×

11 ชั่วโมง ‘รัฐสภา’ ถกปัญหาสหรัฐฯ ขึ้นกำแพงภาษี รวมข้อเสนอเจรจาทรัมป์

โดย THE STANDARD TEAM
10.04.2025
  • LOADING...
ปัญหาภาษีทรัมป์

วานนี้ (9 เมษายน) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 30 (สมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2) ได้มีการพิจารณาญัตติด่วนด้วยวาจา ถึงกรณี โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ประกาศมาตรการภาษีใหม่ รวมทั้งสิ้น 10 ญัตติ แบ่งเป็นฝ่ายรัฐบาล 7 ญัตติ และฝ่ายค้าน 3 ญัตติ ดังนี้ 

 

  1. ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาผลกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีศุลกากรของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อส่งคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป อรรถกร ศิริลัทธยากร สส. ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม เป็นผู้เสนอ

 

  1. ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรศึกษาและติดตามมาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา และเสนอแนวทางให้รัฐบาลไปพิจารณาดำเนินการ นพดล ปัทมะ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นผู้เสนอ

 

  1. ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา แนวทางการเจรจา และมาตรการบรรเทาผลกระทบ ศิริกัญญา ตันสกุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้เสนอ

 

  1. ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแนวทางการแก้ปัญหา อุปสรรคทางการค้าและการส่งออกของประเทศไทย จุติ ไกรฤกษ์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นผู้เสนอ

 

  1. ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแนวทางการรับมือผลกระทบของสงครามการค้าต่อเศรษฐกิจไทย เพื่อให้คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจพิจารณาศึกษาแนวทาง สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้เสนอ

 

  1. ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาผลกระทบ แนวทางการแก้ไขปัญหาและมาตรการช่วยเหลือ กรณีการขึ้นภาษีแบบอภิมหาทอร์นาโดตามนโยบายทรัมป์ 2.0 ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ สส. สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา เป็นผู้เสนอ

 

  1. ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแนวทางการแก้ไขผลกระทบจากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้า ประมวล พงศ์ถาวราเดช สส. ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้เสนอ

 

  1. ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแผนการรับมือจากภัยพิบัติธรรมชาติ และผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก รวมทั้งภัยความมั่นคงจากสถานการณ์โลก ไชยชนก ชิดชอบ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้เสนอ

 

  1. ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรหาแนวทางการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากผลกระทบจากการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา วรวิทย์ บารู สส. ปัตตานี พรรคประชาชาติ เป็นผู้เสนอ

  2. ญัตติด่วน เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศไทย บุญชัย กิตติธาราทรัพย์ สส. เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้เสนอ

 

นอกจากนี้ยังมีสมาชิกกว่า 50 ชีวิตร่วมกันอภิปรายถึงแนวทางการรับมือที่จะส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีและคณะเจรจา โดยมี จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง, ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี และข้าราชการกระทรวงการคลังจำนวน 7 คน ร่วมรับฟังข้อเสนอแนะ ซึ่งใช้เวลาในการอภิปรายรวมกว่า 11 ชั่วโมง

 

2 รมช. เพื่อไทย ตัวแทน ครม.

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

และ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี ร่วมรับฟังข้อเสนอแนะ

 

 

เจรจาทรัมป์ต้องคำนึงถึง ‘หัวอก’ เกษตรกร 

 

อรรถกร ศิริลัทยากร สส. ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม ในฐานะอดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นำเสนอความเห็นต่อรัฐสภาเกี่ยวกับมาตรการและผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า ตนเองได้รับคำสั่งการจาก ศ. ดร.นฤมล ภิญโญวสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้าธรรมว่า มีความห่วงใยเกี่ยวกับการเจรจาของรัฐบาลไทย จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

“ในการเจรจาครั้งนี้รัฐบาลต้องคำนึงถึงหัวอกของเกษตรกรด้วย”

อรรถกร ศิริลัทยากร สส. ฉะเชิงเทรา พรรคกล้าธรรม

อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวในการนำเสนอญัตติ

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

 

เนื่องจากที่ผ่านมาทุกรัฐบาลมักจะเอาสินค้าเกษตรไปเป็นเงื่อนไขในการเจรจา ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าการเจรจาในลักษณะนี้ได้มีการซักถามเกษตรกรหรือไม่ ว่าการให้สิทธิพิเศษกับประเทศคู่ค้าหรือว่าต่างประเทศนั้นจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างไร ซึ่งตนเองในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคกล้าธรรม และเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับเกษตรกร

 

“ปัจจุบันประเทศไทยมีเกษตรกรกว่า 40 ล้านคน ผมขอส่งเสียงไปยังรัฐบาลว่าการเจรจาครั้งนี้ต้องคำนึงถึงเกษตรกรด้วย ไม่ว่าจะเป็นราคาสินค้า อุปสรรคทางการค้า ความสามารถในการแข่งขันทางการค้า หากรัฐบาลนำสินค้าเกษตรไปเจรจาจะมีบุคคลที่ได้รับผลกระทบจำนวนมหาศาล”

 

อรรถกรชี้ให้เห็นว่า การส่งออกสินค้าในประเทศไทยนั้นมีอีกหลายประเภททั้ง ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือการให้บริการต่างๆ แต่เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากบุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการนี้ไม่ใช่คนไทย ส่วนใหญ่เป็นลูกครึ่ง ดังนั้นอยากจะฝากไปยังรัฐบาลว่าขอให้คำนึงถึงหัวอกของประชาชนเกษตรกรด้วย 

 

  1. ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงรากเหง้าของคนไทย 

 

  1. ขอให้รัฐบาลคำนึงว่าประเทศไทยอยู่ด้วยภาคการเกษตร การเสียดุลทางการค้าทางด้านการเกษตรต้องเสียน้อยที่สุด ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ

 

  1. ขอให้รัฐบาลอนุญาตการนำเข้าสินค้าทางการเกษตรบางชนิดให้น้อยที่สุด อาจทำให้ราคาการเกษตรตกต่ำลงไปมากกว่าเดิม ซึ่งอาจขัดต่อหลักกฎหมายของประเทศไทยด้วย 

 

  1. ขอให้รัฐบาลคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอื่นๆ ด้วย เพราะประเทศไทยไม่ได้ค้าขายกับสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว การกำหนดนโยบายร่วมกับสหรัฐอเมริกานั้น ต้องมีมาตรการทางการค้าขายกับประเทศอื่นด้วยเช่นเดียวกัน 

 

“รัฐบาลต้องเจรจาอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรไทย ซึ่งคาดว่าจะเกิดผลกระทบในระยะยาว ต้องช่วยหามาตรการที่จะลดความเสี่ยงรวมถึงหาประเทศคู่ค้าเพิ่ม เพื่อที่จะปล่อยสินค้าทางการเกษตรไทย ต้องออกมาตรการรองรับสินค้าที่จะทะลักเข้าประเทศไทย และต้องการดูแลเยียวยาเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจาครั้งนี้ด้วย”

 

การเจรจาต้อง Win-Win ทั้งสองฝ่าย

 

ขณะที่ นพดล ปัทมะ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อภิปรายเสนอว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้ได้กำหนดกติกาการค้าโลกใหม่อีกอย่างน้อย 4 ปี ในความเป็นจริงสหรัฐอเมริกาและประเทศไทยเป็นมหามิตรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่เก่าแก่ที่สุด มีความสัมพันธ์กำลังจะครบ 200 ปี เรามีการฝึกคอบร้าโกลด์ทุกปี ในอดีตเคยช่วยประเทศไทยเคยช่วยออกรบสงครามเกาหลี หรือสงครามเวียดนาม ยืนยันว่าเรารักอเมริกา เราชอบอเมริกา การขึ้นภาษีครั้งนี้ถือว่าเกินความคาดหมาย 

 

นพดลกล่าวต่อว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้ทุกประเทศได้รับผลกระทบถ้วนหน้า แต่สาเหตุที่ขึ้นภาษีทั่วโลกเช่นนี้ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาต้องการที่จะแก้ไขปัญหาการขาดดุลทางการค้างบประมาณ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายใน 20 ปี ซึ่งการจะทำให้ประสบความสำเร็จได้นั้นคือการขึ้นภาษี 

 

นอกจากนี้สหรัฐอเมริกาต้องการที่จะดึงผู้ประกอบการผู้ผลิตกลับประเทศ ไม่ต้องการเป็นโกดังของโลก แต่อยากเป็นผู้ผลิตของโลก เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ 

 

นพดลกล่าวต่อว่า การเจรจากับสหรัฐอเมริกานั้นต้อง Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย ประเทศไทยต้องไม่เสียทั้งหมด หรือไม่ได้ทั้งหมด ต้องรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกร และยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก 

 

  1. รัฐบาลต้องมีการเจรจาบนยุทธศาสตร์ ยื่นผลประโยชน์ร่วมกัน 2 ข้อ 1.1 อุตสาหกรรมอาหาร ที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารให้กับโลก เช่นการแปรรูปอาหารไม่ว่าจะเป็นอาหารสัตว์หรืออาหารคน และ 1.2 ด้านอุตสาหกรรมในอนาคต เช่น การผลิตฮาร์ดดิสก์ เพื่อดำเนินการทำดาต้าเซ็นเตอร์ที่จะใช้ประเทศไทยเป็นฐานผลิต 

 

  1. การเปิดตลาดมากขึ้น เพื่อลดภาษีและลดอุปสรรคทางการค้าให้กับสหรัฐอเมริกา เช่น ภาษีผลไม้ การลดข้อกีดกันทางการค้าให้ตลาดเปิดมากขึ้น

 

  1. ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ดุลทางการค้า 45,000 ล้าน เราต้องลดช่องว่างระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกาให้มากที่สุด 

 

“Apple ไม่ได้ขาย iPhone แต่เป็นการขายเทคโนโลยี Rolex ไม่ได้ขายนาฬิกา แต่สถานะทางสังคม ประเทศไทยไม่ได้ขายอาหาร แต่ขายความมั่นคงให้กับโลก ทรัมป์อาจจะมีคำขวัญว่า Make America Great Again แต่ Thailand it the best ประเทศไทยดีที่สุด” นพดลกล่าว 

 

พรรคประชาชนพร้อมหนุน หากต้องกู้ยกเครื่องใหญ่เศรษฐกิจไทย

 

ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เสนอญัตติว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นภาษีนำเจ้าของสหรัฐอเมริกาครั้งนี้รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 100 ปี ซึ่งจะส่งผลกระทบวงกว้างและระยะยาว ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าสงครามกับการค้าในครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อไร โดยเฉพาะการขึ้นภาษี 104% ของประเทศจีน โดยที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบไปด้วย เนื่องจากเราเป็นหนึ่งในซัพพลายเชนของประเทศจีน ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์หรือปิโตรเคมี 

 

ศิริกัญญา ตันสกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

 

การขึ้นภาษีครั้งนี้ทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอลง กำลังซื้อที่น้อยลงอยู่แล้วก็จะน้อยลงอีก โดยสินค้าสำคัญที่จะได้รับผลกระทบ อาทิ อุปกรณ์รับส่งสัญญาณ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ยางล้อรถยนต์ อุปกรณ์จ่ายไฟ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ส่งออกเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ยังรวมถึงแรงงานที่เสี่ยงจะถูกลดชั่วโมงทำงานหรือเลิกจ้างด้วย จึงขอเสนอว่า 

 

  1. การเจรจาต้องโปร่งใส การที่รองนายกรัฐมนตรีจะไปพูดคุยกับเกษตรกรในสหรัฐอเมริกา แต่อย่าลืมที่จะพูดคุยกับเกษตรกรในประเทศด้วย ว่าจะเอาผลประโยชน์ของพวกเขาไปเจรจา 

 

  1. การผ่อนคลายการนำเข้าสินค้าโดยการลดภาษีเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค ถือเป็นปกติที่ต้องทำ ไม่น่าส่งผลอะไรกับการลดการเกินดุลกับสหรัฐอเมริกา

 

  1. มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีหลายตัวที่เป็นการบล็อกสินค้าบางตัวไม่ให้นำเข้า ในส่วนนั้นมีอะไรที่ต้องเปิดตลาดเพิ่มหรือไม่ เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ เป็นต้น 

 

  1. การตรวจสอบคัดกรองสินค้าเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษี 

 

  1. หาโอกาสการลงทุนของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าไม้ตายที่หลายประเทศใช้กัน คือการเข้าไปร่วมลงทุนในท่อก๊าซในอลาสก้า

 

การร่วมลงทุนในท่อก๊าซในอลาสก้า จะเป็นประเด็นหนึ่งที่ใช้ในการเจรจา ได้มีการพูดคุยกับประเทศอื่นๆ ที่จะไปลงทุนในท่อก๊าซแล้วหรือไม่ และประเด็นอื่นๆ ที่หายไปจากการที่นายกรัฐมนตรีแถลงเมื่อวันที่ 8 เมษายน เช่น เครื่องบิน จะยังอยู่ในการเจรจาหรือไม่ 

 

เนื่องจากไพ่ที่เรามีอยู่ในมือนั้นไม่ได้มหัศจรรย์เหมือนที่ทรัมป์ต้องการ แถมแต้มต่อที่เคยมีก็หายไปทุกวัน และปฏิเสธไม่ได้ว่ากระทบจากการที่เราส่งชาวอุยกูร์กลับไปประเทศจีนทำให้มิตรกลายเป็นอื่น 

 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่มีการแจ้งจับนักวิชาการสัญชาติสหรัฐอเมริกา ด้วยข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยไม่ให้มีการประกันตัวด้วย ซึ่งตนยังสงสัยอยู่ว่าเขาจะเจรจากับเราหลังจากมีเรื่องนี้หรือไม่ 

 

แต่เชื่อว่า พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คงจะเดินหน้านำข้อเสนอต่างๆ ของประเทศไทยไปเจรจาต่อรอง โดยจะเห็นผลในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า และดุลการค้าจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปี

 

ศิริกัญญากล่าวว่า พรรคประชาชนไม่ได้ติดใจรัฐบาลที่ไม่ได้เร่งรีบเจรจา และใช้กลยุทธ์รอดูท่าที ทั้งที่ในหลายประเทศเริ่มมีการเจรจา และกลับมาประกาศเตือนประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ดังนั้นจึงขอเรียกร้องว่าสิ่งที่ต้องทำคู่ขนานไปกับการเจรจาคือการเยียวยา พยุง กระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่าการเยียวยาเฉพาะหน้าเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ต้องทำเร่งด่วน แต่ตอนนี้เรายังไม่เห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรมออกมาจากภาครัฐ

 

ทั้งนี้ ถ้าต้องขยายกรอบเพดานหนี้สาธารณะเพื่อกู้เงินเพิ่ม รัฐสภายินดีสนับสนุน ถ้าไม่ได้กู้เพื่อไปแจกเงินอย่างสะเปะสะปะ และมีแผนชัดเจนเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ฟื้นฟูประเทศ นำงบมาเยียวยาภาคอุตสาหกรรมแรงงาน ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างจริงจัง 

 

“วันนี้วิกฤตใหญ่หลวง ทั้งลึกและกว้าง กินเวลายาวนาน เราต้องจับมือไปก้าวข้ามไปด้วยกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขอให้ใช้โอกาสนี้ปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ” ศิริกัญญากล่าวทิ้งท้าย 

 

นายกฯ ไม่ควรเสียเวลาเจรจา ชี้เทวดาก็คุยทรัมป์ไม่รู้เรื่อง 

 

การพิจารณาญัตติด่วนในวันนี้ ไชยชนก ชิดชอบ สส. บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นหนึ่งใน สส. ที่ถูกกล่าวถึงบนโลกออนไลน์มากที่สุด เนื่องจากญัตติและการอภิปรายของเขา เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกเพื่อนสมาชิกลุกขึ้นประท้วง 

 

เนื่องจากตลอดการอภิปรายนั้น เขาอภิปรายถึงปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ต่างๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับเหตุภัยพิบัติ โดยถูกมองว่าเป็นการอภิปรายนอกประเด็น และใช้เวลานานกว่า 45 นาที 

 

 

ไชยชนก ชิดชอบ สส. บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย

ขณะถูกเพื่อนสมาชิกประท้วง

ขอให้เขาเริ่มอภิปรายถึงประเด็นเกี่ยวกับกรณีสหรัฐฯ ขึ้นภาษี

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร 

 

 

เขากล่าวตอนหนึ่งว่า “ขอให้คำสัญญาและใช้สติปัญญาเพื่อสนับสนุนนายกรัฐมนตรีด้วยความสุจริตใจ ตราบใดที่ยังมองถึงประโยชน์ของประชาชนมาก่อน และขอประกาศต่อรัฐสภาแห่งนี้ว่า ไชยชนก ชิดชอบ ลูกชายคนโตของเนวิน และ กรุณา ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย จะไม่มีวันเห็นด้วยกับคาสิโน ไม่ใช่แค่ พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่ทุก พ.ร.บ. หลังจากนี้แม้กระทั่ง พ.ร.บ. ของพรรคภูมิใจไทย เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย เพราะสำหรับผมและทุกอย่างที่ผมได้ศึกษามามีเรื่องเร่งด่วนที่ด่วนกว่ามหาศาล”

 

ตอนหนึ่ง รักชนก สีนอก สส. กทม. พรรคประชาชนบอกว่า ขอให้ประธานควบคุมการประชุม โดยมองว่าหากผู้อภิปรายเป็นสมาชิกพรรคประชาชนจะปล่อยให้มีการพูดออกนอกเรื่องนอกญัตติขนาดนี้หรือไม่ ขณะนี้ไม่ใช่การอภิปรายในญัตติเรื่องของแผ่นดินไหว รวมถึงขอให้ประธานวินิจฉัยเพื่อชื่อเสียงของผู้อภิปรายและครอบครัว 

