×

จะเกิดอะไรขึ้น หลังทรัมป์เซ็นคำสั่งนำสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส

21.01.2025
  • LOADING...
trump-us-withdraw-paris

เป็นอีกครั้งที่ โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างเสียงฮือฮาตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หลังเขายืนยันที่จะพาสหรัฐฯ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีสเป็นครั้งที่ 2 สวนกระแสความร่วมมือของนานาประเทศที่พยายามลดผลกระทบจากภาวะโลกรวน ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามโลกในระดับวิกฤต

 

  • ความเคลื่อนไหวที่เปลี่ยนภาพลักษณ์สหรัฐฯ

 

การตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ส่งผลให้สหรัฐฯ กลายเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมข้อตกลงปารีสร่วมกับอิหร่าน ลิเบีย และเยเมน ทั้งที่ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายสำคัญในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม มิเช่นนั้นสถานการณ์ความเลวร้ายทางสภาพอากาศจะไปสู่จุดที่แก้ไขได้ยากแล้ว

 

“ผมขอถอนตัวจากข้อตกลงปารีสที่ไม่เป็นธรรมและลำเอียงทันที” เขากล่าว ก่อนที่จะลงนามในคำสั่งพิเศษฝ่ายบริหาร (Executive Order) ต่อหน้าบรรดาผู้สนับสนุนที่มารวมตัวกัน ณ Capital One Arena ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พร้อมโจมตีว่าจีนยังคงสร้างมลพิษโดยไม่ต้องรับผิดชอบ ในขณะที่สหรัฐฯ ต้องแบกรับภาระอย่างไม่สมเหตุผล

 

ท่าทีล่าสุดของทรัมป์สะท้อนทัศนะของเขาเกี่ยวกับภาวะโลกรวนได้เป็นอย่างดี เพราะก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยประกาศไว้ว่า ‘โลกรวนคือเรื่องหลอกลวง’ อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนงานต่างๆ ของทรัมป์ที่ต้องการปลดพันธนาการของบริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซของสหรัฐฯ ออกจากกฎระเบียบสีเขียวต่างๆ เพื่อยกระดับกำลังการผลิตให้ได้มากที่สุด

 

ในขั้นตอนต่อไปนั้น สหรัฐฯ จะต้องแจ้งอย่างเป็นทางการต่อ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) เกี่ยวกับการถอนตัวดังกล่าว ซึ่งภายใต้ข้อกำหนดแล้ว ข้อตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้ในอีก 1 ปีต่อมา

 

  • ผลกระทบที่มากกว่าแค่คำสั่งถอนตัว

 

นักวิชาการเตือนว่าการถอนตัวครั้งนี้อาจสร้างความเสียหายต่อความพยายามด้านสภาพภูมิอากาศของนานาชาติในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก หรือเป็นรองเพียงแค่จีน

 

พอล วัตกินสัน อดีตผู้เจรจาเรื่องสภาพอากาศและที่ปรึกษานโยบายอาวุโสของฝรั่งเศส กล่าวว่า การถอนตัวครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจแตะ 3 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษ อันจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น และพายุทำลายล้างเกิดบ่อยครั้งขึ้น

 

  • สหรัฐฯ เลือกเดินสวนทางโลก

 

การตัดสินใจของทรัมป์สวนทางกับนโยบายของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่เน้นผลักดันสหรัฐฯ ให้เป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาด และลดการพึ่งพาน้ำมันและก๊าซ แม้ไบเดนจะเคยพลิกสถานการณ์และนำสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีสในปี 2021 แต่การถอนตัวครั้งใหม่นี้ชี้ให้เห็นว่าทรัมป์มีแผนจะผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการผลิตและกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

วัตกินสันกล่าวว่า การถอนตัวครั้งนี้ยังอาจสร้างความเสียหายต่อความพยายามด้านสภาพอากาศของนานาประเทศทั่วโลกได้มากขึ้น

 

“ครั้งนี้จะยากขึ้นเพราะเรายังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการดำเนินการ” วัตกินสันกล่าว

 

แม้หลายๆ ชาติจะมีความพยายามที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด แต่ด้วยปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นสงคราม ความขัดแย้งทางการเมือง และงบประมาณของรัฐที่จำกัด ทำให้หลายๆ ประเทศไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสภาพอากาศมาเป็นลำดับต้นๆ อย่างที่ควรจะเป็น

 

  • จีนจับตา เตรียมคว้าชัยในตลาดพลังงานสะอาด?

 

หลี่ซั่ว (Li Shuo) ผู้เชี่ยวชาญด้านการทูตสภาพภูมิอากาศแห่งสถาบัน Asia Society Policy Institute กล่าวว่าการถอนตัวของสหรัฐฯ อาจทำให้จีนกลายเป็นผู้นำในตลาดพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และยานพาหนะไฟฟ้า พร้อมเตือนว่าสหรัฐฯ อาจตามหลังจีนในด้านนี้มากขึ้น

 

“นี่คือโอกาสสำคัญที่จีนจะก้าวขึ้นมา และสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเสียเปรียบในการแข่งขัน” หลี่กล่าว

 

  • UN ยังคงหวังภาคธุรกิจและท้องถิ่นสหรัฐฯ หนุนพลังงานสะอาด

 

แม้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ จะถอนตัว แต่กูเตอร์เรสมั่นใจว่าเมืองต่างๆ รวมไปถึงรัฐและภาคธุรกิจของสหรัฐฯ “จะยังคงแสดงวิสัยทัศน์และความเป็นผู้นำด้วยการทำงานเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยืดหยุ่นและปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งจะสร้างงานที่มีคุณภาพ”

 

ฟลอเรนเซีย โซโต นีโน โฆษกสหประชาชาติ กล่าวในแถลงการณ์ว่า “สิ่งสำคัญคือสหรัฐอเมริกาต้องยังคงรักษาความเป็นผู้นำในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ความพยายามร่วมกันภายใต้ข้อตกลงปารีสทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่เราจำเป็นต้องก้าวไปข้างหน้าและก้าวไปให้เร็วขึ้นด้วยกัน”

 

ปัจจุบันสหรัฐฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีการขุดเจาะน้ำมันอย่างแพร่หลายในเท็กซัส นิวเม็กซิโก และที่อื่นๆ เป็นเวลานานหลายปี ซึ่งได้รับแรงหนุนจากเทคโนโลยีการขุดน้ำมันแบบ Fracking และราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวขึ้นทั่วโลกนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน

 

การถอนตัวของสหรัฐฯ จากข้อตกลงปารีสเป็นสัญญาณเตือนว่าโลกยังคงเผชิญความท้าทายจากการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ที่อาจขัดขวางความพยายามร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศ ในห้วงเวลาที่นาฬิกาของโลกกำลังเดินไปสู่จุดที่ไม่มีทางหวนกลับได้อีกต่อไป

 

ภาพ: Carlos Barria / Reuters

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising