×

สงครามการค้าสหรัฐฯ-ไทย? สิ่งที่คนไทยควรทำและรับมือ หลังทรัมป์ประกาศตัดสิทธิพิเศษ GSP ไทย 1 ใน 3

27.10.2019
  • LOADING...
สงครามการค้าสหรัฐฯ-ไทย

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • สหรัฐฯ เตรียมยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ระบบ Generalized System of Preferences (GSP) กับไทย ครอบคลุมมูลค่าการค้าประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) หรือราว 1 ใน 3 ของสินค้าส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งรวมถึงสินค้าประมงและอาหารทะเลส่งออกของไทยทั้งหมด ด้วยสาเหตุที่ไทยไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้แรงงานในประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล
  • ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับที่ไทยประกาศยกเลิกการนำเข้าและจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรอันมีพิษอันตราย 3 ชนิด ซึ่งถูกยื่นคัดค้านโดยสถานทูตสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ในโลกโซเชียลมีเดียจึงมีการจับ 2 เรื่องนี้มาโยงเข้าด้วยกัน แต่ในความเป็นจริงอาจเป็นเพียง 2 เรื่อง ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เกิดขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกันเท่านั้น
  • ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วย ดังนั้น การยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เรียกว่า GSP แต่เพียงฝ่ายเดียว ที่สหรัฐฯ จะให้ใคร หรือไม่ให้ใครก็ได้ ก็คงเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ ศึกษามาแล้วอย่างต่อเนื่อง และในทุกๆ ปี การทบทวนว่าจะให้ GSP ต่อหรือไม่ ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ นั่นคือต้นเดือนพฤศจิกายนเสมอ

หลังจากที่มีรายการงานโดยสำนักข่าว Reuters เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม เวลา 06.52 น. ด้วยใจความเพียง 4 ประโยคว่า ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ส่งจดหมายถึง แนนซี เปโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีในฐานะประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่งว่า รัฐบาลสหรัฐฯ จะยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับไทยภายใต้ระบบ Generalized System of Preferences (GSP) ครอบคลุมมูลค่าการค้าประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) หรือราว 1 ใน 3 ของสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งรวมถึงสินค้าประมงและอาหารทะเลส่งออกของไทยทั้งหมด ด้วยสาเหตุที่ไทยไม่ได้ดำเนินการเพื่อให้แรงงานในประเทศไทยได้รับสิทธิแรงงานอันเป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล (The Country Had Not Taken Steps To Afford Workers In Thailand Internationally Recognized Worker Rights) 

 

โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (US Trade Representative Office: USTR)กล่าวว่า การยกเลิก GSP จะเกิดขึ้นในอีก 6 เดือนข้างหน้า โดยการดำเนินนโยบายนี้จะส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออก 1 ใน 3 ของรายการสินค้าที่ไทยได้รับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ

 

แต่เพียงเท่านั้นเองก็เหมือนผึ้งแตกรัง ทั้งที่ยังไม่ได้มีรายละเอียด ยังไม่มีใครทราบว่า ประเด็นแรงงานที่กล่าวถึงคือประเด็นเรื่องอะไร มีรายละเอียดอย่างไร การยกเลิก GSP จะมาในรูปแบบไหน แต่เราก็ได้เห็นความเคลื่อนไหวมากมายบนโลกสังคมออนไลน์ ผมคิดว่า 5 สิ่งที่เราควรทำเมื่อรับรู้ข่าวนี้มีดังนี้ครับ

 

สงครามการค้าสหรัฐฯ-ไทย

 

1. ไม่ควรเชื่อมโยง: ผู้ใช้งานในโลกสังคมออนไลน์จำนวนมากโดยเฉพาะบน Twitter และ Facebook เริ่มเชื่อมโยงว่า นี่คือมาตรการตอบโต้จากการที่ทางการไทยยกเลิกการนำเข้าและการจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรอันมีพิษอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต (ยาฆ่าหญ้า), คลอร์ไพริฟอส (ยาฆ่าแมลง), ไกลโฟเซต (ยากำจัดวัชพืช ‘ราวด์อัพ’) ซึ่งสถานการณ์ก่อนหน้าคือ สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยออกหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีคัดค้านยกเลิกการใช้สารไกลโฟเซต โดยมี เทด แมคคินนี ปลัดกระทรวงเกษตรฝ่ายการค้าและกิจการเกษตรต่างประเทศ เป็นผู้ลงนาม (แมคคินนีผู้นี้เคยมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทเคมีเกษตรยักษ์ใหญ่ ทำให้การเรียกร้องของเขาดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือ) และการกระทำเช่นนี้ของสหรัฐฯ ถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทย เพราะเรามีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สาธารณสุขจำนวนมากยืนยันว่า ด้วยเงื่อนไขและบริบทการใช้งานในประเทศไทย สารเคมีเหล่านี้เป็นอันตรายอย่างรุนแรงของสุขภาพของคนไทย

 

ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์จำนวนมากเริ่มต้นการจับแพะชนแกะว่า เพราะเราแบนสารเคมีเขา เขาถึงตัดสิทธิพิเศษทางภาษีนำเข้าสินค้าประมงของเรา แน่นอนว่า ห้วงเวลาที่ใกล้และต่อเนื่องกันทำให้หลายๆ คนโยงว่า มีความสัมพันธ์กัน แต่ผมคิดว่า จากข้อเท็จจริงเพียงการรายงานข่าว 4 ประโยคในภาษาอังกฤษ ที่ยังไม่มีใครเห็นรายละเอียดว่า สหรัฐฯ ตัด GSP เราโดยอ้างเรื่องแรงงานนั้นมีรายละเอียดอย่างไร มีข้อเท็จจริงอย่างไร ดังนั้น การเอา 2 เรื่อง ที่ใกล้เคียงกันมาเชื่อมโยงกัน ซึ่งมันอาจจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันหรือไม่ก็ยังไม่รู้ เพราะเรายังไม่รู้รายละเอียด ไม่รู้เหตุผล ไม่รู้ข้อเท็จจริง ก็เปรียบเสมือนการสร้างทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) ซึ่งแน่นอนว่า การทำเช่นนี้ดูจะไม่เป็นธรรม 

 

เพราะต้องอย่าลืมว่า สหรัฐฯ เริ่มต้นการประกาศว่า สหรัฐฯ ขาดดุลการค้ากว่า 5 แสนล้านดอลลาร์ กับมากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก มาตั้งแต่ต้นปี 2018 และเราเห็นการทำสงครามการค้ากับจีน และการขึ้นภาษีนำเข้ากับหลายประเทศทั่วโลกมาแล้วตั้งแต่กลางปี 2018 และในเมื่อไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าด้วย ดังนั้น การยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เรียกว่า GSP แต่เพียงฝ่ายเดียว ที่สหรัฐฯ จะให้ใคร หรือไม่ให้ใครก็ได้ ก็คงเป็นเรื่องที่สหรัฐฯ คงศึกษามาแล้วอย่างต่อเนื่อง และในทุกๆ ปี การทบทวนว่าจะให้ GSP ต่อหรือไม่ ก็เกิดขึ้นในช่วงนี้ นั่นคือ ต้นเดือนพฤศจิกายน เสมอๆ ดังนั้น มันอาจจะเป็นเพียง 2 เรื่อง ที่ไม่เกี่ยวข้องกัน แต่เกิดขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกันเท่านั้น (ส่วนตัวผมและแวดวงวิชาการก็ไม่ค่อยเชื่อมั่นในทฤษฎีสมคบคิดสักเท่าไร เพราะหลายๆ ครั้งมันลดความน่าเชื่อถือของคนเล่าเรื่องเอง) 

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น มันอาจจะเป็นเพียงการสร้างแต้มต่อให้กับสหรัฐฯ เพื่อให้มีอำนาจต่อรองในการเจรจาความขัดแย้งทางการค้าต่างๆ กับประเทศไทยในช่วงอีกไม่กี่วันข้างหน้า เมื่อผู้นำสหรัฐฯ มีกำหนดจะเข้ามาประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) ในประเทศไทย ร่วมกับอาเซียนและคู่เจรจาอีก 8 ประเทศก็ได้

 

2. ไม่ควรด่ารัฐบาล: เราเริ่มเห็นหลายๆ คนบนโลกออนไลน์เริ่มออกมาด่ารัฐบาลแล้วว่า เพราะไม่ทำงาน หรือทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพในเรื่องแรงงาน จึงทำให้เราโดนตัดสิทธิ GSP

 

สำหรับเรื่องนี้ ผมขอยืนยันครับว่า รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันและก่อนหน้านั้นในยุค คสช. ทำงานเรื่องแรงงาน โดยเฉพาะในภาคประมง ซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่กลายเป็นกรณี ณ ขณะนี้ และการทำงานก็ประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง อย่าลืมนะครับว่า ในช่วงที่ผ่านมาเราประสบปัญหาใบเหลืองจากสหภาพยุโรปในประเด็นการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing – IUU Fishing) ซึ่งส่งผลให้โอกาสในการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปยังตลาดที่มีมาตรฐานสูงทั้งในเรื่องคุณภาพ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างสหภาพยุโรปประสบปัญหา

 

รัฐบาล คสช. ออกกฎหมายอย่างน้อย 17 ฉบับ และมีการใช้มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยหลักการสำคัญที่เราใช้ในการแก้ปัญหาคือ การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายจำต้องเดินคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาแรงงานและปัญหาการค้ามนุษย์ จนปัจจุบันใบเหลืองจากสหภาพยุโรปถูกปลดออกไปแล้ว มาตรฐานอุตสาหกรรมประมงของไทย ณ ปัจจุบัน มีมาตรฐานสูงกว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปบางประเทศด้วยซ้ำ ไทยกลายเป็นผู้นำและเป็นประเทศต้นแบบในการแก้ปัญหาประมงทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก หลายๆ ประเทศที่คนไทยมักจะชอบยกมาเปรียบเทียบและชอบบอกว่า เขาแซงหน้าประเทศไทยอย่างเวียดนาม ก็ยังติดใบเหลืองประมง IUU อยู่ ในขณะที่ของเรายกระดับและมีมาตรฐานที่สูงได้สำเร็จ

 

กระทรวงแรงงานพยายามยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. … (ร่างกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลฯ) มาตั้งแต่ปี 2002 แต่ก็ไม่สำเร็จ จนสหภาพยุโรปให้ใบเหลืองไทยในเดือนเมษายน 2015 สิ่งที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือ รัฐบาล คสช. ผลักดันจนเราสามารถออก พ.ร.ก. การประมง 2558 ยกเลิกการใช้บังคับ พ.ร.บ. การประมง ฉบับเดิม โดย พ.ร.ก. ฉบับนี้ที่ออกในเดือนพฤศจิกายน 2015 มุ่งจัดระเบียบการประมงในประเทศและน่านน้ำทั่วไป เพื่อป้องกันการประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) และคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมประมง นอกจากนี้ยังกำหนดกรอบเวลาในกรณีกระทำความผิดซ้ำซากที่ชัดเจน และกำหนดโทษที่รุนแรงขึ้น โดยโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี และปรับสูงสุด 30 ล้านบาท หรือปรับจำนวน 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับได้

 

จากนั้น คสช. ยังมีการใช้มาตรา 44 และคำสั่ง คสช. อีกรวม 3 ครั้ง เพื่ออุดช่วงโหว่ที่มีในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายและการละเมิดสิทธิมนุษยชน และขยายการคุ้มครองแรงงานในภาคประมง จนในที่สุดเราได้ปลดใบเหลืองประมง IUU และทำให้ประมงไทยกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานสูงระดับเดียวกับสหภาพยุโรป

 

ดังนั้น หากจะด่ารัฐบาลว่าไม่ทำอะไรเลยในเรื่องแรงงานในภาคประมงจนสหรัฐฯ ตัด GSP ก็ดูจะไม่เป็นธรรมกับรัฐบาลเท่าไรนัก และผมเชื่อว่า จากภาคประมงซึ่งค่อนข้างจะควบคุมยาก เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หากเรานำประสบการณ์การแก้ปัญหาที่ผ่านมามาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่มีความง่ายมากยิ่งกว่า อย่างน้อยก็เป็นธุรกิจที่เป็นทางการ อยู่ในพื้นที่ตั้งที่ชัดเจน เราน่าจะสามารถปรับปรุงกฎหมาย กฎเกณฑ์ และบังคับใช้ในประเด็นแรงงานสัมพันธ์ เช่น สิทธิของแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว การจัดตั้งสหภาพแรงงาน การให้สวัสดิการและความยุติธรรมทางสังคมได้ไม่น่าจะลำบากเท่ากรณี IUU ที่อยู่กลางทะเลด้วยซ้ำ

 

สงครามการค้าสหรัฐฯ-ไทย

 

3. เตรียมข้อมูล: ถึงแม้จะยังไม่มีรายละเอียดชัดเจนว่าเราจะถูกตัด GSP ด้วยเหตุผลด้านแรงงานในมิติใดในอุตสาหกรรมประมง ผมคิดว่า นาทีนี้ที่ยังมีเวลาอีก 6 เดือน ภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมข้อมูลให้ชัดเจนว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมประมงไทยได้รับการพัฒนาไปมากน้อยเพียงใด ทั้งในมิติแรงงาน สิทธิมนุษยชน แนวทางการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย การควบคุมตรวจสอบต่างๆ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไว้ใช้ยันกับทางการสหรัฐฯ ว่า ประมงไทยไม่น่าจะมีปัญหาด้านแรงงานอีกแล้ว หรือถ้ายังมีอยู่ก็ต้องมีแนวทางแก้ไขรับมือว่าเราจะพัฒนาอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมอาหารทะเลของเราต่อไปอย่างไร และมองว่า การตัดสิทธิ GSP ของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งการส่งสัญญาณว่า อุตสาหกรรมของเรายังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก ให้ได้มาตรฐานที่ดีที่สุดในโลก

 

4. ศึกษาผลกระทบของการตัด GSP: คำถามที่สำคัญที่ฝ่ายไทยคงต้องตระหนักถึงก็คือ เรายังจำเป็นต้องพึ่ง GSP กันอยู่อีกหรือไม่? โดยส่วนตัวผม ผมเชื่อว่า ณ ปัจจุบัน ผู้ผลิตของไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถแข่งขันได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่ง GSP อีกต่อไปแล้ว

 

ทำไมผมถึงเชื่อเช่นนั้น ผมเชื่อเช่นนั้นเพราะสินค้าหลายๆ ตัวของไทยที่เคยส่งออกไปยังประเทศที่มีมาตรฐานสูงอย่างสหภาพยุโรป ที่เราเคยเชื่อกันว่า GSP จากยุโรปสำคัญมากๆ แต่ในที่สุดสินค้าเกือบทุกรายงานของเรา โดยเฉพาะอาหารทะเลก็ถูกตัด GSP ไปแล้วตั้งแต่ปี 2014/2015 แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือ แม้จะไม่มีสิทธิพิเศษทางภาษี แม้จะมีกำแพงภาษีในหลายๆ รายการ มูลค่าการส่งออกของไทยไปยัง EU ก็ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง จากมูลค่าการส่งออกไป EU ที่ 23,319 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2015 เป็น 28,383 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2018 

 

EU ที่ไม่มี GSP กลายเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 ของไทย รองจากจีน และอาเซียน ไทยเกินดุลการค้า (ส่งออกไปยุโรปมากกว่าที่เรานำเข้าจากยุโรป) มาอย่างต่อเนื่อง และไทยเป็นผู้ไปลงทุนในยุโรป มากกว่ายุโรป 28 ประเทศ รวมกันมาลงทุนในประเทศไทย เห็นหรือยังครับว่า สถานะและความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยเราไม่น้อยหน้าใครเช่นกัน ขนาดยุโรปมีกำแพงภาษีนำเข้าที่สูงมากสำหรับสินค้านำเข้าจากไทย เช่น ปลาทูน่า, สคิปแจ็ก, โบนิโต มีอัตราภาษีที่ 24%, ผลไม้ มีอัตราภาษีที่ 20.9%, อาหารปรุงแต่ง มีอัตราภาษีที่ 14.3% ฯลฯ ซึ่งรายการสินค้าที่เราส่งออกไปยุโรปเหล่านี้มีอัตราภาษีที่สูงมาก เมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ยุโรปต้องนำเข้า และไม่ได้มีภารกิจในการปกป้องผู้ผลิตท้องถิ่น

 

ดังนั้น ถ้าปัจจุบันมาตรฐานการทำอุตสาหกรรมประมงของเราสูงขึ้นมาแล้วจากการปลดใบเหลือง IUU ได้ เราส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มี GSP ถึงแม้นี่จะเป็นกรณีของสหภาพยุโรป แต่ถ้าจะกล่าวถึงประเทศที่ยังมีกำแพงภาษีที่แข็งแกร่ง และมีมาตรฐานด้านคุณภาพสูง สหภาพยุโรปก็น่าจะเป็นอันดับต้นๆ ถ้าไม่อันดับที่หนึ่งก็สองของโลก ดังนั้น หากผู้ประกอบการของเรายังสามารถเจาะเข้าตลาดยุโรปได้ (นี่ขนาดเรายังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป) นับประสาอะไรกับการประยุกต์ประสบการณ์กับอุตสาหกรรมใหม่คือ อาหารทะเลกับประเทศที่ค่อนข้างจะเปิดเสรีมากกว่า และมาตรฐานต่ำกว่าด้วยซ้ำอย่างสหรัฐอเมริกา และนั่นเท่ากับเราจะมีห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ประมง ซึ่งเป็นต้นน้ำ ไปถึงอาหารทะเลที่เป็นกลางน้ำที่มีคุณภาพสูง

 

ดังนั้น ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องเริ่มศึกษากันว่า หากไม่มี GSP จากสหรัฐฯ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร เพราะหากเราไม่ต้องพึ่งพาสิทธิพิเศษเหล่านี้อีกต่อไป ผมเชื่อว่า อำนาจการต่อรองของไทยกับสหรัฐฯ ในหลายๆ มิติก็จะมีเพิ่มขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือ เราไม่ต้องอ้อนวอน ยอมทำโน่นนี่นั่น เพื่อแลกกับ GSP อีกต่อไป

 

สงครามการค้าสหรัฐฯ-ไทย

 

5. วางมาตรการรับมือ: แน่นอนว่า หากไม่มี GSP ผู้ประกอบการทุกรายจะได้รับผลกระทบทางลบ แต่ในหมู่ผู้ประกอบการก็จะมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีความสามารถทางการแข่งขัน คนกลุ่มนี้มีศักยภาพสูงอยู่แล้ว ภาษีที่สูงขึ้นเมื่อไม่มี GSP อาจจะทำให้การส่งออกลดลงในระยะสั้น แต่ถ้าสินค้าและบริการของเขาเป็นสินค้าที่มีคุณภาพสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด มีอำนาจในการกำหนดตลาดได้ในบางระดับ ผู้ผลิตกลุ่มนี้ก็จะกลายเป็นคนที่เหลือรอดอยู่ และจะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น และขยายธุรกิจได้ในอนาคต 

 

ซึ่งจะแตกต่างกับอีกกลุ่ม นั่นคือ กลุ่มที่แทบจะไม่มีความสามารถทางการแข่งขัน ทุกวันนี้ที่ส่งออกไปได้ก็เพราะ GSP ล้วนๆ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่สูญเสียตลาดให้กับกลุ่มแรก กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางลบ และคงไม่สามารถฟื้นตัวได้ หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ และนี่คือกลุ่มที่ต้องการการเยียวยา ซึ่งปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์กำลังศึกษา และผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลประทบจากข้อตกลงการค้าฉบับต่างๆ ซึ่งจะต้องเป็นกองทุนที่มีหน่วยงานถาวร มีกำลังคน มีงบประมาณประจำ เพื่อทำภารกิจนี้อย่างต่อเนื่อง (ไม่ใช่การพึ่งพางบประมาณแผ่นดินแบบปีต่อปี ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง) กองทุนฯ นี้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวได้รับการบ่มเพาะพัฒนาจนสามารถกลับมาแข่งขันได้อีกครั้ง แม้จะไม่มี GSP อีกต่อไป

 

และนี่คือ 5 สิ่งที่เราต้องเตรียมตัว เตรียมใจรับมือ และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือ ต้องมีสติ เฝ้ารอให้ข้อเท็จจริง ให้เอกสาร เรื่องสิทธิ GSP นี้ออกมาอย่างเป็นทางการ จากนั้นจึงมาศึกษา วิเคราะห์ผลกระทบ และหาทางเยียวยา พร้อมเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบการไทย 

 

เพราะนี่คือการส่งสัญญาณว่า จากที่ไทยเคยเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และรับผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้า ณ นาทีนี้ เราได้เข้าสู่สมรภูมิอย่างเต็มตัวแล้วครับ แม้เราไม่ทำอะไร แต่เมื่ออีกฝ่ายส่งสัญญาณว่าจะเริ่มยิง เราก็ต้องหาทางตระเตรียมสรรพกำลังเอาไว้ เพราะสงครามการค้าครั้งนี้ ต่อเนื่อง ยาวนาน ยืดเยื้อเรื้อรัง และดำดิ่งแน่นอน

 

ภาพ: Getty Images, ShutterStock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X