×

ทรัมป์ขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ ไทยโดนหนัก 36% และเสี่ยงต่อผลกระทบรุนแรงจากการค้าโลกที่จะหดตัวลง

07.04.2025
  • LOADING...

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025 ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ โดยจะขึ้นภาษีนำเข้าขั้นต่ำจากทุกประเทศ 10% (Universal Tariffs) กับสินค้าทุกประเภท เริ่มมีผลวันที่ 5 เมษายน พร้อมประกาศขึ้นภาษีเพิ่มเติม (Reciprocal Tariffs) กับ 60 ประเทศ/กลุ่มเศรษฐกิจที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูง เริ่มมีผลวันที่ 9 เมษายน ในอัตราภาษีที่แตกต่างกัน ขึ้นกับขนาดการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศนั้น โดยเก็บเพิ่มอัตราสูงสุดที่ 50% 

 

 

Reciprocal Tariffs ที่ประกาศกับประเทศต่างๆ คำนวณจากสูตรนี้ ซึ่งถูกนำมาใช้วัดความเสียเปรียบของสหรัฐฯ จากการถูกกีดกันการค้าทุกรูปแบบ ซึ่งโดยรวมแล้วจะมีผลทำให้อัตราภาษีนำเข้าที่แท้จริงของสหรัฐฯ (Effective Tariff Rate) เพิ่มขึ้นมากถึง 18-22% (เทียบประมาณการเดิมของ SCB EIC ที่ 11.3%) SCB EIC มองว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกมากขึ้นอีก

 

ในการขึ้นภาษีชุดใหญ่ของสหรัฐฯ รอบนี้ สหรัฐฯ เก็บภาษีประเทศในเอเชียสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก หากรวม Reciprocal Tariffs, Universal Tariffs และภาษีเฉพาะเจาะจง (Specific Tariffs) รายประเทศที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศขึ้นภาษีสินค้าจากจีน 10% ติดต่อกัน 2 ครั้ง รวมเป็น 20% ในช่วงต้นปีนี้ จะพบว่า สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้าประเทศเอเชียเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากถึง 21% (ค่าเฉลี่ยโลก 16%) สาเหตุหลักเพราะประเทศเอเชียส่วนใหญ่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ มาก โดยเฉพาะประเทศอาเซียน ซึ่งเฉลี่ยแล้วโดนสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีมากถึง 33% (รูปที่ 1 ซ้าย) ประเทศเอเชียจึงได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าของสหรัฐฯ สูงกว่า สำหรับเม็กซิโกและแคนาดา แม้จัดว่าเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเพราะพึ่งพาสหรัฐฯ สูงและถูกสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีเฉพาะเจาะจงเอาไว้สูงถึง 25% ในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะสินค้าส่วนมากยังอยู่ภายใต้ข้อตกลง USMCA ซึ่งยังได้รับการยกเว้นภาษีนี้อยู่

 

เหตุใดไทยอยู่กลุ่มประเทศโดนภาษีสูง?

 

สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีประเทศในทวีปเอเชียสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก โดยหากพิจารณาทั้ง Reciprocal Tariffs และ Universal Tariffs ด้วยแล้ว พบว่าสหรัฐฯ ได้ตั้งกำแพงภาษีกับประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้นเฉลี่ยมากถึง 21% เทียบกับค่าเฉลี่ยโลกที่ 16% เนื่องจากอัตรากำแพงภาษีตอบโต้ครั้งนี้ของสหรัฐฯ นั้นคำนวณมาจากการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศต่างๆ ซึ่งสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับประเทศในทวีปเอเชียอยู่มาก

 

สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสำหรับไทยในเกณฑ์สูงอยู่ที่ 36% ติดอันดับ 20 จาก 185* เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าทั่วโลก และเป็นอันดับ 9 ของเอเชีย รองจากประเทศกลุ่ม CLMV ศรีลังกา อิรัก และบังกลาเทศ (รูปที่ 1) อีกทั้งเกณฑ์ภาษีที่สหรัฐฯ ใช้กับไทยยังมากกว่าค่าเฉลี่ยโลก ค่าเฉลี่ยเอเชีย และค่าเฉลี่ยอาเซียน (รูปที่ 1 ซ้าย) เนื่องจากสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากับไทยสูง (รูปที่ 1 ขวา) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ของไทย 

 

สหรัฐฯ ประเมินว่าการขาดดุลการค้ากับไทยที่อยู่ในระดับสูงเช่นนี้เป็นผลจากหลายปัจจัย เช่น ไทยตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ สูงเฉลี่ย 9.8% ขณะที่สหรัฐฯ เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยเพียง 3.3% โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งไทยเก็บอัตราภาษีสหรัฐฯ เฉลี่ยสูงถึง 27% รวมถึงไทยยังใช้มาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะสินค้าเกษตร นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังคำนึงถึงการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการกีดกันการค้าในภาคบริการ สิทธิเสรีภาพของแรงงานอีกด้วย

 

รูปที่ 1: ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีทั่วโลกเฉลี่ย 16% เอเชียและอาเซียนเจอผลกระทบแรงกว่า โดยเฉพาะไทยถูกเก็บอัตรา 36% 

 

หมายเหตุ: อัตราภาษี 54% ของจีนมาจาก 34% (จากการประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2025) และ 10%+10% (ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ และ 4 มีนาคม 2025 ตามลำดับ) 

 

ไทยจะได้รับผลกระทบมากจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ ทั้งทางตรงและอ้อม

 

SCB EIC ประเมินเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบสูงจากนโยบายภาษีของทรัมป์ 2.0 ทั้งผลกระทบทางตรงและทางอ้อม โดยเฉพาะการส่งออก สาเหตุจาก

 

  1. ผลกระทบทางตรง: ส่งออกไทยพึ่งสหรัฐฯ สูงถึง 18% 

สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นสัดส่วน 18.3% ในปี 2024 เพิ่มขึ้นมากจาก 12.7% ในปี 2019 หากเทียบกับประเทศในโลกที่มี GDP ใหญ่สุด 30 อันดับแรกและกลุ่มประเทศอาเซียน พบว่า ไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ต่อ GDP ค่อนข้างสูงกว่าอยู่ที่ราว 10% ขณะที่ไทยเองก็โดน Reciprocal Rate ในอัตราสูงกว่าด้วยเช่นกัน (รูปที่ 2) ไทยจึงมีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูงผ่าน 2 ช่องทาง คือ 

 

  1. Substitution Effect: สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าตอบโต้ไทยสูงถึง 36% ขณะที่ประเทศต่างๆ โดนอัตราภาษีน้อยกว่ามาก (ส่วนมากถูกเก็บภาษีแค่ 10%) จึงอาจทำให้สหรัฐฯ หันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่แข่งที่ขายราคาถูกกว่าไทย 
  2. Income Effect: สหรัฐฯ อาจนำเข้าสินค้าจากไทยและคู่ค้าอื่นๆ น้อยลง เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ เองก็อาจชะลอลงมาจากนโยบายกำแพงภาษีของตัวเองครั้งนี้

 

หากดูผลกระทบรายหมวดสินค้าส่งออก พบว่ากว่า 8 ใน 10 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบมาก เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (8.2% ของมูลค่าการส่งออกไทยทั้งหมด) พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากถึง 42.9% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ทั้งหมด หรือผลิตภัณฑ์ยาง โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ มากถึง 31.6% และ 58.5% ของการส่งออกสินค้ากลุ่มนั้นๆ ทั้งหมด ตามลำดับ (รูปที่ 3) 

 

รูปที่ 2 : ไทยจะได้รับผลกระทบจากนโยบายภาษีของทรัมป์ 2.0 มาก เพราะพึ่งส่งออกไปสหรัฐฯ สูง และถูกเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ สูงโดยเปรียบเทียบ

 

หมายเหตุ: ไม่รวมเม็กซิโกและแคนาดา เนื่องจากสองประเทศในปัจจุบันสินค้าส่วนมากอยู่ภายใต้ข้อตกลง USMCA ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษีนี้ สำหรับกรณีจีน รวมผลกระทบจากภาษีเฉพาะเจาะจง 20% 

 

รูปที่ 3 : สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญใน Top-10 สินค้าส่งออกหลักของ

 

 

  1. ผลกระทบทางอ้อม: ส่งออกไทยกระจุกตัวในประเทศที่ถูกตั้งกำแพงภาษีสูง

นอกจากไทยส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูงแล้ว ไทยยังส่งออกไปยังตลาดจีน อาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปในสัดส่วนที่สูงเช่นกัน ซึ่งกลุ่มประเทศเหล่านี้ถูกตั้งกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ในอัตราสูงอยู่ที่ 54%, 33%, 24% และ 20% ตามลำดับ เทียบกับกำแพงภาษีที่สหรัฐ เก็บทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16% ดังนั้นการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักของไทยกลุ่มนี้ จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อความต้องการสินค้าส่งออกไทยผ่านหลายช่องทาง คือ 

 

    1. ความต้องการสินค้าขั้นปลายของไทยลดลง เช่น เศรษฐกิจจีน (ตลาดส่งออกอันดับ 2 ของไทย) คาดว่าจะชะลอตัวลงจากมาตรการกีดกันการค้ารอบนี้ ย่อมส่งผลให้ความต้องการนำเข้าสินค้าไทยลดลงตาม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ผักและผลไม้ อาหาร เครื่องดื่ม ซึ่งจีนเป็นผู้นำเข้าหลัก (เช่น ทุเรียนไทยส่งออกไปจีนในปี 2567 มีสัดส่วนมากถึง 97.4% ของมูลค่าการส่งออกทุเรียนไทยทั้งหมด)
    2. ความต้องการสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางของไทยในห่วงโซ่การผลิตลดลง เช่น ไม้ยางพารา ยางพารา ยางสังเคราะห์ เม็ดพลาสติก (โดยเฉพาะกลุ่ม Styrene และ Ethylene) และอะลูมิเนียมรีด (สำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์หรือกระป๋องเครื่องดื่ม) ซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปตลาดจีนสูง อาจถูกกระทบหากจีนส่งออกไปสหรัฐฯ น้อยลง
    3. การแข่งขันในตลาดส่งออกโลกสูงขึ้น บางประเทศอาจเผชิญปัญหาส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ได้น้อยลง แต่กำลังการผลิตในประเทศยังมีอยู่มาก ทำให้ต้องระบายสินค้าออกสู่ตลาดอื่นๆ มากขึ้น 
    4. บางประเทศคู่ค้าอาจหันไปนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเพื่อลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ จึงอาจนำเข้าสินค้าไทยน้อยลง 

 

  1. ผลกระทบทางอ้อม: ภาวะ Wait & See ของการลงทุนในไทยจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีสหรัฐฯ ทั้งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งที่ผ่านมาการลงทุนจากจีนส่วนหนึ่งเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยเพื่อส่งออกสินค้าไปขายตลาดสหรัฐฯ และหลีกเลี่ยงการกีดกันสินค้าส่งออกจากจีนโดยตรง รวมถึงการลงทุนในประเทศที่อาจ Wait & See โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปตลาดสหรัฐฯ ที่อาจรอดูความชัดเจนของการเจรจาการค้าของรัฐบาลไทยเพื่อลดผลกระทบจากนโยบายภาษีครั้งนี้

 

ความไม่แน่นอนของภาษีตอบโต้ยังสูง ขึ้นกับเจรจา

 

SCB EIC ประเมินอัตราภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ไทยและประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ ทั่วโลกต้องเผชิญจะมีแนวโน้มต่ำกว่าที่ทำเนียบขาวประกาศในวันที่ 2 เมษายน 2025 โดยในประกาศของทำเนียบขาวระบุชัดว่า ประธานาธิบดีทรัมป์อาจลดภาษีตอบโต้ให้ได้ หากประเทศนั้นๆ สามารถแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมทางการค้ากับสหรัฐฯ ที่เกิดขึ้นได้ เช่น พยายามลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐฯ ลดอัตราภาษี Reciprocal Tariffs ได้บ้าง สำหรับประเทศนั้นๆ ได้บ้าง อย่างไรก็ดี การเจรจาขอลด Universal Tariffs และ Specific Tariffs รายสินค้าจะดำเนินการได้ยากกว่า เพราะวัตถุประสงค์ของสหรัฐ ต้องการประกาศเป็นอัตราภาษีนำเข้าส่วนเพิ่มขั้นต่ำ และเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศบางประเภทโดยเฉพาะ 

 

แม้อัตราภาษีที่แท้จริงที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจริงกับประเทศไทยอาจลดลงหลังการต่อรองลดผลกระทบไม่ให้รุนแรงมาก SCB EIC ประเมินว่า การประกาศสงครามการค้าของสหรัฐฯ ครั้งนี้จะเป็นความเสี่ยงด้านต่ำสำคัญของเศรษฐกิจไทย จะส่งผลกดดันให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2025 ปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่ 2.4% อย่างมีนัยสำคัญ

 

ประเทศไทยจึงควรให้ความสำคัญเร่งเจรจาลดผลกระทบครั้งนี้ โดยอาจเน้นจาก 3 ประเด็นหลักของไทย ซึ่งสะท้อนได้จากรายงานอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศของ United States Trade Representative (USTR) เผยแพร่เดือน มีนาคม 2025 ได้แก่ 

  1. ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยนำเข้าสินค้าบางประเภทจากสหรัฐฯ มากขึ้น หรือ ลดอัตราภาษีนำเข้าบางสินค้าของสหรัฐฯ 
  2. ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี เช่น เกณฑ์ห้ามนำเข้าสินค้าบางชนิด เกณฑ์มาตรฐานสินค้าเกษตร 
  3. แก้ไขปัญหาอื่นๆ ที่อาจเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ และไทยเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพของแรงงาน ตลอดจนการพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ 

 

อย่างไรก็ดี การเจรจาต้องคำนึงถึงประโยชน์โดยรวมของประเทศอย่างสมดุล โดยนอกเหนือจากประเด็นจาก USTR ที่ระบุไว้ ไทยควรคำนึงถึงกลไกเพื่อดูแลผลกระทบต่อผู้ผลิตและผู้ประกอบการในภาคส่วนต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นตามมา ทั้งการเตรียมตัวรับมือต่อการไหลเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ ผ่านการบังคับใช้กฎหมายด้านคุณภาพสินค้า แนวทางป้องกันการทุ่มตลาดและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้งพิจารณาขยายความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคเพื่อขยายตลาดและโอกาสการค้า การลงทุนและสร้างห่วงโซ่การผลิตใหม่ได้อย่างเข้มแข็ง

 

ทั้งนี้ SCB EIC จะติดตามแผนการรับมือของรัฐบาลไทย ท่าทีของสหรัฐฯ และมาตรการตอบสนองของประเทศต่างๆ หลังสหรัฐฯ ประกาศอิสรภาพจากความไม่เป็นธรรมทางการค้าครั้งใหญ่รอบนี้ เพื่อประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยละเอียดต่อไป 

 

หมายเหตุ:

  • *จำนวน 185 เศรษฐกิจ ยังไม่ได้รวมเม็กซิโกและแคนาดา เนื่องจากในปัจจุบันสองประเทศนี้ยังได้รับยกเว้นตามข้อตกลง USMCA อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลงจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติมที่อัตรา 25% แต่สินค้าพลังงานและโพแทชที่นำเข้าจากแคนาดาจะได้รับอัตราภาษีที่ 10% 

 

อ้างอิง: 

  • การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของ CEIC, Trade Maps, U.S. Census Bureau และ The White House
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising