×

การกลับมาอีกครั้งของทรัมป์ป่วนผู้ส่งออกจีนหลายล้านราย ค่ายรถยนต์วุ่น ย้ายโรงงานเข้ามายังสหรัฐฯ เตรียมรับแรงกระแทกภาษี EV 200%

08.11.2024
  • LOADING...
ทรัมป์ป่วนผุ้ส่งออกจีนหลายล้านราย

การกลับมาทวงคืนบัลลังก์ทำเนียบขาวของ โดนัลด์ ทรัมป์ สร้างความปั่นป่วนผู้ส่งออกจีนรวมถึงค่ายรถยนต์เกาหลีและญี่ปุ่นอย่าง Honda และ Toyota ที่วุ่นหาโรงงานในสหรัฐฯ เพื่อเตรียมแผนรับมือกำแพงภาษี EV 200% ย้ำค่ายรถจีนหากจะเข้ามาผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ ต้องตั้งโรงงานและจ้างแรงงานชาวอเมริกัน 

 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า การกลับมาอันน่าทึ่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ส่งผลให้ผู้ส่งออกชาวจีนหลายล้านคนกังวลต่อมาตรการขึ้นภาษีสินค้าหลายรายการ และอาจเกิดความไม่แน่นอนครั้งใหม่ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

แคเทอรีน เหยียน ผู้จัดการของ Changshu Maydiang Leather Goods ซึ่งเป็นผู้จัดหาสินค้าประเภทกระเป๋าถือ ที่มากกว่าครึ่งหนึ่งผลิตให้กับแบรนด์ดังของอเมริกา เช่น alexanderwang และ 3.1 Phillip Lim ระบุว่า ไม่ได้รู้สึกประหลาดใจกับชัยชนะของทรัมป์เป็นพิเศษ เธอยอมรับกับความจริงที่ว่าเธอแทบไม่มีทางเลือกอื่นที่จะปกป้องธุรกิจของเธอจากผลกระทบต่อภาษีที่สูงขึ้น

 

เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัทปรับลดคาดการณ์ยอดขายทั้งปี 2024 ลง 30% หลังจากลูกค้าในสหรัฐฯ หลายรายลดคำสั่งซื้อลง เนื่องจากกังวลถึงความเสี่ยงของภาษีที่สูงขึ้นของ โดนัลด์ ทรัมป์ 

 

ขณะเดียวกันพ่อค้าชาวจีนจำนวนมากที่ค้าขายข้ามพรมแดนต่างก็จับตามองผลที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิดเช่นกัน เนื่องจากกังวลว่าทรัมป์จะเพิ่มข้อจำกัดที่ก่อความวุ่นวายมากขึ้น แม้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน กำลังวางแผนที่จะปิดช่องโหว่ที่เรียกว่า De Minimis ซึ่งเป็นกฎหมายที่ยกเว้นภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าขาเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐ ทว่ากระบวนการออกกฎดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะดำเนินต่อไปจนถึงช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลชุดใหม่ 

 

“เท่าที่ผมเข้าใจ ทรัมป์จะยับยั้งการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนอย่างแน่นอน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องน้อยมาก” ผู้ประกอบการรายหนึ่งกล่าว

 

หลินเซียว ผู้ประกอบการเสื้อผ้าบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Temu และ SHEIN ที่เมืองกวางโจว มองว่า สิ่งสำคัญกว่านั้นคือสหรัฐฯ ไม่มีศักยภาพในการผลิตเสื้อผ้าเหล่านี้ และยังมีผู้ขายชาวจีนจำนวนมากบนแพลตฟอร์ม Amazon ที่จะได้รับผลกระทบเช่นกันหากมีการนำกฎดังกล่าวมาใช้

 

เหมาหนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน กล่าวเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาว่า จีนเคารพการเลือกตั้งของชาวอเมริกัน และปฏิเสธที่จะตอบคำถาม ‘สมมติฐาน’ เกี่ยวกับแผนของทรัมป์ที่จะจัดเก็บภาษีสินค้าจีน 60%

 

อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปช่วงที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ครั้งดำรงตำแหน่งสมัยแรกได้เปิดฉากสงครามการค้า (Trade War) สหรัฐฯ-จีน ซึ่งส่งผลให้มีการจัดเก็บภาษีจาก 7.5% เป็น 25% สำหรับสินค้ามูลค่าราว 3.5 แสนล้านดอลลาร์ที่มาจากจีน ซึ่งสร้างผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ

 

ทว่าความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอ่อนแอลง โดยสัดส่วนของจีนในสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงจาก 22% ในปี 2017 และเหลือ 14% ในปี 2023 นอกจากนี้การขาดดุลการค้าสินค้าของสหรัฐฯ กับจีนยังลดลงเมื่อปีที่แล้วสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่าทศวรรษ

 

ภาษีที่สูงขึ้นยังกระตุ้นให้โรงงานในจีนจำนวนมากขึ้นเร่งเบนเข็มห่วงโซ่อุปทานไปยังประเทศที่สาม เช่น เวียดนามและเม็กซิโก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงพึ่งพากำลังการผลิตของจีนอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกันบริษัทข้ามชาติยังคงลดการพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานของจีนลง เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)

 

อีกทั้งการบริโภคภายในประเทศของจีนยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ท่ามกลางภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง

 

ด้าน ไมเคิล สโตรแบ็ก หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนระดับโลกของธนาคารเอกชน Lombard Odier ของสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า “ณ วันนี้โลกดูแตกต่างไปจากเดิม ไม่ได้บูรณาการเหมือนแต่ก่อน และเกิดการเผชิญหน้าทางภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น” ซึ่งแตกต่างจากตอนที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในปี 2016 วันนี้การค้าโลกแตกแยกเป็นกลุ่มมากขึ้น ขณะที่การเติบโตของจีนกลับหยุดชะงัก

 

แอนดี้ ม็อก นักวิจัยอาวุโสแห่งศูนย์วิจัยจีนและโลกาภิวัตน์ กล่าวว่า รัฐบาลจีนและทรัมป์ต่างก็ ‘ไม่มีอุดมการณ์’ เขาตั้งข้อสังเกตว่าทรัมป์ทำเพื่อประโยชน์ของสหรัฐฯ หรือประโยชน์ส่วนตัว

 

หวังหมิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Zhongda Lighting Factory ซึ่งเป็นผู้ผลิตโคมไฟ กล่าวว่า เขาคาดว่าการขึ้นภาษีสินค้าจีนเพิ่มเติมจะเกิดขึ้น ‘อย่างค่อยเป็นค่อยไป’ เนื่องจากชาวอเมริกันทั่วไปยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อที่สูง บริษัทของเขาวางแผนที่จะตั้งสำนักงานและคลังสินค้าในลอสแอนเจลิส และจัดหาผลิตภัณฑ์จากโรงงานในต่างประเทศอย่างอียิปต์และเม็กซิโก เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากการจัดเก็บภาษีที่สูงขึ้น

 

ในอีกด้านหนึ่ง ภาษีใหม่จะกระตุ้นให้บริษัทเพิ่มการขายให้กับลูกค้าในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดอยู่แล้ว 

 

ค่ายรถยนต์เตรียมแผนรับมือกำแพงภาษี 200% วุ่นหาทำเลในสหรัฐฯ 

 

ในวันเดียวกัน Reuters รายงานว่า สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์และผู้บริหารบริษัทรถยนต์หลายรายระบุว่า ผู้ผลิตรถยนต์ต่างเตรียมรับมือกับนโยบายอุตสาหกรรมรถยนต์ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะขึ้นอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์จากเม็กซิโกและเอเชีย รวมถึงยกเลิกนโยบายลดหย่อนภาษี สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และอีกหลายมาตรการ

 

เพราะทรัมป์เตือนก่อนหน้านี้บ่อยครั้งว่า เตรียมขึ้นภาษีรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าจากเม็กซิโก รวมถึงเอเชียและยุโรป เพิ่มเป็น 200% หรือมากกว่านั้น แม้ทรัมป์ต้องการลดการนำเข้ารถยนต์จากจีน ทว่าทรัมป์ยังเปิดให้ค่ายรถจีนเข้ามาผลิตรถยนต์ในสหรัฐฯ

 

ทรัมป์กล่าวกับ Reuters เมื่อเดือนสิงหาคมว่า จะเพิ่มมาตรการจูงใจหากจีนและผู้ผลิตจากประเทศอื่นๆ ต้องการขายรถยนต์ในสหรัฐฯ แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องตั้งโรงงานที่สหรัฐฯ และต้องจ้างแรงงานชาวอเมริกัน 

 

รวมไปถึงมีแผนจะเพิกถอนกฎระเบียบเกี่ยวกับรถยนต์ขององค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม หรือ EPA และกระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันแรกที่เขาดำรงตำแหน่ง 

 

มาร์ก วิลเลียมส์ ประธาน Strategic Development Group บริษัทที่จัดหาทำเลที่ตั้ง คาดว่า มาตรการดังกล่าวส่งผลให้อาจมีอีกหลายบริษัทมองหาทำเลที่ตั้งโรงงานใหม่มากขึ้น และกำแพงภาษีจะทำให้ต้นทุนต่างๆ สูงขึ้นด้วย

 

“ถ้าคุณต้องการตัดจีนออกไปจากห่วงโซ่การผลิตส่วนประกอบรถยนต์โดยไม่พึ่งพาเม็กซิโก ผมก็ไม่รู้แล้วว่าเราจะไปหาพื้นที่จากไหนในสหรัฐฯ ผมคิดว่าเราต้องอาศัยเม็กซิโกมากกว่าเดิมหากจะตัดจีนออกไปจริงๆ” วิลเลียมส์กล่าว

 

ด้านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของเกาหลีใต้กล่าวว่า ประเมินว่าบริษัทเกาหลีใต้จะลงทุนในสหรัฐฯ มากขึ้นหากทรัมป์กำหนดภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น

 

ส่วนประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการฮอนด้ากล่าวว่า กำลังการผลิตของ Honda ในเม็กซิโกอยู่ที่ประมาณ 2 แสนคันต่อปี และ 80% ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ

 

“หากสหรัฐฯ กำหนดภาษีนำเข้ารถยนต์ที่นำเข้าจากเม็กซิโกอย่างถาวร Honda จะต้องพิจารณาย้ายสายการผลิต”

 

แหล่งข่าว Toyota ที่ผลิตรถบรรทุก Tacoma โดยมีโรงงาน 2 แห่งในเม็กซิโก และขายรถรุ่นนี้ได้มากกว่า 2.3 แสนคันในสหรัฐฯ เมื่อปีที่แล้ว ระบุว่า ภาษีนำเข้าที่สูงของทรัมป์ต่อการนำเข้าจากเม็กซิโก อาจกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์รายนี้ย้ายสายการผลิตรถยนต์ อาทิ รถกระบะ Tacoma แห่งนี้ไปที่ซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X