×

ทำไมทรัมป์เก็บภาษีไทย 37% ถึงเป็นเรื่องน่าห่วง? เมื่อ 12 ธุรกิจไทยพึ่งตลาดสหรัฐฯ สูง อาจทำให้ผู้ส่งออก 3,700 รายกำลังเสี่ยงตาย

05.04.2025
  • LOADING...
trump-tariff-thai-impact

การประกาศใช้นโยบายภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ วานนี้ สะเทือนทางการค้าไปทั่วโลก กว่า 180 ประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบมากกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ เมื่อถูกกำหนดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มสูง 37% ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2025 เป็นต้นไป

 

คำถามที่น่าสนใจ นอกจาก ทำไมไทยถึงโดนตั้งกำแพงภาษีสูงลิ่ว เรียกได้ว่าหักปากกาเซียน และอีกมุมทำไมและการขึ้นภาษีรอบนี้ ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก ซึ่งหลายหน่วยงานคาดการณ์กันจะกระทบต่อ GDP ไทย หดตัวลงไปอีกเหลือแค่ 1%

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

จากข้อมูลการส่งออกปี 2024 พบว่า SMEs พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูงถึง 20 % ด้วยมูลค่า 7,634 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ SMEs มีส่วนแบ่งของการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ ที่ 14%

 

โดยสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกของ SMEs ลำดับที่ 2 รองจากจีน ขณะที่ SMEs นำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ 2,563 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ SMEs เกินดุล 5,070 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

“ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2025 นี้ SMEs ยังส่งออกไปสหรัฐฯ มูลค่ารวม 1,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 39.6% สินค้าส่งออกสำคัญ 5 ลำดับแรกได้แก่ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับเฟอร์นิเจอร์ และพลาสติก คิดเป็นสัดส่วน 75 % ของ มูลค่าส่งออกของ SMEs ไปยังสหรัฐฯ ทั้งหมด”

 

สำหรับผลกระทบจากมาตรการขึ้นกำแพงภาษีครั้งนี้ สสว. ประมาณการว่ามูลค่าส่งออกของ SMEs ไปยังสหรัฐฯ ปี 2568 จะลดลง 1,128 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 38,300 ล้านบาท และอาจส่งผลให้ GDP ของภาค SMEs ปี 2568 ลดลง 0.2 % จากที่ สสว. ประมาณการการขยายตัวไว้ที่ 3.5%

 

ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบดังกล่าว ขึ้นอยู่กับ “การเจรจาต่อรองของรัฐบาลไทย” รวมทั้งมาตรการตอบโต้ ของประเทศคู่ค้าอื่นๆ

 

ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ส่งออกSMEs ในเบื้องต้นพบว่า มีสินค้า 12 กลุ่มหลัก ที่พึ่งพิงการส่งออกไปสหรัฐฯ ในระดับสูง (การส่งออกสินค้ากลุ่มนั้นไปยังสหรัฐฯ เป็นตลาดหลักเกินกว่า 10% และมูลค่าสูงกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) จะกระทบกับSMEs ประมาณ 3,700 ราย ดังนี้

 

  1. กลุ่มอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่ เครื่องโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เครื่องส่งวิทยุ กล้อง ถ่ายบันทึกภาพดิจิทัล และลวดเคเบิล
  • มูลค่าส่งออก: 2,792 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 34%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 59%
  • จำนวนผู้ส่งออก SMEs: 914 ราย

 

  1. กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ได้แก่ พลอย และเครื่องประดับเพชรพลอยรูปพรรณ
  • มูลค่าส่งออก: 758 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 45%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 19%
  • จำนวนผู้ส่งออก 885 ราย

 

  1. กลุ่มเครื่องจักรและส่วนประกอบ ได้แก่อุปกรณ์เครื่องปรับอากาศ ก๊อก วาล์ว ส่วนประกอบเครื่องยนต์อากาศยาน
  • มูลค่าส่งออก: 466 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 25%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 52%
  • จำนวนผู้ส่งออก SMEs: 156 ราย

 

  1. กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เก้าอี้ โซฟา โคมไฟ อุปกรณ์ส่องสว่าง เฟอร์นิเจอร์การแพทย์
  • มูลค่าการส่งออก: 432.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 45%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 68%
  • จำนวนผู้ส่งออก SMEs: 400 ราย

 

  1. ของทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้า เช่น ข้อต่อ ลวดเกลียว สลิง ตะปู สะพานและชิ้นส่วน ประตูน้ำ เครื่องสุขภัณฑ์ ของใช้ในครัวและโต๊ะอาหาร
  • มูลค่าการส่งออก: 181.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 24%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 31%
  • จำนวนผู้ส่งออก SMEs: 422 ราย

 

  1. ยานยนต์และชิ้นส่วน ได้แก่ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถพ่วงและกึ่งพ่วง
  • มูลค่าการส่งออก: 116 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 8%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 21%
  • จำนวนผู้ส่งออก SMEs: 138 ราย

 

  1. ของปรุงแต่งทำจากพืชผักผลไม้ ได้แก่ น้ำผลไม้ ผลไม้ ผักผลไม้ดอง ผลไม้แช่อิ่ม แยม
  • มูลค่าการส่งออก: 73.97 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 10%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 14%
  • จำนวนผู้ส่งออก SMEs: 293 ราย

 

  1. อะลูมิเนียมและของทำด้วยอะลูมิเนียม ได้แก่ สิ่งก่อสร้างทำด้วยอะลูมิเนียม ภาชนะอะลูมิเนียมสำหรับบรรจุก๊าซอัดหรือก๊าซเหลว และของอื่นๆ ทำด้วยอะลูมิเนียม
  • มูลค่าการส่งออก: 68.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 55%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 53%
  • จำนวนผู้ส่งออก SMEs: 74 ราย

 

  1. เครื่องแต่งกายถักแบบนิตหรือแบบโครเชต์ ได้แก่ เสื้อกั๊ก เสื้อผ้าของเด็กเล็ก สูท เชิ้ต ถุงมือทุกชนิด เสื้อโอเวอร์โค้ตของบุรุษ ชุดวอร์ม ชุดสกี และชุดว่ายน้ำ
  • มูลค่าการส่งออก: 50.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 17%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 41%
  • จำนวนผู้ส่งออก SMEs: 190 ราย

 

  1. ธัญพืช ได้แก่ ข้าว
  • มูลค่าการส่งออก: 42.00 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 5%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ : 11%
  • จำนวนผู้ส่งออก SMEs: 85 ราย

 

  1. กลุ่มยางและผลิตภัณฑ์ยาง ได้แก่แผ่นยางปูพื้น อย่างกันกระแทก ท่อยางอุตสาหกรรม
  • มูลค่าส่งออก 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 16%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 16%
  • จำนวนผู้ส่งออก SMEs: 121 ราย

 

  1. กลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป ได้แก่ สัตว์น้ำแปรรูปจำพวก กุ้ง หอย ปู
  • มูลค่าส่งออก 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สัดส่วน SMEs: 7%
  • พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ: 49%
  • จำนวนผู้ส่งออก SMEs: 30 ราย

 

เพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว SMEs ไทยจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยมุ่งเน้นการค้นหาตลาดใหม่และคู่ค้าในภูมิภาค รวมทั้งหาประโยชน์จากกฎเกณฑ์การค้าผ่านข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) และใช้ฐานการผลิตจากประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาษี 

 

นอกจากนี้ รัฐบาลควรให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน และเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน ทำให้ภาคเอกชนสามารถบริโภคได้มากขึ้น ลดการพึ่งพาการส่งออก และกระตุ้นการท่องเที่ยว

 

อย่างไรก็ตาม “ไทยยังต้องเผชิญกับการไหลบ่าของสินค้าจากประเทศอื่นๆ ที่แสวงหาตลาดทดแทนสหรัฐฯ ดังนั้น การเร่งสร้างมาตรการรองรับ รวมถึงการเพิ่มความตระหนักให้ผู้ซื้อพิจารณาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันการขาดดุลการค้าที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต”

 

หวั่นทุบอุตสาหกรรมไทย 9 แสนล้าน ห่วง GDP ไทยทั้งปีโตต่ำ 1%

 

ด้านธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึง ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าไทย เพิ่ม 36% ว่า 

 

“คาดว่าทั้ง 2 กรณี จะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทย 374,851.8 ล้านบาท ฉุดให้ GDP ไทยปีนี้ลดลง 2.02% ส่งผลให้ GDP ไทยทั้งปีนี้อาจขยายตัวปรับลดลงเหลือ 1% ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ที่ 3%”

 

ขณะที่ พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทยคนใหม่ และเป็น ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซี แวลู จำกัด และ ประธานกรรมการบริหารผู้ถือหุ้น High Liner Foods, U.S.A. ผู้ส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า หากโฟกัสถึงตัวเลขที่ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐฯ ในปีนี้ มากกว่าปีก่อนที่ 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยปีก่อนอยู่ระดับ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ปีนี้ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 11