 

 

พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 

และ ภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2

ขณะทำหน้าที่ประธานการประชุม

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ขณะที่ประธานวินิจฉัยว่าในเรื่องของแผนการรับมือจากภัยพิบัติธรรมชาติและผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก รวมถึงภัยความมั่นคงจากสถานการณ์โลก ในขณะเดียวกันญัตติดังกล่าวนี้ก็มีความแตกต่างจากญัตติอื่นๆ แต่เนื้อหายังมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก แต่เนื้อหาโดยรวมเกือบรวมในญัตติอื่นๆ ไม่ได้ แต่ทั้งนี้ขอให้ผู้อภิปรายเข้าสู่ประเด็นเรื่องของกรณีการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกา

 

ไชยชนกจึงเริ่มเข้าสู่ประเด็นการอภิปรายว่า นับเป็นครั้งแรกที่ได้ตนเองเห็นความสามัคคีของสมาชิกในสภาแห่งนี้ ซึ่งมีความหวังเป็นอย่างมากตามที่ฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลอภิปรายว่า เห็นความสำคัญของประเทศไทยว่าต้องมาก่อน ประเทศไทยดีที่สุด หรือบางคนอภิปรายว่า รัฐบาลต้องตั้งตัวให้ดีในการเจรจากับทรัมป์ แต่ตนเองเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่สมาชิกหลายคนขาดไปคือสติ 

 

“ทุกคนมีเจตนาที่ดี แต่เราคือใคร ไม่ใช่เพราะนายกรัฐมนตรีไม่มีศักยภาพ แต่จีน ยุโรป หรือรัสเซีย ก็คุยกับทรัมป์ไม่รู้เรื่อง วันนี้เทวดามาพูดกับทรัมป์ก็ไม่รู้ว่าจะคุยรู้เรื่องหรือเปล่า ดังนั้นนายกรัฐมนตรีอย่าเสียบุคลากร และทรัพยากรคือเวลาของประเทศไทยที่จำเป็นในอนาคต ที่ทำให้เราผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปได้ในเรื่องนี้เลย” 

 

ไชยชนกกล่าวว่า วันนี้เราต้องยอมรับสถานการณ์ความเป็นจริง หลายคนมีความรู้ด้านเศรษฐกิจ นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้น แคนาดาประเทศที่เปรียบเสมือนประเทศเดียวกับสหรัฐอเมริกายังคุยไม่รู้เรื่อง แล้วเราเป็นใคร ดังนั้นเราต้องตั้งสติ วันนี้ไม่ใช่เวลาที่เราจะต้องออกมาพูดสิ่งที่ประชาชนต้องการที่จะได้ยิน แต่จำเป็นที่จะต้องออกมาพูดในสิ่งที่ประชาชนจำเป็นต้องได้ยิน

 

“นี่ไม่ใช่เวลาของการพัฒนา ไม่ใช่เวลาของการลงทุน หรือกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เวลาของการก้าวไปข้างหน้า แต่ควรจะหยุดและถอยหนึ่งก้าวเพื่อรักษาบุคลากร และทรัพยากรของประเทศให้มากที่สุด เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้ ซึ่งประเทศที่ผ่านวิกฤตและลุกขึ้นได้เร็วที่สุดจะกลายเป็นมหาอำนาจถัดไป เพราะโดนทุกคนเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจหรือภัยธรรมชาติ”

 

ไชยชนกกล่าวต่อว่า หากทุกคนอ่านเกมออก จะเห็นว่าเกมของทรัมป์ไม่ใช่เกมเศรษฐกิจ ตั้งแต่ที่ทรัมป์พูดคุยกับยูเครน เป้าหมายของทรัมป์คือจีน ถ้าไม่มีจีน เพราะทรัพยากรทุกอย่างจะไม่มีใครต้านทรัมป์ได้ วันนี้อย่าปฏิเสธว่ากำลังเกิดนั้น ต้องเตรียมตัวรับมือกับสงครามโลก 

 

“จีน รัสเซีย อเมริกาฝึกยุทโธปกรณ์หมดแล้ว มากไปกว่านั้นทรัมป์ได้ประกาศที่จะรบกับอิหร่านแล้วเนื่องจากมีน้ำมัน หลายคนสามารถไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้แล้วจะเห็นว่า สถานการณ์นั้นมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเรื่องธรรมชาติจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเร่งด่วน ดังนั้นผมขอร้องให้เริ่มวันนี้ เราทุกคนต้องทำหน้าที่แล้วพิจารณาดูว่า เราจะสามารถช่วยอะไรเพื่อประเทศไทยได้บ้าง” ไชยชนกกล่าวทิ้งท้าย

 

 

‘ให้กำลังใจ’ 

รักชนก สีนอก สส. กทม. พรรคประชาชน และ สส. พรรคภูมิใจไทย

ร่วมให้กำลังใจไชยชนก หลังเสร็จสิ้นการนำเสนอญัตติ

ภาพ: ศวิตา พูลเสถียร

 

 

ไทยจะอยู่ฝ่ายไหนในสงครามการค้า

 

ขณะที่ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร่วมอภิปรายถึงประกาศการขึ้นภาษีครั้งนี้ด้วยว่า สหรัฐอเมริกาถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศไทย เป็นลำดับ 1 ในการส่งออกของประเทศไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.29% ของยอดส่งออกทั้งโลก หรือ 1 ใน 5 

 

ปีที่แล้วประเทศไทยได้ดุลการค้ากับสหรัฐอเมริกา 1.21 แสนล้านบาท ถือว่ามีความยิ่งใหญ่และสำคัญกับเรามาก ดังนั้นเมื่อมีการเก็บภาษีศุลกากรนำเข้าจากประเทศไทย จึงมีผลกระทบต่อการส่งออกและตัวเลขดุลการค้าของประเทศไทยมหาศาล หากเจรจาประสบความสำเร็จ จะเกิดผลกระทบที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน

 

  1. สินค้าไทยในสหรัฐอเมริกาจะแพงขึ้น และแข่งขันยากขึ้น โดยเฉพาะหากต้องแข่งกับประเทศที่ต้นทุนต่ำ หรือเสียภาษีต่ำกว่า และคุณภาพใกล้เคียงกัน

 

  1. สินค้าส่งออกของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบใน 15 รายการมีสินค้าที่ไทยที่เป็นลำดับที่ 1 อยู่ 3 ตัวคือยางรถยนต์ ข้าวและวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าว ซึ่งมีแนวโน้มว่าข้าวไทยจะขายในตลาดสหรัฐอเมริกายากขึ้น และถือเป็นโอกาสให้เวียดนามแย่งตลาดไป

 

ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งการเจรจาให้ถูกทาง โดยเฉพาะเมื่อเราประกาศแข่งขันว่าจะไม่เอานโยบายประกันรายได้เกษตรกรที่เคยใช้มาใช้ในรัฐบาลนี้ คำถามคือแล้วจะมีการช่วยผู้ส่งออกอย่างไร และจะช่วยชาวนาอย่างไร หากราคาข้าวจะตกไปมากกว่านี้ ส่วนราคายางที่ไทยส่งยางล้อไปสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1 หากโดนภาษีจะทำให้ราคายางไทยมีราคาแพงขึ้นและขายยากขึ้น และกระทบกับเกษตรกรชาวสวนยางมากขึ้น ดังนั้นต้องเตรียมรับมือกับเรื่องนี้ด้วย 

 

ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะเอาข้าวโพดไปต่อรองให้มีการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกามากขึ้น ซึ่งต้องกระทบราคาข้าวโพดในประเทศไทยอย่างแน่นอน ดังนั้นต้องดูแลให้ดีว่าจะนำเข้าเวลาไหน อย่างไร ที่ให้กระทบเกษตรกรน้อยที่สุด หรือไม่กระทบเลย ส่วนบางมาตรการที่รัฐบาลเตรียมไว้สำหรับบรรเทาผลกระทบตัวเลขการส่งออก 

 

เช่น การเร่งเจรจา FTA การส่งเสริมการเปิดตลาดใหม่ มาตรการเยียวยาต่างๆ แต่รัฐบาลต้องรับทราบด้วย FTA ที่รัฐบาลหวัง เช่น FTA ไทย-สหภาพยุโรป ที่คาดว่าจะเจรจาให้เสร็จในปลายปีนี้ ไม่ได้บังคับใช้ได้เลย เพราะต้องให้ 27 ประเทศสหภาพยุโรปให้สัตยาบัน และเราก็ต้องลงสัตยาบันอีก 

 

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องระยะยาว ไม่ใช่เฉพาะหน้าที่อยากเห็นในการแก้ปัญหาขณะนี้เพื่อทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตให้ได้ 3% และFTA อาเซียน-แคนาดา ก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน ส่วนการเปิดตลาดใหม่ตนเห็นด้วยว่าต้องทำ แต่ความท้าทายคือเศรษฐกิจทั้งโลกจะตกหมด 

 

ดังนั้นโอกาสที่เราจะหาตลาดใหม่ ขณะที่เราตั้งใจไปบุกตลาดเขา เขาก็มาบุกตลาดเราเหมือนกัน เพราะทุกคนเจอสภาพเดียวกันหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีน ที่วันนี้ส่งสินค้ามาตีตลาดไทยหนักมาก ทำให้เราเสียสมดุลการค้า รัฐบาลต้องรีบแก้ปัญหารับมือกับสิ่งเหล่านี้

 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ 

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

 

จุรินทร์ยังฝากไปถึงคณะเจรจาว่า เรื่องสินค้าสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่ตกลงภายใต้ภาษีเดิม แต่กำหนดส่งมอบหลังวันที่ 9 เมษายน จะช่วยเจรจาอย่างไรเพราะไตรมาส 2 ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน มีสินค้ามากกว่า 50% อาจถูกชะลอการนำเข้าเพื่อรอความชัดเจนจากการเจรจา 

 

หมายความว่า ยิ่งช้าเราจะยิ่งได้รับผลกระทบไปทุกส่วน และการประกาศหันมาใช้มาตรการการค้าแบบทวิภาคีของทรัมป์อาศัยอำนาจการซื้อที่เหนือกว่ากำหนดกติกาฝ่ายเดียว และเป็นการท้าทายกติกาการค้าแบบพหุภาคีที่ทั้งโลกยืนหยัดร่วมกันมานาน ผลจากสงครามการค้าภาคพิสดารครั้งนี้ มีนักวิชาการที่เชี่ยวชาญแบ่งโลกออกเป็น 4 ฝ่าย คือ 

 

  1. สหรัฐอเมริกากับพันธมิตร 
  2. ประเทศจีนกับพันธมิตร
  3. สหภาพยุโรปกับพันธมิตร 
  4. ประเทศที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด 

 

“คำถามของผมคือประเทศไทยจะยืนอยู่ตรงไหน และยืนอย่างไร เพื่อให้ดำรงอยู่ได้ท่ามกลางปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และภูมิเศรษฐศาสตร์ที่เข้มข้นอย่างมีอนาคต หากรัฐบาลมีคำตอบแล้ว ตนเองก็ขอให้กำลังใจ แต่ถ้ายังไม่มีคำตอบ ก็ต้องเร่งหาคำตอบ เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้นอนตาหลับ”

 

ชี้รัฐบาลควรรวมพลังอาเซียน เจรจาทรัมป์ 

 

พริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวอภิปรายว่า การขึ้นภาษีครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างปัญหาทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าให้กับทุกประเทศ แต่ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระบบโลกที่มีการค้าเสรี บนกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันด้วย ซึ่งในการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรีนั้นได้ระบุว่า จะเพิ่มบทบาทของประเทศไทยในเวทีโลก

 

 

สอง สส. พรรคประชาชน

ศิริกัญญา ตันสกุล และ พริษฐ์ วัชรสินธุ

ภาพ: ณาฌารัฐ ภักดีอาสา

 

 

ดังนั้นการขึ้นภาษีครั้งนี้จะเป็นบทพิสูจน์ประเทศไทยในเวทีโลก ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่การจับมือหรือเดินพรมแดง รวมถึงการถ่ายภาพสวยๆ ร่วมกับผู้นำ แต่หมายถึงความสามารถในการใช้เวทีนานาชาติ และการแสวงหาร่วมความร่วมมือกับต่างชาติเพื่อแก้ปัญหาให้กับคนไทย โดยเสนอให้รัฐบาลลุกขึ้นมามีบทบาทนำในการทำให้ประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งประชาคม และมีการร่วมมือกันอย่างเอกภาพอย่างแท้ 5 เรื่อง ดังนี้ 

 

  1. ประเทศไทยควรเชิญชวนประเทศในอาเซียนออกแถลงการณ์ร่วมกัน เพื่อยืนยันในหลักการระเบียบโลกที่ส่งเสริมการค้าเสรีที่เป็นประโยชน์กับทุกประเทศ และยืนยันว่าการที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลทางการค้านั้น ไม่ได้หมายความว่าประเทศอื่นเอาเปรียบ

 

  1. ประเทศไทยควรจะรวมตัวกับประเทศอื่นในอาเซียนต่อรองเจรจากับสหรัฐอเมริกาในฐานะอาเซียน ซึ่งจะช่วยเพิ่มการต่อรอง และทำให้เสียงของเรานั้นดังขึ้น ปัจจุบันไทยมีขนาดทางเศรษฐกิจอยู่ที่ลำดับที่ 26 หรือ 27 ของโลก 

 

แต่หากรวมประเทศในอาเซียนเป็นหนึ่งได้ จะทำให้ขนาดทางเศรษฐกิจอยู่ที่อันดับ 5 ของโลก ซึ่งจะทำให้การเจรจานั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการรวมเครือข่ายสายสัมพันธ์ในแต่ละประเทศมีเพื่อติดต่อเจรจากับสหรัฐอเมริกาด้วย

 

  1. ประเทศไทยควรแสวงหาข้อตกลงในประเทศอาเซียนว่าจะไม่ดำเนินการยุทธศาสตร์เจรจาที่ขัดแย้งหรือตัดกำลังกันเอง จะไม่มีการพูดคุยกันในลักษณะต่างคนต่างทำ ไม่มีการแตกแถวเอาใจสหรัฐอเมริกามากเกินควร จะทำการรวมตัวนี้เป็นประโยชน์กับทุกประเทศมากกว่าเดิม 

 

  1. ประเทศไทยควรหาข้อตกลงระหว่างอาเซียน เพื่อลดอุปสรรคต่อการค้าของกันและกัน หากเรายังไม่สามารถที่จะเจรจาเพื่อขอลดกำแพงภาษีที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาตั้งไว้ได้ สิ่งอีกสิ่งหนึ่งที่ทำได้คือ การพูดคุยกับประเทศในอาเซียน โดยร่วมกันลดกำแพงด้วยการทำการค้าระหว่างกันและกันเอง โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

 

  1. ประเทศไทยควรที่จะมองหาถึงสถานะ และอิทธิพลของอาเซียนในอนาคต ท่ามกลางที่มีความขัดแย้งของมหาอำนาจ แม้ในวันนี้เราไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจ แต่ขณะเดียวกันไทยไม่ควรที่จะลดทอนไปตัวเองเป็นประเทศขนาดเล็กด้วยเช่นกัน 

 

พริษฐ์กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ไม่ได้จำกัดแค่ในประเทศไทยทางออกเรื่องนี้อาศัยบทบาทความเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลก โดยเฉพาะการใช้กลไกของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือคนไทยฝ่าฟันวิกฤตเศรษฐกิจเฉพาะหน้า และป้องกันความเสี่ยงจากการจัดระเบียบโลกใหม่ในระยะยาวด้วย

 

เช่นเดียวกับ บุญชัย กิตติธาราทรัพย์ สส. เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ได้ร่วมเสนอญัตติด่วน ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาการประกาศขึ้นภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผลกระทบต่อประเทศไทยว่า ตนเป็นห่วงว่าประเทศไทยเป็นที่ผลิตสินค้าภาคเกษตรสำหรับการส่งออก วันนี้ตนอยากเห็นรัฐบาลให้ความใส่ใจ และให้ความสนใจที่จะมีข้อเสนอ หรือมีวิธีการที่จะตั้งรับกับการขึ้นภาษีของประเทศสหรัฐอเมริกา

 

หลายๆ ประเทศตอนนี้มีมาตรการในการช่วยเหลือพี่น้องของประเทศเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมการผลิต หรือแม้กระทั่งเกษตรกร การประกาศขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อการลงทุนของนักธุรกิจในประเทศไทยในหลายภาคส่วนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะภาคเกษตรเราทุกคนรู้ดีว่าคนไทยมีอาชีพเกษตรกรจำนวนมาก 

 

วันนี้ถ้ารัฐบาลไม่หามาตรการ หรือให้ความสำคัญในการที่จะช่วยเหลือ หรือต่อรองกับสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยด้านการผลิตสินค้าของไทยจะทำให้สินค้าเกษตรของเราเข้าไปขายในสหรัฐอเมริกาด้วยราคาที่สูงขึ้น ดังนั้นการสั่งซื้อสินค้าเกษตรกรจากไทยก็จะลดลง 

 

“ปัจจุบันเราทราบดีว่า สินค้าเกษตรไม่ว่าจะเป็น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ราคาก็ตกต่ำอยู่แล้ว ยิ่งมาเจอการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาอีก ผมเชื่อว่าสินค้าเกษตรจะถูกส่งออกไปสหรัฐอเมริกาลดน้อยลง ผมขอแนะนำรัฐบาลให้มีการเจรจากับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อที่จะรวมกลุ่มไปต่อรองกับสหรัฐอเมริกา หรือรัฐบาลต้องหาประเทศคู่ค้าใหม่ เพื่อที่จะเปิดตลาดการค้า เพราะถ้าเรามัวแต่เจรจา ซึ่งวันนี้เราก็ยังไม่รู้ว่าสหรัฐอเมริกาจะลดภาษีให้หรือไม่ ผมไม่อยากเห็นเกษตรกรไทยต้องฆ่าตัวตายเพราะสินค้าที่ผลิตออกมาขายไม่ได้” บุญชัยกล่าว

 

ครม. น้อมรับความเห็น ส่งต่อข้อมูลให้คณะเจรจา 

 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มองว่าการยื่นญัตติวันนี้เป็นวันที่ดี ที่สมาชิกทุกคนได้ร่วมกันอภิปราย ปัญหาที่ค่อนข้างหนักอกของประเทศไทย ในเรื่องของอัตราภาษีที่ได้กำเนิดขึ้นใหม่จากสหรัฐอเมริกา มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ ข้อห่วงใยในภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทั้งหมดนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญ ที่ได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีได้ให้มีการเปลี่ยนเป็นเรื่องของอัตราภาษีใหม่ ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันอย่างเห็นได้ชัด 

 

จุลพันธ์กล่าวว่า ตนเองในฐานะตัวแทนคณะรัฐมนตรีที่รับมอบหมายจากนายกฯ ให้มารับฟัง และนำคณะจากกระทรวงการคลังมาร่วมรับฟัง เพื่อนำประเด็นที่รับฟังไปส่งให้กับคณะเจรจา ที่จะต้องมีการเดินทางไปสหรัฐอเมริกาในเร็วๆ นี้เพื่อที่จะไปเจรจาความที่เป็นประโยชน์ 

 

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางรัฐบาลได้มีการเตรียมการมาอย่างยาวนาน มีการตั้งคณะทำงานนำโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา มีการติดตามมาโดยตลอดว่ามาตรการทางด้านภาษีที่จะเกิดขึ้นนั้นเกิดขึ้นในรูปแบบใด และคณะทำงานได้มีการประชุมกันหลายครั้ง 

 

ทั้งนี้ ยังมีฉากทัศน์จำนวนมากว่าสุดท้ายแล้วมาตรการภาษีที่เกิดขึ้นคืออะไร แต่ตนก็เชื่อว่าไม่มีกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานรัฐของประเทศใดในโลกที่จะคิดคำนวณได้ ด้วยสูตรที่ใช้คำนวณค่อนข้างที่จะหลุดไปจากหลักเศรษฐศาสตร์โดยพื้นฐาน เป็นการคิดคำนวณที่แปลกประหลาดพอสมควร อย่างไรก็ตามก็สะท้อนหลายอย่าง สะท้อนในเรื่องของแนวความคิด 

 

ทั้งนี้ หลักคิดของสหรัฐอเมริกาที่หากมีการค้ากับสหรัฐอเมริกาไม่มากนัก แต่มีการเกินดุล ซึ่งหลักคิดนี้ก็สะท้อนให้เราได้เห็นว่าสิ่งที่เขาต้องการคืออะไร นั่นก็คือการลดการขาดดุล โจทย์นี้ก็เป็นโจทย์ที่ทางรัฐบาลได้พิจารณาโดยละเอียด เมื่อรัฐบาลได้พิจารณาแล้ว การลดการส่งออกคงไม่ใช่โจทย์ของเรา เพราะว่าการส่งออกเป็นเครื่องมือกลไกหลักของประเทศไทยและพัฒนาเจริญเติบโตมาโดยตลอด 

 

การส่งออกเป็นสิ่งที่ภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศพึ่งพาอาศัยเพราะฉะนั้น การที่จะพิจารณาลดคงไม่ได้ แต่จะเพิ่มปริมาณการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและเพิ่มการนำเข้าบางประเภท ซึ่งตรงนี้ก็เป็นโจทย์ที่รัฐบาลรับไว้เป็นเบื้องต้น

 

จุลพันธ์กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องคิดเป็นโจทย์แรกคือ การห่วงใยต่อพี่น้องเกษตรกร ต่อประชาชนและต่อภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ภายในประเทศ หากเราจะมีการนำเข้าสินค้าใดก็ตาม ต้องไม่เป็นการสร้างภาระ มีผลกระทบต่อราคาสินค้าภายในประเทศ ถือเป็นโจทย์แรกที่ทางคณะเจรจานำไปพูดคุย ยืนยันว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ

 

จุลพันธ์กล่าวว่า ขอบคุณสมาชิกทุกคนที่ได้อภิปรายด้วยเหตุผลให้เกียรติกับทางรัฐบาล และคณะเจรจาซึ่งเดินทางไป ไม่มีคำถามประเภทที่ว่าเราจะเอาอะไรไปเจรจาต่อรอง เพราะก็รู้ว่ากลไกในการเจรจาต่อรองระหว่างประเทศในลักษณะทวิภาคี ไม่มีทางที่รัฐบาลหรือว่าใครก็ตามมากลางบนโต๊ะให้ดูก่อนว่า เรามีอาวุธอะไรอยู่ในสต๊อกบ้าง เรามีการเจรจาใดที่จะนำไปใช้ได้บ้าง ทั้งหมดเปิดทั้งหน้าตักไม่ได้ เพื่อให้ผู้ที่ไปเจรจา จะได้มีความยืดหยุ่นและมีศักยภาพในการที่จะสามารถ เจรจาเอาผลประโยชน์ ที่เป็นประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชนของเรา

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่คณะเจรจาจะนำไปเจรจาด้วยความเข้าใจ อาศัยความเป็นพันธมิตรทางการค้าที่ยาวนาน เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อยู่เคียงข้างกันในเวทีโลกมาอย่างยาวนานเราเป็นพันธมิตร ที่มีความถาวร มีความมั่นคงในจุดยืนมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งนี้เราก็จะนำไปพูดคุย 

 

 

ปัญหาภาษีทรัมป์

สอง รมช.เพื่อไทย: 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

และ ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

เป็นตัวแทนคณะรัฐมนตรี ร่วมรับฟังข้อเสนอแนะ

 

 

นอกจากนั้นยังมีในเรื่องของกิจกรรมอย่างอื่นที่เราจะต้องไปดูเพิ่มเติม วันนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของความเร็ว เป็นเรื่องของความแม่นยำ การที่เราจะแก้ไขปัญหาต้องตอบโจทย์สิ่งที่สหรัฐอเมริกาได้ตั้งเป็นโจทย์ไว้ แม้เขาจะไม่ได้ประกาศชัดเจน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อการเจรจาจะได้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด

 

จุลพันธ์กล่าวอีกว่า เป็นโอกาสของประเทศไทย เพราะว่าเราเองก็มีการพูดคุยมาอย่างยาวนาน แต่การปฏิบัติบางครั้งก็เกิดขึ้นได้ยาก หากไม่เกิดสถานการณ์ที่มีความแหลมคม เมื่อเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นเราก็ต้องมีการปรับตัว เพราะการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ 

 

รัฐบาลเองก็ต้องเป็นกลไกมาช่วยสร้างตัวให้กับภาคเอกชน ขนาดนี้เราได้มีการเตรียมเงินวงเงินไว้ 5,000 ล้านบาท ผ่านทาง Exim Bank เป็นส่วนที่จะช่วยเหลือในบริษัทที่มีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่ง นำเข้าจากสหรัฐอเมริกาส่วนหนึ่ง เป็นการให้วงเงินสินเชื่อเพื่อที่จะให้พี่น้องภาคเอกชนผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติ และเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น 

 

แน่นอนว่าคงจะมีมาตรการอื่นๆ ตามมาโดยเฉพาะในภาคเกษตรกร กับสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบ หลังจากนี้ก็จะมีการประเมินว่า หลังการเจรจาภาวะการณ์จะปรับเปลี่ยนเป็นอย่างไร และใครได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด ควรจะต้องมีกลไกเข้ามาเยียวยาช่วยเหลืออย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องทำงานกันต่อ 

 

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ฝากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนในการติดตามช่วยกันเป็นหูเป็นตา มีประเด็นใดที่รัฐบาลตกหล่นยินดีรับฟัง ทางรัฐบาลเองก็จะทำให้ดีที่สุด ในการที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนทั้งภาคเอกชน ภาคธุรกิจ รวมถึงเกษตรกรหากได้รับผลกระทบในเรื่องของอัตราภาษี

 

ส่วนคำถามที่ว่ามีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยนั้น จุลพันธ์กล่าวว่า ไม่ได้ปฏิเสธว่าสุดท้ายจะส่งผลกระทบต่อการเติบโต รัฐบาลเองในภาวะปกติ และในสิ่งที่เราได้ทำมาในช่วงปีเศษๆ ที่ผ่านมา การขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวมถึงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ 

 

เราจะเห็นได้ว่าอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจมีช่วงขาขึ้นในระดับหนึ่ง แต่แน่นอนการค้ามีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และยืนยันว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะจะได้รับผลกระทบในเชิงบวกกับประชาชน

 

จุลพันธ์ได้อภิปรายสรุปว่า เป็นอีกหนึ่งวันที่รู้สึกภาคภูมิใจในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากทุกคนได้มีการวางความขัดแย้ง และได้เสนอแนวทางที่เป็นประโยชน์ และข้อห่วงใยที่เป็นปัญหาของประเทศเพื่อพูดคุยอย่างมีสาระ ซึ่งรัฐบาลจะรวบรวม และส่งให้คณะรัฐมนตรีรวมถึงคณะเจรจา 

 

ทุกคนรับทราบตรงกันว่า ขณะนี้เป็นความปกติใหม่ในดุลการค้าระดับโลก เราจะอยู่และแข่งขันได้ต่อไปอย่างไร ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญในการปรับตัวเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลพร้อมในการสร้างกลไกในการช่วยเหลือภาคเอกชน และประชาชนกลุ่มเปราะบาง กลุ่ม SME และกลุ่มเกษตรกร 

 

สำหรับแนวทางในการเจรจานั้น ไทยไม่ใช่ประเทศที่ตั้งป้อมเพื่อสู้รบ แต่ต้องใช้การเจรจาเพื่อหาทางออก รวมถึงการเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอย่างยาวนานกับสหรัฐอเมริกาเพื่อหาทางออกที่ได้รับผลประโยชน์ โดยชนะทั้ง 2 ประเทศ โดยไม่มีประเทศใดต้องพ่ายแพ้ 

 

จุลพันธ์กล่าวทิ้งท้ายว่า คณะเจรจาได้เริ่มมีการนัดหมายเพื่อพูดคุยบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชนและภาคการเกษตรของสหรัฐอเมริกา และหลังจากนี้จะมีการนัดหมายเพื่อความครบถ้วนมากขึ้นก่อนที่คณะเจรจาจะเดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา เพื่อทำความเข้าใจ และหาทางออกร่วมกัน ซึ่งกลไกนี้ไม่สามารถเสร็จภายใน 1-2 วัน อาจจะต้องมีการเจรจาในหลายครั้ง หลายระดับ ทั้งระดับฝ่ายนโยบาย และฝ่ายระดับปฏิบัติ โดยยืนยันว่ารัฐบาลจะทำให้ดีที่สุดในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้

 

ทั้งนี้ ท้ายที่สุดที่ประชุมได้มีมติให้ทั้ง 10 ญัตติ แบ่งเป็น 2 ญัตติที่เสนอโดย ศิริกัญญา และสิทธิพล สอง สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ส่งให้คณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อพิจารณาศึกษาต่อไปภายใน 90 วัน ส่วนอีก 8 ญัตติ ส่งความเห็นให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising