โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ปลด เจอโรม พาวเวลล์ พ้นตำแหน่งประธาน Fed หลังจากถูกเมินคำขอให้ลดอัตราดอกเบี้ย ด้าน ECB หั่นดอกเบี้ยลด 0.25% หลังภาษีทรัมป์ป่วนการค้าโลก กดเศรษฐกิจยูโรโซน
ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (17 เมษายน) ที่ผ่านมาว่า เขาสามารถบีบให้เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลาออกได้ พร้อมปฏิเสธแนวคิดที่ว่า Fed เป็นองค์กรอิสระ และแสดงความไม่พอใจที่นโยบายการเงินยังไม่ลดอัตราดอกเบี้ยลงในเร็วๆ นี้
โดยทรัมป์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบเขาว่า “ถ้าผมขอให้เขาออก เขาก็ต้องออก” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า “การปลดพาวเวลล์ ออกจากตำแหน่งควรเกิดขึ้นให้เร็วที่สุด!” ขณะที่โฆษกของ Fed ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อถ้อยแถลงดังกล่าวของทรัมป์
ประธานาธิบดี ทรัมป์ ยังกล่าวอีกว่า เจอโรม พาวเวลล์ ซึ่งเขาเป็นผู้เสนอชื่อให้มาดำรงตำแหน่งประธาน Fed ในช่วงสมัยแรกของตนเอง เป็นคนที่ “แย่มาก” โดยชี้ว่า “แทบไม่มีเงินเฟ้อเลย” และหาก Fed ลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง ค่าใช้จ่ายในการกู้ยืมก็จะลดลงตามไป
อย่างไรก็ตาม ตลาดการเงินในวันพฤหัสบดีแทบไม่แสดงปฏิกิริยาโดยตรงต่อคำพูดของทรัมป์ เกี่ยวกับพาวเวลล์ โดยดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากความหวังว่าการเจรจาภาษีกับสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นจะมีความคืบหน้า ขณะที่ราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลดลง ดัชนี S&P 500 ปิดตลาดในแดนบวก 0.2% และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 2 ปี เพิ่มขึ้นประมาณ 0.03% อยู่ที่ 3.80% ในช่วงท้ายการซื้อขาย
นาธาน ชีทส์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกของ Citigroup Inc. เตือนถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น หากเราข้ามในเรื่องของความเป็นอิสระของธนาคารกลาง โดยเฉพาะเมื่อประกอบกับนโยบายต่างๆ เช่น การเก็บภาษีศุลกากรในระดับสูงและนโยบายอื่นๆ ที่ก่อนหน้านี้ถือว่าไม่ปกติสำหรับสหรัฐฯ
วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต เอลิซาเบธ วอร์เรน ให้สัมภาษณ์เมื่อวันพฤหัสบดีว่า “ประธานาธิบดีก็มีสิทธิเสรีภาพในการพูดเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่เขาไม่มีอำนาจในการไล่ เจอโรม พาวเวลล์ ออกจากตำแหน่ง และหากเขาพยายามจะทำแบบนั้น เขาจะทำให้ตลาดพังทลาย”
ทางด้านธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ท่ามกลางความปั่นป่วนจากสงครามภาษีทั่วโลกที่ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนอย่างกว้างขวาง และกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของยูโรโซน
การปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของ ECB ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำคัญของธนาคารกลาง อยู่ที่ 2.25% โดยก่อนหน้านี้ในช่วงกลางปี 2023 เคยแตะระดับสูงสุดที่ 4%
ข่าวเรื่องมาตรการภาษีในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาถูกมองว่าเป็นเหตุผลสำคัญที่
ทำให้ ECB ลดอัตราดอกเบี้ย แม้ว่ามาตรการภาษีหลายๆ มาตรการที่สหรัฐฯ กำหนด รวมทั้งมาตรการตอบโต้จะถูกระงับหรือถูกปรับลดลง แต่ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังคงมีอยู่
ในแถลงการณ์นโยบายของ ECB กล่าวว่า “แนวโน้มการเติบโตได้แย่ลง เนื่องจากความตึงเครียดทางการค้าที่เพิ่มขึ้น”
นอกจากนี้ ECB ยังกล่าวว่า “ความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะลดความเชื่อมั่นในหมู่ครัวเรือนและธุรกิจ และการตอบสนองที่ไม่แน่นอนและผันผวนของตลาดต่อความตึงเครียดทางการค้าคาดว่าจะมีผลกระทบในการทำให้เงื่อนไขการจัดหาทุนตึงตัวมากขึ้น”
ไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ECB ได้พิจารณาการหยุดการผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน แต่การประกาศของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เกี่ยวกับการกำหนดภาษีใหม่อย่างกว้างขวางกับประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ทำให้การสนับสนุนภายใน ECB กลับไปมุ่งเน้นที่การลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2025-04-17/trump-says-fed-chair-powell-s-termination-can-t-come-fast-enough?srnd=homepage-americas
- https://www.bloomberg.com/news/newsletters/2025-04-17/ecb-cuts-interest-rates-with-another-reduction-seen-likely-in-june
- https://www.cnbc.com/2025/04/17/trump-again-calls-for-fed-to-cut-rates-says-powells-termination-cannot-come-fast-enough.html