 

“แต่ต้องเข้าใจว่ามีตัวเลขที่สหรัฐฯ มาลงทุนและส่งออกไปสหรัฐฯ และสหรัฐฯ ลงทุนในไทยและขายในไทย หรือส่งไปประเทศอื่นและขายสหรัฐฯ โดยอุตสาหกรรมที่เกินดุลที่ผลิตในไทยเองมีไม่มากขนาดนั้น ตรงนี้ต้องไปดูว่าสินค้ามาจากไหน บางสินค้าไม่มีการผลิตในไทย ขณะที่สินค้าเกษตรก็เกินดุลสหรัฐฯ ประมาณ 2-3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตรงนี้ก็ต้องหามาตรการซื้อสินค้ากลับ”

 

หากย้อนดูไทม์ไลน์ โดยหลักที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีเม็กซิโก แคนาดา หรือแม้แต่จีน ก็จะเห็นว่า ทรัมป์ประกาศไปก่อน และถัดมาคือการ ‘ต่อรอง’ ซึ่งเราคาดหวังว่า “จะมีเวลาต่อรอง” รอบนี้ทรัมป์ประกาศ ขอใช้คำว่า “กราด” เพราะทรัมป์ประกาศรวดเร็ว อย่างนี้เรือที่ส่งออกไปแล้วหากวันที่ 9 หากส่งสินค้าไปถึงฝั่งแล้วจะทำอย่างไร

 

“ผมได้คุยกับลูกค้าสหรัฐฯ แล้วต่างก็งงกันหมด สิ่งหนึ่งที่ได้คุยกับลูกค้าสหรัฐฯ อัตราภาษีแต่ละประเทศแต่ละตัวมันไม่เท่ากัน ซึ่งเขากำลังหาข้อมูลเช่นกัน”

 

อย่างไรก็ตาม คำประกาศนี้ ส่วนตัวไม่ได้มองว่าเป็นคำประกาศเชิงเศรษฐศาสตร์ แต่เป็นคำประกาศเชิงนโยบายมากกว่า ซึ่งน่าจะต้องมีดีเทลอีกเยอะ หวังว่าคงจะมีคำประกาศอะไรออกมาอีกที เพื่อให้ยืดหยุ่น ไม่เกินจริง

 

“แต่สิ่งที่น่าห่วง คือ หากคำประกาศหากชัดเจนจะสร้างความวุ่นวายเกี่ยวกับดีมานด์ ซัพพลายโลกอย่างมาก ตรงนี้ไทยต้องตั้งรับ และวางหมากรุก หมายความว่าก็อาจจะเปิดโอกาสให้เราหาตลาดใหม่ ไม่อย่างนั้น สินค้าหลายประเทศ ไปไม่ได้จริงๆ ก็อาจจะไหลลงมาอาเซียนและไทยได้”

 

ดร.พจน์ กล่าวอีกว่า ประเมินผลกระทบ GDP แค่ไหนนั้น ผมคิดว่าต้องรอการประชุมเดือนหน้า ตอนนี้ฝุ่นตลบไปหมด “แต่ท้ายที่สุด มันมีผลต่อการส่งออกไปสหรัฐฯ แน่นอนอยู่แล้ว ถ้าเราเห็นปัญหาแล้ว ถ้าเรามีทิศทางแล้วก็จะทำให้เบาบางลง”

 

ด้าน เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า หลังการหารือกลุ่มอุตสาหกรรมที่ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ เพื่อระดมสมองหามาตรการต่างๆวานนี้ ซึ่งไทยถูกเรียกเก็บภาษีสูงถึง 37% ยอมรับว่า “ช็อก” เพราะมากกว่าที่ภาครัฐและเอกชนคาดการณ์ไว้เกือบ 3 เท่าตัว คาดมูลค่าเสียหายจากการขึ้นภาษีดังกล่าว ราว 8-9 แสนล้านบาท

 

เพราะกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักเป็นภาคการผลิตหลักในไทย ได้แก่ ยานยนต์ อาหาร พลาสติก และเคมีภัณฑ์ หากเก็บอัตราภาษีที่สูงขึ้นทำให้สินค้าไทยเสียเปรียบคู่แข่ง อนาคต หวั่นใจว่าสินค้าจากจีนจะทะลักเข้ามาซ้ำเติม รวมถึงสวมสิทธิ์ส่งออกด้วย

 

ภาพ: bymuratdeniz / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising