มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากเม็กซิโกและแคนาดา 25% จะมีผลบังคับใช้ในวันอังคารที่ 4 มีนาคมนี้ ควบคู่ไปกับมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 10% รวมเป็น 20% สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมออกโรงเตือนมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐที่มีต่อ 3 ประเทศจะทวีความกดดันภาคการผลิตไทยหนักขึ้น
รายงานข่าวระบุว่า แผนเรียกเก็บภาษีนำเข้าแคนาดาและเม็กซิโกในอัตรา 25% จะมีผลในวันที่ 4 มีนาคมนี้ และจะเก็บภาษีจีนเพิ่มอีก 10% มีผลในวันเดียวกัน ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้สงครามการค้ากับหุ้นส่วนของสหรัฐทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
โดยภาษีศุลกากรใหม่ต่อจีนอีก 10% หลังเรียกเก็บไปแล้ววันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในช่วงที่ทรัมป์เลื่อนการเรียกเก็บภาษีศุลกากรต่อแคนาดาและเม็กซิโกออกไป
ดังนั้นอัตราภาษีใหม่ที่กำหนดกับจีนหมายความว่าภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ต่อสินค้าจีนจะรวมเป็น 20% ส่วนภาษีศุลกากร 25% ใช้กับสินค้านำเข้าจากแคนาดาและเม็กซิโกทั้งหมด ยกเว้นสินค้าพลังงานจากแคนาดา ซึ่งจะถูกเรียกเก็บภาษี 10%
ทั้งนี้ มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าจีนครั้งใหม่ในสัปดาห์หน้า จะตรงกับช่วงที่จีนจะประชุมสภาประจำปี ซึ่งถือเป็นวาระงานสำคัญทางการเมืองที่คาดว่าจีนจะเปิดเผยแผนเศรษฐกิจสำหรับปี 2025 อีกด้วย
เตือน!เม็กซิโก แคนาดา และจีน ทำสินค้าจีนทะลักเข้ามาในไทยเพิ่ม ทุบซ้ำภาคการผลิตไทย
วันนี้ (28 กุมภาพันธ์) ภาสกร ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนมกราคม 2568 อยู่ที่ 98.89 หดตัว 0.85% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 8.7% เมื่อเทียบจากเดือนก่อนขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ม.ค. 68 อยู่ที่ 60.38%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 10 สินค้าไทยเสี่ยงโดนสหรัฐฯ ขึ้นภาษี ทรัมป์ไล่เช็กบิลประเทศไหนไปแล้วบ้าง
- ทรัมป์จ่อขึ้นภาษีรถยนต์-ยา-ชิป อีก 25% เริ่ม 2 เม.ย. ค้าโลกป่วน WTO ออกโรงเตือนโลกเสี่ยงเผชิญเศรษฐกิจถดถอย
- ทำไม Trade War รอบนี้ไทยตกเป็นเป้าทั้งขึ้นทั้งล่อง สินค้าไหนเสี่ยงโดนเช็กบิลจาก Trump 2.0
โดยปัจจัยกดดันที่ส่งผลต่อภาคการผลิต ได้แก่ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาค่าครองชีพ และสถานการณ์หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังอยู่ในระดับที่สูง กดดันกำลังซื้อของผู้บริโภคส่งผลให้การบริโภคชะลอตัวลง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคและอุตสาหกรรมยานยนต์
“ที่ต้องจับตาคือมาตรการกีดกันทางการค้าที่สหรัฐฯ นำมาใช้จัดเก็บภาษีจาก 3 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา และจีน อาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะสินค้าจากประเทศจีนที่อาจจะทะลักเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้น”
อีกทั้งจะเห็นได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์เผชิญความท้าทาย ดัชนีอุตสาหกรรมยานยนต์ชะลอตัวอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 และในเดือนม.ค. 68 ยอดจำหน่าย ยอดการผลิต และยอดการส่งออกลดลง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน” ภาสกรกล่าว
นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตในปี 2567 อยู่ที่ 58.44% เทียบกับปี 2558 อยู่ที่ 68.11% ลดลงในรอบ 10 ปี โดยการผลิตลดลงไป 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2565-2567
สอดคล้องกับ สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สภาวะตลาดรถยนต์ยังทรุดต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 เพราะคนไทยกู้รถยากขึ้น EV จีนแย่งตลาดส่งออกประเทศคู่ค้า ที่สำคัญคือกังวลว่าหากทรัมป์ขึ้นภาษีอีก 25% จะยิ่งมีผลต่อยอดผลิต ทั้งหมดนี้จึงต้องเฝ้าติดตามเพราะภาคการผลิตไทยยังไม่ฟื้นตัว
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยบวกจากรัฐบาลทั้งโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท, พักหนี้ “คุณสู้ เราช่วย”, Easy E-Receipt 2.0 ทำให้ผู้ประกอบการสามารถผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคำสั่งซื้อจากการบริโภคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงตลาดส่งออกที่ขยายได้ดี สะท้อนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2568 ที่ขยายตัว และการท่องเที่ยว
สำหรับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 2.25% เป็น 2.0% คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการในภาคการผลิตไทยได้รับอานิสงส์จากการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (Expansionary Monetary Policy) ในครั้งนี้ โดยเฉพาะในด้านของการลงทุนและการขยายตัวของธุรกิจ
ภาพ: Jakub Porzycki / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: