“ผู้นำต่างชาติขโมยงานไปจากเรา พวกขี้โกงต่างชาติปล้นโรงงานของเรา พวกคุ้ยขยะจากต่างชาติฉีกสังคมของเราที่เคยสวยงามออกเป็นชิ้นๆ … แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปแล้ว
…
วันนี้จะเป็นวันที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกัน จะเป็นวันประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจของพวกเรา [ชาวอเมริกัน]
…
งานและโรงงานจะกลับคืนสู่ประเทศของเรา และพวกคุณได้เห็นว่ามันเกิดขึ้นแล้ว … ถ้าพวกเขาทั้งหลายพร่ำบ่น [เรื่องกำแพงภาษี] และถ้าคุณต้องการให้อัตราภาษีเป็นศูนย์ คุณก็ต้องสร้างผลผลิตของพวกคุณที่นี่ในอเมริกา”
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ถ้อยแถลงที่สวนกุหลาบในทำเนียบขาว
2 เมษายน 2025
บทความนี้อยากจะขอเริ่มต้นด้วยข้อสังเกตว่า บรรยากาศของสวนกุหลาบในทำเนียบขาว (the White House Rose Garden) น่าจะต้องเป็นความน่าอภิรมย์ใจอย่างแน่นอน เพราะด้วยความเป็นศูนย์กลางของอำนาจทางการเมืองของฝ่ายบริหารในแบบการเมืองอเมริกันนั้น สวนแห่งนี้คงสวยและน่ารื่นรมย์ใจ และชวนสุขใจในบรรยากาศของดอกกุหลาบหลากสีในฤดูใบไม้ผลิที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อย่างไม่มีข้อสงสัย
แต่สวนกุหลาบแห่งนี้กำลังเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของความเปลี่ยนแปลงของการเมืองโลก และเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของโลกในอนาคตอย่างมากด้วย
ในพุธที่ 2 เมษายน นี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เลือกที่จะใช้สถานที่แห่งนี้เป็นที่ของการประกาศ ‘อิสรภาพทางเศรษฐกิจ’ ของสหรัฐอเมริกา อิสรภาพนี้ในมิติทางความคิดของทรัมป์ เกิดขึ้นได้ด้วยการสร้าง ‘กำแพงภาษี’ (tariff) สำหรับกีดกันสินค้าจากประเทศต่างๆ ที่นำเข้าสู่สังคมอเมริกัน เพราะทรัมป์และผู้สนับสนุนเขาเชื่ออย่างมากว่า สหรัฐฯ ถูกเอาเปรียบทางเศรษฐกิจจากประเทศผู้นำเข้า และสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะที่ต้องจำยอมมาโดยตลอด
ดังนั้น บรรยากาศของสวนกุหลาบแห่งนี้ที่มาพร้อมกับคำประกาศอัตราภาษีใหม่ของทรัมป์ในวันที่ 2 นั้น ดูจะทำให้สวนแห่งนี้ไม่น่าอภิรมย์ใจอย่างแน่นอน เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น คือความปั่นป่วนอย่างมากของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มประชานิยมปีกขวา (right-wing populism) ที่เป็นรากฐานทางความคิดของทรัมป์และผู้สนับสนุนแล้ว การกีดกันทางการค้า (economic protectionism) ด้วยมาตรการของกำแพงภาษี เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบทางความคิดที่สำคัญของชุดความคิดแบบ ‘ทรัมป์นิยม’ (Trumpism) และทรัมป์ได้หาเสียงด้วยข้อเสนอทางเศรษฐกิจนี้มาโดยตลอดอย่างไม่ปิดบัง กระนั้น ก็ไม่มีใครคาดเดาได้ว่า ‘กำแพงภาษี’ จะมีความสูงเท่าใดในยุค ‘ทรัมป์ 2’
เราจึงเพิ่งได้เห็นสถานการณ์จริงหลังจากการสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2025 เพราะทรัมป์มีสถานะของความเป็นประธานาธิบดีอย่างสมบูรณ์ตามกฎหมาย ฉะนั้น คำถามที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด คือ “กำแพงจะสูงเท่าใด?”
แน่นอนว่า กำแพงนี้ไม่ใช่กำแพงทางกายภาพ แต่เป็น “กำแพงภาษี” ที่มีนัยว่า ยิ่งสูงเท่าใด ก็ยิ่งสร้างปัญหามากเท่านั้น เพราะกำแพงนี้จะนำไปสู่ความปั่นป่วนให้กับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างหนีไม่พ้น และอาจกลายเป็นชนวนสำคัญของความขัดแย้งของรัฐมหาอำนาจในเวทีโลกในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย
แต่สำหรับทรัมป์แล้ว คำประกาศมาตรการกำแพงภาษีที่สวนกุหลาบเป็น “a little tough love” และเขาเชื่อว่า บรรดาผู้นำทั้งหลายต่างก็เข้าใจในเรื่องนี้ดี … แม้ว่าจะเป็น “ความรัก” ที่ทรัมป์มอบให้ แต่ก็เป็นความรักที่มาพร้อมกับ “มาตรการ” บางอย่างด้วย นโยบายแบบนี้อยากจะขอเรียกตามแบบละครทีวีไทยว่า นโยบาย “รักโหดๆ” ทางเศรษฐกิจของทรัมป์
คำประกาศอิสรภาพ
คำประกาศของทำเนียบขาวในการกำหนดอัตราภาษีนำเข้าใหม่นั้น ได้สร้าง ‘ความตื่นตระหนก’ ทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลและบรรดาผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าทั้งหลาย เพราะไม่เพียงจะทำให้สินค้าต่างประเทศที่ขายในตลาดอเมริกามีราคาสูงมากขึ้นเท่านั้น แต่อาจเป็นเสมือนถึงการหดตัวของตลาดสหรัฐฯ สำหรับผู้ส่งออกในหลายประเทศ (รวมทั้งผู้ส่งออกไทย) ซึ่งภาวะเช่นนี้ จะมีผลอย่างมากกับเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างมากด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่า คำประกาศของทรัมป์กำลังสร้างผลสะเทือนในวงกว้างกับความเป็นไปของการจัดระเบียบเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (international economic order) อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน
ทรัมป์และบรรดานักคิดทางเศรษฐกิจในสาย ‘ทรัมป์นิยม’ เชื่ออย่างมากว่า การตั้งกำแพงภาษีเช่นนี้ จะเกิดแรงกดดันทำให้ผู้ประกอบการหลายส่วนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตกลับคืนสู่สหรัฐฯ อันจะส่งผลให้การประกอบการผลิตภายในสังคมอเมริกันมีอัตราขยับตัวสูงขึ้น
อีกทั้ง เขายังได้ประกาศว่า รัฐบาลอเมริกันจะไม่อนุญาตให้มีการนำสินค้าเข้า โดยไม่ผ่านการเก็บภาษีใน ‘อัตราที่เหมาะสม’ อีกต่อไป (จะเห็นอัตราภาษีนำเข้าใหม่ของสหรัฐฯ ปรากฏชัดทั่วโลกในวันที่ 3 เมษายน ที่ผ่านมา อัตราใหม่นี้ปรากฏเป็นข่าวทั่วโลกแล้ว จะไม่ขอนำตัวเลขดังกล่าวมาเป็นประเด็นสำหรับบทความนี้อีกแต่อย่างใด)
สำหรับทรัมป์แล้ว การดำเนินการเช่นนี้ คือ การประกาศ ‘อิสรภาพทางเศรษฐกิจ’ (the declaration of economic independence) เทียบได้กับการประกาศ ‘อิสรภาพทางการเมือง’ ที่นำไปสู่การตั้งรัฐเอกราชของชาวอเมริกันในปี 1776
อัตราใหม่ที่ทรัมป์ประกาศออกมานั้น เขาถึงกับประกาศว่าเป็นอัตราแบบ ‘ใจดีอย่างมาก’ แล้ว เพราะสหรัฐฯ เก็บเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น … a little tough love ของทรัมป์ สำหรับการกำหนดกำแพงภาษีเช่นนี้ ทุกคนรู้ดีว่า เป้าหมายหลักที่สำคัญคือ การทำสงครามการค้ากับจีน เพราะผู้นำอเมริกันมีมุมมองว่า จีนเป็นประเทศที่เอารัดเอาเปรียบสหรัฐฯ ในทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด และประเทศผู้ส่งสินค้าออกอีกหลายประเทศก็เอาเปรียบอเมริกาเช่นกัน ดังเช่น กรณีเม็กซิโกและแคนาดา เป็นต้น
ความโกลาหลทางเศรษฐกิจ
หลังจากการประกาศอัตราภาษีนำเข้าใหม่แล้ว สภาวะทางเศรษฐกิจของโลกเกิดความโกลาหลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้รัฐบาลและผู้ประกอบการของทุกประเทศต้องตระเตรียมทำนโยบายเศรษฐกิจใหม่ พร้อมกันนี้ ทุกประเทศที่เป็น ‘คู่ค้า’ กับสหรัฐฯ ก็เตรียมหาลู่ทางการเจรจาที่จะลดผลกระทบของกำแพงภาษีดังกล่าวลง
แต่แล้วในวันพุธที่ 9 เมษายน ที่ผ่านมา ผู้นำหลายประเทศทั่วโลกดูจะถอนหายใจคลายความกังวลได้สักหน่อย เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศที่จะชะลอการบังคับใช้มาตรการที่จะเก็บภาษีกับประเทศต่างๆ ตามที่ประกาศไว้ออกไปอีก 90 วัน
อย่างน้อยทุกประเทศได้คลายแรงกดดันออกไปอีก 3 เดือน แต่การผ่อนเวลาเช่นนี้ ก็ไม่ได้บอกว่า คำประกาศเก็บภาษีในอัตราใหม่ของทรัมป์จะยุติลงแต่อย่างใด ผู้นำสหรัฐฯ ยังคงเตรียมเก็บภาษีในอัตราใหม่ในอนาคต เป็นแต่เพียงการยืดเวลาออกไปชั่วคราวเท่านั้น
ในภาวะที่ทรัมป์ยอมขยับเวลาออกไปเช่นนั้น อัตราภาษีพื้นฐานที่ทรัมป์จะใช้กับสินค้าที่นำเข้าสหรัฐอเมริกาที่ร้อยละ 10 จะยังคงบังคับใช้ไม่เปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกัน มาตรการภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีนจะขยับสูงขึ้นมากอย่างคาดไม่ถึง คือ เป็นร้อยละ 145 (จากเดิมที่ประกาศว่าเป็นร้อยละ 84)
ทั้งหมดนี้บอกเราชัดเจนว่า สงครามการค้าในเวทีโลกระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ไม่ใช่เพียงเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้ที่กำลังถูกยกระดับ และมีแนวโน้มที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้นได้ ว่าที่จริง ก่อนหน้านี้ โลกได้เห็นปรากฏการณ์สงครามการค้าเช่นนี้ในยุค ‘ทรัมป์ 1’ มาแล้ว (ปี 2017-2020) แต่ก็ไม่รุนแรงมากนัก หรือในกรณีกับจีน สงครามการค้าของสหรัฐฯ กับจีนไม่ได้ส่งผลกระทบในวงกว้างเช่นปัจจุบัน
ในยุค ‘ทรัมป์ 2’ สถานการณ์สงครามชุดนี้ ดูจะมีความเข้มข้นของการต่อสู้ระหว่าง 2 รัฐมหาอำนาจใหญ่มากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้ง ต้องตระหนักว่า สงครามการค้าที่ดำเนินการผ่านการสร้าง ‘กำแพงภาษี’ นั้น เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่การแข่งขันต่อสู้ที่มีมิติทางเศรษฐกิจอย่างเป็นเอกเทศ กล่าวคือ สงครามการค้าคือ องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของการต่อสู้แข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของมหาอำนาจใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย
ดังจะเห็นได้ว่า ข้าศึกที่สำคัญในสงครามการค้าของสหรัฐฯ ครั้งนี้คือ จีน และยังเห็นได้จากมุมมองในมิติความมั่นคงจากมุมมองของผู้นำสหรัฐว่า จีนเป็น ‘ภัยคุกคามหลัก’ … การต่อสู้ในครั้งนี้ จีนจึงเป็นเป้าหมายหลัก
ในสภาวะเช่นนี้ ภัยคุกคามสำหรับสหรัฐฯ ในยุคนี้ ไม่ได้มาจากรัสเซีย (สหภาพโซเวียตแต่เดิม) อีกต่อไป ในทำนองเดียวกัน ผู้นำสหรัฐฯ ในยุคปัจจุบันดูจะมีไมตรีกับผู้นำรัสเซียอย่างคาดไม่ถึง ดังจะเห็นได้ชัดเจนว่า ผู้นำสหรัฐฯ ไม่ได้มองรัสเซียเป็น ‘ผู้รุกราน’ ในสงครามยูเครนแต่อย่างใด แต่ทรัมป์กลับมองว่า ยูเครนต่างหากที่เป็น ‘ตัวปัญหา’ และเป็นผู้ที่ทำให้เกิดสงคราม
น่าสนใจว่า ทัศนะของทรัมป์สอดรับกับคำอธิบายของปูตินอย่างไม่น่าเชื่อ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ผู้นำทั้งสองจะมีไมตรีต่อกันอย่างมาก จนเป็นเสมือนการพลิกนโยบายของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียในแบบ ‘กลับหัวกลับหาง’ ไปหมด … เป็นไปได้อย่างไรในทางการเมืองที่ผู้นำสหรัฐฯ จะมีท่าทีในเชิงบวกกับผู้นำรัสเซีย ถ้า เคนเนดี หรือ ครุสชอฟ ฟื้นขึ้นมาจากยุคสงครามเย็นแล้ว เขาคงตื่นเต้นไม่น้อยกับท่าทีใหม่เช่นนี้!
เศรษฐกิจแยกขาดจากความมั่นคง
ดังได้กล่าวในข้างต้นแล้วว่า สงครามการค้าของทรัมป์จึงมุ่งกระทำกับจีนเป็นเป้าหมายหลัก ซึ่งสหรัฐฯ หวังว่า สงครามเช่นนี้จะทำให้จีนอ่อนแอลง และในที่สุดต้องยอมด้วยการหันมาเจรจากับสหรัฐฯ กล่าวคือ สหรัฐฯ เชื่อว่า จีนจะต้องยอมสหรัฐฯ เพราะตลาดที่สำคัญที่สุดของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมจีนอยู่ในสหรัฐฯ
ฉะนั้น สิ่งที่เป็นความหวังอย่างมากของผู้นำสหรัฐฯ ในเชิงภาพลักษณ์คือ ผู้นำจีนยอมยกหูโทรศัพท์ขอเปิดการเจรจากับผู้นำสหรัฐฯ แต่จนบัดนี้ การเจรจาก็ยังไม่เกิด มีแต่กำแพงภาษีที่ถูกยกระดับขึ้น และคาดเดาได้ยากมากว่า เกมกำแพงภาษีระหว่าง 2 มหาอำนาจใหญ่จะเดินไปถึงจุดไหน และจะคลี่คลายต่อไปอย่างไร ซึ่งเฉพาะหน้านี้ มีเพียงการประกาศในวันจันทร์ที่ 14 เมษายน ให้ยกเว้นภาษีในอัตราใหม่สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน ที่เป็นด้านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
แต่ในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็ไม่ได้มีนัยว่า ทรัมป์จะไม่ทำสงครามการค้ากับประเทศอื่นๆ และทั้งไม่มีกฎเกณฑ์ว่า สงครามการค้านี้ จะไม่ทำกับชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ เดิม เพราะจากตัวเลขที่ทำเนียบขาวประกาศอัตราภาษีใหม่กับทุกประเทศทั่วโลกนั้น กลายเป็นสัญญาณว่า สหรัฐฯ กำลังทำสงครามการค้ากับทุกประเทศทั่วโลกอย่างไม่มีข้อยกเว้น จะมีก็แต่ในกรณีของรัสเซียที่กำแพงภาษีของสหรัฐฯ มีอัตราเป็น 0 อย่างไม่น่าเชื่อ
การตั้งกำแพงภาษีเช่นนี้ ไม่มีข้อพิจารณาถึงความเป็นพันธมิตรด้านความมั่นคงที่ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ หรือไม่ก็ตาม หรือในมุมมองของทรัมป์นั้น ประเทศพันธมิตรเหล่านี้คือ ผู้ที่เอาเปรียบสหรัฐฯ ในทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกส่วน ที่สหรัฐฯ จำเป็นต้องออกมาตรการในการเรียกเก็บภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น
ผลจากมุมมองของผู้นำทำเนียบขาวในทางรัฐศาสตร์เช่นนี้แล้ว สหรัฐฯ จะยังคงเหลือประเทศใดเป็นชาติพันธมิตรต่อไป และประเทศใดจะมีสถานะเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจสหรัฐฯ ในอนาคต ดังจะเห็นถึงช่องว่างของความสัมพันธ์ที่เคยใกล้ชิดระหว่างสหรัฐฯ กับชาติในยุโรป ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย หรือเกาหลีใต้ เป็นต้น
แน่นอนว่าในภาวะของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น หลายฝ่ายกังวลว่า ช่องว่างดังกล่าวจะถูกใช้ประโยชน์จากจีน และเปิดโอกาสให้จีนใช้โอกาสเช่นนี้เข้ามาเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านั้นได้มากขึ้น เช่น กรณียุโรป หรือออสเตรเลีย เป็นต้น หรือที่นักวิเคราะห์หลายคนมีความเห็นคล้ายกันว่า ทำเนียบขาวกำลังผลักให้ผู้นำหลายประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ต้องหันไปมองจีนด้วยท่าทีที่เป็นมิตรมากขึ้น ขณะเดียวกันก็มีท่าทีในทางลบกับทำเนียบขาวมากขึ้นด้วย
สำหรับในมิติทางเศรษฐศาสตร์นั้น ด้วยนโยบายแบบทรัมป์ทำให้ทุกชาติมีสถานะเป็น ‘รัฐคู่ค้า’ กับสหรัฐฯ และมีความแตกต่างอันเป็นผลจากการได้เปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ ไม่ใช่ความแตกต่างในมิติของการเป็นพันธมิตรทางการเมืองและความมั่นคงในแบบเดิมแต่อย่างใด กล่าวคือ ในมุมมองเช่นนี้ ปัจจัยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงไม่ถูกนำมาเชื่อมต่อกัน แต่ถูกพิจารณาแบบ ‘แยกส่วน’ ที่ตัดขาดจากกัน อันเป็นทิศทางนโยบายใหม่ที่ต่างจากวิถีปฏิบัติเดิมของสหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็นอย่างมาก
ทรัมป์คิดอะไร?
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากการขับเคลื่อนนโยบาย ‘กำแพงภาษีสูง’ เช่นนี้ อาจอธิบายในอีกมุมหนึ่งจากปัจจัยภายในของสหรัฐฯ เองได้ว่า ทรัมป์มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญในอีกส่วนคือ ความหวังที่จะปรับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจอเมริกันให้ได้ทั้งหมด หรือเป็นการผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจเกิดการปรับตัวทั้งระบบ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่า ความคาดหวังนี้จะเป็นจริงเพียงใดทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะในทางกลับกัน การสร้างกำแพงภาษีอาจจะเป็นปัจจัยในการทำลายเศรษฐกิจอเมริกันมากกว่า จะเป็น ‘ตัวเร่ง’ ทางเศรษฐกิจในแบบที่ทรัมป์และนักคิดในปีกนี้คาดหวัง
แนวคิดในแบบของทรัมป์เช่นนี้ ในทางทฤษฎีอาจจะดูเป็นไปได้ แต่ในความเป็นจริงทางเศรษฐกิจแล้ว เป็นไปไม่ได้เลย และยังจะเป็นปัจจัยที่นำพาปัญหาทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาให้กับสหรัฐฯ เองด้วย โดยไม่ต้องกล่าวถึงผลในทางการเมืองและความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม คงไม่แปลกนักที่จะต้องกล่าวว่า ทรัมป์กำลัง ‘คิดการใหญ่’ และเราอาจแปลกใจที่ทรัมป์ไม่แคร์กับการตกลงของตลาดหุ้นในอเมริกา เพราะทรัมป์กล่าวเสมอว่า การดำเนินการเช่นนี้ สังคมอเมริกันอาจต้องเผชิญหน้ากับ ‘ความไม่สุขสบาย’ ทั้งในชีวิตและในทางเศรษฐกิจสักระยะหนึ่ง แม้อาจจะต้องเจอกับ ‘ภาวะถดถอย’ ทางเศรษฐกิจบ้างก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ทรัมป์เชื่ออย่างมั่นใจว่า สิ่งที่เกิดจากนโยบายกำแพงภาษีของเขานั้น เป็นเพียง ‘ความไม่สุขสบายในระยะสั้น’ (short-term discomfort) ซึ่งอีกไม่นานนัก ก็จะจบลงด้วยชัยชนะของเขาที่จะนำ ‘ความสุขสบาย’ กลับคืนสู่สังคมอเมริกัน ภายใต้คำขวัญประชานิยมของ ‘ลัทธิทรัมป์นิยม’ อีกแบบว่า ‘สร้างอเมริกาให้มั่งคั่งอีกครั้ง’ (Make America Wealthy Again)
ดังนั้น ในระยะยาวแล้ว สิ่งนี้จะพิสูจน์ว่านโยบายของเขาถูกต้อง และทั้งเชื่อว่า ต้องทำในแนวทางเช่นนี้เท่านั้น จึงจะสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอเมริกันได้ และลดการถูกเอารัดเอาเปรียบทางเศรษฐกิจได้ด้วย ไม่เช่นนั้นแล้ว สหรัฐฯ จะถูกเอาเปรียบแบบไม่จบไม่สิ้น อีกทั้ง ทรัมป์ยังเชื่อว่า จากปี 1789 จนถึงปี 1913 นั้น สหรัฐฯ ดำเนินนโยบายแบบการสร้างกำแพงภาษีมาโดยตลอด นโยบายกำแพงภาษีของเขาในปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด
แต่ปัญหาคือ ‘จุดของความไม่สุขสบายที่สุด’ นั้น อยู่ตรงไหน และจะใช้เวลาอีกนานเท่าใดที่ถึงจุดนั้น จนเกิดอาการ ‘ทนไม่ได้’ ของคนในสังคม ประกอบกับในอีกด้านสหรัฐฯ มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีความยืดหยุ่นในตัวเองอยู่พอสมควร ทั้งยังสามารถรับผลด้านลบจากภาวะการณ์ต่างๆ ได้พอสมควร จึงทำให้จุดของความไม่สบายที่สุดสำหรับคนอเมริกัน อาจใช้เวลาอีกสักระยะ และไม่เร็วแบบทันที
แม้ในปัจจุบัน ทุกคนจะเห็นถึงการชุมนุมประท้วงต่อต้านทรัมป์ในสังคมอเมริกันที่ขยายตัวมากขึ้น การตกลงของตลาดหุ้นอเมริกันอย่างน่าใจหาย ความกังวลของคนอเมริกันต่อการขยับตัวของปัญหาค่าครองชีพอันเป็นผลจากนโยบายกำแพงภาษี รวมถึงปฏิกิริยาทางลบจากนานาชาติต่อปัญหาดังกล่าว แต่สิ่งเหล่านี้ก็มิได้เป็นปัจจัยที่จะทำให้ทำเนียบขาวปรับเปลี่ยนนโยบายกำแพงภาษีแต่อย่างใด เพราะทรัมป์ยังเชื่อมั่นในนโยบายชุดนี้อย่างมาก หรือในทางการเมือง เขาถอยไม่ได้ เว้นแต่อาจจะมีการปรับบางอย่างเช่นในกรณีภาษีนำเข้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ดังนั้น ความหวังของผู้นำในหลายประเทศที่เชื่อว่า อีกไม่นานนัก ทรัมป์อาจจะต้องเปลี่ยนใจ เพราะมีแรงกดดันจากปัจจัยดังกล่าว ซึ่งความหวังเช่นนี้อาจไม่เป็นจริงเลย ในระยะสั้น แรงกดดันทั้งหลาย อาจจะยังไม่ทำให้คนในสังคมอเมริกันรู้สึกถึง ‘จุดของความไม่สุขสบายที่สุด’ นอกจากนี้ คนอเมริกันอีกส่วนอาจจะสนับสนุนกำแพงภาษีของทรัมป์อย่างมากด้วย เพราะมองว่าประเทศของตนถูกเอาเปรียบจากประเทศอื่นๆ ในทางการค้า โดยเฉพาะการเอาเปรียบอย่างมากจากจีน ที่ปรากฏชัดในเชิงตัวเลขและสถิติ
รักโหด !
ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดเพื่อชี้ให้เห็นว่า ทรัมป์จะยังไม่แพ้ในระยะสั้น (เช่นที่หลายคนคิด หรือหลายคนหวัง หรือที่หลายคนแช่ง!) ผลจากสภาวะเช่นนี้ จะทำให้ปัญหา
‘สงครามภาษี’ จะเป็นโจทย์สำคัญทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจให้ผู้นำทุกประเทศต้องขบคิด เสมือนหนึ่งพวกเขาจะต้องเตรียมตัวทำข้อสอบชุดใหญ่ … ชุดยาก
แน่นอนว่า ไม่มีข้อยกเว้นให้ผู้นำไทยในกรณีนี้ … ผู้นำทั่วโลกทุกคน รวมถึงผู้นำไทยด้วย ต้องเตรียมทำข้อสอบวิชา ‘เศรษฐศาสตร์การเมือง’ (political economy) ของทรัมป์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว การสอบได้หรือสอบตกจะมีนัยอย่างสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตด้วย
ขณะเดียวกัน เราควรต้องยกเลิกความคิดแบบเลื่อนลอยที่เชื่อว่า นโยบายของทรัมป์จะอยู่ไม่นาน และจะถูกแรงกดดันทางการเมืองจนผู้นำสหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนนโยบายใหม่ แต่ในความเป็นจริงนั้น ทรัมป์ประกาศชัดเจนว่า สหรัฐฯ จะไม่ดำเนินนโยบายแบบเก่า ที่เป็น “นโยบายของการยอมแพ้ทางเศรษฐกิจแบบฝ่ายเดียว” (the policy of unilateral economic surrender) อีกต่อไป … ทรัมป์ยังถอยไม่ได้ในทางการเมือง
พร้อมกันนี้ ทรัมป์ประกาศอย่างชัดเจนว่า “เรา [สหรัฐฯ] ไม่สามารถจ่ายเงินขาดดุลให้แก่แคนาดา เม็กซิโก และกับบรรดาชาติอื่นๆ เช่นที่เราเคยทำมา เราไม่สามารถทำเช่นนี้ได้อีกต่อไปแล้ว” … แน่นอนว่า คำประกาศเช่นนี้โดนใจชาวประชานิยมปีกขวา และปีกชาตินิยมขวาจัดในสังคมอเมริกันเป็นอย่างยิ่ง
คนเหล่านี้พร้อมที่จะสนับสนุนทรัมป์ และชื่นชมนโยบายกำแพงภาษีอย่างสุดใจ เพราะบรรดาประชานิยมอเมริกันมีความเชื่อพื้นฐานแบบด้านเดียวว่า สหรัฐฯ ถูกเอารัดเอาเปรียบมานาน โดยเฉพาะการเอาเปรียบทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งคนในสังคมอเมริกันเป็นจำนวนมากมีความรู้สึกร่วมในประเด็นนี้ ฉะนั้น การผลักดันนโยบายกำแพงภาษีให้เกิดผลสำเร็จในทางเศรษฐกิจ จึงเป็นความท้าทายต่ออนาคตของทรัมป์ และของสหรัฐฯ เองเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม นโยบายเช่นนี้อาจจะไม่ล่มสลายไปง่ายๆ แต่จะเป็นปัจจัยของการสร้าง ‘ความโกลาหล’ ทางเศรษฐกิจโลกในปี 2025 อย่างมาก พร้อมกับส่งผลลบกับชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมากในหลายประเทศอย่างแน่นอนในช่วงเวลาเช่นนี้ หรืออาจกล่าวในทางเศรษฐกิจได้ว่า นับจากนี้ ชีวิตของบุคคล (ในความหมายของพวกเราทุกคน) จะมีความยากลำบากมากขึ้น
สุดท้ายนี้ เราอาจสรุปได้สั้นๆ ได้ประการเดียวว่าความ ‘รักโหดๆ’ แบบของทรัมป์ยังมีอำนาจในการสร้าง ‘ความโกลาหล’ ในเวทีโลกได้มากกว่าที่เราคิดเสมอ ดังที่วุฒิสมาชิกเอลิซาเบธ วอร์เรน (Elizabeth Warren จากพรรคเดโมแครต) กล่าวเตือนพวกเราทุกคนว่า “ไม่มีใครรู้ว่าจากวันนี้ ข้อบังคับในอีก 5 วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร มิไยต้องคิดถึงในอีก 5 ปีข้างหน้าเลย”
แน่นอนว่า เรายังคงต้องอยู่กับความ ‘รักโหดๆ’ ในแบบของทรัมป์ต่อไปอย่างไม่มีทางเลี่ยงด้วย … บรรยากาศที่สวนกุหลาบของทำเนียบขาวไม่สดชื่นเอาเสียเลย!
ภาพ: Carlos Barria / Reuters