×

วิเคราะห์โค้งสุดท้าย ‘ทรัมป์-แฮร์ริส’ ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป ไทยได้-เสียประโยชน์แค่ไหน เรื่องอะไรบ้างที่คนไทยต้องรู้

04.11.2024
  • LOADING...
วิเคราะห์โค้งสุดท้าย ‘ทรัมป์-แฮร์ริส’

เหลืออีกเพียงไม่กี่ชั่วโมงเท่านั้นก็จะถึงวันชิงชัยศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกาในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2024

 

เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ทางการเมืองแห่งปีที่ทั่วโลกต่างจับตาว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน หรือ คามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต ใครจะคว้าชัยชนะไปในครั้งนี้

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ไม่ว่าทรัมป์หรือแฮร์ริสจะก้าวขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนต่อไป แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงผู้นำของประเทศมหาอำนาจย่อมนำไปสู่การเปลี่ยนแนวทางการบริหารประเทศที่เขย่าการค้าไปทั่วโลก และมีผลต่อประเทศที่ค้าขายกับตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ เช่นเดียวกับไทย

 

THE STANDARD WEALTH ชวนวิเคราะห์ ไทยได้-เสียประโยชน์แค่ไหน เรื่องอะไรบ้างที่คนไทยต้องรู้

 

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับนโยบายเศรษฐกิจที่ส่งผลกับไทย โดยสรุปจากผลสำรวจซึ่งจัดทำโดย Reuters ร่วมกับ Ipsos ว่า แฮร์ริสมีคะแนนนิยมนำทรัมป์ที่ 46.0% ต่อ 43.0% ขณะที่ผลสำรวจซึ่งจัดทำโดย FiveThirtyEight ระบุว่า แฮร์ริสมีคะแนนนิยมนำทรัมป์ที่ 48.2% ต่อ 46.4% โดยมีเพียง 5.4% ยังไม่ตัดสินใจเลือก

 

พูนพงษ์มองว่าคะแนนนิยมอยู่ในระดับใกล้เคียงกันมาก ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยวิเคราะห์ดังต่อไปนี้

 

ทรัมป์ แฮร์ริส

 

แฮร์ริส: นโยบายของแฮร์ริสมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายสำหรับชนชั้นแรงงาน, ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค, เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ, เพิ่มสวัสดิการสังคม, ควบคุมราคายา/ค่ารักษาพยาบาล/พลังงานในประเทศ ซึ่งหากแฮร์ริสชนะเลือกตั้งคาดว่า

 

  1. การดำเนินนโยบายด้านการต่างประเทศและการค้าระหว่างประเทศจะเป็นไปในทิศทางเดิม อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามว่าจะมีการประกาศนโยบายหรือมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่
  2. อาจส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีกับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุน
  3. อาจมีแนวโน้มใช้มาตรการทางภาษีกับจีนนุ่มนวลกว่าทรัมป์ แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานที่เชื่อมโยงกับจีนอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

ไทยอาจได้ประโยชน์จาก

 

  • ผลดีต่อการลงทุนในประเทศ โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทไทยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้เข้าร่วมลงทุนในสหรัฐฯ
  • การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่จะนำมาซึ่งโอกาสในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการร่วมลงทุนในเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น การผลิตแบตเตอรี่ประสิทธิภาพสูง
  • นโยบายของแฮร์ริสอาจส่งเสริมการลงทุนในเทคโนโลยี 5G และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทโทรคมนาคมและซอฟต์แวร์ของไทยเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก
  • โอกาสในการร่วมทุนระหว่างบริษัทไทยและสหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมที่เป็นอนาคตต่างๆ เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech) ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทย

 

อย่างไรก็ตาม อาจได้รับผลกระทบจากนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมสีเขียว ส่งผลให้ไทยต้องปรับเพิ่มมาตรการการผลิต เพื่อให้รักษาส่วนแบ่งตลาดภายในสหรัฐฯ ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนส่วนเพิ่มที่เลี่ยงไม่ได้

 

รวมถึงการสนับสนุนยูเครนและอิสราเอลส่งผลกระทบทางอ้อมต่อต้นทุนพลังงานและความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจโลกในทางอ้อม และการไม่เผชิญหน้าทางเศรษฐกิจกับจีนโดยตรง ส่งผลให้สหรัฐฯ อาจต้องประสานความร่วมมือกับชาติพันธมิตร ซึ่งส่งผลให้ไทยจำเป็นต้องมีจุดยืนในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

 

ไบเดน ยูเครน

ภาพ: Kevin Dietsch / Getty images

 

ทรัมป์: นโยบายของทรัมป์มุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศสอดคล้องกับการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ส่งผลต่อเนื่องให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นโดยเปรียบเทียบและกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออกของไทย ซึ่งหากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งคาดว่า

 

  • อาจเห็นการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในด้านนโยบายการต่างประเทศและจุดยืนบนเวทีความมั่นคงโลกในด้านภูมิรัฐศาสตร์ (ลดการให้ความช่วยเหลือประเทศที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง เช่น ยูเครน และลดบทบาทของสหรัฐฯ ในการสนับสนุนความมั่นคงบนเวทีโลกอย่าง NATO)
  • การเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญในด้านนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การใช้มาตรการปกป้องทางการค้าของสหรัฐฯ จะเข้มข้นขึ้น รวมถึงสงครามการค้ากับจีนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
  • มาตรการภาษีนำเข้าซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน
  • อาจเพิ่มมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี

 

พาณิชย์ชี้ ไทยอาจได้ประโยชน์ 2 ด้าน แต่หากทรัมป์ชนะ นโยบาย America First มีผลต่อการลงทุนไทย ดังนี้

 

  1. การย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังไทย
  2. ความต้องการสินค้าทดแทนสินค้าจีนจากไทยในตลาดสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม อาจได้รับผลกระทบจาก

 

  1. มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีส่งผลทางอ้อมให้ไทยมีต้นทุนในการปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้สอดคล้องกับสหรัฐฯ เพื่อรักษาในตลาดสหรัฐฯ
  2. ส่งผลให้การลงทุนจากสหรัฐฯ ในไทยลดลง โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การใช้มาตรการจูงใจทางภาษีเพื่อดึงการลงทุนกลับสู่สหรัฐฯ ทำให้บริษัทสหรัฐฯ ที่มีฐานการผลิตในไทยพิจารณาย้ายกลับประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย
  3. เกิดการชะลอตัวของการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ สู่ไทย ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมในระยะยาว การลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) และนวัตกรรมจากบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ในไทยลดลง

 

รวมถึงเกิดการจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงบางประเภท เช่น เซมิคอนดักเตอร์ เทคโนโลยี 5G ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีของไทย

 

ด้านภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า การเตือนภัยด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย “ส่งสัญญาณเฝ้าระวังเพิ่มขึ้น” โดยมีปัจจัยความกังวลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

“ผลต่ออุตสาหกรรมไทยจะมีทั้งได้รับอานิสงส์และผลกระทบ ดังนั้น สศอ. จึงแนะผู้ประกอบการเฝ้าติดตามผลกระทบที่ต่อภาคอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้สามารถปรับตัวได้ทัน”

 

จรีพร จารุกรสกุล

 

เมื่อเร็วๆ นี้ THE STANDARD WEALTH พูดคุยกับ จรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยจรีพรกล่าวว่า “ไม่ว่าตัวแทนพรรคจะเป็นเดโมแครตหรือรีพับลิกัน ทรัมป์จะกลับมา หรือแฮร์ริสจะขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านนโยบายสหรัฐฯ ก็ยังมองแบบคนอเมริกันคือยึดความเป็น America First สหรัฐฯ ต้องมาก่อนและไม่ยอมให้เบอร์ 2 ขึ้นมาแทนที่ การหาเสียงของพรรคการเมืองจะยังมองจีนเป็นผู้ร้ายเสมอ ถ้ายังจำได้ 4 ปีที่แล้วตอน โจ ไบเดน หาเสียงก็เป็นเช่นนี้”

 

ดังนั้นสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ (Trade War) จะยังเกิดขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตาม อาเซียนและไทยจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต

 

มองข้ามช็อต Trade War และภูมิรัฐศาสตร์ ยังร้อนแรง

 

สอดคล้องกับ ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งกล่าวในงานสัมมนา ‘US Election 2024 เจาะลึก ศึกชิงทำเนียบขาว’ ในหัวข้อ ‘เลือกตั้งอเมริกา ส่งผลอย่างไรต่อไทย’ ว่า ทั้ง 2 พรรคต่างมีนโยบายที่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศเป็นหลัก

 

“ไทยซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ จำเป็นต้องวางแผนและเตรียมรับมือ เพราะไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ ก็ตาม ล้วนมีผลกระทบไปทั่วโลกรวมถึงไทย”

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะต้องมองข้ามช็อตและเฝ้าติดตามคือสงครามการค้า, ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์, สงครามสกุลเงิน และสหรัฐฯ มองจีนเป็นภัยของประเทศ ด้วยเหตุนี้มีโอกาสที่สินค้าจีนไหลเข้ามาในไทยต่อเนื่อง

 

ขณะที่ในแง่การค้า เศรษฐกิจ และการเมือง “ไทยไม่ควรแสดงจุดยืนการเลือกข้าง แต่ควรวางตัวให้เหมาะสม ทำให้เป็นที่รัก สร้างโอกาสทางการค้าและการลงทุนจากทั้ง 2 ประเทศ”

 

เช่นเดียวกับ สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่าไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร นโยบายต่อต้านจีนจะเกิดขึ้นและทวีความร้อนแรงขึ้น ดังนั้นไทยควรมองหาโอกาสการค้าและวางตัวเป็นกลาง

 

 เกรียงไกร เธียรนุกุล

 

ประธาน ส.อ.ท. มองว่าจีนยังคงเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ

 

ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. มองว่าไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แม้นโยบายของทั้ง 2 คนจะแตกต่าง แต่ก็มองจีนเป็นคู่แข่งและศัตรูหมายเลข 1

 

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจความคิดเห็นในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐสมรภูมิก็ยังพบว่าคะแนนของผู้สมัครทั้ง 2 คนสูสีกัน ซึ่งต้องเฝ้าจับตารัฐตัวแปรคือเพนซิลเวเนีย ซึ่งเป็นรัฐ Swing State

 

“แต่ไม่ว่าใครจะคว้าชัยก็ย่อมส่งผลไปทั่วโลกรวมถึงไทย โดยผลที่เกิดกับไทยต้องจับตาการส่งออก, สงครามการค้า (Trade War) และภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ยังร้อนแรงต่อไป”

 

โดยไทยจะได้อานิสงส์จากมาตรการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนในบางอุตสาหกรรม ส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตมายังไทย โดยสินค้าจากจีนจะถูกตั้งกำแพงสูงขึ้น และอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าสหรัฐฯ จะซื้อสินค้าจากจีนน้อยลง และหันมาซื้อสินค้าจากประเทศอื่นรวมถึงไทยแทน

 

ดังจะเห็นว่าไบเดนประกาศขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่นำเข้าจากจีน จากเดิม 25% เป็น 100% และเรียกเก็บภาษี 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคม ในอุตสาหกรรมนำเข้าจากจีน โดยเฉพาะพลังงานสะอาดและแผงโซลาร์เซลล์

 

ทรัมป์กับการกลับมาของวลี Make America Great Again

 

ขณะที่นโยบายของทรัมป์นั้นจะมีความรุนแรงขึ้นกว่า โดยประเด็นหลักคือการขึ้นภาษีอย่างน้อย 10-20% จากทุกประเทศที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ แต่เพิ่มกำแพงภาษีจีนสูงถึง 60-100%

 

ดังนั้นจะเห็นว่านโยบายของทั้ง 2 พรรคต่างมีความรุนแรงขึ้น ซึ่งทรัมป์ยังคงย้ำนโยบาย Make America Great Again ที่ให้น้ำหนักเรื่องดุลการค้าและความมั่นคงมาเป็นอันดับแรก

 

ส่วนนโยบายลงทุนของแฮร์ริสก็จะดำเนินนโยบายต่อจากไบเดน คือเพิ่มการเก็บภาษีจากปัจจุบัน 21% เป็น 28% เน้นการลงทุนในประเทศที่เป็นมิตร เช่น เวียดนาม, เม็กซิโก และไทย

 

ส่วนทรัมป์จะส่งเสริมการลงทุนในประเทศให้กลับมา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทค เพื่อสร้างเศรษฐกิจ จ้างงานชาวอเมริกัน สร้างผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยมีนโยบายลดภาษีนิติบุคคล 15%

 

ส่วนเรื่องการกีดกันด้านเทคโนโลยี ทรัมป์จะมีความรุนแรงกว่าไบเดน ซึ่งหากแฮร์ริสได้รับชัยชนะก็จะดำเนินการเหมือนเดิม เช่น การออกกฎหมาย CHIPS and Science Act ที่สหรัฐฯ ใช้ในการเสริมสร้างการผลิตและการวิจัยอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ

 

หมายความว่าสหรัฐฯ จะไม่ถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงหรือขายเทคโนโลยีเหล่านี้ไปยังประเทศที่ไม่เป็นมิตร นั่นก็หมายถึงจีน

 

จับตานโยบายสีเขียว ชี้ว่าไทยต้องตั้งรับ มีล็อบบี้ยิสต์วางนโยบายให้ชัดเจน

 

ส่วนมิติปัญหาเรื่องผลกระทบของสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม ทั้ง 2 พรรคมีความแตกต่างกัน โดยแฮร์ริสและไบเดนยังคงให้ความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดการใช้พลังงานฟอสซิล สนับสนุนพลังงานสีเขียว แต่ทรัมป์ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนัก

 

เกรียงไกรทิ้งท้ายว่า “เมื่อมองภาพรวมส่วนตัวคิดว่าไทยจะได้ประโยชน์ เพียงแต่หากทรัมป์ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี ไทยต้องมีล็อบบี้ยิสต์ในการเจรจาและวางนโยบายที่ชัดเจน”

 

เพราะทรัมป์จะวางกลยุทธ์ลักษณะหมูไปไก่มา แต่หากเป็นแฮร์ริสก็จะยังดำเนินการเช่นเดียวกับไบเดน เพราะฉะนั้นเรายังมีโอกาสได้เปรียบทางการค้าหากมีการเจรจาที่ดี และต้องวางมาตรการรับมือสินค้าจีนที่ยังคงทะลักมาอาเซียนและไทยให้ดีและต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นจะกระทบอุตสาหกรรมไทยหนักขึ้นมากกว่า 25 อุตสาหกรรมแน่นอน

 

มาดามรถถัง-นพรัตน์ กุลหิรัญ

 

ท้ายสุด มาดามรถถัง-นพรัตน์ กุลหิรัญ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า ชัยเสรีเป็นหนึ่งในบริษัทไทยที่มีศักยภาพในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งผลิตยานพาหนะทางการทหาร เพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก 37 กว่าประเทศมานาน โดยมองว่าข้อได้เปรียบของไทยคือการซื้อขายที่ไม่อิงการเมือง เป็นการซื้อขายระหว่างประเทศ ดังนั้นการเผชิญกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โดยที่ไทยไม่เลือกข้าง อีกทั้งไทยมีช่องทางการทูตสามารถส่งออกไปได้แทบทุกที่ ทำให้ต่างชาติต่างเลือกที่จะมาลงทุนในไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising