“ยุคทองของอเมริกาเริ่มต้นขึ้นเดี๋ยวนี้แล้ว” …
“ในเวลาอีกไม่นานนับจากนี้ เราจะเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก เป็นอ่าวอเมริกา”
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
คำกล่าววันสาบานตัวรับตำแหน่งประธานาธิบดี, 20 มกราคม 2025
กล่าวนำ
ใครได้ติดตามดูรายการถ่ายทอดสด “วันสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี” (Inauguration Day) คนที่ 47 ของโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม 2025 นั้น เราไม่เพียงแต่จะเห็นถึงพิธีสาบานตัวอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา แต่ยังเห็นถึงการชุมนุมของผู้นำการเมืองทั้งจากพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต โดยเฉพาะอดีตประธานาธิบดีที่เข้าร่วมแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีคนใหม่ (นับตั้งแต่ปี 1937 เป็นต้นมา จะกำหนดให้วันที่ 20 มกราคม เป็นวันสาบานตัว และถือปฏิบัติสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน)
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจากพรรคไหนชนะการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีที่ยังมีชีวิตอยู่ก่อนหน้านี้ ก็จะเข้าร่วมแสดงความยินดีกับผู้นำคนใหม่ของทำเนียบขาวเสมอ จนถือเป็น ‘สปิริตการเมือง’ ของผู้นำอเมริกัน แต่ก็มีอดีตประธานาธิบดีอเมริกันถึง 6 คนที่ไม่ได้เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวในอดีต และทรัมป์เป็นคนที่ 6 ที่ไม่เข้าร่วมในพิธีนี้ เมื่อครั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน สาบานตัวในปี 2021 (ทรัมป์จัด ‘พิธีอำลา’ ที่ทำเนียบขาว และเดินทางออกจากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนที่พิธีสาบานตัวจะเริ่มขึ้น)
สำหรับในครั้งนี้ พิธีต่างๆ ได้ถูกย่อลง อันเนื่องมาจากความหนาวเย็นของอากาศ … อากาศในวันนั้น มีอุณหภูมิอยู่ที่ -6 องศาเซนติเกรด จนต้องย้ายพิธีสาบานตัวที่ปกติจะทำกลางแจ้งมาอยู่ในตัวอาคารของรัฐสภาอเมริกัน ซึ่งก็จะทำให้การจัดขบวนพาเหรดฉลองตำแหน่งของประธานาธิบดีไม่มีไปโดยปริยาย (เหมือนเมื่อครั้ง 40 ปีที่แล้ว เมื่อประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกนต้องทำพิธีสาบานตัวในวาระรับตำแหน่งครั้งที่ 2 ในอาคารรัฐสภาในปี 1985 เพราะปัญหาอากาศหนาวเช่นกัน)
ว่าที่จริงแล้ว พิธีสาบานตัวสำหรับปี 2025 ดูจะไม่มีอะไรเป็นประเด็นที่ต้องกังวลว่า ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยเหตุการณ์การบุกยึดรัฐสภาในวันที่ 6 มกราคม 2021 หรือไม่ เพราะทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งก่อนผลการเลือกตั้งจะปรากฏให้ทราบนั้น หลายฝ่ายมีความกังวลอย่างมากว่า ถ้าทรัมป์แพ้การเลือกตั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน 2024 แล้ว จะเกิดเหตุ ‘กบฏ ⅙’ ด้วยการก่อความรุนแรงของผู้สนับสนุนทรัมป์ที่เป็นกลุ่มการเมืองขวาจัดเช่นที่เกิดในเดือนมกราคม 2021 อีกหรือไม่
แต่ครั้งนี้ทรัมป์ชนะ ความกังวลดังกล่าวดูจะไม่ใช่ประเด็นแต่อย่างใด เนื่องจากก่อนการเลือกตั้งนั้น ทรัมป์ไม่เคยมีคำสัญญาว่า จะยอมรับผลการเลือกตั้ง และจะยอมให้การเปลี่ยนผ่านอำนาจเป็นไปโดยสันติ ในที่สุด ก็มิได้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดแต่อย่างใด
การเริ่มต้นยุค ‘ทรัมป์ 2’
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายต้องยอมเฝ้าหน้าจอทีวี และคอยติดตามฟังอย่างใจจดใจจ่อก็คือ ‘คำแถลงในพิธีสาบานตัว’ (Inaugural Address) [การมีคำแถลงเช่นนี้เริ่มมาตั้งแต่ประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตันในปี 1789] เพราะคำแถลงของประธานาธิบดีที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ คือ การประกาศ ‘วิสัยทัศน์ทางยุทธศาสตร์’ ของผู้นำทำเนียบขาวคนใหม่
คำแถลงที่เกิดเช่นนั้น จึงบ่งบอกถึงทิศทางการดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ ของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน จนอาจกล่าวได้ว่า คำแถลงเช่นนี้เป็นการประกาศวิสัยทัศน์ของผู้นำคนใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อให้โลกและสังคมอเมริกันได้รับรู้นั่นเอง และยังมีนัยถึงการประกาศเป้าหมายของการดำเนินนโยบาย (policy goals) ที่จะเป็นไปในอนาคต และคำแถลงดังกล่าวของประธานาธิบดีคนใหม่หลายคน ได้กลายเป็น ‘วรรคทอง’ ทางการเมือง และถูกนำมาใช้อ้างอิงอยู่บ่อยครั้ง
ฉะนั้น เชื่อเหลือเกินว่า หลังจาก 5 ทุ่มตามเวลาในประเทศไทยแล้ว ผู้นำรัฐบาลทั่วโลก (โดยเฉพาะทีมที่ปรึกษา และบรรดา think tanks ต่างๆ) ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบใด คงต้องติดตามดูพิธีสาบานตัวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ และต้องติดตามอย่างมากกับคำแถลงในวาระนี้ที่จะตามมา เพื่อที่จะได้ทราบว่า สหรัฐฯ ในยุคของทรัมป์จะเดินไปในทิศทางใด และประเทศของเขาจะต้องเตรียมรับมือกับตัวนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ อย่างไร
ดังนั้น บทความนี้จะลองนำเสนอชุดความคิดทางการเมืองของทรัมป์ และความคิดทางการเมืองดังกล่าวปรากฏตัวเป็นรูปนโยบายของสหรัฐฯ ในยุคของเขาอย่างไร
ตัวตนทางรัฐศาสตร์ของทรัมป์
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เป็นผู้นำฝ่ายขวาที่ชัดเจนที่สุดของยุคสมัยอย่างไม่มีข้อสงสัย แต่ในทางทฤษฎี เขาเป็นขวาแบบใดเล่า?
หากพิจารณาความเป็นฝ่ายขวา (right wing) แล้ว ชุดความคิดของอุดมการณ์แบบขวานั้น ไม่ได้แตกต่างจากความเป็นซ้าย (left wing) ที่จำเป็นต้องจำแนก ‘เฉดความเข้มข้น’ ทางการเมือง (political spectrum) ในการทำความเข้าใจ เพราะเราจะมองความเป็นขวา ด้วยทัศนะที่เห็นความคิดทางการเมืองเหล่านี้เป็น ‘แท่งเดียว’ อย่างเป็นเอกภาพไม่ได้ (คือเป็น monolithic ideas)
ถ้าเริ่มต้นด้วยความเป็นขวาแล้ว จะเห็นได้ว่า ทรัมป์ไม่ใช่พวกที่สมาทานความคิดที่เป็น ‘อนุรักษนิยมแบบดั้งเดิม’ (Traditional Conservatism) ของสังคมตะวันตก ที่อาจเรียกพวก ‘ขวาเก่า’ ที่ยึดมั่นในอุดมคติของอนุรักษนิยมแบบเดิมๆ อีกทั้ง เขาไม่ได้ยอมรับแนวคิดของการดำเนินนโยบายในแบบ ‘อนุรักษ์นิยมกระแสหลัก’ (Mainstream Conservatism) ที่เป็นรากฐานของสังคมการเมืองอเมริกันมาอย่างยาวนาน
หากพิจารณาความเป็นขวาในโลกการเมืองปัจจุบันแล้ว โลกได้เห็นถึงการมาของ ‘ขวาใหม่’ (ไม่ได้มีนัยหมายถึงชุดความคิดแบบ Neo-Con ที่เป็นกระแสการเมืองและนโยบายของยุคประธานาธิบดีเรแกน) ขวาชุดนี้มีความเป็น ‘ประชานิยม’ คือ ‘ขวาประชานิยม’ (Right Populism ) หรือที่เรียกในทางวิชาการว่าเป็นแนวคิดแบบ ‘ประชานิยมปีกขวา’ (Rightwing Populism)
ดังนั้น ถ้าถามว่า ‘ตัวตนทางรัฐศาสตร์’ ของทรัมป์เป็นอะไรแล้ว … คำตอบที่ชัดก็คือ ทรัมป์เป็น ‘ประชานิยมปีกขวา’ ไม่แตกต่างจากผู้นำประชานิยมปีกขวาของการเมืองยุโรปในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นมารี เลอ แปง ในฝรั่งเศส, กีรต์ ไวลเดอร์ส ในเนเธอร์แลนด์, จอร์เจีย เมโลนี ในอิตาลี, วิคเตอร์ โอร์บาน ในฮังการี, หรือ ไนเจล ฟาราจ ในอังกฤษ เป็นต้น
คนเหล่านี้ยืนอยู่ในสายธารของกระแสการเมืองชุดเดียวกัน อันอาจกล่าวได้ว่า กระแสประชานิยมปีกขวาคือ ‘กระแสขวาของศตวรรษที่ 21’ และกระแสชุดนี้ใช่มีแต่ในโลกตะวันตกเท่านั้น หากยังขยายตัวไปในภูมิภาคอื่น เช่น แต่เดิมในลาตินอเมริกามักเป็นเรื่องของ ‘ประชานิยมปีกซ้าย’ (Leftwing Populism) ในแบบของนักปฏิวัติในอเมริกาใต้ แต่กระแสขวาใหม่ได้ปรากฏให้เห็นอย่างในบราซิล หรืออาร์เจนตินา หรือในเอเชีย เช่นในอินเดีย เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เป็นต้น (น่าสนใจในบริบทของการเมืองโลกปัจจุบันว่า กระแสประชานิยมปีกขวามีในไทยอย่างไรหรือไม่?)
ชุดความคิดแบบประชานิยมปีกขวา ยืนอยู่บนแกนหลัก 3 เสา คือ 1) การประกอบสร้างแนวคิดเรื่องของประชาชน (ในความหมายเฉพาะที่เป็น ‘the people’ ไม่ครอบคลุมผู้อพยพในฐานะของการเป็น ‘คนนอก’) 2) การต่อต้านของชนชั้นนำที่ฉ้อฉล (corrupt elites) และ 3) การให้ความสำคัญกับเรื่องของ ‘เจตจำนงร่วม’ ของประชาชน (The General Will) ที่ถูกชนชั้นนำบิดเบือน และนำไปหาประโยชน์
แนวคิดของทรัมป์ (หรืออาจเรียกว่า ‘Trumpism’) ก็ยืนอยู่บนแกน 3 เสานี้เช่นบรรดาชาวประชานิยมปีกขวาในยุโรป หรืออาจกล่าวได้ว่า แกนเหล่านี้เป็น ‘บ้าน 3 เสา’ ของความเป็นประชานิยมนั่นเอง ดังจะเห็นได้จากคำพูด ความเห็น หรือถ้อยแถลงของผู้นำประชานิยมทั้งหลาย จะมีองค์ประกอบใน 3 เรื่องนี้อยู่ด้วยเสมอ
10 หน้าทรัมป์
หากเราเอาความคิดที่มาจากการพูด การสัมภาษณ์ หรือการกล่าวในเวทีสาธารณะมาสรุปเป็นประเด็นๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำความเข้าใจแล้ว เราจะเห็นความเป็น ‘ทรัมป์นิยม’ (Trumpism) ปรากฏชัดใน 10 ด้านหลัก หรืออยากเรียกว่าเป็น ‘ทศทรัมป์’ คือ ‘10 หน้าของทรัมป์’ และว่าที่จริงแล้ว 10 หน้าเช่นนี้ ปรากฏให้เห็นจากคำแถลงในวันสาบานตัวอย่างชัดเจนด้วย ดังนี้
- ลัทธิชาตินิยม (Nationalism)
ชาวประชานิยมทั้งปีกขวาและปีกซ้าย มีความเป็นนักชาตินิยมไม่แตกต่างกัน หรืออาจกล่าวในทางความคิดได้ว่า ลัทธิชาตินิยมเป็นอีกส่วนที่สำคัญของความเป็นประชานิยม สำหรับทรัมป์แล้ว ภาพสะท้อนของความเป็น ‘นักชาตินิยม’ คือ คำขวัญ ‘America First’ หรือแปลตรงๆ คือ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ หรือกล่าวในเชิงนโยบายคือ สหรัฐฯ ต้องได้รับผลตอบแทนมากที่สุด หรือการเสนอคำขวัญแบบที่เป็น ‘ชาตินิยม-ประชานิยม’ คือ ‘Make America Great Again’ หรือ ‘สร้างอเมริกาให้ยิ่งใหญ่อีกครั้ง’
- ลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)
ผู้นำที่เป็นประชานิยมไม่ว่าจะเป็นในแบบของทรัมป์ (อเมริกา) ปูติน (รัสเซีย) หรือสี จิ้นผิง (จีน) มักมีชุดความคิดที่คล้ายคลึงกันในเรื่องของการขยายดินแดน หรือโดยนัยทางความคิดคือ มีทัศนะในแบบ ‘จักรวรรดิ’ แบบเดิม (imperial vision) เช่น ความต้องการผนวกยูเครนของรัสเซีย ปัญหาการผนวกไต้หวันของจีน และการอ้างกรรมสิทธิ์ของหมู่เกาะในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด หรือทรัมป์อยากได้คลองปานามา กรีนแลนด์ หรือการเสนอในแคนาดามาเป็นรัฐใหม่ของสหรัฐฯ เป็นต้น ความต้องการเหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนของชุดความคิดแบบ ‘จักรวรรดินิยม’ และรองรับด้วย ‘ลัทธิชาตินิยม’ ที่มีนโยบายแบบขยายดินแดน รวมถึงการประกาศในการปักธงอเมริกันที่ดาวอังคาร อันมีนัยถึงการครอบครองดินแดน
- ลัทธิเสนานิยม (Militarism)
ทรัมป์มีจุดยืนที่ชัดเจนในการขยายและพัฒนาศักยภาพทางทหารของกองทัพสหรัฐ ทั้งในส่วนที่เป็นกำลังรบตามแบบ (conventional military power) และกำลังรบทางยุทธศาสตร์นิวเคลียร์ (strategic nuclear power) อันทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงการพาโลกกลับสู่ “การแข่งขันสะสมอาวุธ” เช่นที่เคยเกิดมาแล้วในยุคสงครามเย็น โดยเฉพาะในเรื่องของการแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในศตวรรษที่ 21 หรือที่วงการยุทธศาสตร์ศึกษาเรียกสภาวะเช่นนี้ว่า “ยุคนิวเคลียร์ที่ 2” (The Second Nuclear Age) [ยุคนิวเคลียร์ที่ 1 คือ การแข่งขันสะสมอาวุธนิวเคลียร์ในศตวรรษที่ 20]
- ลัทธิโดดเดี่ยวนิยม (Isolationism)
จุดยืนหลักที่สำคัญของความเป็นประชานิยมคือ การดำเนินนโยบายแบบโดดเดี่ยว ที่เชื่อว่าต้องลดทอนการมีบทบาท และพันธกรณีที่รัฐมีต่อโลกภายนอก หรือเป็นนโยบายที่พาประเทศ ‘กลับบ้าน’ และเน้นถึงการแก้ปัญหาภายในมากกว่าการมีบทบาทภายนอก อันจะกระทบอย่างมากกับปัญหาสงครามในยูเครน และจะส่งผลอย่างมากกับการจัดวางบทบาทของฝ่ายตะวันตกในเวทีโลก เพราะสหรัฐฯ ในฐานะผู้นำของชาติตะวันตกในเวทีโลกกลับพาตัวเอง ‘เข้าบ้าน’ ดังจะเห็นได้จากการลาออกจากองค์การและพันธะระหว่างประเทศ ตามที่เกิดจากการลงนามคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ในวันแรกที่รับตำแหน่ง
- ลัทธิกีดกันทางการค้า (Protectionism)
แนวคิดสำคัญของทรัมป์ในความเป็นประชานิยมคือ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศในแบบ ‘ลัทธิกีดกันทางการค้า’ และเชื่อว่า สหรัฐฯ ต้องปกป้องผลประโยชน์ด้านการค้าระหว่างประเทศของตนจากสินค้าภายนอกด้วยการตั้ง ‘กำแพงภาษี’ (Tariffs) ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อระเบียบเศรษฐกิจโลกที่วางอยู่บนพื้นฐานของลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เพราะสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำของโลกตะวันตกละทิ้งความเป็นเสรีนิยมทางเศรษฐกิจเสียเอง
- ลัทธิชนพื้นถิ่นนิยม (Nativism)
ชาวประชานิยมในทุกประเทศมีจุดยืนเหมือนกันอย่างมากประการหนึ่งคือ การให้ความสำคัญกับ ‘ชนพื้นถิ่น’ คำว่า ‘native’ มิได้หมายถึง ชนพื้นเมืองดั้งเดิมของสังคมอเมริกันคือ ชาวอินเดียนแดง แต่หมายถึง ‘คนผิวขาว’ ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ยุคดั้งเดิมในช่วงแรกของการสร้างชาติ ดังนั้น ลัทธินี้จึงมีนัยถึงการต่อต้านคนที่มาจากภายนอก อาจมีความหมายถึง ‘ความกลัวคนต่างชาติ’ (xenophobia) เช่น การต่อต้านผู้อพยพ ซึ่งมักจะเป็นชาวมุสลิม หรือคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ที่มาจากเม็กซิโก อันนำไปสู่นโยบายการควบคุมพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกอย่างเข้มงวด ด้วยการใช้กำลังโดยตรงจากกองทัพสหรัฐฯ และแนวคิดนี้ยังนำไปสู่การต่อต้านคนผิวดำ จนในอีกด้านหนึ่ง ได้กลายเป็น ‘ลัทธิเหยียดชาติพันธุ์’ (racism) หรือเป็นแนวคิดในเรื่องของ ‘การเหยียดผิว’ ที่เป็นปัญหาหนึ่งของความแตกแยกในสังคมอเมริกัน
- ลัทธิอำนาจนิยม (Authoritarianism)
ผู้นำประชานิยมส่วนหนึ่งมักมีบุคลิกภาพที่เป็นแบบ ‘อำนาจนิยม’ ซึ่งในอีกทางหนึ่งก็สอดรับกับชุดความคิดทางการเมืองของเขาที่เป็นอำนาจนิยม ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการแสดงออกในทางความคิดของทรัมป์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มีความเป็นอำนาจนิยมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่มขวาจัดรุนแรง เช่นในกรณีบุกรัฐสภาในวันที่ 6 มกราคม 2021 เป็นต้น จนอาจต้องอนุมานว่า ทรัมป์คือ ‘ผู้นำที่แท้จริง’ ของกลุ่มการเมืองขวาจัดในอเมริกา หรือจะเรียกว่าเป็น ‘ศาสดา’ ของฝ่ายขวาจัดก็คงไม่ผิดนัก
- ต่อต้านลัทธิเสรีนิยม (Anti-Liberalism)
ชุดความคิดประชานิยมมีจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านลัทธิเสรีนิยม เพราะโดยพื้นฐานแล้ว แม้ประชานิยมอาจจะเป็นผลผลิตของการเมืองประชาธิปไตย แต่สุดท้ายในทางความคิดแล้ว ประชานิยมจะไม่ยอมรับลัทธิเสรีนิยม เพราะมองว่าลัทธิเสรีนิยมเอื้อต่อคุณค่าที่พวกเขาปฏิเสธ เช่น ความหลากหลายทางเพศ การยอมรับสิทธิสตรี ความเท่าเทียมของสีผิว ความเป็นพหุวัฒนธรรม การเปิดรับผู้อพยพด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากคำแถลงในวันสาบานตัวที่ทรัมป์มองผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมายว่าเป็น ‘พวกอาชญากรที่อันตราย’ ฉะนั้น รัฐบาลของเขาจะต้องจัดการกับปัญหานี้อย่างเข้มงวด อันนำไปสู่การประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ’ (National Emergency Crisis) ที่ชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก หรือการเสนอแนวคิดในการ ‘เนรเทศใหญ่’ (mass deportation) กับคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย อีกทั้งการประกาศว่า รัฐบาลใหม่จะยอมรับเพียงการมี 2 เพศเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการสวนทางโดยตรงกับกระแสเสรีนิยม ที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) นโยบายนี้จะมีผลกับคนข้ามเพศที่อยู่ในระบบราชการอย่างมาก รวมทั้งทหารในกองทัพได้รับอานิสงส์จากนโยบายแบบเสรีนิยมของประธานาธิบดีไบเดน
- ต่อต้านลัทธิโลกานิยม (Anti-Globalism)
แกนนำ นักคิด นักเคลื่อนไหวในสายประชานิยมมีจุดยืนที่ตรงกันเสมอในการ ‘ต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์’ (Anti-Globalization) หรือโดยนัยทางความคิดคือเป็นพวกต่อต้านความคิดแบบ ‘โลกานิยม’ (Globalism) กล่าวคือ ชาวประชานิยมไม่ยอมเป็นพวก ‘globalist’ คือพวก ‘กระแสโลก’ อย่างแน่นอน (กล่าวคือ โดยทั่วไปแล้ว พวก globalist มักจะเป็นชาวเสรีนิยม) พวกประชานิยมยังมีทัศนคติอีกด้วยว่า โลกาภิวัตน์เป็นเรื่องของพวกชนชั้นนำ หรือเป็น ‘กระแสจากข้างบน’ ที่มีความหมายถึงกระแสของชนชั้นนำนั่นเอง ทั้งยังมองว่า กระแสโลกาภิวัตน์เป็นปัจจัยในการทำลายชีวิตทางเศรษฐกิจของคนในสังคม
- ต่อต้านการทำแท้ง (Anti-Abortion)
ชาวประชานิยมที่มีพื้นฐานของความเป็นอนุรักษนิยมในตัวเอง พวกเขาจึงมีความเป็นพวก ‘ศาสนนิยม’ ไปด้วย ความเชื่อในมิติทางศาสนามีส่วนอย่างสำคัญในการสร้างความคิดทางการเมืองของกลุ่มการเมืองฝ่ายขวานั้น ว่าที่จริงเป็นเรื่องปกติมาก ดังจะเห็นได้ว่าคำกล่าวของทรัมป์ในตอนที่รอดชีวิตจากการถูกลอบสังหาร เขาได้ว่าเป็นเพราะ ‘พระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้า’ (the grace of God) ดังนั้น ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตในสังคม พวกเขาเหล่านี้จึงมีจุดยืนที่ชัดเจนในปัญหา ‘การทำแท้ง’ กล่าวคือ เมื่อต้องอิงกับความเชื่อทางศาสนาในแบบอนุรักษนิยมแล้ว ชาวประชานิยมจึงให้การสนับสนุนต่อแนวคิดแบบ Pro-Life และไม่มีทางยอมรับความคิดเสรีนิยมในแบบ Pro-Choice ได้เลย
ทรัมป์กับอเมริกาใหม่
ความเป็น ‘ทศทรัมป์’ ด้วยการขับเคลื่อนของกระแสประชานิยมนั้น เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งกับการเมืองภายในและภายนอกของสหรัฐฯ แม้เราจะได้เห็นมาแล้วในยุค ‘ทรัมป์ 1’ (2017-2020) แต่ครั้งนั้น ชัยชนะของเขาเป็นเรื่องไม่คาดคิด และไม่มีการเตรียมตัวมาก กระนั้นก็เห็นถึงความพลิกผันในเชิงนโยบายอย่างมาก ด้วยการที่ผู้นำสหรัฐฯ ดำเนินนโยบายไปในทิศทางขัดแย้งกับมูลฐานของ ‘ยุทธศาสตร์อเมริกัน’ ที่ปรากฏชัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น กล่าวคือ เป็นนโยบายในแบบ ‘ทรัมป์นิยม’ ที่ตีความผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐฯ แตกต่างไปจากกระแสหลักเช่นที่ปรากฏในอดีต
สำหรับในยุค ‘ทรัมป์ 2’ (2025-2028) เป็นชัยชนะของเขาที่มาด้วยความมั่นใจ และมาพร้อมกับทีมที่เป็นกระแสประชานิยม หรือจะเรียกว่าเป็น ‘ทีมขวาจัด’ อาจจะพอเทียบเคียงได้กับชัยชนะของประธานาธิบดีเรแกน ที่มาพร้อมกับ ‘ทีมนีโอคอน’ (Neo-Con) และยังรองรับด้วยชุดความคิดเชิงนโยบายของ ‘โครงการ 2025’ (Project 2025) ที่แม้ทรัมป์อาจจะปฏิเสธถึงความเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าว แต่ตัวบุคคลจากโครงการนี้ ได้เข้ามามีส่วนสำคัญในรัฐบาลทรัมป์ จนอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า ทรัมป์จะมีความมั่นใจ และมีความกล้าในทางการเมืองมากขึ้น อย่างน้อยในการชิงตำแหน่งครั้งนี้ เขาชนะคะแนนหมดทั้งในส่วนของคะแนนเสียงทั่วไป (popular vote) และคะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง (electoral vote)
ดังนั้น การกลับมาของประธานาธิบดีทรัมป์ครั้งใหม่ด้วยความมั่นใจอย่างมากเช่นนี้ จึงเป็นความท้าทายที่การเมืองโลกและการเมืองอเมริกันต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังปรากฏทิศทางของรัฐบาลใหม่ให้เห็นจากการลงนามในคำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Orders) ในแบบที่ไม่ต้องแคร์กับอนุรักษนิยมกระแสหลัก และไม่ต้องสนใจอะไรกับกระแสเสรีนิยม เช่น การประกาศให้อเมริกากลับสู่การขุดเจาะน้ำมัน ด้วยการประกาศ ‘ภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน’ (National Energy Emergency) โดยไม่ต้องคำนึงถึงการใช้พลังงานฟอสซิล ที่เป็นต้นเหตุของภาวะโลกร้อน พร้อมกันนี้ ยังประกาศพาสหรัฐฯ ออกจากเวที ‘การประชุมปารีส’ (The Paris Agreement) ที่เป็นวาระเรื่องสภาวะอากาศโลก
นอกจากนี้ ยังเห็นถึงการประกาศถอนตัวจากองค์การอนามัยโลก (WHO) เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นคำตอบในตัวเองว่า นับจากนี้เราจะเห็นนโยบายของสหรัฐฯ ในอีกแบบ เสมือนเรากำลังเห็น ‘อเมริกาใหม่’ ที่เราอาจจะไม่คุ้นเคยเท่าใดนัก แม้เราจะพอคุ้นบ้างในช่วงจากปี 2017-2020 ก็ตาม และเป็นอเมริกาที่อาจจะ ‘ไม่เสรี’ (illiberal) เท่าใดนัก
ฉะนั้นคงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า เพียงแค่เริ่มต้นรับตำแหน่ง ประธานาธิบดีทรัมป์ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งกับสังคมอเมริกัน และสังคมโลกอย่างที่ไม่คาดคิด ด้วยการประกาศทิศทางนโยบายแบบประชานิยมขวาจัด จนต้องเตรียมทำใจว่า ในวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ยุค 2 จากปี 2025 จนถึงปี 2028 นั้น จะมีอะไรเกิดขึ้นในแบบที่คาดไม่ถึงอีก … ซึ่งเชื่อได้เลยว่า จะต้องมีอีกแน่นอน อย่างที่เห็นจากการประกาศทิศทางใหม่ในคำแถลงวันสาบานตัว และตามมาด้วยการลงนามคำสั่งของประธานาธิบดี จนอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่ปรากฏให้เห็นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ ‘ยุค America First ครั้งที่ 2’ เท่านั้นเอง
แต่สำหรับผู้สนับสนุนทรัมป์และบรรดาชาวประชานิยมอเมริกันปีกขวาทั้งหลายแล้ว พวกเขาเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยเลยว่า ‘ยุคทองของอเมริกา’ ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว พร้อมกันนี้ พวกเขาก็พร้อมแล้วที่จะออกเดินไปข้างหน้าสู่อนาคตกับ ‘ยุคทองของทรัมป์’ อย่างเต็มที่และเต็มใจ!
หนังสืออ่านประกอบเพิ่มเติม
ผู้ที่สนใจเรื่องกระแสขวาตะวันตก หรือกระแส “ประชานิยมปีกขวา” อาจอ่านได้จากงานของผู้เขียน ดังนี้
- สุรชาติ บำรุงสุข “ยุคของทรัมป์: ประชานิยมปีกขวา” จุลสารความมั่นคงศึกษา, ฉบับที่ 182, กุมภาพันธ์ 2560 (จุลสารนี้เขียนเพื่ออธิบายทรัมป์และชุดความคิดทางการเมืองของเขาหลังจากได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2016)
- สุรชาติ บำรุงสุข ทรัมป์นิยม: จากอนุรักษ์นิยมสู่ประชานิยมปีกขวา [Trumpism: From Conservatism to Right Wing Populism] (สำนักพิมพ์แสงดาว, 2567)
ภาพ: Reuters, Yumytumy via ShutterStock