ชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ระบุเมื่อวันศุกร์ตามเวลาท้องถิ่น ว่าสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ จะส่งญัตติถอดถอนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นครั้งที่ 2 จากกรณีเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย ไปยังวุฒิสภาในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (25 มกราคม) ซึ่งชูเมอร์ได้รับแจ้งเรื่องนี้จาก แนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ นั่นหมายถึงหากวุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตไม่เปลี่ยนกฎ การพิจารณาดังกล่าวก็จะเริ่มขึ้นในเวลาบ่ายโมงของวันอังคาร ตามเวลาท้องถิ่นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
“วุฒิสภาจะพิจารณาญัตติถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ โดยจะเป็นการพิจารณาอย่างเต็มรูปแบบ และจะเป็นการพิจารณาอย่างยุติธรรม” ชูเมอร์ระบุ
ก่อนหน้านี้ มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน ระบุว่า กำลังร้องขอไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเดโมแครต เพื่อขอให้เลื่อนการส่งญัตติถอดถอนอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เข้าสู่วุฒิสภาไปจนถึงวันที่ 28 มกราคม โดยระบุเหตุผล เพื่อให้ทรัมป์ได้มีเวลาเตรียมการต่อสู้ หลังจากเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ โหวตผ่านให้ส่งญัตติถอดถอนทรัมป์เข้าสู่วุฒิสภาเพื่อเริ่มกระบวนการไต่สวน ซึ่งภายใต้ตารางเวลานี้ ทรัมป์จะมีเวลา 2 สัปดาห์ จนถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ในการส่งข้อต่อสู้ของตนก่อนการไต่สวน ก่อนกระบวนการไต่สวนจะเริ่มในกลางเดือนกุมภาพันธ์ ทว่าข้อเรียกร้องของฝั่งรีพับลิกันจำเป็นต้องอาศัยความเห็นชอบจากชูเมอร์ในฐานะผู้นำเสียงข้างมาก และท้ายที่สุดแมคคอนเนลล์ก็รับทราบแล้วว่าข้อเรียกร้องของตนถูกปฏิเสธ
ก่อนหน้านี้แมคคอนเนลล์ประณามกระบวนการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อส่งญัตติถอดถอนไปยังวุฒิสภา ที่เขาบอกว่า “เร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน” พร้อมบอกว่า การเลื่อนการส่งญัตติออกไปจะช่วยให้วุฒิสมาชิกจากพรรคเดโมแครตมีเวลามากขึ้นในการพิจารณารับรองคณะรัฐมนตรีของ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน ตลอดจนผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ แม้ว่าพรรคเดโมแครตจะครองเสียงข้างมากในวุฒิสภา แต่กระบวนการถอดถอนทรัมป์นั้นต้องอาศัยเสียง 2 ใน 3 จากจำนวนวุฒิสมาชิกทั้งหมด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องอาศัยเสียงวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันอย่างน้อย 17 เสียง เพื่อลงมติว่าทรัมป์มีความผิด ทั้งนี้ วุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันจำนวนหนึ่งระบุว่า พวกเขาเปิดกว้างสำหรับการตัดสินว่าทรัมป์มีความผิด แต่ส่วนใหญ่ก็ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการถอดถอนประธานาธิบดีเมื่อได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว หรือระบุว่า กระบวนการดังกล่าวอาจนำมาซึ่งความแตกแยกมากเกินไป
ขณะเดียวกันวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกันจะยังคงนั่งเป็นประธานกรรมาธิการในวุฒิสภาต่อไป ในระหว่างที่แมคคอนเนลล์และชูเมอร์กำลังทำข้อตกลงการแบ่งปันอำนาจฉบับใหม่ เพื่อวางกฎสำหรับสภาที่ถูกแบ่งเสียงออกเป็น 2 ฝั่งเท่าๆ กัน โดย ส.ว. เดโมแครตบางคนต้องการกำจัดสิ่งที่เรียกว่า ‘Filibuster’ ซึ่งเป็นชั้นเชิงที่สมาชิกจากพรรคเสียงข้างน้อยใช้ในการดึงการอภิปรายเกี่ยวกับกฎหมายให้ยืดเยื้อออกไป ขณะที่ก็มีฝั่งรีพับลิกันที่ต้องการรักษากฎ Filibuster อันหนึ่งที่อนุญาตให้มีวุฒิสมาชิกคนหนึ่งคนใดร้องขอให้การผ่านกฎหมายต้องใช้เสียงข้างมากที่ร้อยละ 60 แทนที่จะเป็นร้อยละ 50 เอาไว้
สำนักข่าว BBC ยังรายงานโดยอ้างการเปิดเผยจากวุฒิสมาชิก ลินด์เซย์ เกรย์แฮม ว่าทรัมป์ได้ว่าจ้าง บุช โบวเวอร์ ทนายความจากรัฐเซาท์แคโรไลนา เพื่อแก้ต่างให้กับเขาในกระบวนการพิจารณาถอดถอนดังกล่าวด้วย จากข้อมูลในเว็บไซต์ของโบวเวอร์ระบุว่า เขาเคยเป็นที่ปรึกษาพิเศษด้านการเลือกตั้งของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ในยุครัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช รวมถึงเป็นที่ปรึกษาให้กับอดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา 2 คน คือ นิกกี เฮลีย์ และ มาร์ก แซนฟอร์ด ด้วย
ทั้งนี้ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐฯ ที่ถูกยื่นถอดถอนโดยสภาล่างถึง 2 ครั้ง
ภาพ: Roberto Schmidt / AFP
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: