×

ทรัมป์กลับมาแล้ว บทเรียนของเดโมแครต และความผันผวนที่โลกต้องรับมือ

07.11.2024
  • LOADING...

สหรัฐฯ ได้ประธานาธิบดีคนใหม่เป็นคนที่เราคุ้นเคยกันดี ซึ่งก็คือประธานาธิบดีคนที่ 45 ที่กลับเข้ามาทำงานที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาวอีกครั้งในฐานะประธานาธิบดีคนที่ 47 และเรากำลังจะเข้าสู่ยุค ทรัมป์ 2.0 ตั้งแต่ต้นปีหน้า หลังพิธีสาบานตนในเดือนมกราคม 

 

สำหรับ คามาลา แฮร์ริส ของเดโมแครต ที่แบกความหวังกับการจะได้เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ ถือว่าพ่ายแพ้อย่างราบคาบชนิดที่หลายคนไม่คาดคิดมาก่อน

 

และนี่คือบทสรุปจากการเลือกตั้งชี้ชะตาโลก ที่ทำให้เราพอจะเห็นบรรยากาศและทิศทางของภูมิรัฐศาสตร์รวมถึงการค้าโลกตลอด 4 ปีข้างหน้า

 

ทรัมป์หวนคืนทำเนียบขาวอย่างยิ่งใหญ่ แหกทุกผลโพล

 

มีสัญญาณให้เห็นก่อนการเลือกตั้งว่ากระแสทรัมป์กำลังมา หลังทรัมป์ถูกยกให้เป็นตัวเต็งเหนือแฮร์ริส โดยบริษัทรับพนันถูกกฎหมายหลายเจ้าในสหรัฐฯ พากันหั่นอัตราต่อรองสำหรับคนที่แทงว่าทรัมป์จะชนะ ถึงแม้ว่าโพลระดับชาติกับโพล 7 รัฐสมรภูมิ หรือ Swing State ช่วงโค้งสุดท้ายจะชี้ว่า สองผู้สมัครมีคะแนนสูสีแบบหายใจรดต้นคอ ทิ้งห่างกันไม่ถึง 2% แถมบางช่วงยังเสมอกันด้วย

 

สิ่งที่เราได้เห็นในวันที่ 6 พฤศจิกายน คือทรัมป์นำแบบม้วนเดียวจบ กวาดคะแนนเสียง Electoral College ในแต่ละรัฐได้ถึง 270 ภายในค่ำคืนวันเลือกตั้ง ไม่ต้องรอวัดกันที่ Swing State รัฐท้ายๆ เลยด้วยซ้ำ ปีนี้จึงไม่มีดราม่าและไม่ยืดเยื้อเหมือนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ที่ต้องรอผลรัฐเพนซิลเวเนียหลายวันกว่าจะตัดสินผู้ชนะกันได้

 

นอกจากนี้คะแนน Popular Vote ก็สร้างความประหลาดใจอยู่ไม่น้อย เมื่อโหวตเตอร์เทคะแนนให้ทรัมป์มากกว่าแฮร์ริส 4.7 ล้านเสียง (ผลการนับคะแนนอัปเดตเมื่อเวลา 09.07 น. ของวันที่ 7 พฤศจิกายน ทรัมป์ 72,450,013 คะแนน : แฮร์ริส 67,737,257 คะแนน) 

 

ครั้งนี้จึงถือเป็นครั้งแรกที่ทรัมป์ชนะคะแนนดิบ หรือ Popular Vote ด้วย นับเป็นชัยชนะที่เด็ดขาด ไร้ข้อกังขา อาจเรียกได้ว่าชนะใจชาวอเมริกันส่วนใหญ่ (แม้มีคนจำนวนมากไม่ชื่นชอบทรัมป์ แต่ก็โหวตเพราะไม่เอาเดโมแครตและแฮร์ริสก็ตาม) 

 

ทรัมป์หักปากกาเซียน พิชิตทั้ง 7 รัฐสมรภูมิ

 

เดิมคาดหมายว่าแฮร์ริสและทรัมป์จะต้องมาขับเคี่ยวกันใน 7 รัฐ Swing State โดยที่ทรัมป์มีภาษีดีกว่าที่แอริโซนา, เนวาดา, นอร์ทแคโรไลนา และจอร์เจีย ในขณะที่แฮร์ริสอาจชนะที่วิสคอนซินและมิชิแกน โดยทั้งคู่ต้องมา ‘ชิงดำ’ กันที่เพนซิลเวเนียเพื่อตัดสินแพ้ชนะ ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ก็มองไปในทิศทางเดียวกันนี้

 

แต่ปรากฏว่าทรัมป์กวาดเรียบทั้ง 7 รัฐ (ยังต้องรอผลทางการในรัฐแอริโซนาและเนวาดา แต่ทรัมป์ยังนำอยู่แบบหายห่วง) 

 

ย้อนกลับไปในปี 2020 โจ ไบเดน ชนะใน 6 รัฐ แต่แพ้ให้ทรัมป์ในนอร์ทแคโรไลนา ไม่ได้กวาดไปทั้ง 7 รัฐเหมือนทรัมป์ในปีนี้ ครั้งนี้จึงถือว่าทรัมป์เอาคืนได้พร้อมดอกผล 

 

ปราการสีน้ำเงินทางเหนือพังทลาย ภูมิศาสตร์เลือกตั้งยังไม่เปลี่ยน

 

คำถามน่าสนใจคือ เรายังจะเรียกป้อมปราการสีน้ำเงินทางเหนือของเดโมแครต (Blue Wall) ได้อีกต่อไปหรือไม่ เมื่อทรัมป์สามารถบุกมาชนะที่นี่ได้ 2 หนแล้ว โดยทั้งเพนซิลเวเนีย มิชิแกน และวิสคอนซิน ล้วนเคยเป็นฐานเสียงสำคัญที่สร้างความได้เปรียบให้เดโมแครตมาตลอดนับทศวรรษ แต่ที่ผ่านมามีสถานะเป็นรัฐสมรภูมิที่ประชาชนยังชั่งใจว่าจะเลือกใคร

 

ปฐมพงษ์ อึ๊งประเสริฐ นักวิเคราะห์ของ THE STANDARD ที่สังเกตการณ์การเลือกตั้งทุกครั้งเชื่อว่า ภูมิศาสตร์การเลือกตั้งของสหรัฐฯ จะยังไม่เปลี่ยนไป ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งหน้า การแข่งขันจะยังเข้มข้นที่ 7 รัฐสมรภูมินี้เหมือนเดิม

 

สหรัฐฯ ยังต้องรอประธานาธิบดีหญิงคนแรกต่อไป

 

เดโมแครตส่งแคนดิเดตหญิงชิงเก้าอี้ผู้นำทำเนียบขาว 2 ครั้ง แล้วก็พ่ายแพ้ทั้งสองครั้งสองครา แต่ครั้งนี้แพ้แบบขาดลอยด้วย หากยังจำกันได้ ในปี 2016 ทรัมป์ชนะ ฮิลลารี คลินตัน ด้วยจำนวน Electoral Vote หรือคณะผู้เลือกตั้งที่มากกว่า แต่แพ้ให้ฮิลลารีด้วยคะแนนดิบ หรือ Popular Vote แต่สำหรับปี 2024 ทรัมป์ชนะแฮร์ริสทั้งคะแนน Electoral Vote และ Popular Vote ด้วยคะแนนดิบจากโหวตเตอร์เกินครึ่ง 

 

แฮร์ริสยอมรับความพ่ายแพ้ และยืนยันว่ากระบวนการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากเดโมแครตสู่ทีมงานของทรัมป์จะเป็นไปอย่างสันติและราบรื่น แต่แฮร์ริสบอกกับผู้สนับสนุนที่มาให้กำลังใจที่มหาวิทยาลัยฮาวเวิร์ด ซึ่งเป็นที่ที่เธอสำเร็จการศึกษาว่า เธอจะยังต่อสู้ต่อไปบนถนนสายการเมืองของเธอ 

 

แต่ในความเป็นจริงดูเหมือนเส้นทางสู่ทำเนียบขาวของเธอจะจบลงแล้ว

 

เดโมแครตแพ้ที่ตรงไหน

 

ในบทความของ The New York Times ชี้ว่า แฮร์ริสพยายามแยกตัวเองออกจากไบเดนที่คะแนนนิยมลดฮวบ แต่เธอกลับไม่สามารถทำให้ชาวอเมริกันเห็นความแตกต่างระหว่างนโยบายของเธอกับไบเดนได้อย่างชัดเจน บ่อยครั้งแฮร์ริสตอบคำถามกำกวม ดูคลุมเครือในนโยบาย ซึ่งก็ส่งผลต่อคะแนนเสียง

 

และเห็นได้ชัดว่าการเปลี่ยนม้ากลางศึกก็ส่งผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน แม้เดโมแครตจะมีทางเลือกไม่มากด้วยเวลาที่กระชั้นเข้ามา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่แฮร์ริสไม่ได้ผ่านกระบวนการเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารี ก็ส่งผลต่อความชอบธรรมในการเป็นตัวเลือกของชาวอเมริกันด้วย และเธอก็มีเวลาน้อยเกินไปในการหาเสียงเพื่อแนะนำตัวต่อชาวอเมริกัน

 

แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ชาวอเมริกันเทคะแนนให้ทรัมป์ เป็นเพราะความไม่พอใจในสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ 

 

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ในรายการ DECODING THE WORLD LIVE เกาะติดผลเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนว่าชาวอเมริกันสนใจเรื่องปากท้องเป็นหลัก และมองว่าทรัมป์น่าจะเข้ามาแก้ปัญหาให้พวกเขาได้ ในขณะที่เดโมแครตมุ่งโจมตีทรัมป์ว่าเป็นภัยคุกคามประชาธิปไตย ชูนโยบายปกป้องสิทธิทำแท้งและอื่นๆ ที่เป็นเรื่องของคุณค่าและอุดมการณ์มากกว่า แต่วันนี้พวกเขาเห็นว่ามีปัญหาเร่งด่วนกว่านั้น

 

การเมืองคือเรื่องของปากท้อง ปฐมพงษ์มองว่าพิษเงินเฟ้อหลังยุคโควิดยังคงตามเล่นงานพรรครัฐบาลหลายประเทศ เราได้เห็นผลการเลือกตั้งที่พรรครัฐบาลหลายแห่งเพลี่ยงพล้ำแบบเดียวกับที่พรรค LDP ของญี่ปุ่นเพิ่งเผชิญ หรือพรรคคอนเซอร์เวทีฟในสหราชอาณาจักรที่แพ้ให้พรรคเลเบอร์ครั้งแรกในรอบกว่าสิบปี

 

นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ว แฮร์ริสและเดโมแครตยังมีปัญหากับฐานเสียงผู้ชายผิวขาว เพราะภาพลักษณ์การเป็นพรรคที่ให้ความสำคัญกับกลุ่ม LGBTQIA+ และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ จนผู้ชายจำนวนมากมองว่าเดโมแครตไม่ใช่พรรคของพวกเขา 

 

หลังจากนี้เดโมแครตต้องกลับไปทำการบ้านและปรับกลยุทธ์ขนานใหญ่ โดยมุ่งเจาะฐานเสียงผู้ชายผิวขาวและผิวสีอายุน้อยทั้งในเขตเมืองและชนบท โดยหวังจะกลับมาท้าชิงการเลือกตั้งสมัยหน้าได้อย่างสมน้ำสมเนื้อมากขึ้น

 

เดโมแครตน่าจะถอดบทเรียนจากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่พวกเขาจะเลือกชายผิวขาวมาเป็นแคนดิเดตอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2028 เหมือนกับการส่งไบเดนที่ภาพลักษณ์ชายผิวขาวดูติดดินของเขาทำให้ชนะทรัมป์มาแล้วครั้งหนึ่ง

 

ทรัมป์มีอำนาจเต็ม เดินหน้านโยบายเรือธง

 

รีพับลิกันอยู่บนเส้นทางครองทั้งทำเนียบขาว วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร หรือที่เรียกว่า Trifecta แม้ว่ายังต้องรอผลนับคะแนนเลือกตั้ง สส. ที่อาจล่าช้า แต่รีพับลิกันมีโอกาสสูงที่จะครองสภาล่าง ซึ่งทั้ง 3 สถาบันนี้มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการผ่านและรับรองกฎหมาย รวมถึงงบประมาณแผ่นดิน การได้ครองทั้ง 3 สถาบันเป็นเครื่องการันตีได้ว่าทรัมป์จะสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ตามที่หาเสียงไว้ได้อย่างราบรื่น

 

ทรัมป์ประกาศก่อนหน้านี้ว่าจะเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมายครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่วันแรกของการดำรงตำแหน่ง เขาย้ำอีกครั้งในระหว่างประกาศชัยชนะที่ปาล์มบีช รัฐฟลอริดา ว่าเขาจะ ‘ซ่อม’ พรมแดน แก้ปัญหาผู้อพยพไหลทะลัก ซึ่งเขามองว่าเป็นตัวการของปัญหาอาชญากรรมทั่วประเทศ ความเด็ดขาดนี้เองที่ชนะใจชาวอเมริกันส่วนมากที่มองว่าผู้อพยพเหล่านี้เข้ามาแย่งงานพวกเขา

 

การที่รีพับลิกันได้ครองสภาสูง ซึ่งมีอำนาจรับรองการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญ เช่น รัฐมนตรีและผู้พิพากษา ยังทำให้เกิดคำถามและความกังวลว่า ทรัมป์อาจใช้อำนาจเหมือนตอนที่ดำรงตำแหน่งสมัยแรกแต่งตั้งผู้พิพากษาสายอนุรักษนิยมเพิ่มเติม ซึ่งอาจเปลี่ยนโฉมหน้าคณะตุลาการจนเอนไปในทางแนวคิดอนุรักษนิยมมากกว่าเสรีนิยม

 

ผลเลือกตั้งกระทบจีนมากที่สุด 

 

สงครามการค้ามีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้น เพราะรัฐบาลทรัมป์สมัยแรกเป็นคนเปิดเทรดวอร์กับจีนจนสะเทือนไปทั่วโลก ครั้งนี้ทรัมป์กลับมาด้วยนโยบายขึ้นกำแพงภาษีต่อสินค้าจีนที่รุนแรงขึ้นถึง 60% 

 

แต่ ดร.อาร์ม มองว่าอาวุธสำคัญของทรัมป์คือความคาดเดาไม่ได้ ซึ่งสำหรับรีพับลิกันอาจมองเป็นจุดแข็งในการที่จะดีลกับประเทศต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เพราะความคาดเดายากนี้เองจะทำให้ประเทศต่างๆ ไม่กล้าทำอะไรผลีผลามบุ่มบ่าม เพราะไม่รู้ว่าทรัมป์จะตอบโต้อย่างไร

 

เช่นเดียวกับกำแพงภาษีจีน 60% บางทีเมื่อถึงเวลาทรัมป์อาจจะไม่ได้ทำเช่นนั้น หรือขึ้นภาษีเป็นบางช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับว่าสหรัฐฯ จะได้ผลประโยชน์อะไรแลกเปลี่ยน แตกต่างจากสมัยไบเดนที่คาดเดาได้ จุดยืนของสหรัฐฯ ชัดเจนและไม่เปลี่ยนแปลงเลยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

 

สำหรับสงครามเทคโนโลยีกับจีน (Tech War) ที่ดุเดือดในยุคสมัยไบเดนก็เช่นกัน ในเรื่องนี้ ดร.อาร์ม มองว่าทรัมป์สามารถเจรจาได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์อีกเช่นกัน ครั้งหนึ่งเขาเคยต่อต้าน TikTok แต่ตอนนี้เขากลับลำ ไม่ได้อยากแบน TikTok อย่างที่ไบเดนทำ เพราะเขาไม่ได้มอง TikTok เป็นภัยความมั่นคงเหมือนยุคไบเดน ไบเดนให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของข้อมูล มีการจำกัดการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์และอุปกรณ์ผลิตชิป ซึ่งโยงกับเรื่องความมั่นคง และเป็นเรื่องที่ไม่เคยอยู่บนโต๊ะเจรจาของไบเดนเลย

 

เศรษฐกิจไทยอาจเจอผลลบมากกว่าบวก?

 

ผศ. ดร.ปราณี ทิพย์รัตน์ อาจารย์อาวุโส ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตือนว่า นอกจากจีนที่ถือเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ แล้ว ไทยก็จะได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้าของทรัมป์ด้วย 

 

เพราะทรัมป์เตรียมขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากทั่วโลกอย่างน้อย 10-20% เขามองว่าหลายประเทศได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐฯ จากระบบการค้าเสรี ซึ่งทรัมป์หวังจะเอาคืนให้หมด

 

สอดคล้องกับมุมมองของ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบทางลบมากกว่าบวก เพราะการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าทั่วโลก จะทำให้ต้นทุนการค้าโลกสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อประเทศที่พึ่งพาการส่งออก รวมถึงไทย นอกจากนี้การที่จีนถูกขึ้นภาษีสูงๆ ก็อาจทำให้จีนส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ น้อยลง และบีบให้ระบายสินค้ามาไทยมากขึ้นแทน

 

สำหรับมุมมองจาก ดร.อาร์ม เรื่องการรับมือนโยบายการค้าการลงทุนของทรัมป์คือ ไทยอาจต้องเล่นไปตามเกมของทรัมป์ ในเมื่อทรัมป์เปิดกว้างให้ประเทศต่างๆ เข้าไปลงทุนเพื่อจ้างงานคนอเมริกัน ภาคธุรกิจไทยก็ต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ นี้

 

ทรัมป์ไม่เอาโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจและต่อต้านการค้าพหุภาคีก็จริง แต่สำหรับการค้าระดับทวิภาคีนั้นเป็นเรื่องที่ทรัมป์สามารถคุยได้

 

จากนี้จึงน่าจับตาว่าการทูตเศรษฐกิจของไทยจะขยับไปอย่างไร

 

ภูมิรัฐศาสตร์บนความไม่แน่นอน

 

ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คนให้ความสนใจกันมาก และจับตานโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิดในเทอมที่ 2 ของทรัมป์

 

ในสมัยทรัมป์เทอมแรกไม่มีสงครามใหญ่เกิดขึ้น ตรงข้ามกับสมัยไบเดนที่เกิดสงครามร้อนขึ้นในหลายจุด นักวิเคราะห์มองว่าการที่นโยบายของทรัมป์เอาแน่เอานอนไม่ได้ ส่วนหนึ่งก็ทำให้ผู้นำอย่างปูตินไม่กล้าทำอะไรผลีผลาม ตัวทรัมป์เองก็เคยพูดเช่นกันว่า ถ้าเขาเป็นประธานาธิบดีในปี 2020 บางทีอาจไม่เกิดสงครามในยูเครนหรือในตะวันออกกลางขึ้นแต่แรก 

 

จากนี้ก็น่าจับตาว่าเขาจะมีบทบาทช่วยยุติสงครามในยูเครนและตะวันออกกลางที่กำลังคุกรุ่นอย่างไร จะทำได้จริงตามที่พูดหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทรัมป์ยังไม่ได้นำเสนอแนวทางที่ชัดเจนหรือเป็นรูปธรรมนัก

 

จีนในความสัมพันธ์บทใหม่กับสหรัฐฯ ก็คาดเดาได้ยากเช่นกัน ในด้านหนึ่งพวกเขาเป็นศัตรู เป็นคู่แข่งกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญและยังต่างพึ่งพากัน สีจิ้นผิง และทรัมป์ ต่างรู้ดีว่าต้องรับมือกันอย่างไร ประเด็นสงครามการค้าจะดำเนินคู่ขนานไปตลอดเทอมของทรัมป์ ปัญหากระทบกระทั่งเรื่องไต้หวันอาจมีประปราย ภายใต้นโยบายคลุมเครือทางยุทธศาสตร์จากกฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน 

 

ทรัมป์บอกว่าสีจิ้นผิงให้ความเคารพเขา และเชื่อว่าจีนจะไม่กล้ายั่วยุถ้าเขาได้เป็นประธานาธิบดี เพราะจีนรู้ว่าเขาบ้า หลังทราบผลการเลือกตั้ง สีจิ้นผิงเป็นผู้นำคนแรกๆ ที่ต่อสายแสดงความยินดี มองด้านหนึ่งก็เป็นสัญญาณบวก สำหรับจีนก็เป็นการหยั่งเชิงดูท่าทีของทรัมป์ที่มีต่อปักกิ่ง 

 

ส่วนไต้หวันก็จะดีลกับทรัมป์ยากขึ้นกว่าสมัยไบเดน ด้วยนโยบาย ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ในมุมมองของทรัมป์การเป็นบริษัทประกันภัยให้ไต้หวันมีราคาที่ต้องจ่าย

 

สำหรับรีพับลิกันอาจมองว่าความคาดเดาไม่ได้เป็นเรื่องดีในการรับมือกับศัตรู แต่เดโมแครตอาจมีโลกทัศน์ที่แตกต่างว่า ความคาดเดาไม่ได้จะทำให้พันธมิตรไม่เชื่อถือสหรัฐฯ เพราะพวกเขาไม่รู้เลยว่าถ้าตกอยู่ในภยันตราย สหรัฐฯ จะยื่นมือเข้าช่วยหรือไม่ 

 

ดร.อักษรศรี พานิชสาส์น จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้มุมมองว่า ผลเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนเจตนารมณ์ของคนอเมริกันที่ Inward-Looking สนใจแต่ปัญหาตัวเอง ตรงนี้ก็อาจเข้าทางจีนและเปิดทางให้จีนขยายอิทธิพลในภูมิภาคได้มากขึ้น

 

ความเป็นเอกภาพของ NATO ก็อาจสั่นคลอนหลังจากนี้ เหมือนในเทอมแรกที่ทรัมป์กดดันชาติสมาชิกอื่นๆ ว่าต้องจ่ายเงินเพิ่มเพื่อป้องกันตนเอง แน่นอนว่าแนวนโยบายนี้อาจกระทบสถานภาพความเป็นผู้นำโลกของสหรัฐฯ ด้วย

 

แต่ทรัมป์ 2.0 ก็ยังมาพร้อมคอนเซปต์ความคาดเดาได้ยาก โลกอาจปั่นป่วนเพิ่มขึ้นด้วยนโยบายที่ขึ้นๆ ลงๆ ของสหรัฐฯ ไทยก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับคลื่นความผันผวนนี้ตลอด 4 ปีหลังจากนี้

 

ภาพ: Charly Triballeau / AFP

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X