×

วิเคราะห์ ‘ทรัมป์ 2.0’ สะเทือนส่งออกไทยแค่ไหน? เมื่อไทยเกินดุลสหรัฐฯ สูงอันดับที่ 12 ของโลก

11.11.2024
  • LOADING...
ทรัมป์

การได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 47 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลกรวมถึงไทย เนื่องจากระหว่างการหาเสียงทรัมป์ให้คำมั่นสัญญาต่างๆ ไว้มากมาย รวมถึงการขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเป็น 60% และขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศอื่นๆ อีก 10-20%

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) ประเมินว่าหลังจากทรัมป์ได้รับชัยชนะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่ 2 และพรรครีพับลิกันสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ทั้งในสภาบนและสภาล่าง (Republican Sweep) ส่งผลให้นโยบายต่างๆ ที่ทรัมป์เคยหาเสียงไว้มีแนวโน้มที่จะสามารถผลักดันให้ผ่านสภาได้ไม่ยากนัก ซึ่งหลังจากพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2025 นโยบายเร่งด่วนที่คาดว่าจะเห็นใน 100 วันแรก ตัวอย่างเช่น

 

  • มาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้า
  • มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและครัวเรือน
  • การต่ออายุมาตรการลดภาษีที่ประกาศใช้ในปี 2017
  • มาตรการกีดกันแรงงานอพยพ
  • มาตรการสนับสนุนการผลิตพลังงานฟอสซิลในประเทศ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุอีกว่าแม้ในระยะสั้นไทยอาจได้รับประโยชน์จากการเร่งนำเข้าสินค้าบางรายการจากไทยเพื่อทดแทนสินค้าจีน ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์, โซลาร์เซลล์, ถุงมือยาง, น้ำผลไม้, อุปกรณ์โทรทัศน์, PCA และของเล่น

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าสินค้า ส่งออก ของไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะเจอกับมาตรการปรับเพิ่มภาษีศุลกากรขาเข้าของทรัมป์ เนื่องจากไทยมียอดเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับที่ 12 (ปี 2023) ในบรรดาคู่ค้าทั้งหมด

 

ก่อนหน้านี้ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เคยกล่าวว่า “หากทรัมป์ได้รับชัยชนะกลับมาเป็นประธานาธิบดีครั้งนี้มองว่าทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง Climate Change มากนัก และจะเน้นนโยบาย America First มาเป็นอันดับแรก ที่สำคัญคือทรัมป์จะเพ่งเล็งไปยังประเทศที่ได้ดุลการค้า ถือเป็นความเสี่ยงต่อสินค้าไทยที่เกินดุลกับสหรัฐฯ”

 

ทรัมป์

 

เปิดความสัมพันธ์ทางการค้าไทย-สหรัฐฯ: ตลาด ส่งออก อันดับ 1 ของไทย

 

ตามข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์แสดงให้เห็นว่าการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2023 มูลค่าการส่งออกไทยไปยังสหรัฐฯ อยู่ที่ 48,352 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 17% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด

 

ขณะที่ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าการส่งออกจากไทยไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่า 40,611 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน18.2% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด สะท้อนว่าสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย

 

 

SCB EIC คาดนโยบายทรัมป์ 2.0 ฉุด GDP ไทยลง 0.5%

 

ขณะที่ SCB EIC ประเมินผลกระทบจากนโยบายทรัมป์ 2.0 พบว่าการส่งออกสินค้าและการลงทุนภาคเอกชนไทยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการกีดกันการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมา โดย GDP ไทยในปี 2025 จะลดลงราว 0.5% เทียบกับแนวโน้มเดิมก่อนรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ

 

โดย SCB EIC คาดว่ามูลค่าส่งออกไทยในปี 2025 จะลดลงราว 0.8-1% เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 

  • สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะถูกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มเติม
  • สินค้าจีนส่งออกไปยังสหรัฐฯ จะลดลง จีนจึงต้อง Divert สินค้ามาตลาดอื่น ทำให้การส่งออกไทยเจอการแข่งขันมากขึ้น
  • ภาวะ Overcapacity ของจีนจะรุนแรงขึ้นจากเศรษฐกิจจีนที่แย่ลง ทำให้สินค้าจีนราคาถูกจะเข้ามากดดันภาคการผลิตไทยเพิ่มขึ้น

 

ด้านการลงทุน SCB EIC คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนไทยในปี 2025 จะลดลงราว 0.4-0.5%  เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

 

  • นักลงทุนต่างชาติมีแนวโน้มชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจน ทำให้การย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทยจึงอาจยังไม่เกิดขึ้นในระยะสั้นหรือเป็นไปได้ช้า
  • ในระยะต่อไปแม้ไทยอาจได้รับผลประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากจีน แต่การย้ายฐานการลงทุนจากสหรัฐฯ อาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามนโยบายกีดกันของสหรัฐฯ ที่ต้องการดึงการลงทุนกลับไปยังสหรัฐฯ มากขึ้นเช่นกัน

 

เปิดแนวโน้มทิศทาง FDI เข้าไทย: กลุ่มใดได้หรือเสียประโยชน์

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าไทยอาจได้อานิสงส์บางส่วนจากการย้ายฐานการผลิต แต่คาดว่าผลบวกจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ดอกผลของการเคลื่อนย้ายเงินลงทุน (FDI) ไปยังประเทศต่างๆ คงจะไม่เกิดขึ้นในทันที

 

โดยการพิจารณาเข้าไปลงทุนของผู้ประกอบการยังขึ้นอยู่กับอีกหลายเงื่อนไข ซึ่งนอกจากประเด็นเรื่องต้นทุนและโอกาสในการสร้างรายได้ระยะกลางของแต่ละสินค้าในแต่ละประเทศแล้ว คงอยู่ที่ว่าประเทศนั้นๆ จะถูกเรียกเก็บอัตราภาษีจากสหรัฐฯ เท่าใด และการถูกตรวจสอบว่าเข้าข่ายเป็นบริษัทจีนหรือเกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนของจีนมากน้อยเพียงใดด้วย

 

FDI การผลิตรถยนต์และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไทย และอีกหลายประเทศในอาเซียน (ตลอดจนเม็กซิโก อินเดีย ยุโรปตะวันออก)

 

กระนั้นรถยนต์ BEV ที่เริ่มลงทุนและผลิตในไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นค่ายจีน คงจะส่งออกไปยังสหรัฐฯ (รวมถึงสหภาพยุโรป) ได้ลำบาก รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดที่เหลืออย่างเช่นอาเซียนก็คงต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น

 

สินค้าส่งออกไทยกลุ่มใดเสี่ยงมากที่สุด

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ของไทยไปยังสหรัฐฯ ในอนาคตก็อาจเสี่ยงถูกเรียกเก็บภาษีเช่นเดียวกับกรณีแผงโซลาร์เซลล์

 

ยังไม่นับว่าไทยยังมีอุปสรรคด้านความพร้อมที่จำกัด (พลังงานสะอาด แรงงานทักษะสูง) ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีไปสู่ความต้องการชิปอัจฉริยะที่ซับซ้อนขึ้นอย่าง AI และ GenAI

 

นอกจากนี้ ผู้ผลิตสินค้าไทยในกลุ่มเคมีภัณฑ์, วัสดุก่อสร้าง (เหล็ก), สิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่ม มีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันกับสินค้านำเข้า และ/หรือการเข้ามาลงทุนในไทยจากจีนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการผลิตที่มากกว่าความต้องการในประเทศของสินค้าจีน ประกอบกับกำแพงภาษีจากชาติตะวันตก ทำให้จีนต้องหาตลาดส่งออกเพื่อระบายสินค้าและหล่อเลี้ยงการประกอบธุรกิจ จะยิ่งเพิ่มการแข่งขันให้กับสินค้าไทยทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก

 

ทรัมป์สามารถขึ้นภาษีสินค้านำเข้าได้จริงหรือ?

 

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวในรายการ เกาะติดผลเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 แฮร์ริส VS ทรัมป์ ใครจะคว้าชัย? ของ THE STANDARD ว่ายังเป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถามอยู่ว่าการขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศอื่นๆ อีก 10-20% ผิดกฎการค้าโลกหรือไม่

 

เนื่องจาก “เมื่อยุคทรัมป์ 1.0 สหรัฐฯ อ้างว่าจีนเป็นภัยความมั่นคง แต่ตอนนี้มาบอกว่าทั้งโลกเป็นภัยต่อความมั่นคงไม่ได้” ดังนั้น ดร.พิพัฒน์ จึงมองว่านโยบายดังกล่าวเป็นเครื่องมือเจรจาขอข้อเสนอทางการค้าเท่านั้น

 

ขณะที่ ชาตรี โรจนอาภา หัวหน้าทีมที่ปรึกษาการลงทุน SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าสหรัฐฯ น่าจะเริ่มเพ่งเล็งประเทศที่ขาดดุลการค้าอันดับแรกๆ อย่างจีนและเม็กซิโกก่อน และค่อยหันมาเพ่งเล็งไทยเป็นประเทศหลังๆ

 

ชาตรียังมองว่าแม้พรรครีพับลิกันสามารถครองทั้ง 2 สภาได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าทรัมป์จะสามารถขึ้นภาษีนำเข้าได้ทั้งโลก ไทยจึงอาจไม่ได้เห็นผลกระทบโดยตรงโดยเร็ว

 

ภาพ: ​​Sven Hansche / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X