×

ประเมินนโยบาย AI ของทรัมป์ เตรียมรื้อมาตรการเก่าไบเดน ลดการควบคุม เร่งนวัตกรรม

09.11.2024
  • LOADING...
นโยบาย AI ทรัมป์

การกลับมาดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา ชัยชนะครั้งนี้ทำให้พรรครีพับลิกันสามารถคุมวุฒิสภา (Senate) ไว้ได้ และมีการคาดการณ์ว่าจะรวมถึงสภาผู้แทนราษฎร (House) ด้วย โดยพรรคพวกของทรัมป์ให้คำมั่นว่า พวกเขาจะนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปสู่ระดับสูงสุดของการทำงานภาครัฐ

 

TechCrunch ออกบทวิเคราะห์ว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้แน่นอนว่านโยบายเรื่อง AI คือหนึ่งในวาระสำคัญ โดยทรัมป์เคยประกาศว่าจะรื้อถอนนโยบายกำกับดูแลเทคโนโลยี AI ที่คณะไบเดนเคยวางไว้เริ่มตั้งแต่วันแรกที่เขาเข้าทำงาน พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีกฎเกณฑ์กำกับดูแลในระดับน้อยที่สุดในระดับที่เหมาะสม

 

ภาพรวมของนโยบาย AI ที่คณะทำงานไบเดนเคยทำ

 

ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม ปี 2023 นโยบาย AI ของไบเดนถูกประกาศออกมาผ่านคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี (Executive Order) ด้วยเป้าหมายที่ต้องการจะพัฒนา AI ในด้านต่างๆ เช่น การแพทย์หรือการปกป้องสินทรัพย์ทางปัญญา ในขณะที่ก็บริหารจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยไปด้วยในเวลาเดียวกัน

 

แต่ภายใต้คำสั่งพิเศษดังกล่าว กลับมี 2 ข้อกำหนดที่สมาชิกพรรครีพับลิกันบางส่วนมองว่าไม่เหมาะสม ซึ่งข้อแรกคือ การกำหนดให้บริษัทที่พัฒนาโมเดล AI ต้องรายงานต่อรัฐบาลเกี่ยวกับวิธีการฝึกฝนและกรอบการดูแลรักษาความปลอดภัยของโมเดล และข้อสองคือ การขอให้สถาบันมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (NIST) กำหนดกรอบแนวทาง เพื่อตรวจจับข้อบกพร่องรวมถึงความลำเอียงในโมเดล AI ต่างๆ

 

นโยบาย AI ทรัมป์

 

นับตั้งแต่มีการนำคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดีอันนี้ไปใช้ กระทรวงพาณิชย์ก็ได้จัดตั้งสถาบันความปลอดภัยด้าน AI แห่งสหรัฐฯ (AISI) เพื่อศึกษาความเสี่ยงของ AI และร่วมมือกับบริษัทต่างๆ เช่น OpenAI และ Anthropic ในการทดสอบความปลอดภัยของโมเดลใหม่

 

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์โดยเฉพาะผู้ที่สนับสนุนทรัมป์โต้แย้งว่า การกำหนดให้มีการรายงานการฝึกฝนและกรอบการดูแลรักษาความปลอดภัยของโมเดล AI เป็นการผลักภาระที่มากเกินไปให้กับผู้ประกอบการ และบีบให้บริษัทจำเป็นต้องเปิดเผยความลับทางธุรกิจ ซึ่งพวกเขายังเชื่อด้วยว่าคำสั่งนี้เป็นการใช้อำนาจบริหารเกินขอบเขต และอาจเป็นปัจจัยขัดขวางนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นได้ยากกว่าที่ควรจะเป็น

 

แนนซี เมซ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครีพับลิกัน กล่าวว่ากฎเกณฑ์ที่มาจากคำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี “จะเป็นสิ่งที่ขวางกั้นผู้ผลิตนวัตกรรมที่จะสร้างเทคโนโลยี AI ล้ำสมัยอันต่อๆ ไปขึ้นมา”

 

นอกจากนี้สมาชิกพรรครีพับลิกันบางคนกล่าวหาว่า การใช้กฎระเบียบด้าน AI ของไบเดนเป็นวิธีแบบหนึ่งของการปิดกั้นเนื้อหาที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม ซึ่งทรัมป์ให้สัญญาไว้ในเดือนธันวาคมของปีที่ผ่านมาว่า “ผมจะยกเลิกคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีด้าน AI ของไบเดนออกหลังได้รับเลือกให้กลับมาทำงานอีกครั้ง และจะแบนการใช้ AI ที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดของชาวอเมริกันตั้งแต่วันแรก”

 

คำถามที่ตามมาคือ แล้วอะไรจะเข้ามาแทนที่คำสั่งพิเศษประธานาธิบดีด้าน AI ของไบเดนล่ะ?

 

TechCrunch มองว่าหน้าตาของนโยบาย AI ในสมัยทรัมป์ 2.0 อาจไม่ต่างกับสิ่งที่เขาเคยทำในช่วงที่เขาเป็นประธานาธิบดีสมัยที่แล้ว โดยทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งพิเศษประธานาธิบดีเกี่ยวกับ AI ที่มีแผนจะจัดตั้งสถาบันวิจัย AI แห่งชาติ และสั่งให้หน่วยงานรัฐบาลเน้นการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งให้ความสำคัญกับการปกป้องความเป็นส่วนตัว ค่านิยมของชาวอเมริกัน รวมถึงการช่วยให้คนงานเรียนรู้ทักษะ AI และการส่งเสริมการใช้ AI ที่น่าเชื่อถือ

 

ในระหว่างการหาเสียง ทรัมป์สัญญาว่าจะสนับสนุน AI ที่ให้เสรีภาพในการแสดงออกและทำให้ความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น แต่เขาก็ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าเป้าหมายนั้นจะเกิดขึ้นได้จริงอย่างไร

 

สำหรับอนาคตของสถาบันความปลอดภัยด้าน AI แห่งสหรัฐฯ (AISI) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ NIST มีความเป็นไปได้ว่าอาจถูกปิดหากคำสั่ง AI ของไบเดนถูกเพิกถอน ซึ่งถ้าหากเกิดขึ้นจริงอาจทำให้ภาพรวมของกฎเกณฑ์การกำกับดูแล AI เปลี่ยนไป

 

อีกหนึ่งด้านที่น่าสนใจของนโยบายคือ ท่าทีการพยายามปกป้องการค้าของอเมริกาจากทรัมป์จะส่งผลต่อนโยบาย AI โดย แฮมิด เอ็กเบีย ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Syracuse เชื่อว่า การควบคุมการส่งออกที่เข้มงวดกับจีน อาจเป็นการระงับไม่ให้เทคโนโลยีสำคัญที่จำเป็นสำหรับการพัฒนา AI ไหลออกไปจีน

 

จริงอยู่ที่รัฐบาลของไบเดนมีการห้ามส่งออกชิปหรือโมเดล AI อยู่แล้ว แต่มีรายงานจาก Reuters ว่า บริษัทจีนบางแห่งกำลังหาวิธีหลีกเลี่ยงการกีดกันเหล่านี้โดยใช้บริการคลาวด์ของ Amazon Web Services (AWS) เป็นช่องทางในการเข้าถึงชิปหรือโมเดล AI รุ่นล่าสุด

 

เอ็กเบียเตือนว่า การควบคุมที่เข้มงวดเกินไปอาจเป็นผลเสียต่อการกำกับดูแล AI ในระดับโลกที่ ณ เวลานี้ต้องการความร่วมมือระหว่างกัน โดยผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมืองอาจทำให้การใช้ AI หันเหไปในทิศทางที่เป็นอันตรายมากขึ้น เช่น ใช้ในการควบคุมหรือบิดเบือนข้อมูล

 

แน่นอนว่านี่เป็นการคาดการณ์ที่ค่อนข้างเร็ว ซึ่งนับจากนี้คงต้องดูต่อไปว่าท่าทีของทรัมป์กับการกำกับดูแล AI จะเป็นอย่างไร แต่ที่หลายฝ่ายคาดไว้ก็คือ การที่ทรัมป์ต้องการจะออกกฎเกณฑ์ควบคุมให้น้อยที่สุดเพื่อสนับสนุนนวัตกรรม

 

อ้างอิง:

 

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X