมป์

 

ฮวน คาร์ลอส ฮาร์ตาซานเชส ผู้อำนวยการอาวุโสของ Albright Stonebridge Group กล่าวว่า ประเทศเหล่านั้นสามารถเรียนรู้จากเม็กซิโกว่าจะเปลี่ยนการเจรจาที่ซับซ้อนและไม่คืบหน้ามาเป็นทางออกที่ดูเหมือนจะดีสำหรับทุกฝ่ายได้อย่างไร

 

ศึกการค้าครั้งนี้จึงมีความสลับซับซ้อนมากกว่าที่เคย และมีตัวละครเข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย แน่นอนว่า การเดินหมากแต่ละก้าวย่อมมีวาระซ่อนเร้นทางการเมือง แต่ใครจะเป็นฝ่ายชนะหรือเพลี่ยงพล้ำ คงต้องรอดูกันยาวๆ แต่ผลเลือกตั้งกลางเทอมอาจเป็นตัวบ่งชี้ว่าทรัมป์เดินหมากตานี้พลาดหรือไม่  

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X