×

ทรัมป์เพ่งเล็ง BRICS เอาจริงหรือแค่ขู่?

06.12.2024
  • LOADING...
ทรัมป์ขู่ BRICS

การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจปรากฏเด่นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะการแบ่งขั้วเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาที่วันนี้เราเรียกกันอีกชื่อว่า โลกขั้วใต้ (Global South) ซึ่งดูเหมือน โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 ก็รับรู้ว่าเทรนด์นี้อาจสะเทือนต่อแผนการทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

 

เพราะหลังจากทรัมป์เพิ่งเล็งเป้าขึ้นภาษีจีน รวมถึงเพื่อนบ้านติดกันอย่างเม็กซิโกและแคนาดาที่ก็ไม่รอดแล้ว BRICS ก็ตกเป็นเป้าหมายใหม่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ทรัมป์ประกาศว่าถ้าประเทศใน BRICS เดินหน้าสร้างสกุลเงินใหม่หรือสนับสนุนเงินสกุลใหม่มาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐก็จะต้องเจอกับภาษี 100% 

 

ทรัมป์บอกด้วยว่าสหรัฐฯ จะไม่ยอมยืนดูเฉยๆ อีกต่อไปกับความพยายามใดๆ ก็ตามในการลดความสำคัญของดอลลาร์ หรือ De-Dollarization

 

แต่คำถามคือ การขึ้นภาษี 100% จะทำได้จริงหรือไม่ หรือถ้าทำได้จริงจะส่งผลกระทบแค่ไหน

 

ปัจจุบัน BRICS มีสมาชิก 9 ประเทศ คือ บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน, แอฟริกาใต้, เอธิโอเปีย, อียิปต์, อิหร่าน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ซาอุดีอาระเบียยังอยู่ระหว่างพิจารณาเข้าร่วมและรอการให้สัตยาบัน)

 

ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ปัจจุบัน BRICS มีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็นสัดส่วน 37.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก มีตลาดแรงงานและการบริโภคขนาดใหญ่

 

มีหลายประเทศแสดงความประสงค์เข้าร่วม และการประชุมสุดยอดผู้นำ BRICS ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย เมื่อต้นปีที่ผ่านมา BRICS มีการรับพันธมิตรเพิ่มอีก 13 ประเทศ หนึ่งในนั้นคือไทย ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยยืนยันว่าไทยยังมีความต้องการเป็นสมาชิกเต็มตัว (Full Membership) ในอนาคตด้วย

 

เตะตัดขาจีน

 

“สิ่งที่ทรัมป์พยายามทำคือการเตะตัดขาจีนในทุกมิติ นโยบายที่ประกาศมาน่าจะเป็นการพุ่งเป้าไปที่จีนเป็นหลัก” รศ. ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว

 

เพราะถ้าดูจากประเทศสมาชิก BRICS อื่นๆ จะพบว่าสหรัฐฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากการค้าขายกับประเทศเหล่านี้มากนัก ยกเว้นอินเดียที่อาจตกเป็นเป้าหมายของสหรัฐฯ ต่อจากจีน เพราะมีประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะเรื่องการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing) ซึ่งเป็นสิ่งที่บริษัทยาของสหรัฐฯ ที่เป็นล็อบบี้ยิสต์สำคัญของรัฐบาลเสียประโยชน์มานาน

 

บราซิลไม่ได้อยู่ในฐานะคู่ค้าสำคัญของสหรัฐฯ มากนัก เพราะสินค้าที่สหรัฐฯ กับบราซิลผลิตเป็นสินค้าประเภทเดียวกันในหลายหมวด เช่น ถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ นม หรือเนย ขณะที่รัสเซียกับสหรัฐฯ ก็ไม่ได้ค้าขายกันเพราะสงครามอยู่แล้ว ขณะที่แอฟริกาใต้ก็เป็นผู้ส่งออกสินแร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ เองก็มีอยู่แล้ว ส่วนประเทศสมาชิกใหม่ๆ อย่างเอธิโอเปีย อียิปต์ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อาจารย์ปิติเชื่อว่าไม่ใช่เป้าหมายหลักของทรัมป์

 

ทรัมป์ไม่ยอมให้ใครบ่อนทำลายสถานะดอลลาร์สหรัฐบนเวทีโลก

 

เช่นเดียวกับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองในทิศทางเดียวกันว่าการขึ้นภาษีต่อ BRICS เป็นเพียงคำขู่เชิงสัญลักษณ์มากกว่า

 

“เรื่องนี้สะท้อนว่าทรัมป์ให้ความสำคัญกับเรื่องของสถานะของดอลลาร์สหรัฐในการเป็นเงินสกุลหลักของโลก ทรัมป์คิดว่าเรื่องนี้ผูกโยงกับการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองโลกของสหรัฐฯ” ดร.อาร์ม ให้ความเห็น

 

“ก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยหาเสียงไว้แล้วว่า หากมีสิ่งใดก็ตามมากร่อนหรือบ่อนทำลายสถานะของดอลลาร์สหรัฐบนเวทีโลก เขาก็จะไม่ยอมอย่างเด็ดขาด”

 

อาจารย์เสริมด้วยว่า ไม่เพียงแต่เรื่องสกุลเงินเท่านั้น การขู่ของทรัมป์ยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนด้วยว่า หาก BRICS ทำอะไรที่ขัดแย้งกับผลประโยชน์สหรัฐฯ หรือสถานะการนำของสหรัฐฯ ทรัมป์ก็จะไม่ยอมอยู่เฉยเช่นกัน

 

หากขึ้นภาษีจริง ทำได้หรือไม่

 

ดร.อาร์ม เชื่อว่าการขึ้นภาษี 100% ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงและเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะ BRICS ในเวลานี้ก็ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรที่เป็นรูปธรรมไปสู่การใช้สกุลเงินใหม่ ที่ผ่านมามีเพียงการนำเสนอความเห็น ยังไม่มีแผนการอะไรที่เป็นรูปธรรม

 

“หาก BRICS จะเดินหน้าทำให้เกิดขึ้นก็ต้องใช้เวลา และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างสกุลเงินใหม่ขึ้นมาแทนที่ได้ทันทีหรือภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะยังมีรายละเอียดอีกมากที่จะต้องเจรจา ต้องวางระบบ” ดร.อาร์ม กล่าว 

 

ส่วน รศ. ดร.ปิติ มองเช่นกันว่าการขึ้นภาษีรวดเดียว 100% กับ BRICS นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะหากทำเช่นนั้นจะยิ่งกระทบประชาชนในประเทศ เนื่องจากทำให้ข้าวของแพงขึ้น ระดับเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง 

 

ในขณะที่ทรัมป์ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ อย่างน้อยต้องทำให้เห็นว่าเศรษฐกิจในยุคของเขาไม่แพ้ตัวเลขเศรษฐกิจยุคไบเดน ซึ่งทรัมป์สนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ลดดอกเบี้ยและการเดินหน้าลดดอกเบี้ย รวมถึงเพิ่มปริมาณเงินในระบบนั้นก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น ดังนั้นการขึ้นภาษีแรงๆ จะยิ่งซ้ำเติมภาวะเงินเฟ้อให้รุนแรงขึ้นไปอีก

 

“แต่การขึ้นภาษีของทรัมป์จะมีลักษณะขึ้นไปทีละขั้นกับบางประเทศ ไม่ได้ขึ้นรวดเดียว 60-100% เพื่อส่งสัญญาณว่าทรัมป์เอาจริง” รศ. ดร.ปิติ ให้ความเห็น

 

ไม่ใช่แค่ BRICS แต่ประเทศที่เกินดุลการค้าต้องรับมือด้วย

 

สำหรับจีนนั้น สหรัฐฯ ขึ้นภาษีมาตั้งแต่สงครามการค้ารอบแรกยุคทรัมป์ 1.0 จนถึงสมัยไบเดน รวมแล้ว 20% เพราะฉะนั้น รศ. ดร.ปิติ จึงมองว่ามีความเป็นไปได้ที่ทรัมป์อาจเบนเป้าไปที่ประเทศอื่นๆ มากกว่า ซึ่งไม่ใช่เจาะจงไปที่ BRICS เพียงอย่างเดียว แต่เป็นประเทศอย่างเวียดนามและไทยซึ่งมีสัดส่วนการเกินดุลการค้าเมื่อเทียบกับปริมาณการค้ากับสหรัฐฯ สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 และ 3 ของโลก 

 

“แล้วไทยเตรียมพร้อมรับมือหรือยัง แล้วจะเจรจากับทรัมป์อย่างไร” อาจารย์ตั้งคำถาม

 

มาตรการตอบโต้ของจีนและบทบาทผู้นำโลกาภิวัตน์

 

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ทรัมป์ขู่ขึ้นภาษี 100% กับ BRICS จีนประกาศว่าจะไม่เก็บภาษีกับประเทศกำลังพัฒนาแทน 

 

เรื่องนี้ รศ. ดร.ปิติ มองว่าจีนต้องการแสดงให้โลกเห็นว่าในขณะที่สหรัฐฯ เลือกปิดประเทศด้วยมาตรการต่างๆ แต่จีนกลับเปิดกว้างค้าขายกับทุกประเทศ ซึ่งกลุ่มที่อยู่ในข่ายได้สิทธิพิเศษทางภาษีจากจีนอาจเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าจีน ซึ่งรายละเอียดและเงื่อนไขยังต้องรอดูกันต่อไป

 

ส่วน ดร.อาร์ม มองความเคลื่อนไหวนี้ว่าเป็นการตอบโต้เชิงสัญลักษณ์

 

“จีนพยายามส่งสัญญาณสองข้อ ข้อแรก จีนจะเป็นผู้นำของโลกาภิวัตน์หรือการค้าเสรี ในขณะที่สหรัฐฯ กำลังถอยออกไปจากโลกาภิวัตน์และการค้าเสรี”

 

“ข้อสอง เป็นการส่งสัญญาณว่าปัจจุบันจีนมีปริมาณการค้ากับประเทศขั้วใต้ (Global South) สูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว” ดร.อาร์ม กล่าว

 

แต่อาจารย์อาร์มตั้งข้อสังเกตว่าในช่วงที่หลายประเทศทำสงครามการค้าหรือใช้มาตรการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ซึ่งสวนกระแสโลกาภิวัตน์ จีนจำเป็นต้องหันมาพึ่งพาเศรษฐกิจและตลาดภายในประเทศมากขึ้น เพราะการเปิดตลาดก็อาจทำได้ไม่ง่ายเหมือนในอดีต 

 

ขณะเดียวกันถึงแม้ว่าจีนจะบอกว่าค้าขายกับประเทศกำลังพัฒนาสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว แต่ในความเป็นจริงการค้ากับประเทศกำลังพัฒนายังเป็นการค้าขายสินค้าขั้นกลางในปริมาณสูง ก่อนจะนำไปผลิตและส่งไปขายต่อในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งตลาดเหล่านี้ยังสำคัญสำหรับจีนมาก เพราะมีกำลังซื้อสูงที่สุดในโลก ดังนั้นสินค้าส่งออกส่วนสำคัญของจีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาก็ยังเป็นสินค้าขั้นกลางเพื่อไปผลิตในประเทศกำลังพัฒนา และส่งไปปลายทางคือตลาดตะวันตกอยู่ดี

 

จีนย้อนเกล็ดเรื่อง De-Dollarization

 

รศ. ดร.ปิติ ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากจีนจะตอบโต้ด้วยสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศแล้ว จีนยังย้อนเกล็ดสหรัฐฯ ในเรื่องของ De-Dollarization ด้วย 

 

“ในขณะที่ทรัมป์โจมตีว่าจีนพยายามจะลดการพึ่งพาดอลลาร์ จีนกลับออกพันธบัตรปล่อยกู้ให้ซาอุดีอาระเบียเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแทนที่จะเป็นเงินหยวน ซึ่งสะท้อนว่ายังให้ความสำคัญกับดอลลาร์สหรัฐ เพราะการทำสิ่งนี้ยิ่งให้ตลาดดอลลาร์สหรัฐใหญ่ขึ้น สวนคำวิจารณ์ว่าจีนพยายามไม่ใช้หรือลดความสำคัญของดอลลาร์สหรัฐ” รศ. ดร.ปิติ ให้ความเห็น

 

อาจารย์มองว่าจีนน่าจะเตรียมการรับมือทรัมป์ 2.0 ไว้แล้ว โดยมองว่าทรัมป์สมัยแรกเป็น 4 ปีที่จีนช็อก แต่ในช่วง 4 ปีของไบเดนทำให้จีนพบว่าจะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งเวลาที่ผ่านไปจีนไม่ได้อยู่เฉยและมีแผนการรับมือ ซึ่งการที่จีนเพิ่มการค้าขายหรือแสวงความร่วมมือกับประเทศขั้วใต้มากขึ้นก็เป็นหนึ่งในการหาทางหนีทีไล่ของจีน

 

ทิศทางความร่วมมือของ BRICS ในยุคทรัมป์ 2.0

 

มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่าเมื่อ BRICS อยู่ในเรดาร์ของทรัมป์แล้ว หลายประเทศที่แสดงความจำนงอยากเข้าก่อนหน้านี้จะเกิดความเกรงใจหรือชะลอกระบวนการออกไปก่อนหรือไม่ เพื่อเลี่ยงมาตรการทางการค้าของทรัมป์

 

ดร.อาร์ม มองว่าหากเทรนด์การกีดกันของสหรัฐฯ ยังดำเนินต่อไป ก็มีความเป็นไปได้ว่าประเทศกำลังพัฒนาจะพยายามหันมาค้าขายในตลาดตัวเองมากขึ้น

 

“หลายประเทศจะรอดูว่าทรัมป์จะดำเนินนโยบายต่างๆ ได้เร็วและแรงแค่ไหน ซึ่งก็อาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบายเข้าร่วม BRICS ของหลายประเทศ เพราะในการจะเจรจากับทรัมป์นั้นหลายประเทศก็ต้องการให้มีภาพบวกมากที่สุด ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่หลายประเทศจะประเมินผลกระทบ ก่อนที่จะดำเนินนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับ BRICS” ดร.อาร์ม กล่าว

 

อาจารย์ยกตัวอย่างว่า หลายประเทศอาจรอดูว่าทรัมป์จะเน้นนโยบายภาษีไปที่จีนโดยเฉพาะหรือไม่ หรือจะรวมประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามหาศาลบางประเทศอย่างเม็กซิโก แคนาดา และเวียดนาม เข้าไปด้วย หรือว่าจะขึ้นภาษีกับทุกประเทศตามที่เคยหาเสียงไว้ ถ้าทำกับทุกประเทศก็อาจส่งผลให้ประเทศต่างๆ ไม่เหลือทางเลือกมากนอกจากต้องค้าขายกันเองมากขึ้น ซึ่ง BRICS ก็จะเป็นหนึ่งในทางเลือกหรือทางออก 

 

“แต่ถ้านโยบายทรัมป์มุ่งไปที่จีนหรือบางประเทศเท่านั้น ก็อาจทำให้หลายประเทศสงวนท่าทีหรือดูทิศทางเพื่อที่จะเจรจากับทรัมป์ไม่ให้โดนกำแพงภาษี” ดร.อาร์ม กล่าว

 

อาจารย์อาร์มเชื่อว่า ในระยะแรกการดำเนินนโยบายของทรัมป์จะเร็วและแรงกับบางประเทศก่อนเพื่อให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อบีบให้ประเทศต่างๆ ต้องรีบมาเจรจากับสหรัฐฯ 

 

ส่วนในระยะยาว นโยบายที่ผันผวนของสหรัฐฯ จะผลักให้กลุ่มประเทศ Global South ร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่ง ดร.อาร์ม เห็นด้วยว่าหลายประเทศจะลดการพึ่งพาดอลลาร์ (De-Dollarization) รวมถึงจะค้าขายกันเองระหว่างประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น เนื่องจากตลาดของสหรัฐฯ จะปิดมากขึ้นกว่าเดิม

 

ภาพ: Chip Somodevilla / Getty Images North America / Getty Images via AFP, Peter Hermes Furian via ShutterStock

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising