ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจัดเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อคู่ค้าทั้งหมดของสหรัฐฯ รวมถึงไทย โดยถือเป็นการเดินหมากทางเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยง ซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นให้สถานการณ์สงครามการค้าทั่วโลกทวีความตึงเครียดมากขึ้น
ทรัมป์ยกย่องการกำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้ครั้งนี้ว่าเป็น ‘การประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจ’ สอดคล้องกับที่เขาประกาศก่อนหน้านี้ว่าวันที่ 2 เมษายน จะเป็น ‘วันปลดแอก’ ของชาวอเมริกัน
โดยเขาให้เหตุผลว่ามาตรการทางภาษีเหล่านี้ จะช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตของสหรัฐฯ ที่กำลังถดถอย
“เรากำลังปกป้องแรงงานชาวอเมริกัน และในที่สุด เราก็ให้ความสำคัญกับอเมริกามาเป็นอันดับแรก” ทรัมป์กล่าว ก่อนจะลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร
และนี่คือรายละเอียดของภาษีศุลกากรตอบโต้ที่ทรัมป์ประกาศออกมา โดยนักเศรษฐศาสตร์หลายคนกังวลว่าการกำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้ครั้งนี้ซึ่งสูงกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่คาดไว้ อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลกที่ย่ำแย่อยู่แล้ว และอาจถึงขั้นนำไปสู่ภาวะ ‘เศรษฐกิจถดถอย’
ทั่วโลกโดนภาษีนำเข้าพื้นฐาน 10%
ทรัมป์ใช้อำนาจประธานาธิบดีประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจฉุกเฉินระหว่างประเทศปี 1997 (International Emergency Economic Powers Act of 1977) ในการกำหนดอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ ซึ่งรวมถึงการกำหนดภาษีนำเข้าพื้นฐานที่ 10% สำหรับสินค้าจากทุกประเทศทั่วโลกที่นำเข้าสู่สหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ณ ปัจจุบัน
โดยในปี 2024 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้ามากกว่าส่งออกคิดเป็นมูลค่า 1.2 ล้านล้านดอลลาร์
ขณะที่ทรัมป์ กล่าวว่า “การขาดดุลทางการค้าที่เรื้อรัง ไม่ใช่แค่ปัญหาเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่เป็นภาวะฉุกเฉินระดับชาติที่คุกคามความมั่นคงและวิถีชีวิตของชาวอเมริกัน”
ภาษีนำเข้าพื้นฐานที่ 10% จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเวลา 00.01 น. ของวันที่ 5 เมษายน ตามเวลาท้องถิ่น
ภาษีตอบโต้พุ่งเป้ากว่า 60 ประเทศ
นอกจากภาษีนำเข้าพื้นฐาน ทรัมป์ยังกำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้เพิ่มเติมสำหรับ กว่า 60 ประเทศ ที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามากที่สุด และมีการกีดกันทางการค้าต่อสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ
หลายประเทศอาเซียนตกเป็นเป้าหมายลำดับต้นๆ ที่เผชิญอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ของสหรัฐฯ ในระดับสูง โดยสูงที่สุดคือ กัมพูชา 49% สปป.ลาว 48% เวียดนาม 46% ส่วนไทย 37% อินโดนีเซีย 32% มาเลเซีย 24% และฟิลิปปินส์ 18%
ขณะที่คู่ค้าและคู่แข่งรายใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างจีน ถูกกำหนดภาษีศุลกากรตอบโต้ 34% เพิ่มขึ้นจาก 20% ที่ทรัมป์ ประกาศไปเมื่อไม่นานนี้ หรือหมายความว่าสินค้านำเข้าจากจีนจะโดนภาษีศุลกากร 54%
ส่วนประเทศในสหภาพยุโรปจะถูกเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ 20% อินเดีย 27% เกาหลีใต้ 26% ญี่ปุ่น 24%
ทำเนียบขาวเรียกประเทศที่เผชิญภาษีศุลกากรตอบโต้เหล่านี้ว่า ‘ผู้กระทำผิดร้ายแรงที่สุด’ แต่ยืนยันว่าอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ที่กำหนดไว้ คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของอัตราภาษีที่ประเทศเหล่านี้เรียกเก็บจากสินค้าส่งออกของสหรัฐฯ
โดยสหรัฐฯ จะเริ่มบังคับใช้อัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน
เม็กซิโกและแคนาดาได้รับการยกเว้น
สำหรับเม็กซิโกและแคนาดาได้รับการยกเว้นจากภาษีศุลกากรตอบโต้ครั้งนี้ แต่ยังคงเผชิญกับอัตราภาษีสินค้านำเข้า 25% ที่ทรัมป์เรียกเก็บจากทั้งสองประเทศก่อนหน้านี้ เพื่อกดดันให้มีการแก้ไขปัญหาการลักลอบขนส่งยาเสพติดเฟนทานิลเข้าสู่สหรัฐฯ และแก้ไขปัญหาผู้อพยพจากเม็กซิโก
โดยทรัมป์ ยังยกเว้นการเก็บภาษีสินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ เม็กซิโก และแคนาดา (USMCA) ในขณะที่สินค้าที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงนี้ จะถูกเรียกเก็บภาษี 25%
หลายประเทศเตรียมตอบโต้
หลายประเทศส่งสัญญาณว่าจะตอบโต้มาตรการทางภาษีล่าสุดของทรัมป์ โดย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ว่าพวกเขาจะตอบโต้ต่อการเรียกเก็บภาษีศุลกากรอัตราใหม่ของสหรัฐฯ
ขณะที่ผู้นำยุโรปหลายคน แสดงความคิดเห็นหลังจากการประกาศของทรัมป์ โดยให้คำมั่นว่าจะกำหนดมาตรการตอบโต้หลังจากทำการศึกษาว่าภาษีศุลกากรตอบโต้นี้ ส่งผลต่อประเทศของพวกเขาอย่างไร
โดย อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเตือนทรัมป์ ก่อนหน้านี้ ว่าสหภาพยุโรปมี ‘แผนอันแข็งแกร่ง’ สำหรับการตอบโต้สหรัฐ
ทั้งนี้ มาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา กล่าวว่าภาษีศุลกากรใหม่นี้จะ “เปลี่ยนแปลงพื้นฐานของระบบการค้าระหว่างประเทศ” และยืนยันว่าแคนาดา “จะมีมาตรการตอบโต้เพื่อต่อสู้กับภาษีศุลกากรเหล่านี้”
เช่นเดียวกับ คลอเดีย เชนบาม ประธานาธิบดีเม็กซิโก ก็เตรียมประกาศแผนตอบโต้การเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้า 25% ของทรัมป์ โดยรวมถึงกำหนดขั้นตอนเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ
อย่างไรก็ตาม สกอตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้สัมภาษณ์ CNN โดยเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ หลีกเลี่ยงการดำเนินมาตรการตอบโต้
“ทุกคนนั่งลงและหายใจเข้าลึกๆ เรามาดูกันว่า เรื่องนี้จะไปจบลงที่ไหน เพราะถ้าคุณตอบโต้ นั่นคือวิธีที่จะทำให้เกิดความรุนแรงมากขึ้น” เขากล่าว และเตือนไปยังประเทศต่างๆ ว่า “การทำอะไรที่หุนหันพลันแล่นนั้นไม่ฉลาด”
ภาพ: Dado Ruvic / Illustration / Reuters
อ้างอิง:
- https://www.usatoday.com/story/news/politics/2025/04/02/5-takeaways-on-president-trumps-massive-round-of-tariffs/82764986007/
- https://edition.cnn.com/2025/04/02/economy/key-takeaways-from-trumps-liberation-day-tariffs/index.html
- https://www.aljazeera.com/news/liveblog/2025/4/2/trump-tariffs-live-news-liberation-day-plan-puts-markets-on-high-alert