ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแผนช็อกโลก ว่าสหรัฐฯ จะเข้ายึดครองและพัฒนาฉนวนกาซา หลังจากย้ายชาวปาเลสไตน์ไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น เพื่อเปลี่ยนดินแดนที่ถูกปิดล้อมนี้ให้กลายเป็น ‘ริเวียร่าแห่งตะวันออกกลาง’ ที่ซึ่งผู้คนจากทั่วโลกสามารถมาพักอาศัย
ท่าทีของทรัมป์ ในการแถลงข่าวร่วมกับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮูแห่งอิสราเอล จุดชนวนความกังวลว่าอาจเป็นการสนับสนุนการกวาดล้างทางชาติพันธุ์
ทั้งนี้ มาร์โค รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ และแคโรไลน์ ลีวิตต์ โฆษกทำเนียบขาว พยายามชี้แจงคำพูดของทรัมป์ โดยอ้างว่าการย้ายถิ่นฐานของชาวปาเลสไตน์ออกจากกาซา จะเป็นไปเพียงชั่วคราวเท่านั้น เพื่อเปิดโอกาสให้มีการฟื้นฟูสภาพเมืองที่ถูกทำลายล้างจากสงคราม
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของทรัมป์นั้น ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยา ‘โต้กลับ’ ที่รุนแรงจากชาวปาเลสไตน์และนานาชาติ รวมถึงในสหรัฐฯเอง และนี่คือความเห็นบางส่วน
ฮามาสชี้ ไร้เหตุผล
ซามี อาบู ซูห์รี (Sami Abu Zuhri) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มฮามาสกล่าวว่า “การเรียกร้องให้ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาถูกกวาดล้างทางชาติพันธุ์นั้น เท่ากับเป็นการขับไล่พวกเขาออกจากดินแดนของพวกเขาเอง”
เขาชี้ว่า “เป็นเรื่องไร้สาระและไร้เหตุผล และความคิดใดๆ ในลักษณะนี้สามารถจุดชนวนให้เกิดความขัดแย้งในภูมิภาคได้”
“เราถือว่า แผนดังกล่าวเป็นสูตรในการสร้างความวุ่นวายและความตึงเครียดในภูมิภาค เพราะประชาชนในฉนวนกาซาจะไม่ยอมให้แผนดังกล่าวผ่านอย่างแน่นอน”
ขณะที่ อิซซัต อัล-ริเชก (Izzat al-Risheq) เจ้าหน้าที่ระดับสูงอีกคนของกลุ่มฮามาส กล่าวว่าข้อเสนอนี้ “จะยิ่งก่อให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้น”
“คำกล่าวเหล่านี้สะท้อนถึงความสับสนและความไม่รู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับปาเลสไตน์และภูมิภาคนี้ ฉนวนกาซาไม่ใช่ดินแดนสาธารณะอย่างแน่นอน และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ซื้อขายได้”
ด้าน ประธานาธิบดีมาห์มูด อับบาส ของปาเลสไตน์ ปฏิเสธอย่างหนักแน่นต่อแผนการใด ๆ ที่จะย้ายชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซา
“เราจะไม่อนุญาตให้มีการละเมิดสิทธิของประชาชนของเรา ซึ่งเราได้ต่อสู้มานานหลายทศวรรษและเสียสละมากมายเพื่อให้บรรลุถึงสิ่งนี้”
“ข้อเรียกร้องเหล่านี้ ถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง สันติภาพและเสถียรภาพจะไม่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ หากไม่ได้จัดตั้งรัฐปาเลสไตน์โดยมีเยรูซาเล็มเป็นเมืองหลวง บนเขตพรมแดน 1967 ตามแนวทางสองรัฐ”
ริยาด มานซูร์ หัวหน้าคณะผู้แทนปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า “ประชาชนในกาซาควรได้รับอนุญาตให้กลับมาครองดินแดนในอิสราเอล ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านของพวกเขาได้”
“สำหรับผู้ที่ต้องการส่งชาวปาเลสไตน์ไปยัง ‘สถานที่ที่ดี’ ขอให้พวกเขากลับไปยังบ้านเดิมของพวกเขาในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้คืออิสราเอล” เขากล่าว และชี้ว่า “ชาวปาเลสไตน์ต้องการสร้างฉนวนกาซาขึ้นมาใหม่ เพราะนี่คือที่ที่เป็นของพวกเรา”
ชาติอาหรับค้านทรัมป์
อียิปต์ และจอร์แดน ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่ทรัมป์ระบุว่า ควรรับชาวปาเลสไตน์ไปอยู่ด้วย ต่างแสดงท่าทีคัดค้านแผนการของทรัมป์
โดยสำนักพระราชวังจอร์แดน เผยแพร่ข้อความจากสมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลเลาะห์ที่ 2 ว่า “ทรงปฏิเสธความพยายามใดๆ ที่จะผนวกดินแดนกาซาและขับไล่ชาวปาเลสไตน์” และทรงเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการยุติการขยายถิ่นฐานของอิสราเอล
ขณะที่บาดร์ อับเดลัตตี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอียิปต์ ได้หารือแผนของทรัมป์ กับนายกรัฐมนตรีโมฮัมหมัด มุสตาฟา แห่งปาเลสไตน์ แต่เป็นการหารือเรื่องการเดินหน้าโครงการฟื้นฟูฉนวนกาซาโดย ‘ไม่ให้’ ชาวปาเลสไตน์ออกจากดินแดน
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศซาอุดิอาระเบีย เผยแพร่แถลงการณ์ “ปฏิเสธการละเมิดสิทธิอันชอบธรรมของชาวปาเลสไตน์ ไม่ว่าจะเป็นผ่านนโยบายการตั้งถิ่นฐานของอิสราเอล การผนวกดินแดนของชาวปาเลสไตน์ หรือความพยายามที่จะขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากดินแดนของตน” และยืนยันว่า “จะไม่ฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิสราเอล หากไม่มีการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์”
สำหรับอิหร่านยังไม่มีการแสดงท่าทีอย่างเป็นทางการ แต่สำนักข่าว Al Jazeera รายงานความเห็นจากหนึ่งในเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่าน ซึ่งยืนยันว่า “อิหร่านไม่เห็นด้วยกับการขับไล่ชาวปาเลสไตน์ และได้มีการสื่อสารเรื่องนี้ผ่านช่องทางต่างๆ”
นักการเมืองสหรัฐฯ หวั่นสงครามปะทุ
คริส เมอร์ฟี (Chris Murphy) วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต จากรัฐคอนเนตทิคัต ทวีตข้อความผ่าน X หลังได้ฟังประกาศของทรัมป์ โดยระบุว่า “เขาเสียสติไปแล้ว การรุกรานฉนวนกาซาของสหรัฐฯ จะส่งผลให้ทหารสหรัฐฯ หลายพันนายต้องเสียชีวิต และสงครามในตะวันออกกลางจะกินเวลาหลายสิบปี เรื่องนี้เป็นมุกตลกที่แย่มาก”
ขณะที่คริส ฟาน ฮอลเลน (Chris Van Hollen) วุฒิสมาชิกพรรคเดโมแครต จากรัฐแมรีแลนด์ กล่าวว่าข้อเสนอของทรัมป์ ขัดกับแนวทางสองรัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่พรรคเดโมแครตและรีพับลิกันสนับสนุนร่วมกันมาหลายทศวรรษ โดยเขาชี้ว่า “สภาคองเกรสต้องยืนหยัดต่อสู้กับแผนการอันตรายและไร้ความรับผิดชอบนี้”
ด้านราชิดา ทไลบ์ (Rashida Tlaib) ส.ส. สหรัฐฯ จากพรรคเดโมแครต ซึ่งมีเชื้อสายปาเลสไตน์ เน้นย้ำว่า “ชาวปาเลสไตน์จะไม่ไปไหน”
“ประธานาธิบดีคนนี้สามารถพูดจาเหลวไหลไร้สาระนี้ได้ ก็เพราะว่าการสนับสนุนร่วมกันของทั้งสองพรรคในสภาคองเกรส ที่สนับสนุนเงินทุนเพื่อฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และกวาดล้างชาติพันธุ์ ถึงเวลาแล้วที่เพื่อนร่วมงานของฉันที่สนับสนุนแนวทางสองรัฐจะต้องออกมาพูด”
ทั่วโลกหนุนแก้ปัญหาแบบสองรัฐ
ด้านเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียกล่าวว่า “อิสราเอลเองก็มีแผนที่จะเข้าควบคุมเขตเวสต์แบงก์ทั้งหมด และพยายามขับไล่ชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซา” ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของทรัมป์ พร้อมทั้งยืนยันว่ารัสเซีย “ปฏิเสธวิธีการลงโทษแบบหมู่คณะดังกล่าว”
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกเครมลินกล่าวเสริมว่า “รัสเซียเชื่อว่าการยุติความขัดแย้งในตะวันออกกลาง จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อใช้วิธีการแก้ปัญหาแบบสองรัฐเท่านั้น”
“นี่คือทฤษฎีที่บรรจุอยู่ในมติที่เกี่ยวข้องของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ประเทศส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานี้เห็นด้วย เราดำเนินการจากทฤษฎีนี้ เราสนับสนุนทฤษฎีนี้ และเชื่อว่านี่เป็นทางเลือกเดียวที่เป็นไปได้”
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า “จีนคัดค้านการบังคับให้ย้ายชาวกาซา และหวังว่าทุกฝ่ายจะใช้การหยุดยิงและการปกครองหลังสงคราม เป็นโอกาสในการนำปัญหาปาเลสไตน์กลับสู่การยุติความขัดแย้งทางการเมือง โดยใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบสองรัฐ”
ฮาคาน ฟิดาน รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี กล่าวว่า ความเห็นของทรัมป์นั้น “ไม่สามารถยอมรับได้” และเตือนว่า การย้ายชาวปาเลสไตน์ออกจากาซา จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น
อันนาเลนา แบร์บ็อค รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี กล่าวว่า “ฉนวนกาซาเป็นของชาวปาเลสไตน์ และการขับไล่พวกเขาออกไปเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ”
เช่นเดียวกับฝรั่งเศส คริสตอฟ เลอมวน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เผยแพร่แถลงการณ์ ระบุว่า “ฝรั่งเศสย้ำจุดยืนคัดค้านการอพยพชาวปาเลสไตน์ออกจากฉนวนกาซาโดยบังคับ ซึ่งจะถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแนวทางสองรัฐ”
โดยเขาชี้ว่า “อนาคตของฉนวนกาซาควรอยู่ในบริบทของรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต และไม่ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของประเทศที่สาม”
อ้างอิง :