×

สงครามการค้าเดือด! ทรัมป์เปิดแนวรบตั้งกำแพงภาษี ทำสินทรัพย์ลงทุนโลกผันผวน ส่อลามส่งออกไทยปีนี้ ‘พลิกโตติดลบ’

06.02.2025
  • LOADING...
สงครามการค้า

สงครามการค้าในยุคทรัมป์ 2.0 มีสัญญาณทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังจากสหรัฐฯ ประกาศขึ้นกำแพงภาษีเฟสแรกกับ 3 ประเทศคู่ค้าสำคัญ และถูกตอบโต้แบบทันควันจากจีน

 

สุทธิชัย คุ้มวรชัย Head of Investment Strategy ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ (InnovestX) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า กรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศนโยบายการตั้งกำแพงภาษี (Tariff) สินค้านำแคนาดาและเม็กซิโก 25% และสินค้านำเข้าจากจีนอีก 10% เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ถัดมาไม่นานก็ประกาศเลื่อนการมีผลบังคับใช้ออกไป 30 วัน จากเดิมจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ กับประเทศแคนาดาและเม็กซิโกไปเพื่อให้มีการเจรจา โดยสหรัฐฯ จะใช้เป็นโอกาสยก Tariff ขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองเพื่อคาดหวังผลลัพธ์ในเรื่องที่สหรัฐฯ ต้องการเพิ่มเติมกับทั้ง 3 ประเทศนั้น ถือเป็นการเริ่มต้นของสงครามการทางค้า (Trade War)

 

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวมีผลกระทบต่อภาคการลงทุน และทำให้สินทรัพย์ทั่วโลกมีความผันผวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น 

 

อีกทั้งยังทำให้ภาพการลงทุนในสินทรัพย์ทั่วโลกในปี 2025 คลุมเครือมากขึ้น เมื่อเทียบกับปี 2024

 

นอกจากนี้ จากถ้อยแถลงของทรัมป์ที่ระบุว่า การใช้นโยบาย Tariff อาจไม่หยุดเพียงเท่านี้ โดยมีแนวโน้มที่จะเห็นการตั้งกำแพงภาษีกับสินค้าที่นำเข้ามาจากกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) รวมถึงในกลุ่มเอเชียก็มีความเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังในการตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ และยังต้องติดตามว่าประเทศไทยจะมีผลกระทบมากหรือน้อยอย่างไร

 

ทั้งนี้ จากการประกาศนโยบายของทรัมป์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เกี่ยวกับ Tariff ที่จะใช้กับแคนาดาและเม็กซิโก ประเมินว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบแน่นอนคือ อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์ และสินค้าเกษตร เพราะถือเป็นกลุ่มสินค้าที่มีการนำเข้าไปยังสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง

 

สหรัฐฯ ผลิตน้ำมันในประเทศไม่พอใช้ ต้องนำเข้าเพิ่มจากแคนาดา

 

อย่างไรก็ดี แม้สหรัฐฯ จะมีแหล่งทรัพยากรน้ำมันในประเทศเป็นจำนวนมาก แต่มีการผลิตน้ำมันในประเทศอยู่ที่ 13 ล้านบาร์เรลต่อปี ขณะที่มีการใช้ในประเทศอยู่ที่ประมาณ 20 ล้านบาร์เรลต่อปี ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศอีกส่วนหนึ่ง โดยในปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันจากแคนาดาประมาณ 4 ล้านบาร์เรลต่อปี ขณะที่น้ำมันส่วนใหญ่ที่ผลิตได้ของแคนาดามีการส่งเข้ามาขายที่สหรัฐฯ เป็นหลักส่วนใหญ่

 

ขณะที่สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าพลังงาน หรือน้ำมันจากแคนาดาเพียง 10% ขณะที่กลุ่มสินค้าอื่นๆ ที่นำเข้าจากแคนาดานั้น มีอัตราภาษีอยู่ที่ 25% เนื่องจากสหรัฐฯ มีความจำเป็นต้องพึ่งพิงการนำเข้าพลังงานจากแคนาดาค่อนข้างมาก โดยโรงกลั่นในเขต Midwest ของสหรัฐฯ ก็มีการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดามาใช้ในปริมาณที่ค่อนข้างมาก ซึ่งโรงกลั่นในเขต Midwest ของสหรัฐฯ มีสัดส่วนประมาณ 25% ของกำลังการผลิตน้ำมันทั้งหมดของสหรัฐฯ

 

ดังนั้นภาพที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้นหากมีการเรียกเก็บภาษีการนำเข้าน้ำมันจากแคนาดาเป็นอัตราที่สูงมากเกินไป จะเป็นปัจจัยที่กระทบต่อต้นทุนพลังงานของสหรัฐฯ ให้สูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเร่งตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นภาพที่ทรัมป์ไม่ต้องการจะให้เกิดขึ้น

 

สำหรับภาพระยะกลางและระยะยาว หากสหรัฐฯ มีศักยภาพในการนำเข้าน้ำมันจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้ทดแทนการนำเข้าจากแคนาดา เช่น นำเข้าน้ำมันจากตะวันออกกลางและยุโรปเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลให้อำนาจการต่อรองของกลุ่มโรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจมีผลให้ในอนาคตสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องมีการนำเข้าน้ำมันจากแคนาดาอีกต่อไป และอาจมีผลกระทบต่อภาพการค้าน้ำมันของโลกให้เปลี่ยนจากปัจจุบันได้เช่นกัน

 

ส่วนกรณีหลังจากที่ทรัมป์เข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน โดยต้องการให้มีการลงทุนและผลิตพลังงานกลุ่มฟอสซิลเพิ่มมากขึ้นนั้น ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ และมีความคุ้มค่าของโครงการ โดยมีปัจจัยหลักคือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ซึ่งหากราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ผู้ประกอบการก็ยังไม่จูงใจที่จะเข้ามาลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ๆ 

 

ทั้งนี้ ในช่วงแรกกระบวนการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ จากเชลล์ออยล์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี จึงจะสามารถเริ่มทำการผลิตได้

 

ขณะที่สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ประเมินว่า ในปี 2025 สหรัฐฯ จะมีการผลิตน้ำมันเพิ่มได้ 3% จากปี 2024 ซึ่งยังไม่ครอบคลุมกับปริมาณความต้องการใช้ทั้งหมดของประเทศ

 

จับตาเงินเฟ้อพุ่งจากนโยบายกำแพงภาษีของ ‘ทรัมป์’ 

 

สิทธิชัยกล่าวต่อว่า ความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มมากขึ้นจากนโยบาย Tariff ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่อาจจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยที่น้อยลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ ซึ่งเดิมคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยในปีนี้จำนวน 2 ครั้ง รวมกันอยู่ที่ 0.50% แต่ล่าสุดมีการปรับประมาณการโดยคาดว่า Fed จะมีการลดดอกเบี้ยลงจำนวน 1 ครั้งในเดือนมิถุนายนปีนี้ ที่ 0.25% ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจมีผลกระทบไปยังภาพรวมของเศรษฐกิจโลก

 

โดย InnovestX ประเมินเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวอยู่ในระดับประมาณ 2% ขณะที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจอื่นๆ รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า GDP ของโลกในปี 2025 จะขยายตัวในระดับ 2.5-3% ซึ่ง InnovestX มีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น โดยล่าสุดมีการปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อของโลกในปีนี้ขึ้นจากเดิมที่ทำไว้ 2.5% มาเป็น 2.7% เนื่องจากประเมินว่าผลกระทบของสถานการณ์สงครามการค้าที่อาจมีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จะกดดันให้อัตราเงินเฟ้อของโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 

ไทยเสี่ยงเจอพิษสงครามการค้า ฉุดส่งออกปีนี้โตติดลบ

 

อีกทั้งประเมินว่าสถานการณ์สงครามการค้าที่มีความเสี่ยงที่รุนแรงขึ้นจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในภาคส่งออก ซึ่งเดิมคาดว่าในปี 2025 จะมีอัตราการเติบโตที่ระดับ 0% พลิกมาเป็นเติบโตติดลบ 1% ขณะที่คาดว่า GDP ของไทยในปีนี้จะขยายตัวในระดับ 2.5%

 

ขณะที่ประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการลดดอกเบี้ยลงจำนวน 2 ครั้งในปีนี้ ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนหน้านี้ ที่ส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสม ยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งลดดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้

 

เปิดธีมกลยุทธ์การลงทุนรับมือยุคทรัมป์ 2.0 ป่วนโลก

 

ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะกับภาพของความผันผวนที่เกิดขึ้นในตลาดสินทรัพย์ต่างๆ ในปีนี้ ยังคงแนะนำให้เน้นการเทรดดิ้ง รวมถึงการจับจังหวะการลงทุนที่ดี เนื่องจากภาพรวมการลงทุนของโลกจะมีความผันผวนที่สูงขึ้นจากผลกระทบของสงครามการค้าที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น

 

ส่วนกลยุทธ์การลงทุนหรือธีมกลยุทธ์การลงทุนที่น่าสนใจในตลาดหุ้นไทย มีดังนี้

 

ธีมที่หนึ่งให้เน้นหุ้นในกลุ่มที่มีการจ่ายเงินปันผลในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้ โดยมีอัตราการจ่ายเงินปันผลที่สูงในระดับเกินระดับ 3% ขึ้นไป อีกทั้งให้ติดตามหุ้นที่มีการทำ Capital Management คือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยหลายแห่งที่มีการทยอยซื้อหุ้นคืน รวมทั้งมีการปรับอัตราในการจ่ายเงินปันผลที่เพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ KBANK, BBL, KTB, PTT และ AP 

 

ธีมที่สองคือ หุ้นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนภาษี Easy e-Receipt และโครงการแจกเงิน 10,000 บาทเฟสที่ 2 ของรัฐบาลที่เริ่มขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา คือหุ้นกลุ่มค้าปลีกกับท่องเที่ยว

 

ธีมที่สาม คือหุ้นกลุ่มที่ประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/67 และไตรมาส 1/68 ออกมาดี คือกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และกลุ่ม Real Sector ได้แก่ ADVANC, TRUE, AMATA, TIDLOR, MTC, AU และ STC

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising